พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)


1,394 ผู้ชม


 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น) พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)
 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  สุวิไล เปรมศรีรัตน์
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย  มหาวิทยาลัยมหิดล
[email protected]

 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  โครงการทวิภาษา(ไทย - มลายูถิ่น) ที่ดำเนินการอยู่ในโรงเรียนเขตพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นความพยายามที่จะหาแนวทางในการแก้เหตุของปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ในระยะยาว  ซึ่งประชากรกว่า 83 %  พูดภาษามลายูถิ่นซึ่งเรียกว่า “มลายูปาตานี”  นับถือศาสนาอิสลาม และมีจัดการศึกษาตามแนวทางอิสลาม       ปัจจุบันมีปัญหาด้านการเมือง ปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและการสื่อสารระดับลึก อัตลักษณ์ทางภาษาซึ่งผูกพันกับศาสนาและความเป็นคนไทยเชื้อสายมลายู ยังไม่ได้รับการยอมรับ และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเยาวชนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานชาติ(ต่ำที่สุดในประเทศ)   มีสาเหตุสำคัญมาจากการจัดการเรียนการสอนที่ขาดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ  ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นกับภาษาและวัฒนธรรมของโรงเรียน ซึ่งใช้ภาษาราชการ (ภาษาไทย) เพียงภาษาเดียวเป็นสื่อ  ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ และทำให้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าเป็นความจงใจที่จะใช้การศึกษาภาคบังคับเป็นเครื่องมือทำลายอัตลักษณ์ทางภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าที่ผ่านมาจะได้มีความพยายามในการพัฒนาความรู้ความสามารถทางภาษาไทยเป็นอย่างมากและหลายรูปแบบ  เพื่อให้ประชากรในพื้นที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือของการศึกษาและดำรงชีวิตในสังคมไทย แต่ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง  ครูและโรงเรียนยังคงเป็นเป้าหมายของความรุนแรงมาโดยตลอด
 

 

 จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และรัฐบาลที่ให้หาแนวทางในการจัดการศึกษาที่เหมาะสมในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยคำนึงถึงฐานทางภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น  จึงได้มีความพยายามในการนำภาษาแม่ของคนในจังหวัดชายแดนใต้ คือ ภาษามลายูถิ่นหรือภาษามลายูปาตานีในสามจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา และภาษามลายูถิ่นสตูลมาใช้ในการเรียนการสอนควบคู่ไปกับภาษาราชการ(ภาษาไทย) ในระบบของการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา  ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยเชื้อสายมลายูไว้ได้ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ตามความปรารถนาของเจ้าของภาษาแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ไม่เครียด ไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อความหมาย  เนื่องจากเป็นภาษาแม่ที่เด็กคุ้นเคย  สอดคล้องกับผลการวิจัยทั้งในประเทศและระดับสากล เช่น งานวิจัยผ่านองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)  ซึ่งชี้ให้เห็นผลดีของการใช้ภาษาท้องถิ่นที่เป็นภาษาแม่เป็นฐานในการจัดการศึกษา  และงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล   ที่พบว่า คนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนมาก มีการใช้ภาษามลายูถิ่นของตนในชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้น และมีความต้องการที่จะให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการใช้ภาษาไทยร่วมกับภาษามลายูถิ่นในการเรียนการสอนเพื่อความเข้าใจในการเรียนรู้ของเยาวชนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูอย่างแท้จริง
 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  โครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ: กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - ภาษามลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้”  เป็นโครงการ 9 ปี  ดำเนินการในโรงเรียนนำร่องที่มีนักเรียนพูดภาษามลายูถิ่น 100%  ตั้งแต่ระดับปฐมวัย (อนุบาล 1 – อนุบาล 2) จนจบการศึกษาภาคบังคับชั้น ป.1 – ป.6  รวมการเตรียมการอีก 1 ปี  มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา(เต็มรูปแบบ)  ในโรงเรียนนำร่อง 4 โรงเรียน ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสตูล  เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาแม่ต่างจากภาษาราชการ ด้วยการสร้างกระบวนการพัฒนาสมอง ความคิดสร้างสรรค์และการเรียนรู้อย่างเป็นระบบด้วยภาษาแม่ของเด็กและการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อเป็นพื้นฐานของการสร้างความเข้มแข็งในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยต่อยอดสู่การเรียนสาระวิชาความรู้ด้านต่างๆ และการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ  โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษามลายูถิ่นของตนได้เป็นอย่างดี  ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน  รักษาอัตลักษณ์ท้องถิ่นความเป็นคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไว้ได้ พร้อมกับดำรงอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยในระดับชาติ  ในเวลาเดียวกัน ก็สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี อันจะนำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน  
 

