เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด


1,405 ผู้ชม


เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด
เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  ผศ.ดร.บัณฑิต   อินณวงศ์
ชุดโครงการ “การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (SMEs)”  สกว.
[email protected]
www.trfsme.org

“ของกล้วยๆ” ... ตามสุภาษิตไทยแปลว่า “ทำอะไรได้ง่าย ๆ”   แต่งานวิจัยเรื่องกล้วย กลับไม่ง่ายอย่างที่ใครๆ หลายคนคิด ทั้งนี้หลายท่านคงทราบว่ากล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่นิยมบริโภค เนื่องจากปลูกง่าย และเจริญได้ในสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ผลกล้วยน้ำว้ามีคุณค่าทางอาหารต่อผู้บริโภคมาก โดยเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ และวิตามิน บี 1 บี 2 บี 3 บี 12 วิตามินเอ และอี มีโปแตสเซียมในปริมาณสูง มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการส่งผ่านคลื่นสมอง รวมถึงเป็นแหล่งของน้ำตาลหลายชนิด ทั้งฟรุคโตส กลูโคส และโอลิโกแซคคาไรค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเราแทบทั้งสิ้น และด้วยเหตุที่ว่ากล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่ออกทุกฤดูกาล จึงทำให้เกษตรกรมักประสบปัญหาเรื่องของราคากล้วยตกต่ำ ทำให้เกิดการพัฒนาแปรรูปกล้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น กล้วยกวน กล้วยตาก กล้วยม้วน ฯลฯ  
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  “กล้วยตาก” เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปพื้นฐานและเป็นที่ชื่นชอบสำหรับทุกเพศวัย    เขตอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก นั้นเป็นแหล่งที่มีการผลิตกล้วยตากที่มีชื่อเสียงระดับตำนานของประเทศไทย เพราะอาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของกล้วยตากในประเทศไทยก็ว่าได้ ซึ่งการทำงานของฝ่ายอุตสาหกรรม โดยชุดโครงการ SMEs ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (นครปฐม) ได้เริ่มสนใจงานวิจัยเกี่ยวกับกล้วยตากนี้ตั้งแต่ปี 2548   กอปรกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวรวมกลุ่มกันเข้ามาพบทีมงาน และเล่าปัญหาต่างๆ ที่กลุ่มประสบอยู่ให้ทีมงานฟัง หลังจากที่ได้ฟังปัญหาดังกล่าว ทีมงานก็ยังรู้สึกว่ามองภาพได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ จึงตัดสินใจลงพื้นที่เพื่อไปเยี่ยมชมกระบวนการผลิตให้เห็นกับตาตัวเองเพื่อจะได้สังเคราะห์โจทย์วิจัยได้ชัดเจนและแม่นยำยิ่งขึ้น
เมื่อตกลงใจว่าจะลงพื้นที่ก็เริ่มออกเดินทางตั้งแต่ 4 ทุ่มจากนครปฐม ไปถึงพิษณุโลกประมาณตี 3 เพื่อจะดูชาวบ้านปอกกล้วย ชาวบ้านเขาจะมีเทคนิคดี ๆ จากภูมิปัญญาชาวบ้านในการบ่มกล้วยโดยเริ่มจากการวางหวีกล้วยแบบคว่ำปลายหวีลงแบบทับกันเพื่อป้องกันการช้ำจากแรงกดทับ แล้วจึงคลุมหวีกล้วยด้วยผ้าใบ พอตอนเช้าทุก ๆ หวีจะสุกเสมอกันหมด  นี่คือภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เราได้เรียนรู้  
พอถึงหมู่บ้าน เราก็ตื่นด้วยอาการงง ๆ ปนง่วง ๆ แต่ต้องตื่นด้วยหน้าที่ ภาพที่เห็นคือกลุ่มชาวบ้านล้อมวงกันประมาณ 10 คนช่วยกันปอกกล้วยอย่างขะมักเขม้น ส่วนใหญ่จะใช้มือและมีดปอกกล้วย สำหรับค่าแรงก็ใช้มาตรวัดอย่างไทยๆ คือ จ่ายตามปริมาณกะละมัง  ปอกกล้วยพูนกะละมังจะได้ 1.50 บาท นั่งปอกไปประมาณตี 5 กว่าจะเริ่มนำกล้วยไปที่ลานตาก วางกระจายให้เต็มลานอย่าให้กล้วยซ้อนทับกัน เมื่อทีมงานได้ขับรถตระเวนดูทั่วๆ ทุกหมู่บ้าน ก็จะเห็นเหมือนกันหมด คือ มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่กล้วย แล้วก็กล้วยบนลานตากไม้ไผ่  นับว่าเป็นภาพที่ชวนมองและน่าจดจำมากทีเดียว    สิ่งแรกที่คิดขึ้นในสมองของทีมงานทุกคนคือ เมืองไทยเรานี้ช่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก!!!  
