Trip นี้มีเรื่องเล่า : มุสลิม มะละกา และเมอร์เดกา รพีพร สิทธิ เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ สกว. งานวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ [email protected]
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ดิฉันได้เรียนรู้ประสบการณ์ในต่างแดนมากมาย ด้วยภาระงานที่รับผิดชอบซึ่งเกี่ยวข้องกับสามจังหวัดภาคใต้และประเทศมาเลเซีย ทำให้ได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศมาเลเซีย และประเทศที่เกี่ยวข้องกับมุสลิม คือ ประเทศเวียดนามซึ่งมีชาวมุสลิมจามอาศัยอยู่ |
|
ช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2551 ดิฉันมีโอกาสได้เดินทางไปเรียนภาษามลายูที่ University of Malaya ประเทศมาเลเซีย การเดินทางในครั้งนั้นถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งเลยก็ว่าได้ ได้เรียนภาษาที่ไม่เคยเรียน ได้ไปในที่ๆ ที่ไม่เคยมาก่อน ได้เรียนรู้และรู้จักวิถีชีวิต ผู้คน ประเพณีและวัฒนธรรมที่ไม่เคยรู้จัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมุสลิม และศาสนาอิสลาม ประกอบกับเมื่อเดือนมกราคม 2552 ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปติดตามงานโครงการ “การปรับปรนทางวัฒนธรรมของชาวจามมุสลิมในเวียดนามหลังนโยบายโด๋ยเม้ย” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สกว. โดยหัวหน้าโครงการเป็นนักศึกษาปริญญาเอกชาวเวียดนาม การเดินทางในครั้งนี้จึงช่วยให้ดิฉันได้รู้จักชาวมุสลิมมากยิ่งขึ้น แต่เป็นชาวมุสลิมอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “ชาวมุสลิมจาม” ที่อาศัยอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ในฉบับนี้ขอเริ่มต้นจากวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียก่อน โดยจะขอเล่าถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับงานแต่งงานแบบมุสลิมที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานตอนที่อยู่ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจด้วยค่ะ การแต่งงานแบบมุสลิมในประเทศมาเลเซีย หรือ ในภาษามลายูเรียกว่า “Pernikahan” เป็นคำยืมมาจากภาษาอารบิกจากคำว่า “nikah” ชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียส่วนใหญ่จะเริ่มคบหากันจากการเป็นเพื่อน (berkawan) พัฒนามาเป็นคู่รัก (kekasih) จนเริ่มแน่ใจว่ารักกันแน่ๆ จึงจะมีการหมั้นหมายเป็นคู่หมั้น (bertunung) ในขั้นนี้ฝ่ายชายจะมีการจ่ายมัดจำ ซึ่งก็น่าจะคล้ายๆ กับของหมั้นหมายในประเพณีของไทยแก่ฝ่ายหญิงด้วย ส่วนใหญ่จะใช้เวลาหมั้นประมาณ 6 เดือน - 1 ปี หากระหว่างนี้มีการถอนหมั้น (putas tuning) โดยฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายขอถอนหมั้นจะต้องคืนค่ามัดจำที่ฝ่ายชายมอบให้ แต่ถ้าฝ่ายชายเป็นฝ่ายขอถอนหมั้น ฝ่ายหญิงก็ได้รับค่ามัดจำนั้นไปได้เลย จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายแน่ใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปเจรจากับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเรื่องสินสอดทองหมั้น ส่วนใหญ่สินสอดจะอยู่ระหว่าง RM1,000-8,000 (RM1 = 10 บาท) ซึ่งจำนวนสินสอดนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาของเจ้าสาวด้วย หากเจ้าสาวการศึกษาดี สินสอดก็จะสูงตามไปด้วย นอกจากสินสอดแล้ว ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเตรียมของขวัญ หรือที่เรียกในภาษามลายูว่า “Barang hantaran” มามอบให้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเจ้าบ่าวจะมอบของขวัญจำนวนทั้งหมดเป็นเลขคู่ เช่น ของขวัญ 10 hantaran ส่วนเจ้าสาวจะมอบเป็นเลขคี่ ซึ่ง Barang hantaran ก็จะประกอบด้วย เสื้อ กางเกง รองเท้า เครื่องสำอาง ผลไม้ ขนมหวาน เป็นต้น |
