Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย


854 ผู้ชม


Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย 
Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย  รพีพร   สิทธิ
เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ
ฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ  สกว.
[email protected]
 

 
“Selamat petang” (สวัสดีตอนเย็น) เสียงกล่าวทักทายเป็นภาษามลายูดังแว่วมาทันทีที่พวกเราเดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จากสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมารอรับพวกเรา การเดินทางครั้งนี้เป็นการร่วมเดินทางไปกับโครงการสานเสวนานักวิชาการไทยและนักวิชาการมาเลเซีย โดยมี ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหัวหน้าโครงการ  
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ เพื่อหาความร่วมมือทางวิชาการทั้งในด้านการเรียนการสอน และการวิจัย  รวมทั้งเพื่อรับฟังแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทรัพยากรมนุษย์ในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้  ที่สะท้อนจากมุมมองของนักวิชาการมาเลเซีย และที่สำคัญคือ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ โดยมีพื้นฐานจากความสงบและสันติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และเห็นพ้องต้องกันต่อการใช้การสานเสวนา (Dialogue)  ในประชาคมนักวิชาการไทย และนักวิชาการมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-24 มกราคม 2551  
คณะที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้เป็นนักวิชาการที่มาจากหลายสถาบันการศึกษา อาทิ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และ รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ปาริชาติ สุวรรณบุปผา จากมหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.รัตติยา สาและ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ ผศ.ปิยะ กิจถาวร รวมทั้งคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศมาเลเซียจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะเดินทางจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
การเดินทางเพื่อร่วมประชุมสานเสวนาในครั้งนี้ พวกเราไม่ได้เดินทางด้วยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ สู่กรุงกัวลาลัมเปอร์โดยตรง แต่พวกเราเริ่มต้นการเดินทางที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยการนั่งรถตู้ไปที่ด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งอยู่.งจาก อ.หาดใหญ่ ประมาณ 60 กิโลเมตร จากด่านพรมแดนเราเดินทางไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร มีจุดหมายปลายทางที่สนามบินของเมืองอะลอร์ สตาร์ (Alor Setar) รัฐเคดาห์ (Kedah) ซึ่งเป็นรัฐในทางตอนเหนือของมาเลเซีย เพื่อขึ้นเครื่องบินภายในประเทศสู่กรุงกัวลาลัมปอร์ ใช้เวลาบินประมาณ 45 นาที (เวลาที่มาเลเซียเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง) จากสนามบินพวกเราเดินทางเข้าเมืองโดยรถตู้ ทิวทัศน์สองข้างทางเรียกความสนใจจากดิฉันได้มากพอสมควร เนื่องด้วยบรรยากาศค่อนข้างแปลกตา ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นภูเขา มีต้นไม้หนาแน่น สลับไปกับพื้นที่ที่กำลังก่อสร้างอยู่เป็นระยะ สังเกตว่าที่กำลังสร้างส่วนใหญ่จะเป็นตึกสูง ซึ่งน่าจะเป็นการขยายเขตที่อยู่อาศัยออกไปพื้นที่นอกเมืองเพิ่มมากขึ้น
