ภาวะโลกร้อนกับระบบการผลิตข้าวไทย รศ.ดร.อรรถชัย จินตะเวช ภาควิชาปฐพีศาสตร์และอนุรักษศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และ ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [email protected]หรือ [email protected] “ภาวะโลกร้อน” หมายถึง ภาวะซึ่งค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกในช่วงเวลาหนึ่งมีระดับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น อุณหภูมิโลกในช่วงเวลา 2540-2550 เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในช่วงเวลา 2523-2532 เป็นต้น ต้องระลึกด้วยว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตามธรรมชาติ เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบความเป็นอยู่ของพลโลกอย่างกว้างขวาง จึงต้องเตรียมการศึกษาวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้สำหรับการปรับตัว โดยเฉพาะการรักษาความสามารถการผลิตอาหารให้พอเพียงต่อความต้องการ |
|
เนื่องจากมีความเชื่อว่าภาวะภูมิอากาศของโลกเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า “Climate Variability” คือสภาพภูมิอากาศมีความแปรปรวนมากกว่าอดีต เป็นช่วงเวลาซึ่งบางพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งและบางพื้นที่มีสภาพหนาวเย็นผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าว ซึ่งเป็นพืชอาหารหลักของคนไทย |
|
เครื่องมือศึกษาผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อการผลิตข้าว นักวิทยาศาสตร์ไทย สามารถพัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศ มาศึกษาระบบการผลิตข้าวและกำลังขยายขอบเขตการศึกษาและแปลงข้อมูลที่ได้สู่การวิเคราะห์ภาพรวมของระบบเกษตร ด้วยโปรแกรม CropDSS ซึ่งได้รับการพัฒนาต่อเนื่องจากโปรแกรมอ้อยไทย โปรแกรมโพสพ และโปรแกรมมันไทย โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลภูมิอากาศ ข้อมูลดิน ข้อมูลพันธุกรรมพืช และข้อมูลการจัดการกับแบบจำลองพืชของโปรแกรม DSSAT4 (มีทั้งหมด 24 พืช มีการพัฒนาตั้งแต่ปี 1982 และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน) โปรแกรม CropDSS อำนวยความสะดวกในการประเมินผลผลิตพืชดังกล่าวในพื้นที่ขนาดใหญ่ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค โครงสร้างข้อมูลของโปรแกรม CropDSS ประกอบด้วยฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ (SDBMS: Spatial Database Management System) ฐานแบบจำลอง (MBMS: ModelBase Management System) โปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis programs) และโปรแกรมแสดงผลการวิเคราะห์ในรูปแบบแผนที่ (Display) |
|
|
|
โครงสร้างข้อมูลของโปรแกรม CropDSS |
|
ผลเบื้องต้นของการวิเคราะห์ข้อมูลแบบบูรณาการด้วยโปรแกรมเชื่อมโยง CropDSS พบว่าเมื่อปลูกข้าวในเดือนสิงหาคมและธันวาคม อายุข้าวจะสั้นลง 12-17 วัน และ 7-10 วันตามลำดับ และผลผลิตข้าวมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การจำลองสถานการณ์ผลิตข้าวในระดับศักยภาพ (Potential production systems) ของพื้นที่ทั่วประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1980-1989 พบว่าจะได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.3-1.7 ตันต่อไร่ ในช่วงปี ค.ศ. 2010-2039 จะได้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.2-1.6 ตันต่อไร่ และในช่วงปี ค.ศ. 2070-2099 จะได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.3 ตันต่อไร่ ซึ่งพบว่าศักยภาพของผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 7-40 เมื่อเทียบกับศักยภาพของผลผลิตข้าวในช่วงปี ค.ศ. 1980-1989 ทั้งนี้เนื่องจากระดับอุณหภูมิอากาศที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงปลายศตวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อปรับแต่งแบบจำลองและระบบฐานข้อมูลให้สามารถจำลองสถานการณ์การผลิตข้าวตามความหลากหลายของระบบการผลิตข้าวไทย โดยเฉพาะด้านพันธุกรรมข้าว และสภาพที่มีการจัดการน้ำ ธาตุอาหารพืช และศัตรูข้าว ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องของทุกคนทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นจึงควรขยายกรอบแนวคิดสู่การสร้างความเข้าใจระบบเกษตรกรรมในพื้นที่โดยรอบประเทศไทย โดยเริ่มจากบริเวณที่เรียกว่า Greater Mekong Sub-region (GMS) จากนั้นขยายไปยังขอบเขตของ ASEAN และขอบเขตระดับโลก เพื่อการคาดการณ์และจำลองระบบการผลิตข้าวได้ในพื้นที่ปลูกข้าวหลักของทุกประเทศในโลก เป็นเวลาล่วงหน้า 4 เดือน และสามารถนำผลที่ได้ไปประกอบการกำหนดนโยบายและการวางแผนการผลิตข้าวอย่างมืออาชีพ มีเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม และพร้อมรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ต่อไป |