สกว. หนึ่งเดียวที่วิจัยการท่องเที่ยวอาเซียน ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ การท่องเที่ยวกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน [email protected]
อ่านชื่อเรื่องที่พาดหัวไว้ ผู้อ่านคงเกิดคำถามมากมายซึ่งผู้เขียนเองก็เพิ่งทราบเมื่อเร็วๆนี้ ทราบเมื่อ Mr. RJ. Gurley ผู้อำนวยการโครงการ ASEAN Competitiveness Enhancement (ACE) เล่าให้ฟังว่า โครงการที่ Mr. Gurley รับผิดชอบนี้เป็นโครงการต่อยอดจากโครงการการท่องเที่ยวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ สกว.ได้ให้การสนับสนุน |
|
การดำเนินโครงการของ Mr. Gurley นี้เป็นโครงการที่รัฐบาลอเมริกาให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศอาเซียนในการสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันของอาเซียนผ่านกองทุน US Aid และแน่นอนการท่องเที่ยวก็ถูกมองเป็นประเด็นที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีศักยภาพในการแข่งขันกับภูมิภาคต่างๆทั่วโลกได้ โดยโครงการจะเน้นการสร้างกลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการท่องเที่ยว และในการสร้างกลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยวให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้เอง จึงทำให้ผู้เขียนได้พบความจริงว่า สกว. เป็นหน่วยงานเดียวที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ พูดๆแล้วก็น่าภูมิใจนะครับ ผู้เขียนได้รับแจ้งจาก Mr. Gurley ว่า จะนำข้อเสนอแนะไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อน จุดแข็ง และภาพลักษณ์อาเซียนไปใช้ในการวางกลยุทธ์การตลาดการท่องเที่ยว และที่สำคัญ กำลังหาเครือข่ายนักวิจัยท่องเที่ยวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ สกว. ได้ทำงานด้วยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มาร่วมทำงาน |
|
โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อวันหนึ่ง ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง (อดีตผู้อำนวยการ สกว.) ได้เชิญผู้เขียนเข้าไปคุยถึงจดหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ในการมีส่วนร่วมกันผลักดันให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็น ASEAN Economic Community (AEC) เป็นกลุ่มประเทศที่มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจคล้ายๆกับ สหภาพยุโรป (EU) โดยปราศจากการกีดกันด้านภาษีและอื่นๆ โดยได้มีข้อตกลงกันในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในหลายๆประเด็นที่จะร่วมมือกัน ข้อตกลงนั้นเรียกว่า “ASEAN Roadmap” และประเทศไทยเองก็ได้เป็นผู้นำในการดูแลเรื่องการท่องเที่ยวและการบิน (ASEAN Tourism and Aviation Roadmap) ในการนี้ สกว.เลยเขียนข้อเสนอโครงการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้โดยคาดหวังว่า สกว.น่าจะมีส่วนช่วยยกระดับศักยภาพนักวิชาการการท่องเที่ยวไทยในการพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ผ่านกระบวนการวิจัย ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างเครือข่ายการวิจัยการท่องเที่ยวของผู้มีส่วนร่วมด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จีน และเกาหลี (สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ ชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรภาครัฐระดับประเทศ) 2) สร้างธนาคารข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จีน และเกาหลี 3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยการท่องเที่ยวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จีน และเกาหลี 4)สร้างคู่มือท่องเที่ยวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จีน และเกาหลี การดำเนินโครงการได้แบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้ |
|
โครงการระยะที่ 1 ได้เริ่มต้นขึ้นประมาณปี 2546 โดยมีสมมติฐานว่า อาเซียนมีประสบการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอยู่ หากแต่ขาด “กลไกการสร้างความร่วมมือ” ดังนั้นในระยะนี้ สกว. จึงสนับสนุนการวิจัยที่พยายามค้นหาองค์ความรู้ที่ตอบคำถามได้ว่า “กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวได้อย่างไร” และ “ความร่วมมือนั้นจะทำให้กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นจุดหมายเดียว (single destination) ได้อย่างไร” กระบวนการดำเนินโครงการเริ่มต้นจากการสำรวจความพร้อมด้านการวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งจีนด้วย เนื่องจาก สกว. คิดว่าการท่องเที่ยวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่สามารถจะอยู่โดดเดี่ยวได้ ต้องพึ่งพามหาอำนาจด้านการท่องเที่ยวในอนาคต นั่นคือจีน นั่นเอง ดังนั้นในระยะแรกจึงมีมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมร่วมโครงการดังนี้ |