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า แสงแดดอ่อนทอดไปยังลานตากที่อยู่ริมน้ำ วิถีชีวิตของชุมชนที่น้อยคนนักจักได้เห็นและสัมผัสนั้นคือชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่สับสนวุ่นวาย กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ และดำรงชีพตนตามกระแสแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นสิ่งที่ทีมงานทุกคนต่างรู้สึกอิจฉาและถวิลหา เพราะชีวิตของพวกเรานั้นต่างก็รีบเร่งและห่างไกลจากคำว่าธรรมชาติไปทุกที  
ในตอนเย็น ชาวบ้านจะนำผ้าใบมาปิดคลุมเพื่อกันน้ำค้างลง ตากแบบนี้ประมาณ 5 แดด (5 วัน) แล้วจึงนำกล้วยไปแบน การแบนกล้วยก็มีความสำคัญหากแบนไม่เป็นกล้วยจะแตก และที่นี่มีวัฒนธรรมของการลงแขกแบนกล้วย เราจะเห็นป้า ๆ ยาย ๆ ลุงแก่ ๆ มาร่วมกันแบนกล้วย บางรายจะเป็นการลงแขกกัน บางรายจะคิดเป็นค่าแรงการแบนกล้วยคิดตามกะละมังที่แบนกล้วยได้กะละมังละ 8-10 บาท เราถามยายว่าจะให้เราหาเครื่องมือหรือเครื่องจักรมาช่วยไหม จะได้ทำงานได้เร็วขึ้น คำตอบของยายทำเอาเราอึ้งไปเลย เพราะยายตอบว่า “อย่าหาเทคโนโลยีอะไรมาใส่เลย ขอให้ยายได้มีค่าแรงเพียงวันละ 40-50 บาท ไว้กินหมากบ้างเถอะ” หลังการแบนกล้วยแล้วนำไปตากต่ออีก 3 วัน จึงจะนำไปอบเพื่อบรรจุขายอีกครั้ง
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  จากการไปดูการทำกล้วยตากแล้วนั้น  หากมองอย่างผิวเผินอาจจะมองเห็นว่า กระบวนการผลิตไม่มีปัญหาอะไร แต่ในฐานะของนักเทคโนโลยีอาหารที่คลุกคลีอยู่ในวงการอุตสาหกรรมอาหารมานาน เมื่อดูกระบวนการผลิตทำให้เราไม่อยากกินกล้วยตากอีก เพราะจากกระบวนการผลิตไม่ถูกต้องตามหลัก GMP (แนวทางการผลิตอาหารตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดี) เนื่องจากการผลิตทำกันอย่างง่าย ๆ ตามประสาชาวบ้านที่ทำกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และยังไม่คิดจะปรับเปลี่ยนอะไร เพราะทำแบบนี้ก็ยังขายได้อยู่ ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงอะไรด้วย
จากภาพจะเห็นได้ว่า แผงตากกล้วยจะเป็นแบบไม้ไผ่เมื่อใช้ไปนาน ๆ ในสภาพที่ผ่านแดด ผ่านฝน มาเป็นระยะเวลานาน จะขึ้นราสีดำ ลานตากเป็นลานเปิดโล่งทำให้มีแมลงวัน ผึ้ง ผีเสื้อบินตอมกันมากมาย ฝุ่นที่ฟุ้งเนื่องจากรถที่วิ่งผ่านไปมา คนงานแบนกล้วยถอดเสื้อผ้าคลายร้อนในระหว่างปฏิบัติงาน เมื่อเห็นแบบนี้เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ยอมไม่ได้ คงต้องพยายามหาวิธีพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน จากนั้นตามไปที่โรงงานที่บรรจุได้เห็นขั้นตอนการคัดเลือกกล้วยตากที่เกรดดีแยกจากกล้วยตากที่ตกเกรด ซึ่งกล้วยตากตกเกรดมีเป็นจำนวนมากเนื่องจากเกิดรอยช้ำจนเป็นจุดขาวบนกล้วยตาก สีผิวไม่สม่ำเสมอและกล้วยมีขนาดเล็กเกินไป ซึ่งกล้วยตากตกเกรดนี้สามารถขายได้ในราคา 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่กล้วยตากเกรดดีขายได้ในราคา 40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งการผลิตกล้วยตากต้องทำทุกวัน ไม่เว้นแม้ในฤดูฝน ทำให้กล้วยตากที่ลานตากเปียกชื้นจนต้องทิ้งเป็นจำนวนมาก ส่วนกล้วยเกรดดีจะถูกเก็บไว้ในห้องเย็นเป็นจำนวนมากเลยค่อย ๆ ทยอยนำออกมาอบแล้วนำไปบรรจุตามออเดอร์ที่ได้รับ