 

  “โครงการนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยกู้ศักดิ์ศรีของชาวมลายู (คนไทยเชื้อสายมลายู) ขอขอบคุณคณะกรรมการที่ได้คิดโครงการฟื้นฟูภาษามลายูขึ้นมา  ขอวิงวอนต่อพระเจ้าช่วยดลบันดาลให้โครงการนี้มั่นคงยืนนานตลอดไป”
 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  โครงการทวิภาษาไทย - มลายูถิ่น ยึดหลักการพื้นฐานของการศึกษา ซึ่งได้แก่ “การใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้สิ่งใหม่จากสิ่งที่รู้อยู่แล้ว”  ซึ่งทั้ง 2 ประการนี้ เกี่ยวข้องกันโดยตรง เนื่องจากเด็กจากบ้าน มาสู่โรงเรียนโดยมีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของตนติดตัวมา เมื่อเข้าสู่โรงเรียน และมีการเรียนการสอนด้วยเนื้อหาที่เป็นสากลเพื่อสู่โลกภายนอก  จึงต้องมีการเชื่อมโยงภาษาและวัฒนธรรมที่บ้าน ไปสู่ ภาษาและวัฒนธรรมที่โรงเรียน, จากภาษาฟัง-พูด ไปสู่  ภาษาอ่าน-เขียน, จากภาษาที่หนึ่ง (ภาษาแม่/ภาษามลายูถิ่น) ไปสู่ภาษาที่สอง (ภาษาราชการ/ภาษาไทย), จากภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไปสู่ ภาษาวิชาการ(ภาษานามธรรม)  จากสื่อเรื่องของท้องถิ่นสู่เรื่องของสังคมและโลกภายนอกอย่างเป็นขั้นตอน จะทำให้เกิดความมั่นใจ เกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้พัฒนาสมองและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งที่ได้รู้อยู่แล้วไปทีละขั้นๆ อย่างมั่นคง
 

 
 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น) การสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาษาเน้นพัฒนาการของเด็ก 3 ประการ คือ
 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  1. เพื่อพัฒนาการทางภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้และสื่อสาร โดยจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นซึ่งเป็นภาษาแม่ของเด็ก และใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนในช่วงปีแรกๆ ของการเรียน เน้นพัฒนาการทางภาษาทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง  และในขณะเดียวกันเมื่อเด็กพร้อม จะมีการเชื่อมเข้าสู่การเรียนการสอนภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาที่สอง อย่างเป็นระบบ อันจะมีผลทำให้ผู้เรียนและผู้สอนเกิดความมั่นใจ
2. เพื่อพัฒนาการด้านวิชาการ โดยอิงตามมาตรฐานที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  จัดให้มีการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระวิชา  และใช้ตำราภาษาไทย ทั้งนี้สำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนนั้น ในเบื้องต้นจะใช้วิธีการอธิบายความคิดรวบยอด(concept) ของเนื้อหาด้วยภาษาท้องถิ่นและใช้แบบฝึกหัดเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ และมีการสอนคำศัพท์ภาษาไทยในแต่ละวิชาและสรุปบทเรียนเป็นภาษาไทย โดยหากครูผู้สอนไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นจะต้องมีการใช้ครูผู้ช่วยที่พูดภาษามลายูถิ่น ในการดำเนินงานจึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูผู้สอนสาระวิชาต่างๆ และครูผู้ช่วยที่ใช้ภาษาท้องถิ่น  
3. เพื่อพัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรม  ทำให้เด็กมีความภูมิใจในภาษาและวัฒนธรรมของตน ในขณะเดียวกับที่เคารพในความคิด ความเชื่อของบุคคลจากวัฒนธรรมอื่น โดยบรรจุความเป็นท้องถิ่นไปพร้อมกับความเข้าใจวัฒนธรรมส่วนกลาง  อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมแบบสังคมไทยอย่างเป็นสุข มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงตามความปรารถนา สามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนไว้ได้  ในขณะเดียวกับที่เข้าใจและพัฒนาอัตลักษณ์ความเป็นไทยในระดับชาติได้
 

