ที่จันทบุรีมีคนชอง กรณีศึกษาของภาษาชอง จ.จันทบุรี ซึ่งศูนย์ฯ ทำงานคลุกกับชาวบ้าน ฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมชองโดยคนชองเอง มีการสร้างระบบตัวเขียนโดยยืมภาษาไทยมาใช้ ชาวบ้านรุ่นเก่ามีบทบาทอย่างมาก เช่น ผู้ใหญ่เฉิน ผันผาย ถามผู้ใหญ่ว่าทำไมต้องฟื้นภาษาชอง ผู้ใหญ่ตอบ -- "ก็เพราะภาษาชองไม่มีตัวเขียน ทำให้เด็กชองไม่รู้ภาษาชอง จึงเกิดความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ภาษาชองไว้ให้ลูกหลาน แม้บางครั้งกำลังเก็บเงาะอยู่ ก็ต้องทิ้งไว้ก่อน ต้องเดินทางโหนรถเมล์ในกรุงเทพฯ เพื่อไปทำระบบเขียนภาษาชองที่มหิดล" ปฏิบัติการค่อยๆ คืนภาษาชองสู่ชีวิตประจำวันนับว่าน่าพอใจ ปัจจุบันมีการสอนภาษาชองในโรงเรียนประถมศึกษา เด็กๆ กลับบ้านได้ใช้ภาษาชองกับพ่อแม่ นับเป็นการแผ่ขยายวงสนทนาภาษาชองวงเล็กๆ ที่ปลาบปลื้มกันไปทั้งครูอาจารย์ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ปฏิบัติการเดียวกันนี้ ยังมีอีกหลายแห่งและอยู่ระหว่างริเริ่มอีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือ โครงการทวิภาษา-วางแผนการใช้ภาษามลายูถิ่น (มลายูปาตานี) เพื่อการศึกษาและพัฒนาชุมชนในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศ.ดร.สุวิไล กล่าวว่า โครงการทวิภาษามีปัญหาลักลั่นอยู่บ้าง กับนโยบายภาษาแห่งชาติที่ใช้ภาษาไทยเท่านั้น ด้วยรัฐวิธีแต่เดิมชูไทยเป็นหนึ่งด้วยเหตุผลความเป็นเอกภาพ ขจัดให้มีภาษาเดียวด้วยความกลัวแอบแฝงเก่าๆ มองความแตกต่างว่าทำให้แตกแยก และทำให้บางครั้งบางกลุ่มชนก็ต่อต้านรุนแรงอย่างที่ก็เห็นๆ กันอยู่ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นเพราะหลายฝ่ายเริ่มเห็นความสำคัญ "โลกเปลี่ยน วิธีคิดแบบเก่าต้องเปลี่ยน เรื่องภาษามองได้ 2 ด้าน จะมองว่าความหลากหลายเป็นทรัพยากร หรือจะมองว่าเป็นปัญหา การขจัดให้มีภาษาไทยภาษาเดียวก็เหมือนกับมีมันสมองเดียว สู้ชาวโลกคนอื่นเขาไม่ได้ ระบบการศึกษาวันนี้ต้องเปลี่ยนได้แล้ว" ศ.ดร.สุวิไลทิ้งท้าย ไทยเป็นดินแดนที่มีความซับซ้อนด้านภาษา และชาติพันธุ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ความหลากหลายนี้เองที่คือความงาม ต้องตระหนักรู้ เปิดใจให้ความแตกต่าง และเปิดใจให้มีการเรียนการสอนภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในโรงเรียน เปิด (ใจ) เมื่อไหร่ ก็เข้า (ใจ) กันได้เมื่อนั้น และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จะเกิดขึ้นด้วย |