ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์


1,557 ผู้ชม


ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ศฤงคารินทร์  
วิมล  หงษ์ลอย
สำนักประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์  
ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
[email protected]
wimon.[email protected]

 

 
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  งานวิจัย
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  จากการดำเนินงานของสำนักประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์ ตั้งแต่ปี 2546-2551 รวมเป็นระยะเวลา 5 ปี มีโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว 13 โครงการ กำลังดำเนินการอยู่ 9 โครงการ กำลังพัฒนาข้อเสนอโครงการอยู่ 11 โครงการ ซึ่งมุมมองของผู้ประสานงานเองมองออกเป็น 3 ระดับคือ  
ระดับแรกเป็นองค์ความรู้เชิงนโยบายมหภาค งานวิจัยลักษณะนี้จะเป็นงานวิจัยในการศึกษาหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เห็นภาพในการตั้งรับและรุกและรู้จักตนเอง โดยผลวิจัยและแนวทางการแก้ไขที่ออกมาจะสร้างนโยบายและทิศทางโลจิสติกส์ของประเทศทั้งในระดับปฏิบัติการ และระดับนโยบาย ซึ่งโครงการที่ทางสำนักประสานงานฯ ได้ดำเนินการอยู่ได้แก่ โครงการการเตรียมการโลจิสติกส์เพื่อตอบรับสถานการณ์ FTA จีน – อาเซียน ,โครงการการออกแบบระบบการตัดสินใจเพื่อระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างไทยเวียดนาม , โครงการการศึกษาความพร้อมและการปรับตัวของสาขาบริการโลจิสติกส์ของไทยต่อการเปิดเสรีการค้าบริการ , โครงการการศึกษาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ที่มีผลกระทบต่อมูลค่าเพิ่มของโซ่อุปทาน , โครงการการศึกษาศักยภาพของตลาดหัวอิฐต่อการเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าเกษตรในภาคใต้
ระดับที่สองเป็นองค์ความรู้ระดับอุตสาหกรรมรายสาขา เป็นงานมุ่งเน้นการได้มาซึ่งต้นแบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมรายสาขา โดยศึกษาการไหลของอุตสาหกรรมนั้น ๆ จากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งผลงานวิจัยนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่สะท้อนจากบริบทโซ่อุปทานของ sector นั้น  ๆ ดังเช่น โครงการการประเมินศักยภาพเชิงบูรณาการการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในประเทศไทย , โครงการการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมกุ้งขาวพิโทพีเนียสแวนาไมในประเทศไทย , โครงการการจัดการโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรด , โครงการการศึกษากระบวนการจัดการโซ่อุปทานและการกระจายของก๋วยเตี๋ยวเส้นสด กรณีศึกษาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ , โครงการการจัดตารางการขนส่งเพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดถังพักนมต่ำที่สุด : กรณีศึกษาโรงงานผลิตนมขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อ.ส.ค.) จังหวัดขอนแก่น , โครงการการพัฒนารูปแบบการคัดกรองสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นหัตถอุตสาหกรรม , โครงการการพัฒนาแบบจำลองโซ่อุปทานในการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและการพัฒนาดัชนีชี้วัดสมรรถนะโซ่อุปทานธุรกิจการค้าปลีก , โครงการการศึกษาระบบจัดการโซ่อุปทานของลำไยสดในประเทศไทย , โครงการพัฒนาระบบสอบย้อนกลับการผลิตการแปรสภาพและการค้าข้าวหอมมะลิอินทรีย์โดยการบูรณาการระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ , โครงการการจัดการโกดังสินค้าและคลังกระจายสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  ระดับที่สามเป็นองค์ความรู้ทางเทคนิคและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยผู้เขียนมองว่างานวิจัยในระดับนี้เป็นงานสนับสนุนในระดับอุตสาหกรรมรายสาขามากกว่าการเกิดโจทย์ในตัวเทคโนโลยีหรือข้อมูลเอง เพื่อหาคำตอบหรือเครื่องมือที่ถูกต้องให้กับอุตสาหกรรมไทย โครงการลักษณะนี้ได้แก่ โครงการปัจจัยการผลิตและผลผลิตสำหรับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลางเพื่อประเมินผลด้านเศรษฐกิจ , โครงการการจัดทำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตด้านโลจิสติกส์ของไทย, โครงการการจัดลำดับการผลิตซ้ำใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์คอนกรีต และโครงการการนำเทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูลมาประยุกต์ใช้เพื่อการขนส่งในประเทศไทย
 

