ภาคใต้ในยุทธศาสตร์ไทย ยุทธศาสตร์ไทยในภาคใต้ รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข โครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
หลังจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศในช่วงประมาณปี 2525/2526 จากคำประกาศของรัฐบาลในขณะนั้น ที่ถือเอาการสิ้นศักยภาพของกองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นดัชนีชี้วัด และต่อมาในช่วงของปี 2532 ก็ได้มีการประกาศรวมชาติของเยอรมนี อันนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเย็น ดังจะเห็นได้จากสัญลักษณ์ของการทำลายกำแพงเบอร์ลิน |
|
โลกหลังสงครามเย็น (Post-Cold War) จึงมีความเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อปัญหายุทธศาสตร์ เพราะในยุคสงครามเย็น ประเด็นปัญหาหลักทางยุทธศาสตร์เป็นเรื่องของการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เพราะถือเอาลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดของประเทศ การสิ้นสุดของสงครามเย็นจึงมีนัยโดยตรงถึงการสิ้นสุดของภัยคุกคามแบบเก่า และทั้งยังเป็นการยุติของแนวโน้มสงครามขนาดใหญ่ (major wars) ของรัฐอภิมหาอำนาจนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพ โซเวียตรัสเซีย และขณะเดียวกันก็เป็นการยุติการจัดระเบียบโลกที่แบ่งกลุ่มประเทศออกเป็น “2 ค่าย” (bloc) บนรากฐานของอุดมการณ์การเมือง หลังจากการสิ้นสุดสงครามเย็น ปัญหายุทธศาสตร์/ปัญหาความมั่นคงจึงเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น และเป็นภัยคุกคามที่ไม่ได้รวมศูนย์อยู่กับประเด็นด้านการทหาร ที่รัฐต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อต่อสู้กับการคุกคามทางทหารของข้าศึกที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างออกไป ภัยคุกคามกลับมีมิติของปัญหาที่เป็นบริบทในสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงด้านพลังงาน ความมั่นคงด้านอาหาร และความมั่นคงด้านสุขภาพ เป็นต้น ในสภาพเช่นนี้ดูจะมีความเชื่อแบบง่ายๆ ว่า เมื่อสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยสิ้นสุดลงแล้ว รัฐและสังคมไทยคงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาสงครามอีก เพราะสิ่งที่ต้องเผชิญกลับเป็นปัญหาความมั่นคงใหม่ (non-traditional security) ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการคุกคามทางทหารเช่นดังแบบในอดีต ผลของกระบวนคิดดังกล่าวก็คือ ทำให้มองไม่เห็นว่าสงครามแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย ไม่ได้สิ้นสุดไปกับสงครามคอมมิวนิสต์แต่อย่างใด หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสงครามอุดมการณ์ชุดหนึ่งที่สิ้นสุดในไทย มิได้หมายความว่าจะทำให้สงครามชุดอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์แบบอื่นต้องสิ้นสุดลงไปด้วยแต่อย่างใด |
|
อาการทับซ้อนของสงครามปลดปล่อยกับสงครามแบ่งแยกดินแดน จึงมิได้หมายความว่าเมื่ออุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง อุดมการณ์ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ต้องสิ้นสุดลงด้วยแต่อย่างใด ปรากฎการณ์เช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสงครามในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ของไทยได้อย่างดี และยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ตระหนักกับปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ ที่เชื่อว่าสงครามทั้งมวลสิ้นสุดแล้วในสังคมไทย สภาพของวิธีคิดเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนอีกด้วยว่า หลังสงครามเย็นแล้ว รัฐและสังคมไทยแทบจะไม่เคยให้ความสนใจต่อปัญหาความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศแต่อย่างใด ความไม่ตระหนักดังกล่าวยังทำให้เรามองไม่เห็นพลวัตรของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่มิได้มีการถดถอยเช่นการล่มสลายของขบวนการของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะรากฐานเดิมของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังดำรงอยู่ แม้รัฐไทยจะสามารถแก้ปัญหาบางส่วนทั้งในทางการเมืองและสังคมได้ แต่ปัญหาในทางอุดมการณ์และจิตวิญญาณยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่อย่างใด...