IRPUS : R&D อย่างเป็นระบบ รศ.ดร.วิโรจน์ บุญอำนวยวิทยา โครงการอุตสาหกรรมและวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (IRPUS) [email protected] www.irpus.org
งานวิจัยและพัฒนา (Research and Development หรือ R&D) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคการศึกษา หรือภาคเอกชน ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การทำ R&D มีการบูรณาการอย่างเป็นระบบ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น |
|
การทำวิจัยและพัฒนาให้บรรลุผลนั้นขึ้นกับเงื่อนไขของงบประมาณ กำลังคน และระยะเวลาที่จำกัด งานวิจัยและพัฒนาจึงจำเป็นต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของหลายฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในประเทศไทยได้มีการทำ R&D กันในระดับหนึ่ง แต่การวิจัยและพัฒนาโดยส่วนใหญ่ยังไม่เป็นระบบเท่าไรนัก เนื่องจากมีลักษณะต่างคนต่างทำในภาคการศึกษา ส่วนใหญ่นักวิจัยภายในมหาวิทยาลัยมุ่งทำ R&D ตามแบบตะวันตกโดยไม่มีผู้นำผลงานวิจัยไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม คือ มุ่งทำวิจัยตามความสนใจของตัวนักวิจัย หรือให้คำปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่วนใหญ่นักวิจัยจะนำผลการวิจัยหรือประสบการณ์ที่ได้รับมาเขียนบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ ซึ่งเป็นค่านิยมที่สังคมไทยยอมรับกัน ดังนั้น จึงพบว่างานวิจัยที่เกิดขึ้นจากสถาบันการศึกษาจึงไม่สะท้อนถึงความต้องการของผู้ใช้ผลงานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง แต่เป็นผลงานวิจัยเพื่อปรับเลื่อนตำแหน่งในหน้าที่การงานของนักวิจัย อาจเนื่องจากบทความวิชาการไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญจากภาคอุตสาหกรรมหรือผลงานวิจัยที่ได้รับไม่สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองยังไม่เห็นความสำคัญของการทำ R&D มากนัก เพราะผู้ประกอบการคิดว่าการเลียนแบบและดัดแปลงเพียงเล็กน้อย (Copy and Development) น่าจะเพียงพอแล้ว นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายยังมีปัญหาในเรื่องของงบประมาณหรือบุคลากร ทำให้ไม่มีความพร้อมในการทำ R&D อย่างไรก็ตามหากจะมองถึงงานวิจัยที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการจะมีหลากหลายลักษณะ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การแก้ปัญหาเทคนิคในกระบวนการผลิต การปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือระบบการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อวิเคราะห์ถึงสภาวการณ์ R&D ของประเทศไทยเป็นเช่นนี้มานาน อีกทั้งยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายไปในแนวทางที่ควรจะเป็นอย่างต่างประเทศ อาจจะพบว่าบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงาน R&D ทั้งในสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่างฝ่ายต่างมีมุมมองที่ต่างกันดังตาราง ทั้งนี้เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อนในอดีต หากมีความร่วมมือกันในการทำ R&D ภาคอุตสาหกรรมจะมีความกังวลในตัวอาจารย์ที่ร่วมมือในการวิจัยว่าจะทำได้สำเร็จในเวลาที่มีจำกัด และรักษาความลับของบริษัทได้หรือไม่ ส่วนนักวิจัยยังไม่แน่ใจในเรื่องที่ตนเองถนัดว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรมได้หรือไม่ นับเป็นช่องว่างระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก |
|
|
|
การแก้ไขปัญหานี้จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการปฏิบัติ และความเชื่อของคน ซึ่งเป็นการยากที่จะทำให้ใครเชื่ออะไรง่ายๆ ดังนั้นประเด็นในการปรับเปลี่ยนแนวคิดทั้งของอาจารย์และผู้ประกอบการภาคเอกชน คือ เมื่อมีการทำวิจัยแล้วจะต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (ดังตาราง) |
|
|
|
การเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงแนวคิดระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้าหากันสามารถปฏิบัติได้จริงหากมีการทำ R&D อย่างเป็นระบบ การดำเนินแนวทางการทำ R&D อย่างเป็นระบบมีหลากหลายประการนับตั้งแต่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหลายแห่งมีนโยบายสร้างแรงจูงใจนักวิจัยให้ทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมด้วยการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่มีการนำผลการวิจัยที่ได้รับไปปฏิบัติจริงในภาคอุตสาหกรรม และประเมินผลงานวิจัยดังกล่าวปรับเปลี่ยนไปจากแนววิจัยดั้งเดิมด้วยการผนวกผลการวิจัยซึ่งแสดงวิธีการแก้ปัญหาภาคอุตสาหกรรมที่มีความเป็นไปได้จริงในอนาคตเป็นดัชนีการประเมินประเภทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในทางปฏิบัติจริงยังมีความยุ่งยากในเชิงปฏิบัติเนื่องจากได้รับความสนใจจากนักวิจัยรุ่นใหม่ค่อนข้างน้อยเนื่องจากว่านักวิจัยรุ่นใหม่ยังคุ้นเคยกับงานวิจัยในห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการผนึกกำลังของนักวิจัยในสาขาวิชาต่างๆ ในรูปแบบศูนย์ความเป็นเลิศ (center of excellence) ที่ยังไม่มีการเชื่อมโยงปัญหาวิจัยจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ปฏิบัติจริง |
|
อย่างไรก็ตามจุดเชื่อมโยง (crosslink) ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนในหลักสูตรการศึกษาไทย (ที่เป็นระบบ) อีกจุดหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกงานในช่วงฤดูร้อน ดังนั้นหากสามารถบริหารจุดเชื่อมโยงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายย่อมหมายถึงหนทางที่จะนำไปสู่ R&D ที่ประเทศไทยต้องการในอนาคตได้ วิชาฝึกงานในภาคฤดูร้อนนั้น มีจุดประสงค์ที่ต้องการให้นิสิต/นักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิตจริงในการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม นิสิต/นักศึกษาที่ต้องฝึกงาน ได้แก่ นิสิต/นักศึกษาที่จบจากปีที่ 3 และกำลังจะขึ้นปีที่ 4 ซึ่งหาสถานที่ฝึกงานได้จากฝ่ายแนะแนว อาจารย์มีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก กล่าวคือ มีการตรวจการฝึกงานเพียง 1 วัน หลังจากที่นิสิต/นักศึกษาใกล้จบการฝึกงานแล้ว ดังนั้นเนื้อหาสาระของการฝึกงานจึงขึ้นตรงกับโรงงาน/บริษัทที่รับนักศึกษาไปฝึกงาน โรงงานบางแห่งอาจมีการเตรียมโปรแกรมการฝึกงานไว้เป็นอย่างดี แต่บางแห่งรับนิสิต/นักศึกษาไว้โดยไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน การบริหารวิชาฝึกงานให้มีประสิทธิภาพนั้นจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการทำ R&D กล่าวคือถ้ามีการสอดแทรกการแก้โจทย์-ปัญหาจริงให้แก่นิสิต/นักศึกษาที่ไปฝึกงานและให้ทางมหาวิทยาลัยมอบหมายให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยกำกับดูแลในช่วงการฝึกงาน เพียงเท่านี้ สิ่งที่ตามมาก็คือการได้สมาคม-แลกเปลี่ยนความเห็น-การได้รู้จักซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้ประกอบการ-นักวิจัย หรือนักวิจัย-นิสิต/นักศึกษาที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อมีการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ความร่วมมือและความเข้าใจสถานภาพของแต่ละฝ่าย อันจะนำไปสู่การทำ R&D ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ เมื่อทราบโจทย์ปัญหาจริงแล้ว กลยุทธ์ต่อมาคือ การบริหารวิชาโครงงานที่นักศึกษาปีสุดท้ายต้องทำก่อนจบการศึกษา ที่ผ่านมาในอดีตวิชาโครงงานนี้ไม่ค่อยได้ตอบโจทย์-ปัญหาจริงเท่าไรนัก แต่ในแนวทางของโครงการใหม่นี้ วิชาโครงงานก็เป็นเส้นทางที่ 2 ที่จะนำไปสู่การทำ R&D อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม |
|
