ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ?


801 ผู้ชม


ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ?
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ?  รศ. ดร. อรัญ หันพงศ์กิตติกูล
ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม คณะอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
aran.[email protected]

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ รองจากยางพารา ในปี 2550 มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 3.20 ล้านไร่ และมีเนื้อที่ให้ผลผลิต 2.66 ล้านไร่ ได้ผลผลิตปาล์มทะลายสด 6.39 ล้านตัน มีผลผลิตเฉลี่ย 2.40 ตัน/ไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้  ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันของโลกมี 86.4 ล้านไร่ และให้ผลผลิต 190.5 ล้านตัน โดยมีประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีผลผลิตมากกว่าร้อยละ 80    

 

 

 ปาล์มทะลายสดที่ได้จะถูกนำไปสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ แล้วผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อใช้บริโภคและผลิตเป็นไบโอดีเซล  อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจึงเกี่ยวข้องกับทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ก่อให้เกิดการจ้างงานและมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคใต้เป็นอย่างมาก และยังมีผลถึงประชาชนทุกภาคส่วนที่ต้องใช้ไบโอดีเซล
 

 
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ? พืชน้ำมันที่ให้ผลผลิตสูง
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ?  การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มมาประมาณ 40 ปี โดยวัตถุประสงค์ของการผลิตเพื่อบริโภคเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์หลักคือ น้ำมันปาล์ม เนยเทียม และมีบางส่วนนำไปผลิตเป็นสบู่ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่น นอกจากน้ำมันปาล์มแล้ว ยังมีการผลิตจากน้ำมันบริโภคจากพืชน้ำมันชนิดอื่น คือ ถั่วเหลือง (มีพื้นที่เพาะปลูก 831,231 ไร่ ให้ผลผลิต 203,973 ตัน)  ถั่วลิสง (มีพื้นที่เพาะปลูก 209,565 ไร่ ให้ผลผลิต 53,675 ตัน)  ทานตะวัน (มีพื้นที่ปลูก 197,545 ไร่ ให้ผลผลิต 22,973 ตัน)  และมะพร้าว (มีพื้นที่ปลูก 1,610,739 ไร่ ให้ผลผลิต 1,721.640 ตัน)  
จะเห็นว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชน้ำมันที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น และยังมีพื้นที่ปลูกมากกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น  ดังนั้นปาล์มน้ำมันจึงเป็นพืชน้ำมันที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย โดยมีภาคใต้เป็นแหล่งผลิตหลักและมีบางส่วนอยู่ทางภาคตะวันออก เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชน้ำมันที่มีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศ ต้องการอากาศร้อนชื้นและมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง
 

 
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ? พืชพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง
 การผลิตน้ำมันปาล์มจากปาล์มน้ำมัน นอกจากจะผลิตเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารแล้ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพง และคาดว่าอนาคตจะขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงมีการหาแหล่งพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าน้ำมันจากพืชน้ำมันสามารถนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล ใช้ผสมน้ำมันดีเซลหรือใช้แทนน้ำมันดีเซลได้   นอกจากนี้พืชพวกอ้อยและมันสำปะหลัง ก็สามารถใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเป็นแอลกอฮอล์ผสมน้ำมันเบนซินเป็นก๊าซโซฮอล์ใช้แทนน้ำมันเบนซินได้      
ดังนั้นในปัจจุบันประโยชน์หลักของพืชน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง จึงไม่ได้ใช้เป็นพืชอาหารเท่านั้น ยังใช้เป็นพืชพลังงานด้วย การส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นพืชพลังงาน จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการผลิตเป็นพืชอาหาร เพราะพื้นที่เพาะปลูกพืชเหล่านี้มีอยู่อย่างจำกัด โดยอ้อยปลูกมากในภาคกลางและภาคตะวันออก  มันสำปะหลังปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และปาล์มน้ำมันปลูกมากทางภาคใต้
 