 
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  นักวิจัย
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  จากงานวิจัยทั้ง 3 ระดับนี้ นักวิจัยแต่ละโครงการจะมีวิธีการดำเนินการที่แตกต่างกันออกไป โดยในงานวิจัยระดับมหภาค นักวิจัยส่วนใหญ่จะมาจากสหสาขาวิทยาการ ทั้งนักบริหารจัดการ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิศวกรรมศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นการออกสำรวจและสัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับมาวิเคราะห์และออกแบบเพื่อให้ได้ผลวิจัยสำหรับการใช้ประกอบการสนับสนุนการตัดสินใจให้แก่หน่วยงานที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป  
งานวิจัยระดับอุตสาหกรรมรายสาขา นักวิจัยส่วนใหญ่จะมาจากสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และวิทยาการจัดการ ระเบียบวิธีวิจัยที่นักวิจัยใช้ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสัมภาษณ์อุตสาหกรรมที่กำลังดำเนินการศึกษา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นหลัก และนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์และดำเนินการปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กร โดยนำหลักการ Supply Chain Optimization การพยากรณ์ การจัดการวัสดุคงคลัง การเชื่อมโยงภายในองค์กรและเทคโนโลยีสารสนเทศ มาใช้ในการวิเคราะห์หาจุดแข็งและจุดอ่อนของอุตสาหกรรมนั้น ๆ แล้วเสนอเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป  
งานวิจัยระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นักวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นนักวิศวกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี ระเบียบวิธีวิจัยที่นักวิจัยกลุ่มนี้ใช้คือการนำ Technology base มาสร้างองค์ความรู้ในเชิง application เพื่อให้ได้เทคโนโลยีที่คิดค้นและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
 

 
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  บทเรียนจากงานวิจัย
 สิ่งที่ผู้ประสานงานเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 5 ปี ที่จัดตั้งสำนักประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์นี้ขึ้นมา  เช่น  งานที่เราดำเนินการแล้วประสบความสำเร็จคืองานในระดับอุตสาหกรรม  การวิเคราะห์และออกแบบกระบวนการโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่ศึกษา ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในกระบวนการปรับปรุงภายในองค์กร และ Supply Chain Optimization เช่น โครงการโซ่อุปทานสับปะรด ผลงานวิจัยที่นักวิจัยได้เข้าไปศึกษา supply และ demand ทั้งระบบออกมาทำให้รู้ว่าโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดในประเทศไทยเป็นอย่างไร  
ปัญหาและอุปสรรคในชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ  
1) ปัญหามาจากนักวิจัย ในลักษณะงานของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานต้องมีบริบทให้โจทย์วิจัยอยู่เพราะ
โลจิสติกส์และโซ่อุปทานเปรียบเสมือนเครื่องมือในการวิเคราะห์เท่านั้น นักวิจัยต้องใส่ความพยายามที่จะหาคำตอบจากบริบทนั้น ๆ อย่างมีตรรกะและมีเหตุผลแต่สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คือ นักวิจัยจะมีคำตอบอยู่แล้วจากเครื่องมือวิเคราะห์ที่ตนถนัดซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้มาซึ่งคำตอบที่ตรงประเด็นได้
2) ปัญหาในการถ่ายทอดและขยายผลงานวิจัย คือ
• การมีส่วนร่วมของผู้ใช้ผลงานวิจัย  โดยงานวิจัยจะเริ่มจากการพัฒนาข้อเสนอโครงการโดยการยืนยันความต้องการงานวิจัยจากผู้ใช้ผลหลาย ๆ ฝ่าย แต่ในขณะที่การดำเนินงานวิจัยผู้ที่ยืนยันความร่วมมือนั้นมิได้ติดตามผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เมื่อผลงานวิจัยบรรลุแล้ว ผู้ใช้ไม่สามารถนำไปถ่ายทอดสู่ระดับนโยบายได้
• ความสามารถในการแปลผลงานวิจัยของนักวิจัยโลจิสติกส์โดยมากจะจบงานวิจัยที่ผลการทดลองและบทวิเคราะห์แต่จะขาดการสังเคราะห์นำไปสู่บริบท  ดังนั้นอุปสรรคจึงอยู่ที่การถ่ายทอดผลงานวิจัยไปสู่ระดับที่นำไปใช้ได้จริง หรือการแปลสู่ Public Policy
 

