เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก


948 ผู้ชม


เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก
เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก  ผศ. ปิยะ  กิจถาวร
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
[email protected]


คำถามและข้อคิดคำนึงของผู้เขียน
กรณีปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่ม องค์กรต่างๆ ได้ระดมกำลังคน  งบประมาณ ทรัพยากรต่างๆจำนวนมหาศาล เข้าไปทำการพัฒนา จัดกิจกรรม  ประชุมเสวนา ศึกษาวิจัย ระดมสมองแสวงหาทางออกของปัญหา ด้วยความตั้งใจดีและเสียสละ ที่สำคัญคือต่างมุ่งหวังที่จะให้สันติสุขกลับคืนมาโดยเร็ว  
แต่สถานการณ์ดูเสมือนว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนัก เบาไปตามเงื่อนไข โอกาสของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง และมีแนวโน้มสร้างความสะพึงกลัว สร้างความแตกแยก และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
คำถามคือ แล้วเราจะร่วมสร้างสันติสุขชายแดนใต้อย่างไร?

 

 

เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก  ท่านอาจารย์เสน่ห์  จามริก เสนอไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ในปาฐกถานำเรื่อง “แนวทางสู่สันติประชาธรรม :  มุมมองของชาวบ้านต่อสถานการณ์ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เมื่อ 2 กรกฎาคม 2547  ณ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานีว่า   “การแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านคือการสร้างสันติภาพและเอกภาพของชาติที่ยั่งยืน โดยการสร้างทางเลือกให้กับประชาชนคนสามัญ โดยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด  ความต้องการ  อุดมการณ์ของประชาชนส่วนใหญ่   ซึ่งต้องการที่จะดำรงชีวิตร่วมกันโดยปกติสุข มีการเคารพในสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน   ยอมรับในเอกลักษณ์  อัตลักษณ์ซึ่งกันและกัน   แนวทางนี้  ถึงแม้ว่าจะไม่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยตรง  แต่จะช่วยคลี่คลายปัญหา ช่วยคลี่คลายความหวาดระแวง และประการสำคัญ ช่วยคลี่คลายความมุ่งมาดปรารถนาของการใช้กำลัง  เพราะว่าการใช้กำลังไม่ว่าจากฝ่ายไหนก็ตาม ถ้าขาดเสียซึ่งฐานความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว  ไม่คิดว่าจะเป็นความยั่งยืน ”
จากแนวคิดดังกล่าว ก็มีคำถามต่อว่า แล้วจะทำอย่างไร เพราะโครงการ กิจกรรมต่างๆที่ทุกฝ่ายพยายาม ทุ่มเทช่วยกันทำตลอดระยะ 5 ปีเศษที่ผ่านมาต่างก็พยายามเข้าไปช่วยกันแก้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ด้วยกันทั้งสิ้น
 

 

เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก  ผู้เขียนเอง ได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น(งานวิจัยที่สนับสนุนให้ชาวบ้านตั้งโจทย์วิจัยของตนเอง ทดลองหาคำตอบผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ความสามารถในการแก้ปัญหาของตนเอง) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานภาค หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สกว.ภาค” เมื่อ ปี 2543 พบว่า  ตั้งแต่ปี 2547  สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยดังกล่าวจึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ เพราะชาวบ้านทุกศาสนิก ทุกกลุ่ม ตกอยู่ในภาวะความไม่ปลอดภัยและความกลัว  ในแต่ละวันเหยื่อของความรุนแรง ทั้งหญิงหม้าย  เด็กกำพร้า ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้นำศาสนาทั้งพุทธและอิสลามในชุมชนต่างๆก็ตกเป็นผู้ถูกกระทำ  ถูกบีบคั้นให้เลือกข้าง ขาดโอกาสที่จะสร้างทางเลือก สร้างกิจกรรมทางศีลธรรม จริยธรรมที่ดีงามในชุมชนของตนเอง
จึงเกิดคำถามว่า มีโครงการ มีกิจกรรมอะไร ที่จะเป็นทั้งงานวิจัย (ตั้งคำถาม – สร้างความรู้) และงานพัฒนา (สร้างโอกาส - สร้างการเปลี่ยนแปลง) เพื่อให้หญิงหม้าย เด็กกำพร้า ผู้นำศาสนา ผู้ซึ่งตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ในพื้นที่ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา  เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับชีวิตชาวบ้านในชายแดนใต้  รวมทั้งเพ้อฝันไปว่า โครงการ กิจกรรมเหล่านี้ จะค่อยๆสร้าง   ค่อยๆพัฒนาเป็นระบบการจัดการงานวิจัยที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชาวบ้านจับต้องได้   เป็นเจ้าของได้  และนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่หนักแน่น เสมือนเป็นเทียนส่องทางสู่ความเข้าใจปัญหา และหาหนทางแก้ปัญหาร่วมกับทุกฝ่าย  ที่จะร่วมกันดับไฟใต้ที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานในอนาคต  
ที่เกริ่นนำข้างต้น คือเบื้องหลังความคิด และที่มาของ  เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก
จากคำถามข้างต้น ได้นำไปสู่การค้นหาคำตอบ ผ่านการลองผิด ลองถูกตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 จนถึงปัจจุบันภายใต้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. เรียกว่า “ทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก” (Alternative Action Research: AAR) หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ ว่า “โครงการ 5,000“
 