 

 การออกแบบหลักสูตรจึงต่างไปจากหลักสูตรปกติทั่วไป  โดยเพิ่มการเรียนการสอนภาษามลายูถิ่นตั้งแต่ปฐมวัยไปสู่สาระเพิ่มเติม “มลายูถิ่นศึกษา” ในช่วงชั้นที่สูงขึ้นจนจบประถมศึกษาปีที่ 6  โดยจำนวนเวลาของการเรียนการสอนภาษาท้องถิ่นและการใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นสื่อในการเรียนการสอนจะลดลงเรื่อยๆ ผกผันไปกับการเรียนภาษาไทยที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ  ดังนั้น ภาษามลายูถิ่นหรือภาษาแม่ จึงเปรียบเสมือนนั่งร้านที่ช่วยเสริมพื้นฐานและโครงสร้างที่แข็งแกร่งสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทั้งในภาษาแม่ของตนและในภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆ ที่ตามมา  
ดังนั้น โครงการทวิภาษาจึงไม่ได้เพียงแต่สอนภาษามลายูถิ่นในโรงเรียนเท่านั้น แต่ใช้ภาษามลายูถิ่นสอนให้เด็กคิดเป็น กล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น  ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการสมอง
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการทวิภาษาไทย – มลายูถิ่น ได้ใช้วิธีการประชุมปฏิบัติการโดยครูผู้สอนแต่ละชั้น ครูวิชาการ ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์และชุมชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการจัดทำหลักสูตร แผนการเรียนการสอนและการสร้างสื่อ  เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและมีความเป็นท้องถิ่นตามที่ต้องการ  
การจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษามหิดล – สกว  เป็นสูตรยารักษาโรคที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จแต่เราจะต้องเอามาปรุงเองให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่
 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  นอกจากนี้ยังมีการสร้างสื่อการเรียนการสอนจำนวนมากและหลากหลายรูปแบบร่วมไปกับกลวิธีในการสอนที่กระตุ้นความคิด จินตนาการและการแสดงออก กล้าพูด กล้าคิดและกล้าแสดง  ครูผู้สอนต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้อธิบาย ไปสู่การเป็นผู้ตั้งคำถามและจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่เด็ก โดยทั้งครูไทยมุสลิมและไทยพุทธมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการเรียนการสอน การจัดประสบการณ์และการจัดทำสื่อ  รวมถึงการฝึกสอนกลวิธีแบบต่างๆ และการใช้สื่อประกอบ  ในการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาครูเหนื่อย เนื่องจากต้องตอบคำถามต่างๆ ของเด็ก แต่ครูก็มีความสุขและมีความภูมิใจจากผลที่ปรากฏต่อเด็ก ซึ่งแตกต่างจากรุ่นต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิตการสอนของครู(อนุบาลหนึ่ง) ซึ่งบางคนสอนมามากว่า 10-20 ปี  เพราะ “เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่กลัว เพราะไม่มีอุปสรรคทางภาษามากั้นขวาง ต่างไปจากเมื่อใช้ภาษาไทย เด็กจะลอยและเงียบ” (คำบอกเล่าของครูจิเนาะ  ชั้นอนุบาลหนึ่ง โรงเรียนบ้านประจัน  จ.ปัตตานี)