 
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  อนาคตของสำนักประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์
 สิ่งที่จะเกิดขึ้นสำหรับสำนักประสานงานชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์ ภายใต้ สกว. และทิศทางงานวิจัยในปี 2552 จะเป็นผลจากการระดมสมองในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ระดมสมองเพื่อกำหนดทิศทางโลจิสติกส์ของไทย” เมื่อวันอังคารที่ 9  ธันวาคม  2551 ที่ผ่านมา โดยสามารถสรุปได้ดังนี้  
1)  ประเทศไทยใช้คำว่า “ โลจิสติกส์” เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่วัตถุประสงค์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ” ( National Competitiveness )  
2)  “ โลจิสติกส์” ต้องมี “บริบท” ให้อยู่  เพราะหลักการจัดการโลจิสติกส์จะขึ้นอยู่กับบริบท และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
3)  บริบทของโลจิสติกส์ในประเทศไทย มี 2 ระดับใหญ่ๆ คือ ระดับจุลภาค และระดับมหภาค
โดยกรอบโลจิสติกส์ของประเทศไทยสามารถสรุปได้ดังแผนภาพต่อไปนี้
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  
 

 

 หากแบ่งระบบโลจิสติกส์ของไทยตามบริบท จะแบ่งได้ 2 ระดับ คือ
1)  โลจิสติกส์ระดับจุลภาค (micro)  คือโลจิสติกส์ที่อยู่ในบริบทของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการบริหารการไหล ของโซ่อุปทานใดๆ  โลจิสติกส์ในระดับนี้จะแยกตามบริบทของอุตสาหกรรมรายสาขา (industrial sector) โดยศึกษาการไหลของ sector นั้นๆ  
2)  โลจิสติกส์ระดับมหภาค (macro) คือ โลจิสติกส์ที่อยู่ในบริบทภาพของประเทศและคู่ค้าของประเทศ  
โลจิสติกส์ในระดับนี้จะมุ่งเน้นที่การบริหารการไหลในระดับประเทศและระหว่างประเทศซึ่งเกี่ยวโยงถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและกฎระเบียบนโยบายต่างๆ  
การศึกษาระบบโลจิสติกส์ทั้ง 2 ระดับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งสามารถตีความได้ 3 ข้อ คือ การลดต้นทุน  การเพิ่มประสิทธิภาพ และการสร้างมูลค่าเพิ่ม  ซึ่งหมายความว่าในการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ทั้ง 2 ระดับนี้จะสามารถส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้ดัชนีที่กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ข้อนี้เป็นตัวชี้วัด
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  นอกจากนี้บริบททั้ง 2 ระดับของโลจิสติกส์ในประเทศไทยนั้น มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทั้งบริบทและการบ่งชี้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ
1)  ปัจจัยขับเคลื่อน / ปัจจัยผลักดัน คือ  
-  Economic Restructuring  
-  Dynamic Business Environment  
2)  ปัจจัยสนับสนุน คือ
-  เทคโนโลยีโลจิสติกส์
-  กฎ  ระเบียบ  การเจรจาการค้าต่างๆ  
-  ฐานข้อมูลที่จำเป็นของประเทศ
3)  ปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ
-  อะไรคือ Product Champion ของประเทศไทย
-  งานวิจัย / งานด้านโลจิสติกส์ ที่ต้องดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลต่อยอดได้
ทั้งนี้ผลที่คาดว่าจะได้รับสามารถแสดงออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
1) องค์ความรู้หรือข้อมูลพื้นฐานของประเทศประกอบการตัดสินใจหรือพิจารณา(basic research)  
2) ผลเชิงประยุกต์ที่นำมาใช้ได้เลย (applied research)
จากกรอบทิศทางโลจิสติกส์ของประเทศไทยนี้  ส่งผลให้ทิศทางงานวิจัยและโจทย์วิจัยสามารถมองได้ใน 2 บริบทเช่นกัน  คือโลจิสติกส์ระดับจุลภาค และระดับมหภาค โดยพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบริบทดังกล่าวได้  3 ปัจจัย คือ ปัจจัยขับเคลื่อน / ผลักดัน   ปัจจัยที่ต้องพิจารณา และปัจจัยสนับสนุน  ซึ่งประเด็นของแต่ละปัจจัยทั้ง 2 บริบทสรุปได้ดังนี้
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  
 

