สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา


909 ผู้ชม


สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  รศ.สมพร อิศวิลานนท์
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร  
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การที่ระดับราคาข้าวในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 เดือนมานี้ เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบายได้ทราบว่ายุคของการปฏิวัติเขียวที่เกิดขึ้นมาประมาณเกือบครึ่งศตวรรษในอดีตกำลังจะผ่านไป และโลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะวิกฤตอาหารอีกครั้งหนึ่ง  เพราะมีการใช้พืชอาหารเป็นทางเลือกในการเป็นพืชพลังงาน การที่เศรษฐกิจการผลิตข้าวของไทยเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้และเตรียมความพร้อมให้ทันกับภาวะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ในบทความนี้ต้องการทบทวนให้เห็นถึงสถานการณ์การผลิตและการบริโภคข้าวที่ผ่านมา และปัจจัยที่นำไปสู่ยุคข้าวมีราคาแพง  
 

 
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา ปฏิวัติเขียวของข้าวไทยและความเป็นพลวัตของภาคการผลิต
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  ถ้าจะถามว่ายุคการปฏิวัติเขียวของการผลิตข้าวเกิดขึ้นเมื่อใด กล่าวได้ว่าน่าเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960  โดยเริ่มจากการที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ได้ค้นพบข้าวพันธุ์มหัศจรรย์หรือที่เรียกว่า IR8 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ทุกฤดู มีการตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีดี ให้ผลผลิตสูงเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ชลประทาน ข้าวพันธุ์มหัศจรรย์ดังกล่าวได้แพร่กระจายไปในส่วนต่างๆของโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งโดยการรับพันธุ์ดังกล่าวไปปลูกโดยตรงและรับพันธุ์ดังกล่าวไปปรับปรุงให้เข้ากับพันธุ์พื้นเมืองเดิมตามสภาพแวดล้อมการผลิตและรสชาติที่ประชากรในแต่ละประเทศนั้นๆ ต้องการ
ในประเทศไทย ข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงหรือ “ข้าวพันธุ์ใหม่” หรือบางที่เรียกว่าข้าว “กข.” ของไทย เป็นข้าวที่กรมการข้าว (ชื่อในปัจจุบัน) ได้ใช้แม่พันธุ์ IR8 ที่มีคุณสมบัติไม่ไวต่อช่วงแสง ที่ถูกค้นพบโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ตั้งอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ มาผสมกับพันธุ์พื้นเหลืองทองซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทย ได้เป็นพันธุ์ กข. 1 (Jackson et al 1969)  และได้นำออกเผยแพร่ในราว พ.ศ. 2512 หลังจากนั้นได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น กข.7 กข. 11 เป็นต้น  และได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการตั้งชื่อพันธุ์ที่ออกใหม่ตามแหล่งของสถาบันวิจัยที่ได้พัฒนาข้าวพันธุ์นั้นๆ  เช่น ปทุมธานี 1 สุพรรณบุรี 60 ชัยนาท 1 เป็นต้น ข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงนี้แม้จะมีคุณภาพและรสชาติสู่พันธุ์พื้นเมืองไม่ได้ แต่การที่พันธุ์ดังกล่าวให้ผลผลิตสูงได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ชลประทาน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการปฏิวัติเขียวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย  
การแพร่กระจายของข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อการใช้พื้นที่เพาะปลูกข้าวแบบเข้มขัน( rice cropping intensity) นำไปสู่การขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว และการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าว และรวมถึงการเพิ่มขึ้นของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ตามมา ผลผลิตข้าวของไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 13.80 ล้านตันในปี 2510  และเพิ่มขึ้นเป็น 32.10 ล้านตันในปี 2550  โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.51 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2531-2550  ในด้านพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศได้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก 46.67 ล้านไร่ในปี 2510 เพิ่มขึ้น เป็น 70.19 ล้านไร่ในปี 2550 โดยมีอัตราการขยายตัวในช่วงปี 2531-2550 ร้อยละ 0.70 ต่อปี นอกจากนี้การยอมรับข้าวพันธุ์ใหม่เป็นผลต่อการลดแรงกดดันต่อความต้องการขยายที่ดินเพื่อการเพาะปลูกข้าว เกิดการขยายตัวของการทำนาสองครั้งโดยเฉพาะในเขตชลประทาน  (ในปัจจุบันทำได้ 2 ปี 5 ครั้ง หรือในบางรายได้ถึง 3 ครั้งต่อปีเพราะได้มีการปรับปรุงพันธุ์จนลดช่วงการปลูกให้สั้นลง)
 