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  เมื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตจนครบหมดแล้วก็เริ่มมาสังเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการต้องการแก้ปัญหาในเรื่องของลานตากกล้วย  โดยอยากได้ตู้อบกล้วยขนาดใหญ่เพื่อนำมาใช้ในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้เนื่องจากกล้วยที่ได้จะเสียเป็นจำนวนมาก แก้ปัญหาเรื่องกล้วยตากตกเกรด ซึ่งเรามองแนวทางในการแก้ปัญหาหลายแนวทาง คือ ทำอย่างไรที่จะลดปริมาณกล้วยตากตกเกรด นำกล้วยตากตกเกรดมาเพิ่มมูลค่าโดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะตัว  
นอกจากนี้ทีมงานยังได้เล็งเห็นว่ากล้วยตากทำมาจากกล้วยน้ำว้าซึ่งเป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมีหรือฉีดยาฆ่าแมลง อีกทั้งพื้นที่การเพาะปลูกกล้วยยังได้รับการรับรองว่าเป็นพืช GAP ดังนั้นเราจึงเกิดแนวคิดที่ว่าจะนำกล้วยตากมาพัฒนากระบวนการผลิตที่ดีเพื่อมุ่งสู่ตลาดด้านพรีเมียมเป็นสินค้าขายยังต่างประเทศ…แต่จะทำอย่างไร ? ช่างเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เราจึงค่อยๆ แก้ปัญหาโดยการนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่มาร่วมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ ท่านซึ่งแต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไปทั้งนี้เพื่อให้เกิดมุมมองหลาย ๆ มุม และเกิดแนวคิดที่แตกต่างกันจนสามารถสังเคราะห์ออกมาเป็นโจทย์งานวิจัยที่ดีได้  
ผลการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการ และทีมงาน ทำให้เกิดแนวความคิดว่าเราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีรูปแบบและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากกล้วยตากตกเกรด เช่น ผลิตภัณฑ์ธัญพืชชนิดแท่งผสมกล้วยอบแห้ง และผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ banana syrup ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่ามีน้ำเชื่อมกล้วยไหลออกมาจากกล้วยตากจำนวนมากเมื่อนำมาตั้งซ้อนไว้ในถุงซึ่งน้ำเชื่อมกล้วยที่ได้มีลักษณะคล้าย ๆ กับน้ำผึ้งซึ่งมีกลิ่นหอมหวาน มีกลิ่นเฉพาะตัวของกล้วย จึงได้ประกาศโจทย์นี้ผ่าน Biodata เพื่อหานักวิจัยที่ได้ศึกษาเรื่องนี้หรือมีความต้องการจะศึกษา จากการสืบค้นข้อมูลผ่าน Biodata แล้วทำให้ได้ทราบข้อมูลของงานวิจัยที่ได้มีการศึกษาไปก่อนหน้านี้ เราก็ได้ดึงข้อมูลงานวิจัยเดิมที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอดจากที่มีผู้ศึกษาวิจัยไปแล้วเพื่อให้งานวิจัยใหม่มีระเบียบวิธีวิจัยที่แม่นยำ ถูกต้อง และชัดเจนยิ่งขึ้น   เมื่อนักวิจัยได้รับโจทย์แล้ว นักวิจัยที่มีความสนใจก็จะเสนอข้อเสนอโครงการเข้ามา เราจะคอยทำหน้าที่คัดกรองแนวคิดที่นักวิจัยแต่ละคนเสนอมา โดยวิเคราะห์งานวิจัยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประกอบการเพื่อให้ได้โครงการวิจัยเรื่องที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาในแต่ละเรื่อง