 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็ดีใจที่ลูกๆ รู้จักวิธีการปฏิบัติตนตามแบบวัฒนธรรมอิสลามที่เหมาะสมและรู้จักการปฏิบัติตนตามมารยาทของไทย  มีความพอใจที่เด็กๆ ร้องเพลงเป็นภาษามลายูถิ่นได้ และแปลกใจที่เด็กพูดภาษาไทยได้อย่างชัดเจนในการฝึกออกคำสั่งให้พ่อแม่ปฏิบัติ  ตามวิธีการ TRP  เมื่อเริ่มเรียนคำศัพท์ภาษาไทยจากโรงเรียน  สำหรับทางโรงเรียนและผู้เกี่ยวข้องพอใจผลการประเมินเปรียบเทียบความรู้ด้านภาษามลายูถิ่นและภาษาไทยก่อนและหลังเรียน  ซึ่งเห็นชัดเจนถึงพัฒนาการของเด็ก เช่น ความรู้ภาษาไทยของเด็กสามจังหวัดในโรงเรียนทดลอง เมื่อเริ่มเรียนมีความรู้ไม่เกิน 20%    แต่หลังจากการเรียน  ผลประเมินเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 60% เป็นต้น
ผลของการดำเนินงานมามากกว่า 2 ปี  ชุมชนในเขตพื้นที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและความมั่นใจในระบบการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐมากขึ้น มีจำนวนนักเรียนมาสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนทดลองเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ มา  ชุมชนมีส่วนร่วมกับงานของโรงเรียนมากขึ้น มีความพยายามที่จะผ่อนปรนและผสมผสานความต้องการของชุมชนกับมาตรฐานทางวิชาการมากขึ้น เช่น ในการจัดทำสื่อการอ่านแม้ในหลักการจะใช้ภาษามลายูถิ่นอักษรไทย  เพื่อความสะดวกและประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงเข้าสู่ภาษาไทย แต่ก็ได้เพิ่มการเขียนชื่อเรื่องหน้าปกด้วยอักษรยาวี หรือเพิ่มคำแปลข้อความด้วยภาษามลายูอักษรยาวีในด้านหลังเช่นเดียวกันคำแปลภาษาไทย  อีกทั้งได้วางแผนการทำงานวิจัยเพื่อการศึกษาและฟื้นฟูการใช้ภาษามลายูอักษรยาวี โดยจะบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของ “มลายูถิ่นศึกษา” อีกด้วย  ทั้งนี้เพื่อสนองต่อความต้องการและความศรัทธาต่ออักษรยาวีของชุมชน  ซึ่งในเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากชุมชน
 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  ในขณะเดียวกัน บุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการก็มีความเข้าใจในหลักการและวิธีการของทวิภาษา(เต็มรูปแบบ) มากขึ้นเรื่อยๆ  โดยศึกษานิเทศก์มีส่วนร่วมในการทำแผนการเรียนการสอนและติดตามดูแลประเมินผลเป็นอย่างมากและเห็นได้ชัดเจน และเขตพื้นที่เริ่มเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนการจัดหาครูที่เป็นเจ้าของภาษาให้เพิ่มเติม  ผู้บริหารระดับต่างๆ จากกระทรวงศึกษาธิการเริ่มเข้าใจวิธีการและให้ความร่วมมือในแง่มุมต่างๆ เพิ่มขึ้น  จะเห็นได้จากการที่ทีมวิจัยได้รับเชิญให้ไปเสนอแนวคิดและประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการทวิภาษาในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. และสภาการศึกษาได้บรรจุการจัดการศึกษาแบบทวิ(ภาษาไทย-มลายูถิ่น)ในแผนพัฒนาการศึกษาชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ เป็นต้น  นอกจากนี้ นักวิชาการของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการวิจัยเพื่อการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก  รวมทั้งโครงการพัฒนาการเรียนการสอนของชุมชนบริเวณรอบตะเข็บชายแดน  โดยทีมวิจัยของโครงการทวิภาษาได้มีส่วนช่วยในการให้ความรู้ในด้านหลักการและวิธีการแก่บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งนับว่าเป็นการขยายงานและเผยแพร่ความรู้ที่สำคัญ
 