 

 อย่างไรก็ตามเแหล่งปลูกข้าวของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตพื้นที่นาน้ำฝน ซึ่งประมาณว่ามีอยู่ถึงร้อยละ 79 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าว ผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ สำหรับพื้นที่ชลประทานซึ่งมีประมาณร้อยละ 21 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดและปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงเป็นสำคัญ  ผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ชลประทานจะสูงกว่าผลผลิตข้าวในพื้นที่นาน้ำฝนกว่า 2 เท่าตัว ทำให้แหล่งการเพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานของภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเพื่อการค้าที่สำคัญของประเทศ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด  แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบบชลประทาน การปลูกข้าวในพื้นที่นี้จึงเป็นการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไวต่อช่วงแสงเป็นสำคัญ  และมีการเพาะปลูกได้ปีละครั้งเท่านั้น  พันธุ์ที่สำคัญ เช่น ขาวดอกมะลิ 105 และ  กข.15   (ในที่นี้รวมกันเรียกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105)  
ข้าวขาวดอกมะลิ 105 จัดเป็นข้าวที่มีคุณสมบัติเด่นที่มีกลิ่นหอม มีค่าอมิโรสต่ำ 15 -16% และเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีราคาสูงในระดับพรีเมียม ซึ่งในที่นี้เรียกว่า”ข้าวคุณภาพ” ผลผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลี่ยประมาณ 326 กก. ต่อไร่ในปี2549/50  (ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักเศรษฐกิจการเกษตร) และผลผลิตข้าวต่อไร่ของพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
 

 

สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  พื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศไทยในฤดูนาปีมีมากกว่าในฤดูนาปรัง กล่าวคือ พื้นที่เพาะปลูกในฤดูนาปีมีประมาณ 57.39 ล้านไร่ในปี 2550 และเกือบจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่เพาะปลูกนาปรังมีพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก 0.22 ล้านไร่ในปี 2510 เพิ่มขึ้นเป็น 12.8 ล้านไร่ ในปี 2550
ในเขตพื้นที่ที่เรียกว่า “นาน้ำท่วม” ซึ่งเป็นที่ลุ่มจัดและมีระดับน้ำสูงในฤดูนาปี ได้มีการปรับเปลี่ยนเมื่อราวเกือบทศวรรษที่ผ่านมา จากการปลูกข้าวขึ้นน้ำซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมือง(พันธุ์ไวต่อช่วงแสง) ไปปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง โดยรอไม่ปลูกข้าวนาปีในฤดูน้ำหลาก เมื่อระดับน้ำลดลงในราวเดือนธันวาคม เกษตรกรจะเริ่มไถเตรียมแปลงนา แล้วปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงแทน  เกษตรกรสามารถปลูกได้ถึง  2 ครั้งในรอบปี การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่นาปรังได้ขยายตัว หลังจากในพื้นที่ชลประทานได้มีการทำนาปรังจนเต็มพื้นที่  
การเพิ่มขึ้นของอุปทานผลผลิตข้าวที่ผ่านมาในช่วง 10 ปี เป็นส่วนหนึ่งผลจากการขยายตัวของพื้นที่นาปรังทั้งในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางเป็นสำคัญ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาน้ำท่วมไปปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสง  ทั้งนี้เป็นผลจากการเกิดขึ้นของพันธุ์ไม่ไวแสงในยุคของการปฏิวัติเขียวและการนำมาประยุกต์วิจัยให้สอดคล้องกับพื้นที่ของประเทศไทย
 

 

  “ในอีกมิติหนึ่งการวิวัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้าของภาคการผลิตข้าวได้เป็นปัจจัยที่ได้บั่นทอนทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ท้องถิ่นและชุมชนเคยสร้างสมมานานให้เจือจางลงอย่างมีนัยสำคัญ”
 