โดยดูจากหลาย ๆ ส่วนประกอบกัน เช่น การศึกษาหาข้อมูลจากการสืบค้นข้อมูลทั้งเอกสารและสิทธิบัตรที่ตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ  รวมถึงงานวิจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีวิจัย แนวคิดในกระบวนการแก้ปัญหาในงานวิจัย งบประมาณตลอดจนประสบการณ์การทำงานของนักวิจัยและผู้ร่วมวิจัย ทั้งนี้ผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยประเมินโอกาสของความสำเร็จของงานวิจัยด้วย เนื่องจากเรามองว่างานวิจัยที่เกิดจากฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จะต้องเป็นงานวิจัยที่ต้องนำไปใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมอาหาร ไม่ใช่งานวิจัยที่สำเร็จได้แค่ในระดับ lab scale ต้องมองไปถึงกระบวนการผลิตจริง ต้องเป็นกระบวนการที่ง่าย สามารถลงทุนได้ ต้นทุนการผลิตไม่สูงเกินไปโดยต้องประเมินจากราคาขายของผลิตภัณฑ์คู่แข่งด้วย
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  เมื่อลองอ่านงานที่นักวิจัยหลาย ๆ ท่านเสนอมาทำให้เกิดประเด็นสงสัยมากมาย บางงานเสนอมาในแบบ basic research ประเมินแล้วอาจนำไปใช้ในอุตสาหกรรมไม่ได้จริง เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัยเกินไปทำให้การลงทุนสูง ซึ่งไม่เหมาะกับการลงทุนของผู้ประกอบการซึ่งเป็นเพียงวิสาหกิจชุมชน  บางโครงการเสนองบประมาณสูงเกินความเป็นจริง  บางโครงการเมื่อเสนอระเบียบวิธีวิจัยมาแล้วพบว่าต้นทุนของการผลิตสูงไป ถึงแม้งานวิจัยจะสำเร็จแต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์ก็ยังไม่สามารถขายได้ในท้องตลาดเนื่องจากสู้คู่แข่งเดิมไม่ได้ โอกาสที่จะทำตลาดสู้กับคู่แข่งจึงหนักหนาสาหัสเกินไป เราจึงเลือกโครงการที่เหมาะสมและสามารถตอบโจทย์ของเราให้ได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีคำถามหรือปัญหาย้อนกลับไปถามนักวิจัยอยู่ดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแนวคิดที่ขัดแย้งเพื่อหาเหตุผลมาตอบโจทย์ให้ชัดเจนที่สุด จนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในกระบวนการศึกษาวิจัยต่อไป  
จากการจัดการดังกล่าวทำให้ได้โครงการวิจัยเกี่ยวกับกล้วยตากอีก 3 โครงการ คือ “การอบแห้งแบบไม่ต่อเนื่องและการควบคุมอุณหภูมิการเกิดกลาสทรานซิชันที่มีผลต่อคุณภาพของกล้วยตาก” “การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกล้วยตากตกเกรด” และ “การผลิตไซรับจากกล้วยตากตกเกรด” สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ ผลิตภัณฑ์ธัญพืชชนิดแท่งผสมกล้วยอบแห้งซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นแบบ cereal bar ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่างประเทศนิยมบริโภคและได้มีการประเมินผลความชอบของผู้บริโภคเพื่อดูแนวโน้มทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ด้วย นอกจากนี้นักวิจัยยังได้พัฒนา Banana Bit เป็นผลิตภัณฑ์กินเล่นคล้าย ๆ กับพวกลูกเกดหรือสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ หรือไอศกรีมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์ช็อกโกเลตอีกด้วย
