ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?


1,081 ผู้ชม


ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?  รศ.ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร
บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
[email protected]    

          ตัวการของโลกร้อนคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่เพิ่มจนกั้นรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ซึ่งควรจะสะท้อนออกจากโลกให้กลับมาอยู่บนผิวโลก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น  ตัวการใหญ่ของก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีปริมาณร้อยละ   77     ของประมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในบรรยากาศ  ปัจจุบันความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 380 ส่วนในล้านส่วน   รายงานการประเมินฉบับที่ 4 ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) รายงานว่า หากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในบรรยากาศเพิ่มเป็น 445-490  ส่วนในล้านส่วน   อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 2-2.4 องศาเซลเซียส   ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขนาดนี้ยังไม่มีใครกล้าคาดเดา    หากยังจำกันได้ รายงานการประเมินฉบับที่ 3 ของ IPCC  กล่าวว่า ในช่วง 100 ปี ที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.6 องศาเซียลเซส   ซึ่งความเสียหายที่ตามมาในปัจจุบัน ก็เหลือคณานับจนสุดจะคาดเดา...  
 

 
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ? ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มอย่างเห็นได้ชัดหลังยุคอุตสาหกรรม (1970 เป็นต้นไป)  การเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศนี้ สัมพันธ์กับปริมาณการปล่อยของก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เช่นกัน  จากปี 1970 ถึงปี 2004 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 70 คือจาก 28.7 กิกกะตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  เป็น 49 กิกกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า   ซึ่งในปริมาณนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากที่สุดคือร้อยละ 80  และมีปริมาณถึงร้อยละ 77 ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกจากภาคกิจกรรมในปี 2004 [1]
ต้องไม่ลืมว่าก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้มีเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น  ยังคงมีก๊าซอื่น ๆ อีกเช่น ก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพทำให้โลกร้อนมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า  ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่มีค่าดังกล่าวมากถึง 310 เท่า  และยังมีก๊าซฟลูออโรคาร์บอน 3 ชนิดที่รวมเรียกกันว่า  F gas ได้แก่ Hydrofluorocarbon (HFC), Perfluorocarbons (PFCs) และ Sulphur hexafluoride (SF6),
 

 

ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?  
 

 
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ? ก๊าซเรือนกระจกมาจากไหน?
 โดยทั่วไปทราบกันดีว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล  ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้ถ่านหินสำหรับผลิตไฟฟ้าและพลังงาน  ก๊าซมีเทนส่วนใหญ่มาจากการกระบวนการทางชีววิทยา เช่น การหมักแบบไร้อากาศโดยจุลินทรีย์ที่ย่อยสารอินทรีย์ในสภาพไร้อากาศ แล้วทำให้เกิดก๊าซนี้ขึ้นมา  ส่วนไนตรัสออกไซด์ เกิดขึ้นได้ทั้งจากกระบวนการทางเคมีในอุตสาหกรรม ขนส่ง และกระบวนการทางชีววิทยา เช่น ditrification และ denitrification เป็นต้น  
ในการพูดถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น แบ่งเป็นทั้งประเภทของก๊าซ และแหล่งที่มาของก๊าซ แต่ที่นิยมอ้างถึงเพื่อให้เข้าใจง่ายในการลดและวางมาตรการในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก นิยมกล่าวถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกิจกรรมที่ปล่อยมากกว่า   IPCC ได้จัดทำคู่มือการประเมินบัญชีก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ (ซึ่ง UNFCCC นำไปใช้ในการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น) ได้แบ่งแหล่งปล่อยตามภาคกิจกรรมออกเป็น 5 ภาคกิจกรรมคือ ภาคพลังงาน(รวมสาขาบริการอุตสาหกรรมหรือสาขาผลิตไฟฟ้า  สาขาขนส่ง สาขาการใช้พลังงานในอุตสาหกรรม และสาขาครัวเรือน เป็นต้น) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม ภาคการใช้ที่ดินและป่าไม้ ภาคเกษตร และภาคของเสีย  แต่ละภาคกิจกรรม มีกลไกการปล่อยและชนิดของก๊าซไม่เหมือนกัน อันเนื่องมาจากกิจกรรมและกลไกที่ต่างกัน  
ในภาคพลังงาน การขับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน  เกิดการเผาไหม้ในกระบอกสูบและเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   ในขณะที่การเผาหินปูนเพื่อผลิตซีเมนต์ในภาคอุตสาหกรรมก็เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเช่นกัน    ในภาคเกษตรเชื่อหรือไม่ การปล่อยก๊าซมีเทน มาจากการเรอของวัวเนื่องมาจากกระบวนการย่อยสลายอาหารของจุลินทรีย์ไร้อากาศในกระเพาะวัว รวมทั้งการเกิดก๊าซมีเทนในนาข้าวก็มาจากกระบวนการทางชีวภาพของจุลินทรีย์ในนาแล้วปล่อยสู่บรรยากาศทางต้นข้าวเช่นกัน  ส่วนก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคของเสียนั้น เกิดได้จากทั้งการเผาขยะ และการฝังกลบที่ไม่ได้เอาก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นมาใช้ประโยชน์  
 

 

ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?  
 