 

เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก  ทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก ดำเนินการภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ  
ประการแรก เรียกว่า “เฮาะกีตอ” แปลว่า “เราเป็นเจ้าของร่วมกัน”  โดยในการสรุปบทเรียนการดำเนินงานตามโครงการทุกครั้ง  จะมีการคัดเลือกตัวแทนหญิงหม้าย ตัวแทนเด็กกำพร้าและเยาวชน ตัวแทนผู้นำศาสนา เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ รับผิดชอบการพิจารณา กลั่นกรอง  อนุมัติกิจกรรม  ติดตามประเมินผล  และสรุปบทเรียน การดำเนินงานตามโครงการ ในแต่ละระยะ  
ประการที่สอง “เรามาร่วมกันทำความดี ไม่ใช่ต่างคนต่างทำความดี ก็จะนำมาสู่สันติสุขและสันติภาพ”โดยการสนับสนุนให้เด็กกำพร้า หญิงหม้าย หญิงผู้ยากไร้ และผู้นำศาสนาทุกศาสนิกในพื้นที่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการ ได้ทำกิจกรรมที่อยากทำเพื่อแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรม ศาสนธรรมและบริบทของพื้นที่ โดยมีทุนสนับสนุนกิจกรรมละ 5,000 บาท  
ประการที่สาม เราจะร่วมกันฟื้นฟูความสัมพันธ์ในชุมชน กิจกรรมที่สนับสนุนจะต้องสร้างรอยยิ้ม สร้างโอกาสให้เด็กกำพร้า หญิงหม้าย หญิงผู้ยากไร้ และผู้นำศาสนา   ได้แก้ปัญหาของตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และมีการสรุปบทเรียนทุกระยะเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย
การสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก ในหนึ่งปีจะดำเนินการประมาณ 2 – 3 ครั้งเป็นวงรอบ เหมือนวงล้อแห่งการเรียนรู้ที่จะหมุนวนไปอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และปฏิทินชีวิตของชุมชน  รวมทั้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 เป็นต้นมา ได้ริเริ่มให้มีกิจกรรมเชิงวิจัยและพัฒนาที่เรียกว่า  “กองทุนแม่”  เป็นทุนสนับสนุนให้หญิงหม้าย หรือหญิงยากไร้ ซึ่งไม่มีรายได้  ขาดความรู้ด้านการเลี้ยงชีพอย่างถูกต้อง ถูกทอดทิ้ง ได้มีโอกาสที่จะมีอาชีพ มีรายได้ มีการรวมกลุ่ม  มีการเยียวยาทางจิตใจ   โดยพัฒนาจากแนวคิดของ Muhammad  Yunus  นายธนาคารเพื่อคนจนที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมี ทักษะการเอาตัวรอด” ติดตัวมาแต่กำเนิด (คนจน  คนยากไร้ ผู้ถูกทอดทิ้งจำนวนมากจึงยังมีชีวิตอยู่)  จึงต้องช่วยกันกระตุ้นให้มีการใช้ทักษะเดิมที่เขามีอยู่แล้ว  ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  การจัดให้มีกองทุนแม่ เพื่อสตรีผู้สูญเสีย   สตรีผู้ยากไร้  จะทำให้เขาสามารถใช้ทักษะเดิมได้ทันที รายได้ที่เขาได้รับจะเป็นเครื่องมือ  เป็นกุญแจสู่ทักษะอื่นๆอีกมากมาย
 