 
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา การก้าวไปข้างหน้าของภาคการผลิต...และการหดหายไปของทุนทางสังคมในท้องถิ่น
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  การแพร่กระจายของข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงและการทำนามากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปีบนพื้นที่ดินเดิมได้มีผลต่อความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชลประทาน ประกอบกับการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่นอกภาคเกษตรมีความรุนแรงมากขึ้น สัดส่วนของแรงงานเกษตรต่อแรงงานทั้งหมดได้ลดจากร้อยละ 72 เฉลี่ยในช่วงปี 2514-2517 ได้ลดลงเหลือร้อยละ 60 เฉลี่ยในช่วงปี 2534-2535 และในช่วงเวลาดังกล่าว แรงงานในภาคการผลิตข้าวได้ลดลงจากร้อยละ 51 ของแรงงานทั้งประเทศลงเหลือร้อยละ 36 (สมพร อิศวิลานนท์, 2548) ซึ่งในภาคกลางนั้นได้รับผลกระทบจากการลดลงของแรงงานในภาคการผลิตข้าวก่อนภาคอื่นๆ เพราะอยู่ใกล้กับกรุงเทพฯมากกว่าภาคอื่นๆ หลังจากนั้นได้แพร่ไปสู่ภาคอื่นๆตามมา การลดลงของแรงงานเกษตรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าจ้างแรงงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นและมีผลต่อต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงขึ้นตามมา  
การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานและการปลูกข้าวได้มากครั้งต่อปี ได้กดดันให้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรแทนแรงงานเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ควายไถนาทำได้ช้าทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวหลายรอบได้ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้รถไถเดินตาม จากการนวดโดยใช้ควายและการเอาแรงงานกันในหมู่บ้านก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องนวดข้าว และจากการที่เคยเก็บเกี่ยวโดยการจ้างแรงงานและการลงแขกก็ปรับเปลี่ยนมาใช้รถเก็บเกี่ยวที่นวดเสร็จโดยทันที นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงานยังกดดันให้เกษตรกรหันไปใช้เทคนิคการหว่านน้ำตมแทนการดำนา การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นผลทำให้การใช้แรงงานในการปลูกข้าวของเกษตรกรลดลง จากที่เคยใช้ประมาณ 9.3 วันทำงานต่อไร่ในฤดูการผลิต 2530/31 ลดลงเหลือ 3.8 วันทำงานต่อไร่ในเขตชลประทานของจังหวัดสุพรรณบุรีในปี 2541/42  (Isvilanonda et al, 2000) ทั้งนี้เพราะมีการจ้างเครื่องจักรกลมาใช้แทนแรงงาน  จำนวนแรงงานที่ใช้ในการผลิตข้าวที่ลดลงดังกล่าวแม้จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานและช่วยลดต้นทุนในการผลิตลงก็ตาม แต่การลดลงของการใช้แรงงานในครัวเรือนได้ทำให้ผลตอบแทนต่อการใช้แรงงานในครัวเรือนลดลง  และมีรายจ่ายที่เป็นเงินสดเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ  
การใช้ทุนในรูปของเครื่องจักรกลเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้นนั้น แม้นัยหนึ่งกล่าวได้ว่าเป็นวิวัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้าของภาคการผลิตข้าวของไทย และเป็นการปรับตัวเพื่อให้เกิดการประหยัดต้นทุนและช่วยเสริมสร้างให้ข้าวไทยแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกในช่วง 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมาก็ตาม แต่การที่เกษตรกรเป็นผู้จ้างในขั้นตอนของกิจกรรมการผลิตมากขึ้นได้มีผลทำให้ผลตอบแทนสุทธิที่เป็นเงินสดของครัวเรือนลดลง
 

 

สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  ในอีกมิติหนึ่งการวิวัฒนาการที่ก้าวไปข้างหน้าของภาคการผลิตข้าวได้เป็นปัจจัยที่ได้บั่นทอนทุนทางสังคมและวัฒนธรรมที่ท้องถิ่นและชุมชนเคยสร้างสมมานานให้เจือจางลงอย่างมีนัยสำคัญ  ประเพณีการลงแขกทั้งในการดำ การเก็บเกี่ยว  และการนวด ที่เป็นส่วนหนึ่งของทุนทางสังคมและวัฒนธรรมพื้นบ้านได้เกือบจะสูญไปจากภาคกลางโดยสิ้นเชิง และได้กระจายไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตามมา ประเพณีดังกล่าวในอดีตเป็นการสร้างคุณค่าของทุนทางสังคมในหมู่บ้านเพราะจะสร้างความรู้จักความเชื่อมโยงผูกพันกันและเอื้ออาทรต่อกัน ทุกคนรู้จักนิสัยใจคอกันดี ซึ่งเป็นวิถชีวิตที่ดีของชุมชน และเป็นทุนที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆและรวมถึงกิจกรรมการสร้างสาธารณประโยชน์ให้เกิดกับท้องถิ่นและชุมชน การเป็นอิสระของแต่ละคนเพิ่มมากขึ้นของคนในท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้นเท่าใด  ย่อมหมายถึงทุนทางสังคมของชุมชนจะหดตัวลงมากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้หากพิจารณาจากมุมมองทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว การปลูกข้าวตามความต้องการของตลาดหรือการผลิตเชิงการค้า เกษตรกรจะเลือกปลูกพันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนเปรียบเทียบที่ดีกว่า ทำให้ความหลากหลายของข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เคยปลูกอยู่ในแต่ละท้องถิ่นหดหายไป นอกจากนี้การผลิตเชิงการค้าทำให้เกษตรกร ลงทุนในปัจจัยสมัยใหม่ เช่น การเพิ่มขึ้นของสารเคมีในแปลงนาทั้งยากำจัดวัชพืช ยากำจัดโรคและแมลง ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารที่มีอยู่ในระบบธรรมชาติที่แต่ละครัวเรือนในท้องถิ่นได้เคยใช้เก็บเกี่ยวเอาจากแปลงนา(ความชุกชุมของปลาในแหล่งธรรมชาติค่อยๆหดหายไป) และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชุมชนที่เคยพึ่งพาธรรมชาติมาสู่การพึ่งพาระบบตลาด และรวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดของครัวเรือนที่จะต้องเพิ่มสูงขึ้นตามมา  
ดังนั้น ความเป็นพลวัตของภาคการผลิตข้าวของไทยนั้นมิได้ได้มาฟรีๆ แต่มีต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องจ่ายด้วยเช่นกัน การยิ่งขยายตัวของการผลิตเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศมากขึ้นเท่าใดสังคมไทยก็มีต้นทุนที่จะต้องจ่ายมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นเรามิใช่แต่เพียงเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญในตลาดต่างประเทศอย่างเดียว แต่เรายังอาจเป็นผู้อุดหนุนที่สำคัญให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศอีกด้วย
 

 

  “ภายใต้ภาวะวิกฤตอาหารของโลก รวมถึงการปรับเปลี่ยนพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงานชีวภาพ จะมีผลทำให้อุปทานข้าวส่วนเกินของโลกมีลดลงและจะกดดันต่อการปรับตัวของราคาข้าวให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกในระยะกลางและระยะยาว”
 

 
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา แนวโน้มการบริโภคข้าวของไทยและของโลก
 ข้าวในอีกด้านหนึ่งจัดเป็นพืชอาหารหลักที่สำคัญของประชากรในประเทศ  การดำเนินชีวิตของผู้บริโภคทั้งในเมืองและในชนบทจะต้องผูกพันกับการบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การพัฒนาประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมาและรวมถึงการที่สังคมไทยได้เชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยไปจากอดีต แม้ว่า การบริโภคข้าวจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอาหารหลักในครัวเรือน  แต่ปริมาณการบริโภคข้าวของครัวเรือนได้มีแนวโน้มลดลง ปริมาณการบริโภคข้าวสารในครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนต่อปีเท่ากับ 119 กก.    ในปี 2533 และได้ลดลงเป็น 101  กก.ต่อคนต่อปี ในปี 2543 ( Isvilanonda ,2005)  ซึ่งได้ลดลงถึง 18 กก.ต่อคนในช่วง 10 ปี (หรือการบริโภคข้าวในครัวเรือนของคนได้ได้ลดลงถึงปีละเกือบ 2 กก.ต่อคนต่อปี) ทั้งนี้การบริโภคข้าวในครัวเรือนที่ลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการบริโภคอาหารนอกบ้านมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคที่มีการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีน นม และผักผลไม้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีระดับรายได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สูงขึ้น  
แม้ว่าปริมาณการบริโภคข้าวจะมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นของประชากรก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของการบริโภคข้าวที่ถดถอยลงย่อมจะมีผลต่อความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศโดยรวมตามมาด้วย ผลผลิตที่เกินความต้องการบริโภคภายในประเทศจึงถูกผลักดันไปสู่การส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น  โดยในปี 2514 นั้นผลผลิต(10 ล้านตันข้าวสาร)ประมาณร้อยละ 81.57 ใช้บริโภคภายในประเทศและมีเพียงร้อยละ 14.39 ที่ส่งเป็นสินค้าออก หากเทียบข้อมูลดังกล่าวกับช่วงปี 2550 พบว่าผลผลิต(20ล้านตันข้าวสาร) ร้อยละ 45.1 ได้ส่งออก ส่วนที่ใช้บริโภคภายในประเทศมีเพียงร้อยละ 54.9 ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวที่ผ่านมามีมากกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศอย่างมากและนำไปสู่การส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น
 