 

 นอกจากนี้โครงการฯ ได้รับความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล  และสื่อมวลชน ได้เผยแพร่เรื่องราว ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการทวิภาษาสู่สาธารณชนที่ได้ผลมาก เช่น รายการพันแสงรุ้ง  ตอนทวิภาษา(ไทย – มลายูปาตานี)  ราชบัณฑิตยสถานร่วมมือในการสนับสนุนการใช้ภาษาท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายภาษาแห่งชาติ โดยได้จัดประชุมเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาแม่/ ภาษาท้องถิ่นในการศึกษาและในสื่อมวลชนทั้งระดับชาติ (2 ครั้ง) และนานาชาติ (1 ครั้ง)  ซึ่งได้รับความเห็นพ้องจากเจ้าของภาษากลุ่มต่างๆ และผู้เกี่ยวข้องถึงกว่า 90%  และนอกจากนี้โครงการได้รับเชิญให้นำเสนองานในที่ประชุมของสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ณ กรุงเทพมหานคร และได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการต้นแบบ (Good Functioning Model) สำหรับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย  ซึ่งจะนำไปใช้ในการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศของตน  โดย SEAMEO และกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอินโดนีเซียได้เชิญทีมวิจัยโครงการทวิภาษา(ไทย - มลายูปาตานี) ไปนำเสนอวิธีการดำเนินงานและจัดประชุมปฏิบัติการ  เพื่อระดมความคิดเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ณ กรุงจาการ์ต้า  โดยได้กำหนดจะเริ่มโครงการในกลุ่มภาษาชวา, ซุนดา และมากัสซา  ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ในประเทศอินโดนีเซียและมีปัญหาการเรียนในภาษาราชการหรือภาษาอินโดนีเซียของเยาวชน  ซึ่งถือว่าทีมวิจัยทวิภาษา(ไทย - มลายูถิ่น) ได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่ง  
 

 

 พัฒนาการของโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายูถิ่น)  ดังนั้นในปีที่ 3 ของการทำงาน บรรยากาศของความร่วมมือ ทั้งจากชุมชน พื้นที่ และจากสังคมภายนอกจึงดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นกำลังใจในการทำงานของทีมวิจัยเพื่อเชื่อมโยงพื้นฐานท้องถิ่นของเยาวชนสู่สาระความรู้และการเรียนเชิงวิชาการผ่านภาษาไทยในระดับสูงขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาที่ทีมวิจัยประสบ คือ การไม่เห็นความสำคัญของภาษาท้องถิ่น(หรือภาษาแม่) ในการนำมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็ก  ปัญหาการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีสอนของครู แนวคิดของผู้บริหารการศึกษาซึ่งมีผลต่อการสนับสนุนส่งเสริมโครงการฯ และลักษณะการทำงานแบบปัจเจกนิยม  ซึ่งทำให้การทำงานยากกว่าที่ควร  และท้ายที่สุด คือ ปัญหาความหวาดระแวง และความไม่สงบในพื้นที่ ที่ทำให้การดำเนินงานไม่สามารถทำได้สะดวก การติดตามดูแล ประเมินผลไม่สามารถเป็นไปได้เท่าที่ควร  อย่างไรก็ตามทีมวิจัยในพื้นที่ที่เข้มแข็งและมีความเชื่อมั่นต่องานวิจัยนี้ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ เทคนิควิธีการ และการบริหารจัดการ  ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบริบทอยู่ตลอดเวลา
 

 

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 86

อัพเดทล่าสุด