 

 ทำแล้ว เกิดผลอะไร?
ผลเชิงพื้นที่และปริมาณ

           ตั้งแต่กันยายน 2550 – มีนาคม 2552  รวม 19 เดือน ได้สนับสนุนทุนกิจกรรมทางเลือกไปแล้วรวม 5 ครั้ง มีเวทีสรุปบทเรียน 5 ครั้ง เฉลี่ย 4 เดือนครั้ง  รวม 368 โครงการ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ 15,542 คน ใน 18 อำเภอ ของ 3 จังหวัดชายแดน และ อ.เทพา อ.จะนะ จังหวัดสงขลา  ทุนสนับสนุนรวม 1,840,000 บาท เฉลี่ย 118.39 บาท/คน
 

 

เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก  
 

 

 ผลเชิงคุณภาพ   ตัวอย่างเช่น  
จังหวัดปัตตานี โครงการกิจกรรมทางเลือกสำหรับหญิงหม้าย โดยทำผลิตภัณฑ์จากก้านมะพร้าว  ต.บาราเฮาะ  
อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปู่ ย่า ตายาย ผลิตใช้ในครัวเรือนและจำหน่าย ดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2551  
รัตนา ดือแระซอ หัวหน้าโครงการกล่าวว่า การทำโครงการกิจกรรมทางเลือกงบประมาณเพียง 5,000 บาท เป็นวิธีการเยียวยาจิตใจที่ดีที่สุด เพราะได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน ชุมชนให้การยอมรับ ไม่ทอดทิ้ง ทำให้สภาพจิตใจเข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมกลุ่มอาชีพ และท้ายที่สุดก็ส่งผลดีต่อชุมชน คือ ทำให้คนในชุมชนได้พูดคุยกัน เกิดคนใจอาสาที่ทำงานเพื่อชุมชนมากยิ่งขึ้น และเกิดเครือข่ายทางสังคม เช่น กลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาส  สิ่งที่ได้มากกว่าเงินคือ รอยยิ้ม  ความจริงใจ ความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกัน
จังหวัดนราธิวาส โครงการกิจกรรมทางเลือกแจกชุดกีรออาตีแก่เด็กกำพร้ายากจน หมู่ที่ 4 ต.โฆษิต อ.ตากใบ ซึ่งมีเด็กกำพร้า 5 คน เด็กและเยาวชนยากจน 8 คน รวม 13 คน กลางวันได้รวมตัวกันเรียนการศึกษานอกโรงเรียน กลางคืนและเวลาว่างก็เรียนศาสนาและอัลกุรอ่านที่บาราเซาะห์ ซึ่งเป็นที่ประกอบศาสนกิจและเรียนอัลกุรอ่านของเด็กๆในหมู่บ้าน ได้ตั้งชมรมเยาวชนรุ่นใหม่รักการศึกษา ต้องการมีชุดที่เหมือนๆกัน เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำกลุ่ม ดึงดูดเยาวชนที่ยังไม่เข้ากลุ่ม รวมทั้งปลูกฝังสิ่งดีงามต่อๆไป
 

 