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   เมื่อเข้าสู่เขตเมืองสภาพการจราจรของกรุงกัวลัมเปอร์ต่างคร่าคร่ำด้วยรถรามากมาย รถติดไม่แพ้กรุงเทพฯ เลยทีเดียว ใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ จากสนามบินพวกเราจึงเดินทางถึงที่พัก โรงแรมที่พวกเราพักอยู่บนถนน Jalan Raja Laut เย็นวันเดียวกันนี้พวกเราได้เดินทางไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารไทย ซึ่งในประเทศมาเลเซียจะเรียกร้านอาหารไทยว่า “ร้านต้มยำ” แรงงานในร้านส่วนใหญ่ทั้งกุ๊ก พนักงานเสิร์ฟ เป็นคนไทยมุสลิมที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจเป็นการเข้ามาทำงานแบบไม่ถูกต้องตามกฎหมายเท่าใดนัก เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการขอใบอนุญาตทำงาน (work permit) ของประเทศมาเลเซียค่อนข้างสูง มีความพยายามที่จะลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวลง เพราะมีแรงงานชาวไทยจำนวนกว่า 200,000 คน ที่ไปทำงานในร้านต้มยำ และสร้างรายได้ส่งกลับมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ร้านต้มยำที่พวกเรามารับประทานชื่อร้าน “Doll Tom Yam & Seafood” เจ้าของร้านชื่อคุณมุสตาฟา เป็นคนไทยที่มาทำกิจการร้านอาหารในมาเลเซียจนกระทั่งมีฐานะพอสมควร อาหารที่ทางร้านเสิร์ฟอร่อยมาก รสชาติไม่ผิดกับที่เมืองไทย โดยเฉพาะของหวานตบท้าย “องุ่นไร้เมล็ด” รสชาติดีมาก ดิฉันรับประทานจนเพลิน  
สิ่งหนึ่งที่พึงระวังในการเดินทางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ คือ “การใช้บริการรถ Taxi” เนื่องด้วยรถ Taxi ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นระบบที่มีมิเตอร์บ้าง ไม่มีมิเตอร์บ้าง ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการต้องตกลงราคากันให้ดีก่อน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะเหมือนกรณีพวกเรา ที่มีจุดหมายปลายทางในที่เดียวกัน แต่ราคา Taxi ของแต่ละคัน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถูกบ้าง แพงบ้าง แล้วแต่จะตกลงกันได้
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   เช้าวันรุ่งขึ้นภารกิจของพวกเราจึงเริ่มต้น จุดหมายปลายทางของพวกเราอยู่ที่สถาบันการศึกษา 2 แห่ง ได้แก่ Universiti Teknologi MARA (UiTM) และ Universiti Kebangsaan และหน่วยงานด้าน THINK TANK อีก 1 แห่ง ได้แก่ Institute of Strategic and International Studies (ISIS) เพื่อดำเนินการสานเสวนากับนักวิชาการของมาเลเซีย  
การดำเนินการสานเสวนานั้น ผู้อำนวยการ สกว. (ศ.ดร.ปิยะวัติ  บุญ-หลง) เป็นผู้เปิดประเด็นคำถามว่า “ในฐานะนักวิชาการชาวมาเลเซีย พวกท่านมองสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร และจะมีการร่วมมือกันทางวิชาการระหว่างนักวิชาการไทยและนักวิชาการมาเลเซียอย่างไร” รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแสดงความคิดเห็นในประเด็นอื่นๆ จากนักวิชาการทั้งสองประเทศ ในส่วนของแนวทางที่จะทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการไทยกับทั้ง 3 หน่วยงานนั้น ยังไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ที่น่าจะมีข้อสรุปชัดเจนที่สุดคือที่ Universiti Kebangsaan สรุปแนวทางการทำงานร่วมกันคือ การประมวลและวิเคราะห์งานวิจัยที่มีอยู่แล้วทั้งของไทยและมาเลเซีย จัดประชุมโต๊ะกลมเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางวิชาการจากข้อมูลที่มีเพื่อวางกรอบการทำงานทางวิชาการร่วมกัน  รวมถึงการทำโครงการวิจัยเพื่อสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่
การเดินทางไปประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ คณะของ สกว. นำโดยผู้อำนวยการ สกว. และรองผู้อำนวยการ สกว. (รศ.ดร.สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์) ได้เข้าพบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์  เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงาน และขอรับทราบประเด็นการวิจัยและข้อเสนอแนะที่ทางสถานเอกอัครราชทูตต้องการด้วย ซึ่งดิฉันไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ดังนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาอิสระของดิฉัน จะนั่งเล่น นอนเล่น อยู่โรงแรมเฉยๆ ก็ใช่ที่ ดิฉันจึงตัดสินใจไปเที่ยวชมกรุงกัวลาลัมเปอร์เสียหน่อย...