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  สำหรับผลิตภัณฑ์ไซรับที่ได้จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เบเกอรี่ และไอศกรีม เราได้ทดลองตลาดโดยนำไซรับที่ได้มาผสมเครื่องดื่มค็อกเทล และเครื่องดื่มต่างๆ แล้วทดลองเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคทั่วไปชิมหลายครั้ง ผู้บริโภคหลายรายบอกว่ามีกลิ่นหอมและมีรสชาติที่ดี เหมาะกับผลิตภัณฑ์พวกเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ จากการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตไซรับพบว่าต้นทุนต่ำมาก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์นี้มีโอกาสที่จะแข่งขันกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาขายในเชิงของอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เนื่องจากกล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มากมายอีกทั้งเป็นผลไม้ที่ไม่มีการใช้สารเคมีอีกด้วย ซึ่งหากเรามีจุดขายที่ดีก็สามารถนำมาแข่งกับผลิตภัณฑ์พวกแอปเปิลไซรับ และเมเปิลไซรับ ได้เป็นอย่างดีทั้งในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ จุดขายและราคาต้นทุนการผลิต
 

 

เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด  นอกจากงานวิจัยต่าง ๆ ที่ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ได้ให้ทุนสนับสนุนไปแล้วเรายังได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการพัฒนาเรื่องของกล้วยตากอย่างต่อเนื่อง โดยเราได้สนับสนุนให้มีโรงงานต้นแบบที่มีหลักการผลิตที่ดีถูกต้องตามสุขลักษณะ ซึ่งเริ่มต้นจากการให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างโรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพลังงาน กระทรวงพลังงาน และภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ในการสนับสนุนการสร้างตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่โดยสามารถจุกล้วยตากได้ถึง 1,800 กิโลกรัม และใช้ระยะเวลาในการตากเพียง 3-4 วันเท่านั้น ซึ่งจากการทดลองพบว่าปริมาณกล้วยเกรดดีที่ได้มีมากถึงร้อยละ 93-95 นอกจากนี้เรายังได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสต ร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยศิลปากร ถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้จากงานวิจัย โดยถ่ายทอดกรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่จากกล้วยตากตกเกรดให้กับชาวบ้านในอำเภอบางกระทุ่มและผู้สนใจทั่วไปเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาที่มีอยู่เดิม อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งที่มีงานวิจัยให้กระจายไปสู่ระดับรากหญ้าและให้เศรษฐกิจในระดับชุมชนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการร่วมกันเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้ถูกต้องตามหลักการผลิตที่ดี (GMP) โดยได้ให้คำปรึกษาในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิต  