 
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ? ผลกระทบของพืชอาหารและพืชพลังงาน
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ?  อาหารหลักที่ผลิตจากอ้อย คือ น้ำตาล และมีโมลาสเป็นผลพลอยได้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ สำหรับอาหารหลักที่ผลิตจากมันสำปะหลังคือ แป้ง แต่โดยทั่วไปแล้วจะผลิตเป็นมันอัดเม็ดส่งออกเป็นอาหารสัตว์   ดังนั้นการส่งเสริมให้ใช้อ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชพลังงานจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก  แต่ในกรณีของปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ใช้บริโภคเป็นอาหารโดยตรง  หากจะส่งเสริมให้ผลิตปาล์มน้ำมันเป็นพืชพลังงาน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคน้ำมันปาล์มเป็นอาหารเป็นอย่างมาก ดังนั้นประเทศไทยควรส่งเสริมให้ปาล์มน้ำมันเป็นทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ เกษตรกรชาวสวนปาล์ม โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มและโรงงานไบโอดีเซล และสุดท้ายคือผู้บริโภคอาหาร และผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง  
การผลิตไบโอดีเซล ในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไบโอดีเซล (B100) ได้ 1.19 ล้านลิตร สามารถใช้ผสมเป็นน้ำมันดีเซล B5 ได้ 11.9 ล้านลิตรต่อวัน (B5 คือน้ำมันดีเซลที่ผสมด้วย B100 ร้อยละ 5)  ในปี 2555 รัฐบาลมีแผนการผลิตน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งต้องใช้ไบโอดีเซลผสมร้อยละ 10  หากมีการใช้น้ำมันดีเซลเท่าเดิม ก็จะต้องใช้ไบโอดีเซลประมาณ 2 ล้านลิตร ถ้าในการผลิตไบโอดีเซล 1 ลิตร ต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบประมาณ 1 กิโลกรัม ในการผลิตไบโอดีเซล 2 ล้านลิตรต่อวัน  ต้องใช้วัตถุดิบเริ่มต้น คือ ปาล์มทะลายสด 2 หมื่นตันต่อวัน โดยต้องมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 3 ล้านไร่  ดังนั้นเพื่อให้ปาล์มน้ำมันสามารถเป็นทั้งพืชอาหารและพลังงานในอีก 3-4 ปีข้างหน้า  รัฐบาลจึงได้มีแผนส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันเป็น 5 ล้านไร่ ในปี 2555
 

 
ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ? หน่วยงานกลางรับผิดชอบ
 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงโดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ในประเทศมาเลเซียนอกจากจะมีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดูแลรับผิดชอบ แล้วยังมี Malaysian Palm Oil Board เป็นหน่วยงานที่ดูแลกำกับนโยบายและทำวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในภาพรวม
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบดูแลในภาพรวม  พิจารณาเฉพาะการผลิตวัตถุดิบก็ต้องมีการวางแผนการผลิตที่ดี เพื่อให้มีทะลายปาล์มสดในปริมาณที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำมันปาล์มเป็นอาหารและพลังงาน  
หน่วยงานราชการหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม และไบโอดีเซล ได้แก่  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กระทรวงอุตสาหกรรม  กระทรวงพาณิชย์  กระทรวงพลังงาน  กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์    แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีหน่วยงานหลักที่จะรับผิดชอบดูแลในภาพรวม โดยหน่วยงานนี้ควรเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำหนดนโยบาย การบริหารและจัดการร่วมกันแบบจตุภาคี ประกอบด้วย  ตัวแทนที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และสถาบันวิชาการ โดยมีการหักเงินจากการขายทะลายปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และไบโอดีเซล ร้อยละ 0.5 ของที่ขาย และรัฐสมทบให้อีกครึ่งหนึ่งเป็นกองทุนในการบริหารจัดการ ก็จะทำให้หน่วยงานนี้ทำงานได้ หน้าที่หลักของหน่วยงานนี้ ควรมีดังนี้
 

 

 • ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแผนการปลูกปาล์มน้ำมัน การกำหนดปริมาณน้ำมันปาล์มที่จะใช้เป็นอาหารและพลังงาน  การประกันราคาทะลายปาล์มสด น้ำมันปาล์ม และไบโอดีเซล
• จัดการให้มีการปลูกปาล์มพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง มีการจัดการสวนปาล์มที่ดีและการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง
• ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ การกลั่นน้ำมันปาล์ม และการผลิตไบโอดีเซลที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
• ส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มใช้แล้ว
• สนับสนุนการวิจัยในเรื่องพันธุ์ปาล์ม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและโลจิสติกส์  การใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้และวัสดุเศษเหลือ การผลิตด้านโอเลโอเคมีและการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มต่างๆ
 

 

ปาล์มน้ำมัน : พืชพลังงาน หรือ พืชอาหาร ?  
 

 

 นับเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่ปาล์มน้ำมันเป็นได้ทั้งพืชอาหารและพืชพลังงาน แต่จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของเราแข่งขันได้และให้ผลตอบแทนแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  มีปัญหาต่างๆ ที่ต้องการการจัดการและรอการแก้ไข เช่น การจัดการสวนปาล์ม หากทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2.40 เป็น 2.80 ตันปาล์มทะลายต่อไร่   เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่ม ประมาณ 900 บาทต่อไร่ ในภาพรวมของประเทศก็จะมีรายได้เพิ่มเฉพาะจากการเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน เป็นเงิน 2,394 ล้านบาท  จึงสมควรที่รัฐจะต้องจัดให้มีหน่วยงานกลางมาดูแลและจัดการอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างครบวงจร
 

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 82

อัพเดทล่าสุด