 

 จากคำถามทั้งหมดในแต่ละปัจจัยสะท้อนโดยบริบทของโลจิสติกส์ทั้ง 2 ระดับ  และเมื่อนำมาวิเคราะห์รวมกับงานวิจัยที่ได้ดำเนินการผ่านมาแล้วนั้น พบว่างานวิจัยด้านโลจิสติกส์แยกได้เป็น 3 กลุ่ม  คือ โลจิสติกส์ระดับมหภาค  ระดับอุตสาหกรรม และงานสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ของ 2 กลุ่มข้างต้น  และเมื่อพิจารณาในแต่ละกลุ่มประกอบกับผลจากการระดมสมองเมื่อวันอังคารที่ 9 ธันวาคม 2551  แล้ว  พบว่า
1) งานวิจัยโลจิสติกส์ระดับมหภาค
งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ได้ทำไปแล้วในกลุ่มนี้เป็นงานวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของประเทศ (fact findings) ประกอบการพิจารณาในบริบทของการแข่งขันในระดับพื้นที่ประเทศและภูมิภาค ผลวิจัยที่ได้จะนำมาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  
 

 

 จะเห็นว่าผลวิจัยในบริบทระดับนี้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการพิจารณา ณ สถานการณ์ปัจจุบัน แต่ถ้าหากพิจารณาประเด็นคำถามแต่ละปัจจัยและผลการระดมสมองแล้วจะพบว่าสิ่งที่ขาดและยังต้องดำเนินการ คือ ทิศทางของสถานการณ์ในอนาคตตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับโลกที่จะส่งผลต่อประเทศในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ทิศทางงานวิจัยที่ต้องดำเนินการปี 2552 : โลจิสติกส์ระดับมหภาค
- งานวิจัยด้านโลจิสติกส์ในบริบทระดับภูมิภาคที่ทำให้เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- งานวิจัยที่ระบุ ถึง Product Champion  ของประเทศ และการใช้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของ product นั้น ในบริบทการแข่งขันระหว่างประเทศ
 

 

