เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย


936 ผู้ชม


เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย
เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย  รศ.ดร.ชัยวัฒน์   คุประตกุล
[email protected]

อ่านบทความย้อนหลังได้ทางhttps://rescom.trf.or.th
 

 

เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย  ถนนสายนี้ชื่อ…วิจัย!
นักเดินทางบนถนนสายวิจัย เป็นกลุ่มคนมีชื่อเรียกร่วมกันเป็น…นักวิจัย!
ถนนสายชื่อ วิจัย เป็นอย่างไร  เป็นถนนสายที่น่าเดิน มีความพิศวงชวนตื่นเต้นแค่ไหน อย่างไร นักวิจัยที่ท่องไปบนถนนสายชื่อวิจัย มีความสุข ความรื่นรมย์แค่ไหน ต้องเผชิญกับขวากหนาม หลุมบ่อ อุปสรรค ภัยอันตรายอย่างไรหรือไม่?
ถนนสายนักวิจัย มีหลายสาย ขึ้นอยู่กับด้านต่าง ๆ ของศาสตร์ยุคใหม่ ดังเช่น ด้านสังคมศาสตร์ ปรัชญา การเมือง การปกครอง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การศึกษา มนุษยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ถึงแม้ว่า เป้าหมายสูงสุดร่วมกันของนักวิจัยในด้านหรือสาขาของศาสตร์ต่าง ๆ คือ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่วิถีของถนนสายชื่อวิจัยของศาสตร์ด้านต่าง ๆ ก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน
เรื่องของเราวันนี้ เป็นเพียงบางแง่มุม เกี่ยวกับถนนสายวิจัยของวิทยาศาสตร์โลกและในประเทศไทย
ถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นถนนสายที่มีความไม่แน่นอนสูง  นักวิจัย…คือ นักวิทยาศาสตร์… ไม่สามารถมองเห็นถนนสายนี้ได้ไกลนัก  แถมยังเป็นถนนสายที่มีอุปสรรค สิ่งกีดขวางมากมาย ทั้งที่มองเห็น และที่มองไม่เห็น…
 

 

เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย  แต่ถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็เป็นของนักเดินทางที่มีความแปลก ไม่ธรรมดา เพราะมีน้อยคนนักที่สามารถเดินทางไปได้ไกลตามถนนสายวิจัยนี้อย่างคล่องตัว อย่างแทบจะไม่เผชิญกับอุปสรรคปัญหาใหญ่ ๆ    ในขณะที่นักเดินทางส่วนใหญ่ ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคใหญ่หลวงมากมาย บางครั้งก็เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ
ทว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ ก็ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่ออุปสรรค หลายคนเสมือนหนึ่ง มีพลังพิเศษอยู่ภายใน ที่สามารถเรียกออกมาใช้ได้ อย่างไม่น่าเชื่อ  เพราะช่วงเวลาของความยากลำบาก ซึ่งสำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่คงทนรับอยู่ได้เพียงไม่กี่วัน กี่เดือน แต่นักวิจัยพิเศษเหล่านี้ สามารถทำอยู่ได้นานหลายปี…
แล้วที่พิเศษอย่างไม่น่าเชื่อ คือ หลายคนก็ทำอย่างมีความสุข (กับปัญหาอุปสรรค)
ดูกรณีตัวอย่าง แมรี คูรี (ค.ศ.1867-1934) กับ ปีแอร์  คูรี (ค.ศ.1859-1906) ผู้ใช้เวลาสี่ปีกับการทำงานหนัก แบก ขน ต้ม เคี่ยว แยกสารละลายจากแร่พิตช์เบลนด์หนักหลายตัน  จนกระทั่งได้คราบเกลือของธาตุเรเดียมเพียงหนึ่งในสิบกรัม ซึ่งในช่วงเวลาสี่ปีนั้น แมรี คูรี ต้องสูญเสียน้ำหนัก (ผอมลง) ถึงเกือบ 7 กิโลกรัม แต่ทั้งคู่ก็ทำงาน (ท่องไปบนถนนสายการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยกัน) อย่างมีความสุข
แมรี คูรี ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในการท่องถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ มิใช่เพียงแค่การแก้โจทย์วิทยาศาสตร์ (ที่นำไปสู่การค้นพบเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี, ธาตุโพโลเนียม และธาตุเรเดียม)  เธอยังต้องเผชิญกับปัญหาจากการกีดกันทางเพศ ในฝรั่งเศส  ซึ่งเธอก็ต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยว จนกระทั่งถนนสายวิทยาศาสตร์ เปิดสำหรับนักวิทยาศาสตร์หญิงด้วย
ปัญหาอุปสรรคของนักวิทยาศาสตร์บางคน ที่ท่องไปบนถนนสายวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ เป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่หลวง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศรัทธา ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งสาหัสเป็นพิเศษ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ ที่ตนเองก็เป็นคนของศาสนาอยู่ด้วย ดังกรณีของ โคเปอร์นิคัส (ค.ศ.1473-1543)
โคเปอร์นิคัส เป็นนักดาราศาสตร์โดยผลงานที่ชอบเป็นการส่วนตัวและในประวัติศาสตร์พัฒนาการของวิทยาศาสตร์โลก ถึงแม้เขาจะมิใช่คนแรกที่เสนอว่า ดวงอาทิตย์ มิใช่โลก เป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่โดยผลของการทำงานดาราศาสตร์ ศึกษาการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และบรรดาดวงดาวในท้องฟ้าอย่างละเอียดอยู่นานหลายปี  จนกระทั่งมั่นใจในทฤษฎีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  จึงเขียนเป็นหนังสือซึ่งนับเป็นหนึ่งในหนังสือสำคัญที่สุดที่พลิกโลกวิทยาศาสตร์ คือ On The Revolution Of Heavenly Spheres (มักรู้จักเรียกกันสั้น ๆ เป็น On The Revolution)…
 

