ระบบตลาดปาล์มน้ำมัน : จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.สุทธิจิตต์ เชิงทอง เสาวลักษณ์ จันทร์ประสิทธิ์ สุชาติ เชิงทอง วิศิษฎ์ ลิ้มพัฒนสิริ คณะเทคโนโลยีและการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี suthijit.[email protected]
|
|
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ประกอบกับนโยบายรัฐบาลกำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศ ทำให้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านไร่ในปี 2546 เป็น 2.75 และ 3.20 ล้านไร่ในปี 2548 และ 2550 ตามลำดับ ส่งผลให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2546-2550) เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 11.45 ต่อปี ในปี 2550 มีปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ จำนวน 6.39 ล้านตัน โดยพื้นที่ปลูกหลักอยู่ในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร คิดเป็นพื้นที่ปลูกรวมร้อยละ 74 ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันรวมทั้งประเทศ |
|
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดกระบี่ จากการศึกษาระบบตลาดปาล์มน้ำมันของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่าเกี่ยวข้องกับ 4 ฝ่ายหลักคือ 1) เกษตรกรผู้ผลิตปาล์มสด ซึ่งจะนำผลปาล์มสดขายให้แก่ลานเท หรือโรงงานสกัดโดยตรง 2) ลานเท ผู้รับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรและรวบรวมเพื่อส่งต่อให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 3) โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ รับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรหรือลานเท เพื่อสกัดน้ำมันปาล์มดิบจากทะลายปาล์มสด และจำหน่ายน้ำมันต่อไปยังโรงกลั่นหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและ 4) โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นวัตถุดิบ ในการศึกษาครั้งนี้เน้นการศึกษาระบบการตลาดในรูปผลปาล์มสดเป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจวิถีการตลาดและต้นทุนการตลาดปาล์มน้ำมันของเกษตรกร ลานเท และโรงสกัด จากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เกษตรกร เจ้าของลานเทและโรงสกัดที่ตั้งอยู่ใน 3 อำเภอหลัก ได้แก่ อำเภอพระแสง พุนพิน และ ท่าชนะ ประกอบด้วย เกษตรกรจำนวน 289 ราย (ประมาณ 1% ของประชากร) ลานเทจำนวน 29 ราย (ประมาณ 15 % ของประชากร) และผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันปาล์ม จำนวนตัวอย่าง 9 ราย (ประมาณ 50 % ของประชากร) มีประเด็นผลการศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้ |
|
1. วิถีการตลาดปาล์มน้ำมันมีความซับซ้อนน้อย หลังจากเก็บเกี่ยวผลปาล์มสดแล้ว เกษตรกรต้องนำส่งโรงงานสกัดเพื่อแปรรูปเป็นน้ำมัน โดยมีทางเลือกเพียง 2 ช่องทางเท่านั้นในการขายผลผลิต คือ 1) การขายผ่านลานเท ซึ่งเป็นช่องทางหลัก คิดเป็นร้อยละ 73 ของปริมาณผลผลิตที่ขายทั้งหมด ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรนิยมขายให้ลานเทคือความสะดวกในการขนส่ง โดยเฉพาะเกษตรกรรายเล็กที่ไม่มีรถของตนเอง หรือ 2) ขายตรงให้โรงงานสกัด ซึ่งมีปริมาณปาล์มสดร้อยละ 27 ที่ขายผ่านช่องทางนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรต้องการขายตรง เนื่องจากโรงสกัดมักรับซื้อในราคาที่สูงกว่าลานเท ประมาณ 5 – 10 สตางค์ต่อกิโลกรัม และปัญหาความไม่มั่นใจในความเที่ยงตรงของตาชั่งลานเทที่เกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบเองได้ ทำให้เกษตรกรรายใหญ่นิยมขายตรงให้โรงสกัด จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2551 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลานเททั้งสิ้น 185 แห่ง และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 14 แห่ง (จำนวนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 52 โรงงาน) ซึ่งจำนวนลานเทได้เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน 2550 เพียง 138 แห่ง และ 158 แห่ง ตามลำดับ แสดงถึงอัตราการเพิ่มขึ้นของลานเทในจังหวัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว และพบว่าลานเทเปิดใหม่จะกระจายและอยู่ใกล้กับสวนปาล์มของเกษตรกรมากขึ้น ทำให้ปริมาณปาล์มที่ขายผ่านลานเทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกที่เกษตรกรได้รับ |