 2) งานวิจัยโลจิสติกส์ระดับอุตสาหกรรม
งานวิจัยระดับนี้เป็นงานวิจัยที่ศึกษาการไหลในโซ่อุปทานรายอุตสาหกรรม  โดยลำดับการทำในอุตสาหกรรมรายสาขาที่มีประเด็นที่เป็นที่สนใจในสถานการณ์ปัจจุบัน ผลวิจัยของงานระดับนี้เป็นการแก้ปัญหาที่สะท้อนจากบริบทโซ่อุปทานของ sector นั้นๆ บางส่วน หรือการแก้ปัญหาทั้งโซ่อุปทานในองค์รวม
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  จะเห็นว่าผลวิจัยในกลุ่มนี้เป็นลักษณะการศึกษาทั้งโซ่อุปทาน แต่เลือกแก้ปัญหาที่โดดเด่นของกิจกรรมโลจิสติกส์ในโซ่อุปทานนั้น ดังนั้นสิ่งที่ขาดและยังต้องดำเนินการโดยรวมคือ ยังไม่ทราบถึงอุตสาหกรรมสาขาใดกันแน่ที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันในของประเทศโดยสร้างธุรกิจและรายได้ให้กับทั้งโซ่อุปทานในประเทศได้ และอุตสาหกรรมแต่ละสาขาที่ศึกษาไปแล้วและที่ยังไม่ศึกษาควรแก้ปัญหาประเด็นอื่นๆ อีกหรือไม่ นอกจากนี้ยังขาดการศึกษาแบบการไหลย้อนกลับในโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงการศึกษาเพื่อแบ่ง class ในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาโซ่อุปทานในประเทศไทย
ทิศทางงานวิจัยที่ต้องดำเนินการปี 2552 : โลจิสติกส์ระดับอุตสาหกรรม
- งานวิจัยที่ระบุ Product Champion ของไทยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของโซ่อุปทาน product นั้นในบริบทโซ่อุปทานในประเทศ
- งานวิจัยเพื่อแบ่ง class โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไทย
- งานวิจัยราย sector แต่เป็นประเด็นที่ทบทวนจากงานวิจัยเดิมแล้ว
- Reverse Logistics & Green Supply Chain
 

 

 3)  งานวิจัยกลุ่มสนับสนุน 2 กลุ่มข้างต้น
งานวิจัยในกลุ่มนี้แบ่งได้ 2 ประเภท คือ งานการสร้างฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนงาน 2 กลุ่มข้างต้น และงานวิจัยเชิงประยุกต์เพื่อสร้างเทคโนโลยี
 

 

ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  
 

 

 งานวิจัยในกลุ่มนี้เป็นงานสนับสนุนมากกว่าการเกิดโจทย์ในตัวเทคโนโลยี หรือข้อมูลเอง ดังนั้นทิศทางงานวิจัยในกลุ่มนี้จะถูกขับมาจาก 2 กลุ่มข้างต้น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ต้องการการตรวจสอบว่าปัจจุบันมีการทำอะไรไปบ้างแล้วและยังขาดข้อมูลหรือเทคโนโลยีใดสนับสนุนอยู่บ้างในแต่ละบริบท
ทิศทางงานวิจัยที่ต้องดำเนินการปี 2552 : งานสนับสนุน
ระบบโลจิสติกส์ใน 2 บริบท ทั้งระดับมหภาคและระดับอุตสาหกรรม ต้องการปัจจัยสนับสนุนอะไรบ้าง
• ด้านเทคโนโลยี
• กฎระเบียบและนโยบาย
• ข้อมูลสนับสนุน
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์ของประเทศไทย แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ โลจิสติกส์ระดับมหภาค, โลจิสติกส์ระดับอุตสาหกรรม และงานวิจัยสนับสนุน 2 บริบทข้างต้น โดยโจทย์วิจัยตั้งแต่ปี 2552 ควรมุ่งเน้นถึง
• การทบทวนและใช้ผลงานวิจัยที่ผ่านมา เพื่อต่อยอด
• ทิศทางและผลกระทบในอนาคตที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย
• ระบบโซ่อุปทานของ Product champion ที่สร้างศักยภาพในการแข่งขันของไทยทั้งบริบทระหว่างประเทศและในอุตสาหกรรม
 