 

 *  ที่มา :  World Resource Institute
ภาคกิจกรรม/สาขาที่มีการปล่อยมากที่สุดระหว่างปี 1970-2004 คือ สาขาบริการพลังงาน( energy service sector) เพิ่มขึ้นร้อยละ 145    การปล่อยโดยตรงจากสาขาขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 120   สาขาการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 65  ภาคการใช้ประโยชน์และป่าไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40
 

 

ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?  
 

 

  “ก๊าซเรือนกระจกนั้นปล่อยที่ใดก็ตามในโลก ก็ส่งผลกระทบทั่วโลกเสมอกัน การลดในภาพรวมโดยกลไกระหว่างประเทศคงต้องปล่อยไปตามครรลอง  แต่ในฐานะเป็นประชากรคนหนึ่งในโลก หากต้องการเก็บรักษาโลกนี้ไว้ให้ลูกหลาน คงต้องช่วยกันเท่าที่จะทำได้โดยใช้ non-technology option ซึ่งได้ผลระยะยาว”
ในภาพรวมของโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานมีมากที่สุด ก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ  61.4   ซึ่งกิจกรรมที่ปล่อยมากที่สุดคือ สาขาบริการพลังงานและความร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 24.6 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาทั้งหมด   นั่นหมายถึง เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมากถูกที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า   การปล่อยมากที่สุดจากการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน(residential building)   ดังนั้นหากเราช่วยกันใช้ไฟให้น้อยลงก็คงจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้บ้าง     สำหรับกิจกรรมสาขาขนส่งนั้นมาเป็นอันดับ 2 ร้อยละ 13.5  โดยเป็นที่แน่นอนว่าการปล่อยจากการขนส่งทางบกมีมากกว่าสาขาอื่น  ที่น่าสนใจคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องบินมีถึงร้อยละ 1.6 ของทั้งโลก
 

 

ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?  สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงพลังงาน [2]  การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของประเทศไทยในปี 2003 (2546) พบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน  มีถึงร้อยละ 56 ของการปล่อยทั้งประเทศ ซึ่งในภาคกิจกรรมนี้ ปริมาณการปล่อยจากการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง และการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมมีมากพอ ๆ กัน    หากเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับหนึ่งของโลกแล้ว อเมริกาปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานถึงร้อยละ 86.7 ของปริมาณที่ปล่อยทั้งประเทศ   ส่วนใหญ่จะมาจากการผลิตไฟฟ้าและการขนส่ง  เป็นที่น่าสังเกตว่า ปริมาณปล่อยจากการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมมีไม่มากนัก  รวมทั้งการปล่อยจากกระบวนการอุตสาหกรรมก็มีน้อยเช่นกัน  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลของประเทศนี้ ไม่ได้ปล่อยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ แต่เกิดจากการฟุ่มเฟือยการใช้พลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการขนส่ง  ยกตัวอย่าง ง่าย ๆ การใช้ไฟฟ้าในเมืองลาสเวกัสเมืองเดียว อาจมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาแล้วบางประเทศ เสียอีก  
อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทยคือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคพลังงานนี้เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(1990-2003) ถึงร้อยละ 144  หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11   ต่อปี  ในขณะที่การใช้พลังงานของประเทศ(1994-2004) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6   ต่อปี  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราใช้พลังงานโดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพในการลดการปล่อย CO2  เท่าไหร่  
“การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการบริโภคที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งการนำวิถีชีวิตแบบพอเพียงมาใช้ก็เป็นหลักการที่สอดคล้องกับส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี”
 