|
2. กิจกรรมหลักทางการตลาดสำหรับเกษตรกร คือ การขนส่ง โดยต้นทุนค่าขนส่งคิดเป็นร้อยละ 77 ของต้นทุนการตลาดรวมของเกษตรกร เกษตรกรจะขายผลปาล์มสดตามสภาพ โดยไม่ทำอะไรเลย ทั้งนี้พบว่า เกษตรกรร้อยละ 64 นิยมจ้างขนส่ง และเกษตรกรที่จ้างขนส่งมักจะจ้างเก็บเกี่ยวควบคู่ไปพร้อมกัน เนื่องจากความสะดวกที่ได้รับ ปริมาณผลผลิตปาล์มที่มีการจ้างเก็บเกี่ยว คิดเป็นร้อยละ 84 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ดังนั้น การให้ความรู้ด้านการเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่ถูกต้อง จึงควรมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ประกอบการที่รับจ้างเก็บเกี่ยวนอกเหนือจากการให้ความรู้แก่เจ้าของสวนปาล์ม 3. ราคาซื้อขายปาล์มสด จะถูกกำหนดโดยลานเทและโรงสกัด ซึ่งราคาในแต่ละวันจะไม่แน่นอน การอ้างอิงราคามาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ราคาของคู่แข่ง ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่โรงกลั่นรับซื้อ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ความสุกของผลปาล์ม ขนาดทะลาย ความสด พันธุ์ปาล์ม เป็นต้น ทั้งนี้พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 72) จะได้รับราคาขายปาล์มเท่ากับราคาประกาศหน้าสถานที่รับซื้อ เกษตรกรร้อยละ 7 ได้ราคาสูงกว่าราคาประกาศเนื่องจากเป็นลูกค้าขาประจำและมีปาล์มคุณภาพดี ส่วนเกษตรกรที่ได้รับราคาขายต่ำกว่าราคาประกาศ (ร้อยละ 1) มักเป็นเกษตรกรรายเล็ก ที่มีปัญหาคุณภาพปาล์มไม่ดี เกษตรกรส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 ระบุว่าไม่มีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อให้ทราบ ณ จุดรับซื้อ ซึ่งยังไม่เป็นไปตามมาตรการการจัดระบบการตลาดของกรมการค้าภายใน ที่ระบุให้มีการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลปาล์มตามคุณภาพ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่ควรได้รับการควบคุมดูแลเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า เกณฑ์การรับซื้อตามคุณภาพหรือจัดชั้นคุณภาพปาล์ม ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการ เป็นการตรวจสอบด้วยสายตาของผู้ซื้อเท่านั้น และการให้ราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นดุลยพินิจของผู้ลานเทและโรงสกัดผู้ซื้อ |
|
4. เกษตรกรนิยมขายปาล์มผ่านลานเทขาประจำ เนื่องจากความคุ้นเคย และได้ราคา ตลอดจนการอำนวยความสะดวกที่ดีจากลานเท กลยุทธ์ที่ลานเทใช้สร้างความสัมพันธ์ ได้แก่ การให้คำแนะนำในการปลูก ใส่ปุ๋ย ฉีดยา ดูแลสวนปาล์ม สินเชื่อเงินสด สินเชื่อปุ๋ย บริการเก็บเกี่ยวและขนส่งในราคาถูก อย่างไรก็ตาม ปริมาณลานเทที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการแข่งขันรับซื้อผลปาล์มสดและตัดราคากันอย่างรุนแรง ประกอบกับต้นทุนการตลาดของลานเทในภาพรวมมีค่าไม่แตกต่างกัน คือเฉลี่ยประมาณ 0.25 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นทุนค่าเสื่อมราคามีสัดส่วนที่สูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 24 ของต้นทุนการตลาดรวม รองลงไปคือ เงินเดือนและค่าแรงงาน ร้อยละ 23 และค่าขนส่ง ร้อยละ 22 โดยเป็นกำไรที่ลานเทได้รับเฉลี่ยกิโลกรัมละ 0.22 บาท (ขายในรูปปาล์มทะลาย) ลานเทบางแห่งเกิดแรงจูงใจที่จะแสวงหากำไรเพิ่มจากการขายผลปาล์มในรูปผลร่วง โดยการพรมน้ำและบ่มปาล์มให้มีน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งผลปาล์มร่วงสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าปาล์มทะลาย 1 – 1.50 บาทต่อกิโลกรัม อันส่งผลให้คุณภาพปาล์มของลานเทมีคุณภาพด้อยลง และเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่โรงสกัดได้รับลดลง การควบคุมปริมาณลานเทให้มีจำนวนที่เหมาะสมภายใต้ระบบการแข่งขัน จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผลผลิตปาล์มสดในระบบมีคุณภาพที่ดีขึ้น 5. การซื้อขายปาล์มปัจจุบันขึ้นกับน้ำหนักปาล์มเป็นหลัก ยังไม่มีการจัดชั้นคุณภาพและรับซื้อปาล์มตามชั้นคุณภาพอย่างชัดเจน รายได้ที่ผู้ขายได้รับจึงไม่ผูกพันกับคุณภาพปาล์มที่ขาย เกษตรกรและผู้ประกอบการลานเทจึงไม่เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาหรือรักษาคุณภาพปาล์มสดเพื่อส่งต่อให้โรงงานสกัดน้ำมัน ดังนั้น การศึกษาเพื่อกำหนดชั้นคุณภาพปาล์มและและราคารับซื้อตามชั้นคุณภาพที่เหมาะสม จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพปาล์มทั้งระบบ ทั้งในส่วนเกษตรกรที่จะพัฒนาคุณภาพผลผลิต แรงงานจ้างเก็บเกี่ยวที่จะเก็บเกี่ยวผลปาล์มอย่างเหมาะสม ไม่เก็บปาล์มดิบ ตลอดจนลดปัญหาการบ่มปาล์มในระดับลานเท เพื่อให้ได้รับราคาขายที่สูงขึ้น |
