Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา


1,101 ผู้ชม


Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา
 เวธนี   ตั้งสินมั่นคง
เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ
ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว.
[email protected]

           หลายท่านคงสงสัยว่า “นครสโตยมำบังสการา (Negeri Setoi Mumbang Segara)” คืออะไร? ฟังดูคล้ายภาษามลายู...ถูกต้องแล้วค่ะ คำว่า “นครสโตยมำบังสการา” เป็นภาษามลายู ซึ่ง  “สโตย” แปลว่า กระท้อน ส่วน “มำบังสการา” แปลว่า เมืองพิมาน หรือสถานที่อันเป็นที่สิงสถิตของเทพยดา ซึ่งนครสโตยมำบังสการา เป็นชื่อเดิมของเมืองสตูล หรือ จังหวัดสตูลในปัจจุบันนั่นเอง
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา  เมืองสตูลในสมัยก่อนปลูกกระท้อนเป็นจำนวนมาก แต่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฉันเห็นกระท้อนบ้าง แต่ไม่มากนัก เริ่มเรื่องจากชื่อเดิมของจังหวัดสตูลแล้ว ทำให้ฉันเห็นว่าภาษามลายูหรือภาษาถิ่นน่าสนใจทีเดียว เพราะสามารถสืบไปถึงประวัติความเป็นมาของพื้นที่นั้นๆได้  
การจัด trip ลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการเดินทางไปจังหวัดสตูลเป็นครั้งแรกในชีวิตของฉัน จุดประสงค์หลักคือ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักวิชาการด้านงานวิจัยท้องถิ่นซึ่งทำโดยชาวบ้านและปรับข้อเสนอโครงการเสนอต่อ สกว.ในชุดโครงการ “การยกระดับงานวิจัยท้องถิ่นสู่การพัฒนาเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างการเรียนรู้ (Area-Based Learning Tour Packages)ของจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง และสตูล” โดยนักวิชาการเป็นอาจารย์จากหลากหลายสถาบันในภาคใต้ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ เป็นต้น  
การนำนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนมองความเชื่อมโยงของงานวิจัยท้องถิ่นกับการท่องเที่ยวได้ชัดเจนขึ้น เป็นเป้าหมายหลักของชุดโครงการนี้ ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวที่เป็นข้าราชการท้องถิ่น นักพัฒนา นักการศึกษา เกิดการเรียนรู้กระบวนการวิจัยของชุมชนว่า ชุมชนดึงองค์ความรู้ของตนมาพัฒนาตนเองได้อย่างไร  เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดให้นักท่องเที่ยวได้พัฒนาตนเองจากองค์ความรู้ของตน หรือกลุ่มของตนด้วยเช่นกัน  รวมไปถึงการท่องเที่ยวยังประโยชน์ให้กับชุมชน จากการมาพักแรม และการขายสินค้าของกลุ่มชุมชน เป็นต้น
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา  trip นี้นอกจากนักวิจัยแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “ปู” คนสำคัญของประเทศไทย คือ ผศ.ดร.บรรจง เทียนส่งรัศมี ผู้ประสานงานชุดโครงการ “ปู” ของ สกว. รวมถึงข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทย และที่ขาดไม่ได้คือสื่อมวลชน จากหนังสือพิมพ์สยามทักษิณ สถานีวิทยุชุมชนโคกสมานคุณ FM.95.25 MHz ผู้สร้างเสียงหัวเราะและความบันเทิงตลอดการเดินทาง