 

เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย  ทว่า ปัญหาบนถนนสายการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์ของ โคเปอร์นิคัส คือ ตัวเขาเองเป็นผู้ศึกษามาทางด้านศาสนาด้วย (ควบคู่กับการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์) และทำงานอย่างเป็นอาชีพเกี่ยวกับการจัดการภารกิจต่าง ๆ ทางด้านศาสนา จนตลอดถึงวันสุดท้ายของชีวิต ซึ่งทำให้ โคเปอร์นิคัส ตระหนักถึงปัญหาความยุ่งยาก และอันตรายของการตีพิมพ์ทฤษฎีความคิดใหม่ของเขาเรื่อง ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  เนื่องจากขัดแย้งกับหลักการของศาสนจักรในยุโรปยุคสมัยนั้น ซึ่งมีอำนาจสูงสุด ใครก็ตามที่เพียงแค่เสนอความคิดขัดแย้ง ก็จะถูกจับขึ้นศาลพระ และโทษร้ายแรงที่สุดคือ ตาย!
ด้วยความตระหนักในปัญหาความยุ่งยากนี้เอง โคเปอร์นิคัส จึงเก็บต้นฉบับหนังสือ On The Revolution ไว้นานถึง 13 ปี จนกระทั่งในที่สุด ก่อนจะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาจึงยินยอมให้มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา และก็ได้มีโอกาสสัมผัสหนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม โดยไม่ได้อ่านจริง ๆ เพราะหนังสือมาถึงมือเขาเพียงไม่นาน ก่อนที่เขาจะหมดลมหายใจ
หลังจากตีพิมพ์หนังสือ On The Revolution ของ โคเปอร์นิคัส   ความยุ่งยากก็เกิดขึ้นจริงดังที่ โคเปอร์นิคัส คิด  ความยุ่งยากจากการต่อต้านอย่างรุนแรงของศาสนจักร ซึ่งที่สุดแห่งที่สุด บนถนนสายพัฒนาการของวิทยาศาสตร์โลก  ก็มีคนกล้าที่ลุกขึ้นท้าทายศาสนจักรอย่างเปิดเผย  และก็ถูกศาลพระพิพากษา มีความผิดในฐานะลบหลู่ศาสนา ถูกเผาทั้งเป็น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1600  คนกล้าที่ยอมสละชีวิตเป็นโคมส่องสว่างให้ถนนสายวิทยาศาสตร์ชื่อ จิออร์ดาโน  บรูโน (Giordano  Bruno เกิด ค.ศ.1548 หลังการจากไปของโคเปอร์นิคัส 5 ปี)
 