|
|
|
จากผลการวิจัยในระยะแรก นอกจากจะได้เพื่อนนักวิจัยมากมายแล้ว ยังได้ข้อเสนอแนะในการทำให้กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรู้ว่า “จะสามารถทำอะไรร่วมกันได้” ผลการวิจัยได้เผยแพร่ผ่านการจัดประชุมการท่องเที่ยวนานาชาติ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 ณ ศูนย์ประชุมองค์การสหประชาชาติ โดยมี ฯพณฯ ท่านประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน ข้อมูลทั้งหมดที่เป็นผลการวิจัยถูกเก็บไว้ที่ธนาคารข้อมูลวิจัยการท่องเที่ยวอาเซียนที่ www.ttresearch.org และจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่มีชื่อว่า “A Step of Unity Forward: Tourism Approaches For ASEAN One Destination” เพื่อเป็นแนวทางสร้างความร่วมมือการพัฒนาการท่องเที่ยวอาเซียนต่อไป ผลการวิจัยในระยะที่ 1 ได้สร้างความสนใจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยประกาศแนวคิดสำคัญคือ “การจัดการท่องเที่ยวต้องดำเนินการร่วมกันถึงจะอยู่รอดทั้งภูมิภาค หากจุดยืน (positioning) ของแต่ละประเทศต้องต่างกัน” และวลีตอนท้ายนี้เองนำมาสู่คำถามการวิจัย ในระยะที่ 2 ตามมา |
|
ในอีกปีหนึ่งถัดมา สกว. ได้ระดมนักวิจัยการท่องเที่ยวไทยที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับในสาขาต่างๆ ร่วมมือกันในการค้นหา “จุดต่างที่วางในภูมิภาคเดียวกัน” (รวมจีน และเกาหลี) ด้วยความพยายามที่จะสร้างการท่องเที่ยวเชื่อมโยงขึ้นในภูมิภาค เพราะธรรมชาติของมนุษย์ เวลาท่องเที่ยวก็อยากได้สิ่งที่แตกต่าง แต่ในทางกลับกัน ประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่างแข่งขันกันประกาศ “จุดขายเดียวกัน” จึงสร้างความอ่อนแอให้กับการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ นักวิจัย สกว. ที่ร่วมโครงการดังกล่าวมีดังนี้ |
|
|
|
ผลการวิจัยสะท้อนว่า กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีทรัพยากรการท่องเที่ยวคล้ายกัน แต่มีจุดร่วมที่เหมือนกันที่ถือว่าเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว คือ “ความมีมิตรไมตรี” ของชาวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ไม่มีที่ใดเหมือน พร้อมประกาศจุดยืนของแต่ละประเทศที่ควรจะเป็น เช่น ประเทศไทยกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) กัมพูชากับการท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ (Heritage Tourism) สิงคโปร์กับการท่องเที่ยวในเมือง (Urban Tourism) ฟิลิปปินส์กับการท่องเที่ยวเกาะและทะเล (Island and Beach Tourism) และอื่นๆอีกมากมาย |
|
ในการดำเนินการวิจัยจนได้คำตอบข้างต้น สกว. ได้ส่งเสริมศักยภาพนักวิจัยให้เป็น “ผู้สร้างเวทีระดมความคิด” โดยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานภาคีต่างๆ ในประเทศที่ตนเองรับผิดชอบ โดยตระหนักว่า “The great coordinator is a real leader” กระบวนการวิจัยที่ดำเนินการนั้นได้ก่อให้เกิดเวทีการอภิปรายสถานการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และภัยคุกคามของแต่ละประเทศอย่างเสรี และข้อมูลทั้งหมดก็ถูกนำมาสรุปสู่การนำผลการวิจัยไปใช้เชิงนโยบายต่อไป โดยผลการวิจัยนั้นได้เผยแพร่ในเวทีการประชุมนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2550 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย ฯพณฯ ท่านสุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน และเวทีการประชุมนี้เอง เป็นเวทีที่ฉายภาพศักยภาพนักวิจัยการท่องเที่ยวไทยที่นำเสนอผลการวิจัยเคียงข้างกับภาคีธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้เกิด “ความอยาก” ในการวิจัยการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย และผลการวิจัยที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ การนำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกเสนอตาม theme ของแต่ละประเทศมาตีพิมพ์เป็นหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวอาเซียน (ASEAN Traveling Guidebook) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์เดินทางการทำวิจัยในประเทศนั้นๆของนักวิจัยการท่องเที่ยวไทย พร้อมคำแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วย 7 ปีที่ผ่านมากับการดำเนินโครงการการท่องเที่ยวอาเซียนที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ได้ก่อให้เกิดคุณูปการมากมาย หากแต่ไม่ใช่เป็นเพียงปริมาณจำนวนโครงการและสร้างองค์ความรู้เท่านั้น แต่เป็นมิตรภาพที่งอกงามและเกิดขึ้นกับนักวิจัยท่องเที่ยวในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน...และสายสัมพันธ์นี้... เกิดความร่วมมือต่างๆตามมาอย่างประเมินค่ามิได้ |
|