ยังคงมีทั้งคนและขบวนการที่ยังขับเคลื่อนการต่อสู้ด้วยกองกำลังติดอาวุธกับ “รัฐสยาม” เพื่อจะนำไปสู่การก่อตั้ง “รัฐเอกราชใหม่” ในภาคใต้ของไทย แม้การต่อสู้ในรูปของ “การจับอาวุธลุกขึ้นสู้” (Armed Insurrection) ของขบวนการในภาคใต้กับรัฐบาลไทย จะถูกแทรกซ้อนกับปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มค้าของเถื่อน กลุ่มค้ายาเสพติด กลุ่มผลประโยชน์อิทธิพลท้องถิ่น เป็นต้น แต่ก็มิใช่ทำให้ทิศทางของสงครามที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไป การผสมผสานของกลุ่มต่างๆ จึงไม่ได้ทำให้การต่อสู้ในภาคใต้มีฐานะเป็น “สงครามยาเสพติด” หรือมีสถานะเป็น “สงครามมาเฟียท้องถิ่น” แม้ว่าพวกเขาอาจจะมีส่วนในการทำสงครามต่อต้านรัฐร่วมกับขบวนการทางการเมืองที่มีส่วนโดยตรงในการขับเคลื่อนสงครามต่อต้านรัฐไทยในพื้นที่ดังกล่าว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “สงครามการเมือง” |
|
ฉะนั้นสงครามในภาคใต้ซึ่งเป็นการจับอาวุธลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของรัฐบาลโดยอาศัยการปลุกระดมมวลชนเป็นพื้นฐาน และหวังว่าการใช้อาวุธเช่นนี้จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการ คุณลักษณะเช่นนี้ก็คือการบ่งบอกว่า การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในภาคใต้เป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” (Insurgency Warfare) และในทางกลับกันสำหรับฝ่ายรัฐนั้นการจะเอาชนะการต่อสู้เช่นนี้ได้ ก็จะต้องสร้างยุทธศาสตร์ใน “การต่อต้านการก่อความไม่สงบ” (Counterinsurgency Warfare) เพื่อทำให้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายตรงข้ามหมดศักยภาพของการเป็นภัยคุกคามลง หรือทำให้การต่อสู้ดังกล่าวสิ้นสุดลง ดังเช่นความสำเร็จในอดีตของรัฐและสังคมไทยที่สามารถทำให้การจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ยุติลงได้ และการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ก็สะท้อนให้เห็นการปรับยุทธศาสตร์ในการทำสงครามอย่างสำคัญของรัฐไทย (หรือกองกำลังติดอาวุธของรัฐไทย) มาแล้ว บทเรียนเช่นนี้อาจจะดูเป็น “เรื่องเก่า” ของยุคสงครามเย็น แต่ข้อสรุปที่ชัดเจนจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านก็คือ ชัยชนะในสงครามถูกขับเคลื่อนจากการมียุทธศาสตร์ที่ดี เพราะหากปราศจากยุทธศาสตร์ที่ดี/ถูกต้องแล้ว โอกาสในการเอาชนะการสงครามย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การสงครามในภาคใต้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มิได้เป็นข้อยกเว้นว่า รัฐไทยสามารถเอาชนะการก่อความไม่สงบในภาคใต้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการมียุทธศาสตร์ที่ดี/ถูกต้องในกระบวนการต่อสู้ ถ้าเช่นนั้นปัญหาก็คือ ภาคใต้ในบริบททางยุทธศาสตร์ของไทยจะเป็นเช่นไร และถ้ายอมรับว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหายุทธศาสตร์ สิ่งที่จะต้องตอบต่อมาก็คือ แล้วยุทธศาสตร์ไทยต่อปัญหาภาคใต้คืออะไร ปัญหาเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายต่อทั้งรัฐและสังคมไทยในสถานการณ์ความรุนแรงเช่นปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ! |
|
|