 

สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  ทิศทางการบริโภคข้าวของโลกต่อคนมีแนวโน้มที่จะลดลง ทั้งนี้ได้พบว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาการบริโภคข้าวของคนในญี่ปุ่น ได้ลดลงจาก 120 กก.ต่อคนในช่วงปี 2505 มาเป็น 65 กก.ต่อคนต่อปี ในปี 2547 ในช่วงเวลาเดียวกันการบริโภคข้าวของคนไต้หวันได้ลดลงจาก 160 กก.ต่อคนต่อปี มาเป็น  50 กก.ต่อคนต่อปี ในขณะที่การบริโภคข้าวของคนจีนก็ได้ปรับตัวลดลงจาก 110 กก.ต่อคนต่อปี ในปี 2533 มาเป็น 106 กก.ต่อคนต่อปีในปี 2545  (Ito and Kako, 2005)   นอกจากนี้การศึกษาในประเทศอินโดนิเชีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ก็ได้มีรายงานที่ลดลงของการบริโภคข้าวต่อคนต่อปีด้วยเช่นกัน (Sombilla, 2002)  
แม้การบริโภคข้าวต่อคนจะลดลง แต่ความต้องการบริโภคข้าวโดยรวมของโลกยังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากร  สำหรับประชากรในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาได้มีความต้องการบริโภคข้าวสูงขึ้น การบริโภคข้าวของประชากรในแถบแอฟริกายังมีความสัมพันธ์เป็นบวกกับระดับรายได้  การที่เศรษฐกิจของประเทศในแถบแอฟริกาเริ่มเปลี่ยนแปลงดีขึ้นได้ทำให้คนเปลี่ยนแปลงขยายตัวจากการบริโภคจากพืชหัวมาเป็นการบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของตลาดข้าวในภูมิภาคนี้ตามมา
 

 

สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  ในอดีตที่ผ่านมา ความต้องการข้าวของโลกมีเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตและอุปทานข้าวมีเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงของการปฏิวัติเขียวระหว่างปี 2510-2540 ได้ส่งผลต่อการตกต่ำของราคาข้าวในตลาดส่งออก ตลาดการค้าข้าวได้ปรับเปลี่ยนลักษณะจากเคยเป็นตลาดของผู้ขายมาเป็นตลาดของผู้ซื้อ และทำให้หลายๆประเทศขาดความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของข้าวที่เป็นอาหารพื้นฐานหลักของประชากร โดยเฉพาะในเอเชีย และต่างก็ถอนการลงทุนวิจัยจากข้าวไปสู่ด้านอื่นๆแทน โดยคิดว่าประเด็นเรื่องการขาดแคลนอาหารของโลกไม่น่าจะเกิดขึ้น  
แม้การผลิตข้าวของโลกจะมีอุปทานข้าวมากกว่าปริมาณอุปสงค์การบริโภคข้าวของโลกมาโดยตลอดในช่วงของการปฏิวัติเขียว  แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศโดยเฉพาะจีน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่และมีประชากรมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิตพืชจากพืชที่มีมูลค่าต่ำ เช่น ข้าว ไปสู่การขยายตัวของการผลิตพืชที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงมากขึ้น  
ปัจจัยดังกล่าวเมื่อผนวกเข้ากับการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และประชาคมยุโรป ต่างให้การอุดหนุนในด้านพลังงานชีวภาพ เพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิล การผลิตเอทานอลจากข้าวโพดและถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกาที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา  เป็นผลให้การส่งออกข้าวโพดและถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกาไปยังตลาดโลกลดลงอย่างมาก และมีการปรับตัวของราคาธัญพืชดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศ
 

 