กลยุทธ์การสร้าง R&D อย่างมีระบบ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดตั้งโครงการอุตสาหกรรมและวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (IRPUS) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้ทุนแก่นิสิต/นักศึกษา ที่กำลังเรียนอยู่ในปีสุดท้ายเพื่อทำโครงงานการวิจัยประเด็นปัญหา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยให้นิสิต/นักศึกษาร่วมมือกับผู้ประกอบการ ช่วยกันค้นหาโจทย์ปัญหาจริงระหว่างการฝึกงานในภาคฤดูร้อน โครงการ IRPUS เกิดขึ้นด้วยตระหนักว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมต้องการบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทักษะในการแก้โจทย์ปัญหาจริงและมีทัศนคติที่ดีในการทำงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น การเตรียมกำลังคนที่มีวุฒิการศึกษาระดับสูงเป็นเรื่องเร่งด่วน โครงการ IRPUS มีแนวคิดการทำงานที่โดดเด่นด้วยการบูรณาการโจทย์ปัญหาจริงในภาคอุตสาหกรรมเข้ามาสู่ระบบการศึกษาผ่านทางวิชาโครงงานปีสุดท้ายและใช้การฝึกงานภาคฤดูร้อนของนิสิต/นักศึกษาเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานระหว่างกันด้วย นับเป็นการสร้างกลไกความเชื่อมโยงระหว่าง “ความต้องการความรู้” ในภาคอุตสาหกรรมและ “ความสามารถในการผลิตความรู้” ในมหาวิทยาลัย และเป็นหลักการที่บูรณาการทั้งการจัดการ การศึกษา และการวิจัยที่ดี อันจะทำให้เกิดระบบการทำวิจัยที่พึ่งพาได้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นระบบหนึ่งที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตและการพัฒนาประเทศ โครงการ IRPUS จึงเป็นยุทธศาสตร์ของ สกว. ที่มีทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว พร้อมกับมีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมและเป้าหมายเชิงนามธรรมสำหรับอนาคตของ “ระบบวิจัย” |
|
โครงการ IRPUS เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ประกอบด้วยโครงการสองส่วน คือ IPUS ซึ่ง สกว.สนับสนุนทุนวิจัยต่อโครงงานไม่เกิน 100,000 บาท และ RPUS ซึ่งสกว.สนับสนุนทุนวิจัยต่อโครงงานประมาณ 10,000 กว่าบาท สกว.จะจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาข้อเสนอโครงงานจากมหาวิทยาลัยทุกแห่งตามหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกข้อเสนอโครงงาน IPUS ซึ่งย่อมาจาก Industrial Projects for Undergraduate Students เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้อาจารย์และนิสิต/นักศึกษาทำโครงงานที่ผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมต้องการและมีส่วนร่วมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงงานด้าน engineering and development ที่ค่อนไปทางส่วนปลายของกระบวนการวิจัยโดยสนองตอบยุทธศาสตร์ของ สกว. ที่เน้นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่การผลิตลงไปถึงระดับฐานรากของการผลิตในประเทศ ผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศสามารถร่วมทำโครงการด้วยการส่งโจทย์โดยตรงมาที่สำนักงานโครงการ IRPUS หรือส่งโจทย์ผ่านทางอาจารย์/นักศึกษาที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ประกอบการ โครงงาน IPUS แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ IPUS1 IPUS2 และ IPUS3 โครงงาน IPUS1 เป็นทุนที่สนับสนุนการทำโครงงานจากโจทย์ที่เสนอโดยผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาทางเทคนิคอุตสาหกรรมในปัจจุบันและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถต่อสู้กับคู่แข่งในระดับโลกได้ โดยใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกรับโจทย์ตรงจากผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมผ่านเวทีประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การจัดสัมมนาสร้างเครือข่ายนักวิจัย/ภาคการศึกษากับผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรม การเสนอโจทย์ผ่านเว็บไซต์สำนักงานโครงการ IRPUS และ สกว. จะประกาศให้อาจารย์/นักวิจัยตามมหาวิทยาลัยส่งข้อเสนอโครงงานเพื่อแก้ปัญหาเข้ารับการคัดเลือก หนทางหนึ่งในการประกาศโจทย์วิจัย ได้แก่ การใช้เครือข่ายนักวิจัย สกว. (Biodata สกว.) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะรวบรวมรายชื่อนักวิจัยทั่วประเทศพร้อมวุฒิการศึกษา ผลงานวิชาการ ความสนใจในการทำวิจัย ฐานข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการรับโจทย์วิจัยจากภาครัฐบาล ภาคการศึกษาตลอดจนภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้แก่นักวิจัยผู้สนใจได้ก้าวเข้ามาร่วมวิจัยต่อไป |
|
แนวทางรับโจทย์โดยตรงจากผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมโดยตรงยังไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในวงการวิชาการ เนื่องจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่มีความถนัดในเรื่องประชาสัมพันธ์และมหาวิทยาลัยยังไม่ได้ทำงานดังกล่าวอย่างจริงจัง การเปลี่ยนยุทธศาสตร์เชิงรุกนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเปรียบเสมือนเป็นโอเอซิสที่กลุ่มเอกชนรอคอยมานาน ในปีการศึกษา 2551 นี้ มีผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมเสนอโจทย์วิจัยมาทั้งสิ้น 110 โครงงานและสกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัย IPUS1 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 80 โครงงาน IPUS2 เป็นทุนที่สนับสนุนการทำโครงงานจากโจทย์ที่ได้จากการฝึกงานภาคฤดูร้อนของนิสิต/นักศึกษาหรืออาจารย์ได้โจทย์จากอุตสาหกรรม IPUS2 เป็นการปฏิวัติแนวทางการฝึกงานรูปแบบใหม่ที่เน้นให้นิสิต/นักศึกษาได้แก้โจทย์ปัญหาจริงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการท้าท้ายให้นิสิต/นักศึกษาเกิดความคิดและกระบวนการเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาซึ่งเป็นการเรียนรู้จากภาคปฏิบัติหรือเรียนรู้จากของจริง โจทย์ปัญหาที่พบอาจจะไม่ได้แก้ไขให้ถึงที่สุดในช่วงการฝึกงาน แต่สามารถนำโจทย์ปัญหาดังกล่าวมาพัฒนาเป็นโครงงานวิจัยในวิชาโครงงาน (project) และมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นหัวหน้าโครงงานวิจัย ซึ่งนับเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษาโดยมีงานวิจัยในระดับปริญญาตรีเป็นกลไกเชื่อมโยง ในปีการศึกษา 2551 นี้ มีข้อเสนอโครงงานประเภท IPUS2 ทั้งสิ้น 695โครงงานและสกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัย IPUS2 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 364 โครงงาน IPUS3 เป็นทุนที่สนับสนุนให้คิดนวัตกรรมใหม่ที่คาดว่าจะพัฒนาต่อเพื่อให้เข้าใกล้การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องทำ ณ สถานที่ของผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรม โครงงานวิจัยประเภท IPUS3 กระตุ้นให้นักวิจัยได้ค้นคิดแนวทางหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนนโยบายการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ไปในตัว งานวิจัยประเภท IPUS3 เปิดโอกาสให้นักวิจัยที่ไม่เคยทำวิจัยเชิงพาณิชย์เปลี่ยนวิสัยทัศน์แนวทางการทำวิจัยมาเป็นแนวทางการสร้างธุรกิจใหม่ภายใต้ความเห็นสนับสนุนจากผู้ประกอบการในสายธุรกิจใกล้เคียง |
|
ในปีการศึกษา 2551 นี้ มีข้อเสนอโครงงานประเภท IPUS3 ทั้งสิ้น 661โครงงานและสกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัย IPUS3 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 293 โครงงาน RPUS ซึ่งย่อมาจาก Research Projects for Undergraduate Students เป็นโครงงานที่เน้นวิจัย ที่ต้องการสร้างนักวิชาการ/นักวิจัยระดับสูง โดยสนับสนุนนิสิต/นักศึกษาที่มีศักยภาพในการศึกษาต่อระดับสูงกว่าปริญญาตรีให้ทำโครงงานวิจัยกับอาจารย์ที่มีทุนวิจัยอยู่แล้ว โดยควรเป็นเรื่องและทุนขนาดใหญ่พอที่จะเป็นวิทยานิพนธ์เมื่อนักศึกษาเข้าหลักสูตรปริญญาโท