 
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์  สังเคราะห์บทความเรื่อง “โลจิสติกส์”
ทิศทางงานวิจัยด้านโลจิสติกส์   โดย  รศ.ดร.สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์
สกว. สนใจงานวิจัยที่เข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจแบบ supply chain - value chain  มาตั้งแต่ปี 2544   ในขณะนั้นกระแสความคิดเศรษฐกิจพอเพียงกำลังเป็นที่สนใจกันทั่วไป   สกว. ฝ่ายอุตสาหกรรมจึงสนใจที่จะเข้าใจภาพรวมของการไหลของเศรษฐกิจ sector ต่างๆ (ที่ สกว. สนใจเป็นการเฉพาะคือ sector ที่มี local content สูง)   สกว. จึงหารือกับผู้นำกลุ่มนักวิจัยรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง (รศ. ดร. ดวงพรรณ  กริชชาญชัย / มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่จบการศึกษาทางด้านนี้ กลุ่มนี้มีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น บัญชี เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การจัดการ  ต่อมา สกว. สนับสนุนให้เกิดการจัดการแบบชุดโครงการ  โดยมีแนวทางการทำงาน 3 ประการ คือ
1. เร่งหาคำตอบว่าประเทศไทยควรทำอย่างไรกับนโยบายโลจิสติกส์ของประเทศในการแข่งขันด้านการค้าและอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการค้าเสรีจีน-อาเซียน ที่จะมีผลในปี 2010 (ในฐานะที่ไทยมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ตรงกลางระหว่างจีนที่มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน  และทางใต้อีกกว่า 600 ล้านคน)
2. ให้ใช้การจัดการแบบโลจิสติกส์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในระดับรายโรงงาน  ให้แข่งขันได้ (ขณะนั้นประเทศเพิ่งฟื้นตัวจากปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตก  และกระแสการเปิดการค้าเสรีมาแรงมาก)
3. การวิจัยจะต้องเป็นวิทยาศาสตร์  ให้พยายามหานวัตกรรมใหม่ในการวิจัยมาทดแทนการวิจัยเชิงคุณภาพแบบสำรวจความคิดเห็น (ใช้แบบสอบถามและ focus group)   เช่น ใช้ศาสตร์ด้านแบบจำลอง (modeling) โดยวิธีคณิตศาสตร์  เพื่ออธิบายผลทางเศรษฐศาสตร์ และช่วยในการตัดสินใจด้วยศาสตร์ทาง optimization    
ด้วยหลักคิดเบื้องต้น ชุดโครงการนี้จึงมี guide line ที่ชัดเจน การมีผู้ประสานงานที่มีเครือข่ายกว้าง  เป็นที่ยอมรับทั้งซีกเพื่อนนักวิชาการ  ผู้กำหนดนโยบาย (เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และอุตสาหกรรม  ทำให้ชุดโครงการนี้ผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก  สิ่งที่ สกว. เรียนรู้จากชุดโครงการนี้คือ
1. ความเป็นเครือข่าย 3 ฝ่าย  ทำให้งานมีความชัดเจน  เพราะมีคนเคยกลั่นกรองโจทย์
2. นักวิจัยจำนวนมากยังอยู่ใน stage การเรียนรู้บริบท  การมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในการมองภาพกว้าง (macro) เช่น สศช. มาช่วย comment นั้น ได้เพิ่มการเรียนรู้ในเชิงบริบทและกลไกนโยบายอย่างมาก (ขอขอบคุณ คุณสุริยนต์  ธัญกิจจานุกิจ) ที่มีความเห็นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อสอนนักวิจัยอยู่เสมอ  แต่นักวิจัยก็มีจุดแข็งที่สามารถเสนอวิธีวิทยา (methodology) ใหม่ๆ เพื่อการแปลผลให้งานวิจัยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น
3. การทำวิจัยแบบนี้เราจะต้องจัดการปลายน้ำในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทงานพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยี  เพราะเป็นการจัดการให้เกิดนโยบาย  ดังนั้น สกว. จึงตั้งเป้าพัฒนาต่อให้กลุ่มนักวิจัยนี้รวมตัวกันสร้างและบูรณาการองค์ความรู้ให้เกิดเป็น “ทางเลือกนโยบาย” (policy options)   และปฏิบัติงานแบบขุมความคิด (think tank) เพื่อช่วยให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมโดยมีข้อมูลวิชาการมาประกอบอย่างมีหลักการ
 
 
 
   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 84

อัพเดทล่าสุด