 การหดตัวลงของสต็อกข้าวโลก ซึ่งเคยมีสูงสุดที่ 140 ล้านตันข้าวสาร ค่อยๆลดต่ำลงนับจากปี 2544 เป็นต้นมา และได้ลดต่ำลงเหลือประมาณ 60 ล้านตันในปี 2550  ประเทศจีนและอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลกได้มีปริมาณสต็อกข้าวที่ลดลงอย่างมาก  สต็อกข้าวของจีนได้ลดลงจาก 97 ล้านตันในปี 2544 เหลือไม่ถึง 30 ล้านตันในปี 2550 หรือลดลงไปถึง 2 ใน 3  ในขณะเดียวกันสต็อกข้าวของอินเดียก็ได้ลดลงจาก 25 ล้านตันในปี 2544 เหลือไม่ถึง 10 ล้านตันในปี 2550 (https://wwww.fas.usda.gov/pdsonline)
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเนื่องจากวิกฤตการณ์โลกร้อน ได้ส่งผลต่อภาวะความแห้งแล้งในประเทศออสเตรเลียอย่างรุนแรงติดต่อกันหลายปีทำให้ผลผลิตข้าวสาลีเสียหาย และราคาข้าวสาลีได้แพงขึ้นอย่างมากในตลาดการค้าระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคจากข้าวสาลีไปสู่การบริโภคข้าวมีมากขึ้น ประกอบกับเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศจีนในปีที่ผ่านมาพร้อมกับการมีหิมะตกปกคลุมเป็นบริเวณกว้างและเป็นเวลานานได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ในขณะที่อินเดียก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเป็นเวลาจนผลผลิตเสียหาย เวียดนามเองก็ได้รับผลกระทบจากการมีฤดูหนาวที่ยาวนานและเกิดการระบาดของโรคข้าวและแมลงทำให้มีผลผลิตลดลง  ทั้งสามประเทศนี้เคยเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญของโลกและเมื่อเกิดผลกระทบดังกล่าวจึงได้ชะลอและหยุดการส่งออกข้าวของทั้งสามประเทศในเวลาที่ไล่เลี่ยกันในช่วงราวต้นปี 2551 เพื่อการเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวสำรองภายในประเทศและสร้างความมั่นคงทางอาหารของชาติ  
แต่เนื่องจากลักษณะของตลาดข้าวโลกซึ่งเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องต่ำ เพราะมีการซื้อขายข้าวกันเพียง 29 ล้านตันข้าวสารเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตและการบริโภคที่มีอยู่ถึงเกือบ 430 ล้านตันข้าวสาร  ความผิดปกติทางด้านอุปทานที่เกิดขึ้นจึงได้ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวสูงขึ้นของราคาข้าวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์และรวมถึงตลาดสินค้าข้าว ตลาดทุนและตลาดน้ำมัน ต่างก็มีความเชื่อมต่อกันอย่างกว้างขวาง ทำให้นักลงทุนมีโอกาสเข้ามาเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้ามากขึ้น เพราะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีหากสามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ถูกต้อง ราคาข้าวในตลาดการค้าระหว่างประเทศจึงได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงนับแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว อันเป็นปรากฏการณ์ข้าวแพงดังที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
 

 

 เนื่องจากตลาดข้าวระหว่างประเทศและตลาดภายในประเทศมีการเชื่อมโยงกันอย่างดี  และการที่ประเทศไทยมีข้าวอุปทานส่วนเกินในประเทศเพื่อการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวในขณะที่ผู้ส่งออกที่สำคัญรายอื่นๆต่างหยุดหรือชะลอการส่งออก     ภาวะการขาดแคลนข้าวในตลาดโลกหรืออุปทานช็อคในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาได้ดึงให้ราคาข้าวในประเทศไทยทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร และราคาข้าวส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และสูงไปเกือบหนึ่งเท่าตัวเมื่อเทียบกับราคาข้าวในกลางปี 2550  
 