|
6. ปัญหาการตลาดเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาราคาปาล์มไม่แน่นอน รองลงไปคือ ไม่มีการกำหนดราคาขายตามคุณภาพปาล์ม นอกจากนี้คือ ปัญหาการขาดความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการและปัญหาการผลิต โดยส่วนของปัญหาการผลิตที่สำคัญและเร่งด่วนคือเรื่องราคาปุ๋ยแพง ปุ๋ยปลอม และปุ๋ยมีคุณภาพต่ำ สำหรับลานเทและโรงสกัดน้ำมันปาล์ม ประสบปัญหาหลักด้านการแข่งขันค่อนข้างสูง และจำใจต้องซื้อปาล์มคุณภาพไม่ดี เนื่องจากจำนวนลานเทที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการแย่งกันซื้อและตัดราคากันเพียงเพื่อให้ได้ปริมาณปาล์มที่คุ้มทุน โดยไม่สามารถให้ความสำคัญกับคุณภาพปาล์มได้มากนัก นอกจากนี้ จากการสอบถามเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการขายปาล์มสดที่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า เกษตรกรจำนวนมาก ระบุปัญหาการเปลี่ยนสถานที่ขายเนื่องจากปัญหาความไม่มั่นใจในความเที่ยงตรงของตาชั่งของลานเท และเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบด้วยตนเองได้ หากภาครัฐสามารถเข้ามาดูแล สุ่มตรวจเครื่องชั่งน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ และติดประกาศแจ้งเพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขายของเกษตรกรลง 7. ด้านความช่วยเหลือที่เกษตรกรต้องการได้แก่ การประกันราคาผลปาล์มสดเพื่อให้สามารถขายปาล์มได้ราคาที่แน่นอน ทั้งนี้เกษตรกรระบุว่าไม่ได้ต้องการราคารับซื้อที่สูง แต่ต้องการราคาที่แน่นอน ต้องการให้มีการควบคุมราคาปุ๋ยและจัดหาปุ๋ยคุณภาพ ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อขยายพื้นที่ปลูกและจัดหาพื้นที่ปลูกสำหรับเกษตรกรที่ต้องการขยายพื้นที่ ด้วยมีเกษตรกรจำนวนมากต้องการขยายพื้นที่ปลูกแต่ไม่มีทุนและพื้นที่ การจัดทำเกณฑ์คุณภาพปาล์มเพื่อนำมาใช้ในการซื้อขายปาล์มตามชั้นคุณภาพ การจัดตั้งกองทุนชาวสวนปาล์มเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ตลอดจนการจัดอบรมความรู้ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกร เช่น การวิเคราะห์พื้นที่ปลูกปาล์ม การใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ ดิน การดูแลรักษาปรับปรุงคุณภาพสวนปาล์ม การเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง การวิจัยหาพันธุ์ปาล์มที่เหมาะสมกับพื้นที่ ขณะนี้ได้มีการจัดทำข้อมูลแผนที่ดิจิตอล ลานเทและโรงสกัดปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะของการสอบถามข้อมูลประกอบแผนที่ โดยใช้กระบวนการด้านระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์สร้างแผนที่และฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้สนใจสามารถค้นหาคำตอบในประเด็นเกี่ยวกับ พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน สถานที่ตั้งลานเทและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ระยะทางและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง จากเว็บไซต์ชื่อhttps://sit.surat.psu.ac.th/pmapperทั้งนี้ การแสดงผลบางส่วนยังเป็นภาษาอังกฤษเนื่องจากข้อจำกัดของโปรแกรมที่ใช้ |
|
เอกสารอ้างอิง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2551) สถานการณ์และแนวโน้มสินค้าเกษตรที่สำคัญ ปี 2551 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สุทธิจิตต์ เชิงทอง วิศิษฎ์ ลิ้มพัฒนสิริ สุชาติ เชิงทอง และเสาวลักษณ์ จันทรประสิทธิ์ (2551) โครงการฐานข้อมูลเชิงพื้นที่และระบบการตลาดปาล์มน้ำมัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ กองทุนสนับสนุนการวิจัย |
|