วันแรกออกเดินทางจาก อ.หาดใหญ่ ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล ที่นี่ คุณสมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล เสนอภาพรวมงานวิจัยท้องถิ่นของจังหวัดสตูล เช่น การจัดการป่าชายเลนชุมชน เศรษฐกิจชุมชน การแปรรูปสัตว์น้ำ ฯลฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (คุณขวัญชัย วงศ์นิติกร) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ท่านให้ความสนใจงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาก เนื่องจากสามารถทำให้คนในชุมชนมีอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ นอกเหนือจากอาชีพหลักที่พวกเขาทำกัน เช่น การทำสวนยาง การทำประมง และได้ให้โอกาสนักวิจัยชุมชนได้นำเสนองานในการประชุมประจำเดือนของจังหวัดด้วย  
หลังจากประชุมเสร็จเราไปรับประทานอาหารกันที่ร้านป่าจาก อาหารที่ขาดไม่ได้ คือ น้ำพริกและผักสด    ขอบอกเลยค่ะว่า อร่อยมากๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะความสดของวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร หลังจากรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญกันถ้วนทั่วแล้ว ลูกทัวร์ทั้งหลายก็ลงเรือไปขนำ (ที่พักของชาวบ้าน) กลางทะเล เพื่อไปดูคอกปูม้า แต่จะพูดว่าขนำอยู่กลางทะเลก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากน้ำลด คอกปูที่ว่าก็เปรียบเสมือนอยู่บนพื้นดินนั่นเอง เรานั่งเรือประมาณ 30 นาทีก็ถึงขนำ  ที่นี่เราได้ฟังบังเหนก (”บัง” แปลว่า พี่ -คุณเอนก พันสกุล อบต.ละงู) พูดถึงการเลี้ยงปูม้าในคอก สลับกับการอธิบายเรื่องปูของ อ.บรรจง เริ่มตั้งแต่การสร้างคอกปูซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ตลอดเวลาในการทำคอกปู ชาวบ้านนำองค์ความรู้ของตนมาใช้แก้ปัญหา เช่น การตัดไม้ไผ่เพื่อทำเสาไว้ขึงอวนคอกปู การปักไม้ไผ่ในทะเล รูปแบบคอกปู (แบบวงกลม หรือหกเหลี่ยม) ฉันนั่งฟังไปสักพักคุณสมพงษ์ ก็ส่งอะไรมาให้ ดูๆไปมันคือ หญ้าคาทะเล นั่นเอง
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา  หญ้าคาทะเลเป็นอาหารและที่อยู่ของสัตว์น้ำ เช่น เต่าทะเล พยูน กุ้ง ปู และสามารถเป็นตัวชี้วัด (indicator) ถึงความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศทางทะเล นอกจากนี้หญ้าคาทะเลก็ยังมีส่วนช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและช่วยลดการพังทลายของหน้าดินอีกด้วย  
มาฟังเรื่องที่น่าสนใจของปูกันต่อนะคะ...ใครเคยรู้บ้างคะว่า หลังจากกินอาหารแล้วปูจะนอนพัก 3 ชั่วโมง เพื่อลอกคราบให้ตัวเองโตขึ้น  หรือหากปูก้ามหลุดอีก 7 วัน ปูก็จะสร้างก้ามออกมาใหม่ได้เอง สร้างอวัยวะที่หลุดไป เหมือนจิ้งจกเลยค่ะ และที่เป็นเรื่องแปลก คือ “เพรียงอ่อน” เป็นปรสิตที่เกาะอยู่ตามตัวปู  หากเจ้าเพรียงอ่อนเกาะที่ปูเพศเมีย มันก็จะทำลายรังไข่ ทำให้ไข่ฝ่อ หากมันเกาะที่ปูเพศผู้ ปูจะไม่ลอกคราบ แล้วมันยังผลิตสารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนเข้าไปควบคุมระบบประสาท ทำให้ปูเพศผู้เป็นหมัน ไม่สามารถผลิตน้ำเชื้อเพศผู้ได้ เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ มีพฤติกรรมแปลกๆ คล้ายปูเพศเมีย   ต้องขอขอบคุณ อ.บรรจงที่เล่าเรื่องแปลกๆ ของปูให้ฟังนะคะ...การเพาะเลี้ยงปูก่อนนำมาเลี้ยงในคอก การให้อาหารปู สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากห้องปฏิบัติการ (ห้อง lab) สู่ชุมชน  