 
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ? จะปล่อยกันไปถึงไหน ?
 ถึงแม้จะมีมาตรการและนโยบายในการช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจกแบบยั่งยืนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากรายงานฉบับที่ 4 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกในอนาคตยังคงเพิ่มขึ้น   ในปี 2004 กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Annex I Countries)  ของ UNFCCC  มีประชากรร้อยละ 22 ของทั้งโลก  มีค่า GDP ppp  ร้อยละ 57   แต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 46 ของประชากรทั้งโลก  หากไม่มีมาตรการใดควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(non-mitigation)  ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะปล่อยเพิ่มประมาณ 9.7 ถึง 36.7  กิกกะตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2030 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25-90   ซึ่งการประมาณในอนาคตนี้คาดว่า 2/3-3/4  จะปล่อยในกลุ่มประเทศประเทศกำลังพัฒนา (Non-Annex I Countries)  
ดังนั้นการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตจึงเป็นการโยนลูกบอลระหว่างสองค่ายคือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Annex I Countries) ที่ปล่อยออกมามากในอดีต และ กลุ่มประเทศประเทศกำลังพัฒนา (Non-Annex I Countries) ที่ถูกคาดว่าจะปล่อยออกมามากในอนาคต  
จากรายงานประเมินฉบับที่ 3 ของ IPCC เรารู้ว่าถึงแม้จะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แต่ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศนั้นต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะคงที่  ในรายงานฉบับที่ 4  เน้นที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องลดเพื่อทำให้ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศคงที่อยู่ในปริมาณที่ไม่ส่งผลกระทบต่อมวลมนุษย์  เช่น หากต้องการให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศคงที่อยู่ที่ 350-400 ppm (ปริมาณนี้จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มขึ้นจากยุคอุตสาหกรรม 2-2.4องศาเซลเซียส) ต้องลดการปล่อยให้ได้ร้อยละ 50 -85 ของการปล่อยในปี 2000  ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงสุดอยู่ที่ปี 2015 หลังจากนั้นต้องลดลง หากยังไม่สามารถลดลงได้และคงปล่อยให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในปีถัดไป คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศก็จะสูงขึ้น และแน่นอนอุณหภูมิก็จะสูงไปด้วย  
สรุปง่าย ๆ ว่ายิ่งช่วยกันควบคุมการปล่อยให้ลดลงได้เร็วขึ้นเท่าใด ก็จะช่วยรักษาโลกให้พ้นจากวิกฤตการณ์โลกร้อนได้เร็วเท่านั้น  ดังนั้น การลดก๊าซเรือนกระจกในช่วง 2-3 ทศวรรษหน้ามีความสำคัญอย่างมาก ในการมีโอกาสทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศคงที่     หากยังลดลงไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด อุณหภูมิคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  คงต้องเตรียมตัวรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกันให้ดี    
อย่าลืมว่าเป้าหมายนี้หนักหน่วงมากกว่าเป้าหมายในพิธีสารเกียวโตซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 ของปี 1990 !  
 

 
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ? เทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ?  การเจรจาในเวทีโลก นอกเหนือจากกลไกทางด้านการตลาดและเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว กลไกที่ใช้เทคโนโลยีนำ ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับปลอดภัยได้ดีกว่ากลไกด้านอื่น ๆ     เทคโนโลยีเหล่านี้บางประเภทมีการผลิตเป็นการค้าแล้ว แต่บางประเภทคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดในปี 2030  
จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันหลายประเภทเป็นที่คุ้นเคยใช้ในประเทศไทย   เทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากในช่วงทศวรรษหลังเป็นเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน เนื่องจากมีประเด็นของวิกฤตพลังงานเข้ามาร่วมด้วย   อย่างไรก็ตามในการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นควรให้ความสำคัญกับภาคกิจกรรมที่มีปริมาณการปล่อยสูง เช่น ภาคพลังงานเป็นต้น สำหรับในประเทศไทย นโยบายการใช้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานหากส่งเสริมอย่างจริงจังให้เป็นไปตามเป้าหมายแล้วจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานของประเทศในทศวรรษหน้าได้ประมาณ ร้อยละ 20-30
 