เฮาะกีตอ : ฟื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกิจกรรมทางเลือก  เมื่อเดือนมกราคม 2552 จึงได้ใช้งบประมาณ 5,000 บาท จัดกิจกรรมให้มีการบรรยายความสำคัญและการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ถูกต้อง บรรยายความสำคัญของการศึกษาสายสามัญและสายศาสนา การแจกชุดกีรออาตีซึ่งประกอบด้วยเสื้อมลายูสีขาว หมวกกะปิเยาะสีขาว ผ้าพันศรีษะซืรบาน ผ้าโสร่ง และคัมภีร์อัลกุรอ่าน  กรณีเด็กกำพร้ายังได้ข้อสรุปจากชุมชนว่า เด็กกำพร้า  ถ้าเสียแม่ เด็กจะเกเร ติดยาเสพติด ถ้าแม่อยู่ เขาจะอดทน  ต่างจากพ่อที่ต้องอาศัยย่า ยายช่วยเลี้ยง พ่อไม่ค่อยสนใจ มีเมียใหม่ห่างลูก  ความอดทนที่จะดูแลลูกน้อย  ราชการมองว่าพ่อเสียจะช่วย แต่เสียแม่จะช่วยน้อย
จังหวัดยะลา กลุ่มผู้นำศาสนาได้ร่วมกันทำโครงการกิจกรรมทางเลือกหมู่บ้านสันติสุข หมู่ที่ 3 ต.กาบัง อ.กาบัง จ.ยะลา โดยตั้งชมรมผู้อาวุโสลูโบะบันยัง  ในเดือนเมษายน 2551  ได้ใช้งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน 5,000 บาท จัดกิจกรรมไปเยี่ยมครอบครัวที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านต่างๆ เช่น ลูกติดยาเสพติด เริ่มจากการละหมาดร่วมกัน การอุทิศส่วนบุญให้ญาติเจ้าของบ้าน รับประทานอาหารร่วมกันและพูดคุยถึงความเดือดร้อนหรือชวนเจ้าของบ้านนั่งพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้นำศาสนา ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน การให้คำแนะนำ และกำลังใจในการแก้ไขปัญหาของแต่ละครอบครัว  
ในเดือนมกราคม 2552 ได้ใช้งบประมาณ 5,000 บาท ตัดเสื้อเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชมรมผู้อาวุโส และมีกิจกรรมช่วยเหลือ เมื่อในชุมชนมีผู้เสียชีวิต จะมีการไปอ่านอัลกุรอานที่บ้านผู้เสียชีวิต โดยไม่รับค่าตอบแทน ทุกคนทำเพื่อแสวงบุญจากองค์อัลลอฮ.(ซบ.) นอกจากช่วยในงานศพแล้วจะมีการอ่านคุตเบาะฮ์ เป็นภาษาลูโบะบันยัง เพื่ออนุรักษ์ภาษาถิ่นของชุมชน มีการจัดตั้งชมรมฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน สมาชิก 425 ครัวเรือน 1,700 คน เงินทุนของชมรม 25,500 บาท
กรณีของกองทุนแม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนมีนาคม 2552ได้สนับสนุนเงินทุนให้หญิงหม้าย หญิงยากไร้ รวม 21 โครงการ เป็นเงิน 105,000 บาท เพื่อเป็นทุนทำอาชีพตามความต้องการ ความพร้อมของแต่ละคนเช่น การสานเสื่อกระจูด ขายก๋วยเตี๋ยว  ทำเครื่องประดับคริสตัล ขายเป็ดไก่ในตลาด ปลูกผัก ทำข้าวเหนียวปิ้ง  ฯ โดยมีเงื่อนไขให้ส่งคืนเป็นเงิน 150 บาท/เดือน รวม 36 เดือน
 

 

 ผลสรุปเชิงปริมาณ มีการส่งเงินคืนแล้ว 13 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 61.9 ของโครงการทั้งหมด มียอดเงินคืนที่หักค่าโอนผ่านธนาคารเป็นเงิน  8,552 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.1 ของเงินทุนทั้งหมด  
ผลเชิงคุณภาพเช่น กรณีมารีเยาะ อาแซ อยู่หมู่ที่ 6 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี มีลูก 3 คน และเลี้ยงดูเด็กกำพร้าที่เป็นลูกพี่สาวที่เสียชีวิตทั้งสามี ภรรยา อีก 7 คน เดิมมีอาชีพรับจ้างตัดยางกับสามี มีรายได้ไม่แน่นอน ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านเช่น ข้าวสารเพื่อยังชีพได้นำทุน 5,000 บาทไปทำเครื่องประดับคริสตัลขายตามตลาดนัด ทำให้มีรายได้ 100 – 200 บาทต่อวัน ความเป็นอยู่ในครอบครัวดีขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2552 ได้ส่งเงินคืนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนๆละ 150 บาท  
สรุป
ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้สรุปเหตุผลและแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการทุนสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกไว้อย่างสั้นๆ แต่กินใจว่า  ”ผมเอาส่วนรวมเป็นอันดับหนึ่ง  เอาตัวผมเองเป็นอันดับสอง”

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 86

อัพเดทล่าสุด