ทั้งนี้นับตั้งแต่การเปิดตัวของโรงงานวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของทุก ๆ หน่วยงานตลอดจนผลสำเร็จที่ได้จากงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการรวมตัวกันเป็น “Banana Society” ภายใต้แนวคิดที่ว่า สังคมดีสู่คุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็น “นวัตกรรม” การผลิตกล้วยตากแห่งแรกของประเทศไทย ที่อาศัยการต่อยอดองค์ความรู้ และการบูรณาการความคิดของประชาชนในพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสังคมการผลิตกล้วยตากแบบดั้งเดิมของชาวบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้ระบบการผลิตอาหารที่ดี (GMP) เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ และเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์กล้วยตากสู่ผู้บริโภคทุกระดับ ด้วยแนวคิดมุ่งมั่นต่อการรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพระดับสากล
 

 
เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด สังเคราะห์บทความเรื่อง “กล้วยตาก”
เรื่องกล้วย...กล้วย ที่ไม่ง่ายอย่างที่ใคร ๆ คิด   โดย  รศ.ดร.สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์
บทความนี้เขียนแบบเล่าเรื่อง  ทำให้อ่านง่าย   เห็นภาพบริบทที่เป็นองค์ประกอบของปัญหา   การบริหารงานวิจัยที่ดีอย่างหนึ่งคือการสื่อสาร  ผู้ประสานงาน (ผศ.ดร. บัณฑิต  อินณวงศ์  /มหาวิทยาลัยศิลปากร) ได้เขียนเล่าเรื่องให้เห็นการจัดการงานวิจัยที่ต้นน้ำและการประสานกับหน่วยงานอื่นให้ช่วยกันแก้ปัญหาได้ชัดเจนดี  ทำให้เราเห็นกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
กล้วยตากเป็นของกินของฝากที่มีมานาน  แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครจะทำได้  เพราะบางขั้นตอนมีภูมิปัญญาเฉพาะ (เช่น ขั้นตอนการแบนกล้วยที่ใช้สัมผัสของฝ่ามือกำหนดแรงกดไม่ให้ไส้แตก)  จุดเด่นของโครงการนี้ที่เราเรียนรู้คือ
1. แสดงให้เห็นว่าการที่ลงไปสัมผัสกับขั้นตอนจริงจะช่วยให้ตีความปัญหาให้เป็นโจทย์วิจัยได้ง่าย  ทำให้ได้โจทย์ที่มีบริบท (มีเงื่อนไขกำกับ output)   และนี่เป็นหน้าที่ของนักจัดการงานวิจัย   ซึ่งมหาวิทยาลัยควรเพิ่มความสามารถด้านนี้ให้กับหน่วยจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัย
2. ตัวอย่างการใช้ Biodata  เพื่อการจัดการด้านนักวิจัยเห็นได้ชัดมากในชุดโครงการนี้ (ไม่เฉพาะโครงการกล้วยตากเท่านั้น)  Biodata ไม่ใช่แค่เพียงหานักวิจัยเท่านั้น แต่ทำให้การจัดการมีทางเลือกมากขึ้น  ความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จจะลดลง
3. ผลงานวิจัยที่ implement ได้นั้น จะต้องถูกจัดการจากต้นทางให้มีบริบท คือ สอดคล้องกับความเป็นจริง  เพื่อให้นักวิจัยทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติได้  แข่งขันได้  เป็นต้น
4. ความสำเร็จจากการมีหน่วยงานอื่นให้ความร่วมมือด้วย (ในสิ่งที่ไม่ใช่งานวิจัย) แสดงว่าวิจัยอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้เสมอไป  การจัดการงานวิจัยเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น  ต้องมีพันธมิตรต่างๆ มาเป็นเครือข่าย
 
 
 
   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 84

อัพเดทล่าสุด