 
ก๊าซเรือนกระจก ลดแค่ไหนจึงจะพอ ? ลดได้แค่ไหน ?
 หากพิจารณาตัวเลขประมาณการปล่อยที่เพิ่มขึ้นและตัวเลขที่ต้องลดการปล่อยเพื่อรักษาปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ รวมทั้งจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีส่วนทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น  จะเห็นว่าเรามีทางเลือกไม่มากนัก  ดังนั้นคงไม่ใช่แค่ลดการปล่อยให้น้อยแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องลดเพื่อไม่ให้ปริมาณการปล่อยเพิ่มขึ้นด้วย  หรืออีกนัยหนึ่งไม่ใช่แค่ลดการปล่อย ไม่ใช่แค่หยุดการปล่อยแต่ต้องทำให้ค่าการปล่อยติดลบด้วย  
นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งการใช้กลไกด้านการตลาด กลไกด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวนำ  ที่จริงแล้ว การลดก๊าซเรือนกระจกมีทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี (non-technology) เช่น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการบริโภคที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งการนำวิถีชีวิตแบบพอเพียงมาใช้ก็เป็นหลักการที่สอดคล้องกับส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี    
ลองถามตัวเองว่า ในชีวิตประจำวันของเราเอง มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ  เริ่มตั้งแต่ ตื่นเช้า ทำอาหารด้วยก๊าซหุงต้มที่มาจากการกระบวนการกลั่นน้ำมัน  กินข้าวที่มาจาการทำนา ขับรถไปทำงานที่ต้องใช้น้ำมันดีเซล/เบนซิน  ทำงานในห้องที่ต้องใช้ไฟฟ้าเปิดเครื่องปรับอากาศ  ใช้ผลิตภัณฑ์จากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงาน ทำกับข้าวที่มีของเสียเพื่อนำไปฝังกลบ  กินสเต็กจากฟาร์มวัวฟาร์มสุกร  ยังไม่รวมกิจกรรมพิเศษ อื่น ๆ เช่น ประชุมในโรงแรมที่เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด  ขับรถไปเที่ยวทะเล   ฯลฯ
ก๊าซเรือนกระจกนั้นปล่อยที่ใดก็ตามในโลก ก็ส่งผลกระทบทั่วโลกเสมอกัน การลดในภาพรวมโดยกลไกระหว่างประเทศคงต้องปล่อยไปตามครรลอง  แต่ในฐานะเป็นประชากรคนหนึ่งในโลก หากต้องการเก็บรักษาโลกนี้ไว้ให้ลูกหลาน คงต้องช่วยกันเท่าที่จะทำได้โดยใช้ non-technology option ซึ่งได้ผลระยะยาว  
ในปี 2003 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยทั้งหมดของประเทศไทยเท่ากับ  344 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า  คิดเป็นการปล่อยต่อประชากรเท่ากับ 5.1 ตัน/คน/ปี   จากข้อมูลด้านล่าง หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาบริโภคให้คุ้มค่ามากขึ้น ใช้พลังงานให้น้อยลง ลองคำนวณดูเองก็แล้วกันว่าจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นร้อยละ 5 ของปี 1990 หรือร้อยละ 50-85 ของปี 2000   ได้หรือไม่ ?   แล้วค่อยย้อนถามว่าลดแค่นี้พอหรือยัง?  บางทีในรายงานประเมินฉบับที่ 5 ของ IPCC อาจมีคำตอบ
 

 

 กิจกรรมประจำวัน [4]
ปลูกต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 20 กิโลกรัม/ปี ตลอดอายุของต้นไม้
ตั้งอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 900 กิโลกรัม/ปี
recycle ขยะครึ่งหนึ่ง ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 1090 กิโลกรัม/ปี
กิจกรรมการเดินทาง[5]
ฉลาดซื้อ - ซื้อรถคันต่อไป ขอให้เป็นรถสีเขียว หมายถึงรถที่มีประสิทธิภาพ อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันต่ำ  
ฉลาดขับ -   ขับอย่างนิ่มนวล ประหยัดน้ำมันได้ถึงร้อยละ30 เมื่อขับทางไกลและ ร้อยละ 5 เมื่อขับในเมืองตรวจสอบยางอย่างสม่ำเสมอ อย่าบรรทุกของหนัก  
ฉลาดเดินทาง- จอดรถไว้ที่บ้านสัปดาห์ละ 2 วัน   ใช้รถไฟฟ้าแทน ช่วยลดได้ร้อยละ 20 จากการเดินทางใน 1 สัปดาห์  
เอกสารอ้างอิง
[1] IPCC, 2007: Summary for Policymakers. In: Climate Change 2007: Mitigation. Contribution of Working Group III to the Fourth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [B. Metz, O.R. Davidson, P.R. Bosch, R. Dave, L.A. Meyer (eds)], Cambridge University Press, Cambridge, United Kingdom and New York, NY, USA.
[2] กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  2548 การศึกษากำหนดกรอบและหลักเกณฑ์การดำเนินงานด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาด(CDM) สำหรับภาคพลังงานของประเทศ  ธันวาคม 2548  198 หน้า
[3] สิรินทรเทพ เต้าประยูร และคณะ  2549 ร่างรายงานฉบับสมบูรณ์เรื่อง โครงการทางเลือกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน:โอกาสของประเทศไทย เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  
[4] https: www.plant-a-tree-today.org/carbonlifecredit
[5]https://www.epa.gov/climatechange/wycd/road.html

 

 ข้อมูลจาก ฝ่ายงานสื่อสารสังคม (สกว.)



   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 79

อัพเดทล่าสุด