โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว


869 ผู้ชม


โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว
โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว  ศุภกร ชินวรรโณ
ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
suppakorn.[email protected]  

ประเด็นเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เป็นเรื่องที่พูดกันมากในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากกระแสการตื่นตัวในประเด็นที่จัดว่าเป็นปัญหาระดับโลกซึ่งส่งผลมาถึงประเทศไทย และกระแสการตื่นตัวดังกล่าวก็ได้รับการผลักดันจากภาพยนตร์ An Inconvenience Truth ทำให้ประเด็นดังกล่าวยิ่งเป็นเรื่องที่สนใจกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
 

 

 อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่เรายังมีความรู้กันน้อยมาก การพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยในระยะที่ผ่านมาก็มักเป็นการคาดคะเนเอาจากผลการศึกษาในระดับโลกซึ่งเป็นการวิเคราะห์ในระดับกว้างๆ โดย scale ที่ใช้ในการวิเคราะห์นั้น เป็น scale ขนาดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถระบุการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในพื้นที่ประเทศไทยได้ชัดเจนนัก  
ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยในการจัดทำการจำลองสภาพภูมิอากาศรายวันในอนาคตในช่วงคริสต์ศักราช 2010 ถึง 2099 โดยเป็นการจำลองสภาพภูมิอากาศที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่สูง และครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมดตลอดจนประเทศข้างเคียงเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน เพื่อให้เกิดผลการศึกษาที่สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบและภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นข้ามขอบเขตพรมแดนของประเทศไทยด้วย   ผลที่ได้จะนำไปสู่การศึกษาถึงภาวะเสี่ยงต่อความเดือดร้อนและแนวทางการปรับตัวต่อสถานการณ์อนาคตต่อไป
การจำลองสถานการณ์สภาพภูมิอากาศอนาคตในโครงการนี้จะเป็นการจำลองสภาพอากาศที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ที่ 0.22° หรือ ประมาณ 25 กิโลเมตร การดำเนินการจะเป็นการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ PRECIS (Providing REgional Climates for Impacts Studies) (https://precis.metoffice.com/) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย The Met Office Hadley Center for Climate Change ประเทศอังกฤษ ในการจำลองสภาพอากาศ โดยใช้ชุดข้อมูล Global dataset ECHAM4 A2 เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณ และผลจากการศึกษาจนถึงขณะนี้มีผลสรุปขั้นต้นที่สามารถนำมาเผยแพร่ได้ดังนี้
 

 

โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว  
 

 

 • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิสูงสุด  ในช่วงต้นศตวรรษจนถึงปลายทศวรรษที่ 2030 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยไม่ได้เพิ่มขึ้นไปจากเดิมในช่วงปลายศตวรรษก่อนมากนัก โดยมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ระหว่าง 34-36 องศาเซลเซียส แต่ประเด็นที่สำคัญคือ พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงสุดในช่วงดังกล่าวจะแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น จนปกคลุมภาคกลางทั้งหมด ภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงบางส่วนของภาคใต้ และในช่วงปลายศตวรรษอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 3-4 องศาเซลเซียส ไปอยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส และขยายขอบเขตออกไปปกคลุมพื้นที่ประเทศไทยเกือบทั้งหมด ในส่วนของระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีนั้น ผลจากการคาดการณ์แสดงให้เห็นว่าฤดูร้อนจะยืดยาวขึ้น ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2030 ภาคกลางทั้งหมด รวมถึงบางส่วนของภาคใต้จะมีจำนวนวันที่มีอากาศร้อนมากกว่า 8 เดือน กระทั่งถึงปลายศตวรรษ พื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้จะมีฤดูร้อนที่ยาวนานกว่า 8 เดือน
 

 

โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว  
 

 

 • การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิต่ำสุด  ในช่วงต้นศตวรรษนี้อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจนถึงปลายทศวรรษที่ 2030    โดยพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยมากกว่า 24 องศาเซลเซียสซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมาเล็กน้อย ส่วนในภาคเหนืออุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยยังคงอยู่ในเกณฑ์ 18-22 องศาเซลเซียส แต่พื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำจะลดลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน กระทั่งถึงปลายศตวรรษมากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่   ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยมากกว่า 24 องศาเซลเซียส  
ในส่วนของระยะเวลาที่มีอากาศเย็นในรอบปีนั้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีจำนวนวันที่อุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส ยาวนานที่สุดประมาณ 2-2.5 เดือน ซึ่งเมื่อถึงช่วงต้นศตวรรษนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก  
ระยะเวลาที่มีอากาศเย็นนี้จะหดสั้นลงอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษที่ 2070 โดยจะเริ่มเห็นได้ทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียสเพียง 10 วัน - 1 เดือนเท่านั้น และในช่วงปลายศตวรรษนี้พื้นที่ที่มีอากาศเย็นดังกล่าวจะเหลือเพียงบางส่วนของภาคเหนือตอนบนและเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณไม่เกิน 1 เดือนเท่านั้น
 

 

โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว  
 

 

โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว  
 

 

 • การเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน  ผลสรุปการคำนวณแสดงให้เห็นถึงปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแม้ว่าในอนาคตระยะ 2-3 ทศวรรษข้างหน้านี้จะมีความผันผวนมาก แต่ในระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปลายศตวรรษ  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีในทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากทั้งในด้านปริมาณและการกระจายตัวของพื้นที่ที่ฝนตก แต่จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยในแต่ละปีในเกือบทุกพื้นที่ยังคงใกล้เคียงกับที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความยาวนานของฤดูฝนในอนาคตอาจจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่มากนัก จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนทั้ง 2 ชุดนี้ อาจบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละครั้งในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นหรืออาจจะเรียกได้ว่าฝนที่ตกแต่ละครั้งจะตกหนักมากขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำหลาก และภัยธรรมชาติที่จะเกิดตามมาจากอุทกภัยอีกหลายชนิด
 

 

โลกร้อนกับเมืองไทย...ใครว่าเป็นเรื่องไกลตัว  
 

 

 กล่าวโดยสรุปแล้ว ประเทศไทยในอนาคตน่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นบ้าง โดยมีหน้าร้อนที่ยาวนานขึ้นและกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากขึ้น และแม้ว่าแนวโน้มปริมาณฝนจะสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดจากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงมากขึ้น แต่หน้าแล้งก็น่าจะแล้งจัดขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากระยะเวลาและพื้นที่ที่อากาศร้อนนั้นเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ทางคณะทำงานยังจะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิอากาศอนาคตของประเทศไทยที่ได้นำเสนอมานี้เป็นเพียงการคาดการณ์เพียงแนวทางเดียวเท่านั้น และเป็นการคาดการณ์ในเชิงที่การเปลี่ยนแปลงของก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มสูงขึ้นมาก การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้จะต้องมีการคาดการณ์อีกหลายๆ แนวทางเพื่อนำมาเปรียบเทียบและหาแนวโน้มที่สอดคล้องกัน อีกทั้งจะต้องมีการพัฒนาเครื่องมือ โดยเฉพาะ software และชุดข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำขึ้นอีก
 

 

 ข้อมูลจาก ฝ่ายงานสื่อสารสังคม (สกว.)



   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 79

อัพเดทล่าสุด