 
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา ข้าวแพงจะเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้นหรือระยะยาว?
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา  ภาวะการสิ้นสุดของยุคการปฏิวัติเขียวหมายถึงว่าขอบเขตของการเพิ่มขึ้นของอุปทานผลผลิตข้าวโดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีเดิมนั้นมีข้อจำกัดแล้ว และไม่สามารถจะขยาย frontier ของการผลิตให้เพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ได้อีก ในอีกด้านหนึ่งอุปสงค์การบริโภคข้าวของโลกได้เติบโตก้าวทันกับอุปทานผลผลิตข้าวของโลกที่ผลิตได้ภายใต้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ต่อจากนี้ไปแรงกดดันทางด้านอุปสงค์การบริโภคข้าวจะมีมากกว่าแรงกดดันทางด้านอุปทาน ทำให้อุปทานส่วนเกินของโลกกำลังแคบลงและจะนำไปสู่ภาวะจำกัดในอุปทานผลผลิตข้าวเพื่อการบริโภค สถานการณ์ดังกล่าวจะกดดันให้ราคาข้าวในระยะกลางและระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตข้าว เพราะปุ๋ยเคมี ค่าจ้างไถ ค่าเช่าที่ดิน และค่าจ้างแรงงานต่างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ประมาณว่าต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรในทุกประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตข้าวของไทยได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมระหว่างตันละ 5,000-6,000 บาท เพิ่มสูงขึ้นมาเป็นระหว่างตันละ 8,000-9,000 บาท สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าราคาข้าวได้ปรับฐานไปสู่ระดับราคาที่สูงขึ้นแล้ว
  
ในระยะสั้นๆ เนื่องจากช่วง 4-5 เดือนข้างหน้านี้จะมีข้าวฤดูใหม่ออกซึ่งจะมีอุปทานค่อนข้างมาก ผู้นำเข้าต่างก็ชะลอตัวลง ส่วนผู้ส่งออกหากไม่เก็บเข้าสต็อกก็อาจจะต้องระบายสต็อกเพื่อรอรับข้าวฤดูใหม่ ดังนั้นทิศทางของราคาข้าวในระยะสั้นยังจะแกว่งตัวลงในกรอบแคบๆ
 

 
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา สรุป
 การผลิตข้าวในประเทศไทยได้ขยายการใช้ขอบเขตของการผลิตภายใต้เทคโนโลยีเดิมอันเกิดจากการปฏิวัติเขียวจนเต็มศักยภาพแล้ว การเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตข้าวโดยรวมจะไม่เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้อีก ในขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวยังปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากร สถานการณ์ดังกล่าวจะมีผลทำให้การส่งออกข้าวของไทยมีขีดจำกัดตามมา อย่างไรก็ตามภายใต้ภาวะวิกฤตอาหารของโลก รวมถึงการปรับเปลี่ยนพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงานชีวภาพ จะมีผลทำให้อุปทานข้าวส่วนเกินของโลกมีลดลงและจะกดดันต่อการปรับตัวของราคาข้าวให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีกในระยะกลางและระยะยาว สถานการณ์ข้าวราคาต่ำอย่างในอดีตจะไม่มีให้เห็นอีก สถานการณ์นี้น่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย.
 

 
สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป...แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา เอกสารอ้างอิง
 ศูนย์สารสนเทศการเกษตร (หลายปี) “สถิติการเกษตรของประเทศไทย”, สำนักเศรษฐกิจการเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สมพร อิศวิลานนท์ (2548) “รายงานสถานการณ์ข้าวไทย: ความเป็นพลวัตและสถานการณ์ของปัญหา  เอกสารประกอบการประชุมเวที   ข้าวไทย ครั้งที่ 1 เรื่อง “อนาคตข้าวไทย: ความอยู่รอดของชาวนา” ในวันที่ 19 ธันวาคม  2548  ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารสนเทศ 50 ปี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
สถาบันวิจัยข้าว (2528) “พันธุ์ข้าว กข.ของไทย” กรมวิชาการเกษตร   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
Isvilanonda, S.; Ahmad, A.; and Hossain, M.(2000) “Recent changes in Thailand’s rural economy”, a paper presented at the Third Conference of Asian Society of Agricultural Economiists (ASAE) held on October 18-20, Jaipur, India.  
Isvilanonda, S. (2005). “Trend on Rice Consumption in Thailand”, A paper presented at the Symposium on “World Rice at Stake” during March 13-14, 2005, at Heart Inn Nogizata Hotel, Tokyo, Japan.  
Ito, S.  and Kako, T. (2005) “Rice in the World Verging on Grave Crisis”, Farming Japan, vol. 39 no. 5.
Jackson, B.R., Panichapat, W., and Awakul, S. (1969). “Breeding performance and characteristics of dwarf, photo-period nonsensitive varieties for Thailand”, Thai Journal of Agricultural Science, 2:pp83-92.
Sombilla , E (2002) “Development in Asian Rice Economy “, International Rice     Research Institute, Laguna, Philippine.
USDA,https://www.fas.usda.gov/psdonline
 

 
 

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 80

อัพเดทล่าสุด