นอกจากนี้ RPUS ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของนิสิต/นักศึกษาในการศึกษาต่อในโครงการต่างๆของ สกว. เช่น ทุนวิจัยบัณฑิตศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต อีกด้วย ในปีการศึกษา 2551 นี้ มีข้อเสนอโครงงานประเภท RPUS ทั้งสิ้น 152โครงงาน และสกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัย RPUS เป็นจำนวนทั้งสิ้น 100 โครงงาน จากการดำเนินงานของโครงการ IRPUS จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปี ได้สร้างและพัฒนางานวิจัยมาตามลำดับ ดังนี้ |
|
|
|
และทุกปีเมื่อสิ้นปีการศึกษา สำนักงานโครงการ IRPUS ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานจากโครงงานที่ได้รับทุนเพื่อให้อาจารย์ และนิสิต / นักศึกษาที่ได้รับทุนที่อยู่ต่างมหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือในอนาคต ทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ ซึ่งอาจนำแนวคิดจากงานวิจัยไปดำเนินการต่อยอดได้ หรือนำผลงานของโครงงานไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างได้ ตัวอย่างผลงาน IPUS 2 ที่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการได้แก่ โครงงานการปรับปรุงสมบัติการทนแรงกระแทกของแผ่นสไตรินเมทิลทาคริเลตโคพอลิเมอร์ด้วยยางธรรมชาติโดยกระบวนการหล่อ ผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัทแพนเอเชียอุตสาหกรรม จำกัด โครงงานดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์จากพลาสติกทนแรงกระแทกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอ่างอาบน้ำ และเกราะกันกระสุน อีกหนึ่งผลงานได้แก่ โครงงานศึกษาวิจัยและสร้างอุปกรณ์ต้นแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ในเครื่องยนต์แก๊สโซลีนที่อัตราเร็วรอบปานกลางถึงสูงให้สมบูรณ์ ผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท โปรอาร์ กรุ๊ปจำกัด โครงงานดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องยนต์แก๊สโซลีนที่อัตราเร็วรอบปานกลางถึงสูงให้สมบูรณ์ เครื่องยนต์ดังกล่าวจัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ต้นแบบชิ้นแรกของโลก ซึ่งช่วยลดเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้และเพิ่มสมรรถนะให้กับเครื่องยนต์แก๊ซโซลีน ตัวอย่างผลงาน IPUS 3 ที่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการได้แก่ การพัฒนารำข้าวและน้ำนึ่งปลา รำข้าวเป็นผลผลิตที่หาได้จากโรงสีข้าว ส่วนมากขายไปเพื่อทำเป็นอาหารข้าวหรือทำปุ๋ย แต่ในรำข้าวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ที่สกัดออกมาได้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Arobinoxylence เป็นต้น กากที่ได้หลังจากการสกัดยังนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วยการดูดซับโปรตีนจากโรงงานทำน้ำนึ่งปลาเพราะน้ำส่วนนี้มี BOD สูงยากแก่การกำจัด การผนวกเอาของเสีย 2 ส่วนนี้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่นี้ จึงเป็นงานที่ท้าทายและมีโอกาสต่อยอดเชิงธุรกิจได้เพราะมีมูลค่าและมีโอกาสทางการค้าสูง |
|
ตัวอย่างของผลงานดังกล่าวมา สำนักงานโครงการ IRPUS ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถนำเครื่องหมายโครงการ IRPUS ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการไปใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น นับเป็นกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งที่ทางผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมได้ใช้สัญลักษณ์ของโครงการ IRPUS เพื่อใช้เป็นสื่อโฆษณาผลงานของบริษัทที่ได้เข้าร่วมกับทุนโครงการ IRPUS นอกจากนี้ ผลงานจากโครงการ IRPUS ได้มีการดำเนินการขอยื่นจดสิทธิบัตร ได้แก่ การพัฒนาการแยกบริสุทธิ์ไลโซไซม์อย่างง่ายจากไข่ขาวของไข่ไก่ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า