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   ก่อนที่จะเดินทางมาที่มาเลเซีย ดิฉันได้ลองหาข้อมูลมาแล้วว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวใดที่น่าสนใจบ้าง เป็นการเดินทางโดยอาศัยระบบขนส่งสาธารณะ คือ รถไฟฟ้า LRT (Light Railway Transit system) โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ตลาดกลาง หรือ Central Market ดิฉันเริ่มต้นด้วยการเดินไปขึ้นรถไฟฟ้าที่หน้าโรงแรม เป็นที่ตั้งของสถานี Sultan Ismail นั่งแค่ 2 สถานี ผ่านสถานี Bandaraya แล้วลงที่สถานี Masjid Jamek ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อเพื่อเปลี่ยนรถไฟฟ้าไปอีกสายหนึ่ง ขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟฟ้านั้นรถได้แล่นผ่านมัสยิดแห่งหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่และสวยงาม ดังนั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนรถดิฉันจึงตั้งใจจะเดินย้อนไปดูเสียหน่อยว่า มัสยิดที่เห็นนั้นคือมัสยิดอะไร และจะได้ไปถ่ายรูปบริเวณรอบๆ นั้นด้วย
ที่แห่งนั้นดิฉันไม่ผิดหวังเลย บริเวณที่ดิฉันเห็นว่ามีมัสยิดที่สวยงามนั้น เป็นบริเวณที่เรียกว่า “จตุรัสเมอร์เดก้า” รอบๆ บริเวณนี้มีสิ่งปลูกสร้างหลากหลาย เช่น อาคาร The Old City Hall ซึ่งเคยเป็นศาลาว่าการเมืองแห่งกัวลาลัมเปอร์ มีลักษณะเป็นอาคารยอดโดมและมีหอนาฬิกา สวยงามจนได้รับการขนานนามว่า “บิ๊กเบนแห่งมาเลเซีย” ด้วย เมื่อถ่ายรูปจนพอใจแล้ว ดิฉันจึงเดินย้อนกลับไปเพื่อขึ้นรถไฟฟ้าโดยมีจุดหมายอยู่ที่สถานี Pasar Seni ที่ตั้งของ Central Market หรือในภาษามลายูที่มีชื่อเดียวกันกับชื่อสถานีรถไฟฟ้า “Pasar Seni” นั่นเอง
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   Pasar Seni หรือ Pasar Budaya เคยเป็นตลาดสดขายผักผลไม้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1888 แต่ปัจจุบันถูกปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นกลายเป็นตลาดติดแอร์ มีทั้งหมดสองชั้น ประกอบด้วยร้านอาหาร ทั้งที่เป็นร้านอาหารพื้นเมืองและร้านอาหารทั่วไป และร้านขายของซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เป็นงานศิลปะ ของฝาก ของที่ระลึกจากมาเลเซีย เสื้อผ้า สินค้าที่วางขายทำให้ดิฉันตื่นตาตื่นใจเพราะล้วนแต่น่ารักน่าซื้อทั้งนั้น แต่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างสูงทีเดียว เดินเล่นจนเพลินได้ post card มาหลายแผ่น ได้เวลากลับแล้วดิฉันจึงนั่งรถไฟฟ้าเหมือนเดิมเพื่อกลับโรงแรม
การเดินทางครั้งนี้จบลงด้วยการไปเยือนหน่วยงานทางวิชาการของมาเลเซีย 3 แห่ง ที่ถึงแม้จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่านักวิชาการของทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างไรบ้างนั้น แต่ก็ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้มาพบปะและรู้จักกันเพื่อสานความร่วมมือกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า และเป็นโอกาสอันดีของดิฉันที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยในครั้งนี้ ได้เปิดโลกทัศน์ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างสองวัฒนธรรม แม้จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็ทำให้ดิฉันได้รับประสบการณ์ชีวิตที่มีค่าและยากจะลืมเลือน  
 

 

Trip นี้มีเรื่องเล่า : Dialogue ที่มาเลเซีย   
 

 

 



   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 79

อัพเดทล่าสุด