|
หลักปฏิบัติสำคัญประการหนึ่งคือ ไม่ว่าชายหรือหญิงหากแต่งงานกับชาวมุสลิมแล้วจะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด (Masuk Islam) โดยต้องผ่านกระบวนการต่างๆ หลายขั้นตอน และจะต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อแบบมุสลิมด้วย เช่น นาย Steven Gerard แต่งงานกับหญิงสาวมุสลิมจะต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อ Steven Abdullah Gerard ซึ่ง Abdullah นั้นจะหมายถึง สมาชิกใหม่ของศาสนาอิสลาม เป็นต้น อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในงานแต่งงานแบบมุสลิม คือ การตีกลองชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Kompang” กลอง Kompang จะใช้เฉพาะในงานแต่งงานหรืองานในโอกาสพิเศษ เพื่อประกาศให้คนในละแวกนั้นได้ทราบว่าบ้านนี้มีงาน เนื่องจากกลอง Kompang มีเสียงดังเร้าใจมาก รวมทั้งผู้ตีกลองจะร้องเพลงประกอบจังหวะดนตรีไปด้วย จึงให้ทั้งอารมณ์คึกคักและในขณะเดียวกันก็ให้อารมณ์ขึงขังเป็นพิธีการด้วย น่าจะคล้ายๆ ขบวนกลองยาวในขบวนแห่ขันหมากบ้านเรา จบจากเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย เกี่ยวกับประเพณีงานแต่งงานแบบมุสลิมในประเทศมาเลเซียแล้ว ขอเชิญทุกท่านสัมผัสบรรยากาศดินแดนที่ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกและตกได้อย่างลงตัว ได้แก่ “เมืองมะลากา” (Malacca) เมืองประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย และเป็นเมืองที่ UNESCO ได้ประกาศให้เป็นมรดกโลกแห่งใหม่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา จากกัวลาลัมเปอร์สามารถเดินทางไปเที่ยวมะละกาแบบไปเช้า-เย็นกลับได้ ใช้เวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง การเดินทางครั้งนี้ดิฉันเลือกใช้บริการรถบัสปรับอากาศ โดยขึ้นรถที่ Puduraya สถานีขนส่งหลักของกรุงกัวลาลัมเปอร์ สนนค่าเดินทางอยู่ที่เที่ยวละ RM12 ไป-กลับ RM24 เมื่อถึงมะละกาดิฉันลงรถบัสที่ Melaka Sentral สถานีขนส่งระหว่างเมืองที่ค่อนข้างใหญ่และสะดวกสบาย ดิฉันจัดการซื้อตั๋วเพื่อเดินทางกลับกัวลาลัมเปอร์ไว้เลยทันทีในรอบสุดท้ายของวันคือ รอบสองทุ่ม จากนั้นจึงนั่งรถเมล์ท้องถิ่นเพื่อเดินทางเข้าไปในตัวเมืองมะละกาซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถโดยสารประมาณ 5 กิโลเมตร ค่าโดยสารรถเมล์เพียง RM1 เท่านั้น เกริ่นนำพอหอมปากหอมคอแล้ว ต่อจากนี้ขอเชิญทุกท่านท่องเที่ยวมะละกาไปพร้อมๆ กับดิฉันได้เลยนะคะ |
|
“มะละกา” (Malacca) ถูกค้นพบโดยเจ้าชาย Parameswara แห่งเกาะเทมาเส็ก (ประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน) ภายหลังจากที่พระองค์ถูกโจมตีจนต้องหลบหนีออกจากเกาะเทมาเส็ก จนกระทั่งเดินทางมาถึงเมืองมะละกา ขณะที่พระองค์กำลังนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง พระองค์ได้สังเกตเห็นสุนัขป่ากำลังไล่ทำร้ายกระจงน้อยตัวหนึ่ง ซึ่งกระจงน้อยไม่ได้ยอมแพ้กลับต่อสู้กับสุนัขป่าอย่างกล้าหาญ จนกระทั่งสามารถเตะสุนัขป่าตัวนั้นตกแม่น้ำไป