ในมุมมองของฉันการทำวิจัยท้องถิ่นโดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นการจัดการความรู้อย่างหนึ่ง ฉันรู้สึกภูมิใจในองค์กรที่ฉันทำงานอยู่ เพราะ สกว.ไม่เพียงเป็นองค์กรที่สนับสนุนการทำวิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นองค์กรที่สร้างคน คำว่าสร้างคน คือ สอนให้คนในชุมชนเรียนรู้กระบวนการคิด โดยนำองค์ความรู้และภูมิปัญญาของตนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ลงมือทำด้วยตนเอง สามารถแก้ไขปัญหา และท้ายสุดชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ก็คงเหมือนกับประโยคที่ว่า “ถ้าท่านให้ปลาแก่คนอื่น เขาจะมีปลากินเพียงวันเดียว ถ้าท่านสอนวิธีจับปลาให้เขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต”
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา  เย็นวันนั้นเราเข้าพักที่ “ตาลากาตูโหย๊ะ ซีชอ” เป็นกลุ่มจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยทีมวิจัยและชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ซึ่งบ้านบ่อเจ็ดลูก หรือ “ลากาตูโยะ” ในภาษามลายู มีตำนานเล่าต่อกันมาว่า บุคคลกลุ่มแรกที่เข้ามาที่เกาะคือชาวเลหรือชาวน้ำที่อพยพมาจากเกาะอื่นต้องการน้ำจืดใช้ จึงขุดบ่อขึ้นโดยบ่อที่ขุด 6 ลูกแรกเป็นน้ำเค็ม แต่บ่อที่ 7 ซึ่งเป็นบ่อสุดท้ายเป็นน้ำจืด จึงเรียกพื้นที่นี้ว่า บ้านบ่อเจ็ดลูก...คำขวัญที่บ้านบ่อเจ็ดลูกมีอยู่ว่า “ถ้ำเสือสิ้นลาย หินยายหินตา หน้าผาใช้หนี้ มีบ่อเจ็ดลูก ปลูกมะพร้าวสองยอด” ซึ่งคำว่า “ปลูกมะพร้าวสองยอด” ไม่ใช่ที่นี่ปลูกมะพร้าวสองยอดทุกต้น แต่เพราะต้นมะพร้าวบริเวณบ่อเจ็ดลูก มีต้นหนึ่งมียอดอยู่ 2 ยอด ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลก เห็นด้วยกับฉันไหมคะ    
ย้อนกลับมาเรื่องการจัดตั้งกลุ่มจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยทีมวิจัยและชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ซึ่งเป็นรีสอร์ท ของชาวบ้าน มีการบริหารจัดการกันเอง แรกเริ่มเดิมทีชาวบ้านประสบปัญหาจากการทำอาชีพประมง    ในปี 2540 ชาวบ้านจึงรวมตัวกัน เพื่อจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือชุมชนของตนเอง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ การรวมกลุ่มเพื่อทำบัญชีครัวเรือน หลังจากที่มีการรวมกลุ่ม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ชาวบ้านจึงเล็งเห็นว่าชุมชนของตนมีทรัพยากรชายฝั่งที่มีคุณค่า เป็นธรรมชาติ เหมาะจะเป็นที่พักแรมของนักท่องเที่ยวได้ จึงเกิดเป็นกลุ่มจัดการท่องเที่ยวขึ้นมา แต่เพราะปัญหาเรื่องการจัดการ และประกอบกับช่วงนั้น บ้านบ่อเจ็ดลูกประสบปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติคลื่นยักษ์สึนามิเข้าทำลายในพื้นที่ กลุ่มจึงหยุดดำเนินการ และเริ่มดำเนินการใหม่ในช่วงธันวาคม 2549 จนถึงปัจจุบัน
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา  โดยส่วนตัวแล้ว ฉันคิดว่าชาวบ้านสามารถจัดการได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก ซึ่งมีให้เลือกระหว่างบ้านเดี่ยว เหมาะสำหรับมาฮันนีมูน หรืออยากจะนอนกางเต๊นท์ นอนนับดาวก็ไม่ว่ากัน เขามีบริการให้เสร็จสรรพ  ส่วนอาหารการกิน ไม่ต้องพูดถึง ที่นี่แม่ครัวเขามีเสน่ห์ปลายจวัก อาหารอร่อยทุกอย่างเลยค่ะ ชาวบ้านมีความเป็นกันเอง ใจดีกันทุกคน เท่าที่ทราบมีข้าราชการระดับชั้นผู้ใหญ่มาพักหลายท่านแล้วค่ะ