สกว. เป็นผู้จุดประกายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการนี้ ด้วยการสนับสนุนเรื่องงบประมาณ และสร้างจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคการศึกษาผ่านทางงานวิจัยในระยะยาว ก้าวต่อไปของโครงการ IRPUS ยังเน้นการสร้างรูปแบบการทำวิจัยร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา พร้อมกับสร้างจิตสำนึกการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยสู่ผู้ประกอบการอันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป |
|
สังเคราะห์บทความเรื่อง “IRPUS” โดย รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ โครงการ IRPUS เป็นโครงการแรกที่ฝ่ายอุตสาหกรรมเริ่มใช้เป็นกลไกการทำงานระหว่างภาคการผลิตกับภาคการศึกษา โครงการนี้เริ่มจากแนวคิดง่ายๆ ว่าในระบบการศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมอยู่บ้างแล้ว คือการฝึกงาน ดูโรงงาน หากเราจัดการสนับสนุนให้ถูกทาง เราจะได้ผลการจัดการการศึกษาที่เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ การผลิตบัณฑิตที่มีทักษะแก้ปัญหาที่มีเงื่อนไขจริง (หรือเรียกว่ามีบริบท) และทำให้ภาคการผลิตขนาดเล็กมี “สะพาน” เชื่อมต่อเข้าสู่วิชาการในมหาวิทยาลัย โครงการ IRPUS จึงสนับสนุนให้นักศึกษานำโจทย์ที่พบเห็นจากอุตสาหกรรม (ไม่ว่าจะผ่านการฝึกงานหรือการรับรู้โจทย์ทางอื่น) มาเป็นปัญหาในวิชาโครงงานปีสุดท้าย (final year project) โครงการนี้ขยายการให้ทุนจาก 100 ทุนในปีแรก มาเป็น 1,000 ทุน เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นประโยชน์ของโครงการนี้ในปีการศึกษา 2550 เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ มีโครงการมาก และมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การบริหารโครงการจึงมีรูปแบบที่ต่างจากชุดโครงการอื่น สกว. ต้องขอบคุณ รศ.ดร. วิโรจน์ บุญอำนวยวิทยา (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) และทีมงานที่ได้ทุ่มเทในการสร้างระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเอาชนะเงื่อนไขหลายประการได้ โครงการ IRPUS ประกอบด้วย 4 สายงานย่อย (IPUS 1 / IPUS 2 / IPUS 3 / RPUS) ดังที่ปรากฎในบทความนี้ สำหรับ สกว. เราได้เรียนรู้จากงานนี้ ดังนี้ 1. การใช้งานวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นมีหลายระดับ หากเราต้องการแก้ปัญหาให้อุตสาหกรรม SMEs เราต้องเริ่มจากงานขนาดเล็ก เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างคน 2 วัฒนธรรม 2. อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยมักจะมีชีวิตอยู่แต่ด้านการศึกษา คือ เรียนมาตลอดชีวิตแล้วมาเป็นอาจารย์เลย จึงไม่มีประสบการณ์กับโลกแห่งความเป็นจริงที่กำลังเกิดกับอุตสาหกรรมไทย (ซึ่งต่างกับโลกต่างประเทศที่ตนเองวิจัยทำวิทยานิพนธ์จบมา) IRPUS เป็นสะพานให้อาจารย์รุ่นใหม่ได้สัมผัสกับการผลิตในภาคเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี 3. หากผู้ประกอบการให้ความสนใจอย่างจริงจัง เรามีโอกาสที่จะได้ผลงานที่มีผลกระทบอย่างมาก ความสำเร็จนี้เกิดดอกออกผลให้ความมั่นใจแก่นักศึกษา อาจารย์ และผู้ประกอบการ 4. งานวิจัยแบบนี้สร้างผลกระทบกับคุณภาพของการศึกษาอย่างมาก (จากรายงานเบื้องต้นของคณะศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบของโครงการ IRPUS) ซึ่งเป็นการยืนยันแนวความคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ โครงการ IRPUS นี้ได้รับการขยายผลต่อกับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเน้นการเก็บข้อมูลความเป็นจริงของพื้นที่ เพื่อเข้าใจท้องถิ่น และหวังว่าสักวันหนึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ จะมีข้อมูลท้องถิ่นมากพอที่จะใช้ความรู้มาช่วยแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้ถูกจุด |