พระองค์ชื่นชมในความกล้าหาญของกระจงน้อยเป็นอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจลงหลักปักฐานตั้งดินแดนใหม่ ณ ที่แห่งนี้ โดยตั้งชื่อดินแดนแห่งนี้ว่า “มะละกา” ตามชื่อต้นไม้ที่พระองค์นั่งพัก (มะละกาคือ ต้นมะขามป้อม) และกระจงน้อยก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของมะละกามาจนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งของมะละกา ทำให้มะละกากลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญ และเป็นเมืองศูนย์กลางของการขนส่งทางทะเล มีการติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ เช่น จีน อินเดีย รวมทั้งประเทศไทยหรือสยามในสมัยนั้นด้วย ซึ่งการเข้ามาของพ่อค้าชาวอาหรับได้นำศาสนาอิสลามมาเผยแพร่ยังดินแดนแถบนี้ด้วย เริ่มจากเจ้าผู้ครองนครเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ราษฎรก็หันมานับถือด้วย ทำให้ศาสนาอิสลามกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ในดินแดนแถบนี้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ปกครองนครได้รับการสถาปนาให้เป็นสุลต่าน ตั้งแต่บัดนั้นศาสนาอิสลามได้รับการยอมรับและกลายเป็นศาสนาประจำชาติของมาเลเซียมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน |
|
นอกจากนี้ จากการที่มะละกาเป็นเมืองท่าและตลาดการค้าที่สำคัญ จึงทำให้หลายๆ ประเทศอยากครอบครอง มะละกาตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสในศตวรรษที่ 15 (1511-1641) ตามด้วยฮอลันดาในศตวรรษที่ 16 (1641-1824) อังกฤษในศตวรรษที่ 18 (1824-1957) และเคยตกเป็นของญี่ปุ่นระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (1942-1945) แต่เนื่องจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้มะละกากลับมาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษตามเดิม จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้คืนเอกราชให้กับดินแดนที่เคยตกเป็นอาณานิคมรวมทั้งมาเลเซียด้วย ถือเป็นการสิ้นสุดการอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมายาวนานกว่าร้อยกว่าปี ตรงกับวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1957 มาเลเซียจึงถือเอาวันนี้เป็นวันชาติจนถึงปัจจุบัน โดยทุกปีในวันดังกล่าวชาวมาเลเซียจะพากันเปล่งเสียงร้องว่า “Merdeka” ซึ่งเป็นภาษามลายูแปลว่า “อิสรภาพ” และมีการเฉลิมฉลองกันอย่างคึกคักอีกด้วย |
|
นอกจาก Dutch Square, History & Ethnography Museum และ St. Paul’s Church ดิฉันยังได้ไปเดินเที่ยวย่าน Kampung Cina (China Town) ซึ่งสังเกตได้ว่านอกจากวัดจีนแล้ว ยังพบมัสยิด และวัดแขก แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในมะละกาอีกด้วย การเดินทางในครั้งนี้จบลงด้วยการไปเดินเล่นเลียบแม่น้ำมะละกา (Sungai Melaka) ในช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน ด้วยความที่เป็นเมืองชายทะเลจึงทำให้มีลมพัดเอื่อยๆ อยู่ตลอด บรรยากาศดีมาก เมืองเล็กๆ ไม่วุ่นวาย เย็นวันนั้นจึงเป็นอีกวันที่สร้างความประทับใจแก่ดิฉันในดินแดนมาเลเซียแห่งนี้ จากบทความในฉบับนี้หวังว่าทุกท่านคงได้รับประโยชน์และความเพลิดเพลินจากประสบการณ์ในดินแดนมาเลเซียแห่งนี้ และในฉบับหน้ากลับมาพบกันในเรื่องราวของวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมของชาวมุสลิมจามที่อาศัยอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนามกันต่อนะคะ แล้วพบกันค่ะ |