วันที่สอง เราเดินทางไปโรงเรียนบ้านตะโละใส เพื่อเรียนรู้งานวิจัย “รูปแบบการจัดการศึกษาบูรณาการระหว่างนักเรียนกับชุมชนของโรงเรียนบ้านตะโละใส” หลังฟังการบรรยายจากผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครู และเด็กๆ ที่เป็นนักวิจัยตัวน้อย  ฉันเห็นด้วยกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ในเนื้อความตอนหนึ่งว่า “ให้สถานศึกษาจัดทำสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม โดยมุ่งเน้นการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และจัดการเรียนรู้ให้เกิดได้ทุกเวลา ทุกสถานที่”   ซึ่งแม้พรบ.การศึกษาฉบับนี้จะเปิดโอกาสให้โรงเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเรียนการสอนแก่เด็ก โดยเน้นให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ก็ตาม แต่สถานศึกษาส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับการเรียนการสอนโดยครูเป็นผู้กำหนดการสอน จึงทำให้กระบวนการเรียนรู้ การเกิดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเป็นไปได้ยาก
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า... นครสโตยมำบังสการา  การเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านตะโละใส ที่เน้นให้เด็กนักเรียนเป็นผู้กำหนดประเด็น และวิธีศึกษาเอง โดยเริ่มเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวก่อน และไม่จำกัดสถานที่ที่จะเรียนรู้ ทั้งนี้มีคุณครูเป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่ผู้กำกับเหมือนการสอนในอดีต ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เด็กจะเลือกประเด็นที่สนใจจะศึกษา โดยการโหวตให้คะแนน จากนั้นมีการหาข้อมูล วิเคราะห์เรื่องราว ตั้งคำถาม วางแผน เก็บข้อมูล สรุปผล จนกระทั่งนำข้อมูลไปใช้ และเขียนเป็นรายงานได้  การเรียนการสอนแบบนี้ สอนให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบ และมีทักษะต่างๆ มากมาย เช่น การจดจำ ช่างสังเกต และมีความละเอียดรอบคอบ เนื่องจากได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนนอกห้องเรียน การให้นโยบายของภาครัฐ ตาม พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 เพื่อให้เด็กไทยได้เรียนรู้ไปในแนวทางเดียวกัน ควรได้รับความร่วมมือจากหัวหน้าสถานศึกษาและคุณครูผู้สอน เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กไทย พัฒนาไปได้อย่างที่ต้องการ
การมาสตูลของฉันในครั้งนี้ ทำให้ฉันได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ในท้องถิ่นซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกด้านหนึ่ง มองอะไรในหลายมิติ และได้คิดต่อ หากมีการต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชนเหล่านี้ มีการช่วยเหลือในด้านการบริหารจัดการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการอยู่รอดของกลุ่ม รวมถึงการทำตลาด และการพัฒนามาตรฐานให้นำไปสู่ระบบธุรกิจได้ก็จะดีไม่น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดทิศทางและนโยบายในการส่งเสริมการพึ่งตนเองของชุมชนให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มสามารถขับเคลื่อนไปได้ตลอดรอดฝั่ง
 

 

 ขอขอบคุณ  :  คุณพรทิพย์ ลิ้มประสิทธิวงศ์ (พี่อ๋อย) ผู้ประสานงาน สกว. ส่วนกลาง ที่กรุณาสละเวลาตรวจทานความถูกต้องของข้อมูลให้ค่ะ
   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 81

อัพเดทล่าสุด