 

เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย  นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยมืออาชีพ ไม่กลัวที่จะคิดผิด จากการคิดนอกกรอบ เพราะบ่อย ๆ ที่ถนนสายวิทยาศาสตร์ทอดยาวขึ้นได้ ก็เกิดจากการกล้าคิดนอกกรอบ นอกแนวคิดที่วงการวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปยึดถือกัน ทั้งนี้ ถ้ากระบวนการคิด การศึกษาและทดลอง ดำเนินไปอย่างถูกต้อง ถูกกระบวนการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริง
ไอน์สไตน์ (ค.ศ.1879-1955) สร้างทฤษฎีสัมพัทธภาพ ขึ้นมาเป็นเสาหลักสำคัญเสาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้สำเร็จ ก็เพราะไอน์สไตน์ กล้าคิดใหม่ในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่าง มิติของตำแหน่งกับเวลาว่า แยกจากกัน (ดังฟิสิกส์ยุคเก่า) ไม่ได้  และกล้าที่จะเสนอเป็นความคิดใหม่ว่า แสงเดินทางในสุญญากาศด้วยความเร็วคงที่เสมอ  ไม่ขึ้นอยู่กับสภาพการเคลื่อนที่ของต้นกำเนิดแสงและผู้สังเกต
 

 

เพื่ออนาคต : ถนนสายนี้ชื่อ...วิจัย  ความน่าทึ่งน่ามหัศจรรย์อย่างหนึ่งของถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็คือ ถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง จะไม่มีทางตัน  เพราะแม้แต่การตั้งโจทย์ ตั้งสมมุติฐานที่ผิด นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยมืออาชีพ ก็จะได้สิ่งใหม่ขึ้นมาเสมอ และสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้วิทยาศาสตร์โลกก้าวหน้าขึ้นอีกอย่างก้าวกระโดดก็ได้
แล้วถนนสายวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยล่ะ ?
สำหรับนักวิทยาศาสตร์นักวิจัยมืออาชีพไทยในปัจจุบัน  สร้างผลงานการวิจัยเป็นที่ยอมรับระดับโลกอยู่มากทีเดียว ทั้งด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งผลงานวิจัยระดับคุณภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็แสดงว่า ถนนสายวิจัยของนักวิทยาศาสตร์มืออาชีพของไทย ก็เป็นถนนสายที่น่าเดิน น่าตื่นเต้น ถึงแม้จะเป็นถนนสายที่จะต้องมีอุปสรรค หลุมบ่อ ปัญหา ดังเช่นถนนสายวิจัยของวิทยาศาสตร์โลก...
แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับนักวิจัยวิทยาศาสตร์ไทยมือใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ หรือเพิ่งสำเร็จการศึกษา เริ่มต้นทำงานการวิจัย ซึ่งก็มักจะเริ่มต้นอย่างมีความคาดหวังว่า จะได้เดินไปบนถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สนุก ที่น่าตื่นเต้น ที่มีความสุข ทว่า เมื่อได้เดินไปตามถนนสายวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์จริง ๆ กลับพบว่า ถนนสายนี้ เป็นถนนที่ไม่น่าเดินอย่างที่คิด เพราะในทางตรงกันข้าม นักวิจัยมือใหม่เหล่านี้จำนวนมาก พบว่า การวิจัยเป็นเรื่องไม่สนุก ไม่ตื่นเต้น น่าเบื่อหน่าย ซ้ำร้ายสำหรับบางคน เป็นถนนสายที่ทำให้ต้องฝันร้าย ต้องจำใจทนเดินอย่างเป็นทุกข์แสนสาหัส
 

 

 ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?
สาเหตุมาจากนักวิจัยมือใหม่เอง หรือระบบการศึกษาของไทยในการสร้างนักวิทยาศาสตร์นักวิจัย หรือบรรยากาศการวิจัยของไทย หรือ (การขาดแคลน) นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยมืออาชีพที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา และผู้นำการวิจัยที่ดี หรือมาจากทุกสาเหตุปัจจัย ?!
 

 

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 85

อัพเดทล่าสุด