ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ring


715 ผู้ชม


ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ring
ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ringอุไรวรรณ อินต๊ะถา
นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 7
[email protected]                
ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาจารย์ที่ปรึกษา: ศ. ดร. ทวี ตันฆศิริ
[email protected]

ดิฉันเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 7 โดยมีศาสตราจารย์ ดร. ทวี ตันฆศิริ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และด้วยการสนับสนุนของ คปก. ทำให้ดิฉันมีโอกาสได้ออกไปเปิดหูเปิดตา สู่โลกกว้าง เดินทางไปทำวิจัยเกี่ยวกับเซรามิกในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เมืองเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ กับ Prof. Kenneth J. D. MacKenzie  
 
 

ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ring  ในการเดินทางครั้งนี้นับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของดิฉัน และต้องเดินทางคนเดียว จึงรู้สึกตื่นเต้นและเป็นกังวลมาก แต่ด้วยความช่วยเหลือและคำแนะนำของรุ่นพี่ที่เคยเดินทางไปทำวิจัยก่อนแล้ว ทำให้ดิฉันสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ  
การขอ VISA เข้าประเทศนิวซีแลนด์ สามารถทำได้โดยสะดวกและรวดเร็ว หากผู้ขอเตรียมหลักฐานครบถ้วน ในกรณีของดิฉันนั้น ดิฉันได้ขอ VISA แบบนักเรียน แต่ทางสถานทูตให้ VISA แบบ Work Permit แทน ทำให้ไม่สามารถซื้อตั๋วประเภทนักเรียนได้  
การเดินทางจากประเทศไทยไปนิวซีแลนด์ ดิฉันออกเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ถึงเมือง      เวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ โดยใช้เวลามากกว่า 16 ชั่วโมง และต้องเปลี่ยนเครื่องบินทั้งหมด 4 ครั้ง  
สิ่งแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่ดิฉันเมื่อถึงเมืองเวลลิงตันคือ ความใจดีและเป็นมิตรของชาวนิวซีแลนด์ โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายจากชนเผ่าพื้นเมือง (ชนเผ่าเมารี) ที่มีลักษณะรูปร่างสูงใหญ่ ผิวสีน้ำตาลเข้ม หน้าตาดูดุ แต่ใจดีมีน้ำใจ    นอกจากนี้ ความสวยงามของทิวทัศน์และภูมิประเทศ ก็สร้างความประทับใจให้ดิฉันได้ไม่แพ้กัน ในช่วงที่ดิฉันเดินทางไปนั้น กระแสภาพยนตร์ The Lord of the Ring ยังมีความนิยมสูง ทำให้บรรดาร้านค้า และตึกรามบ้านช่องมีการประดับโปสเตอร์ หรือรูปปั้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งเมือง ทั้งนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้วยที่มีการสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ การตกแต่งเมืองจึงเป็นสีสันอย่างหนึ่ง ซึ่งก็สร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก เพราะดิฉันเป็นบุคคลหนึ่งที่ประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้  
 
 

ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ring  สำหรับการทำวิจัยของดิฉันนั้น Prof. Kenneth ได้ให้โอกาสดิฉันเข้าไปทำวิจัยที่ School of Chemical and Physical Sciences, Victoria  University  of  Wellington และ Industrial Research Limited (IRL) ซึ่ง IRL มีลักษณะคล้ายศูนย์วิจัยขนาดใหญ่ที่รวบรวมนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์และเครื่องมือ อุปกรณ์หลายๆ ด้านอยู่ในสถานที่เดียวกันคล้ายกับศูนย์ MTEC ของประเทศเรา  
Victoria University of Wellington เป็นมหาวิทยาลัยที่สวยงาม ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาทำให้มองเห็นตัวเมืองเวลลิงตัน และทิวทัศน์ของท้องทะเลได้อย่างชัดเจน ส่วน IRL นั้น ตั้งอยู่นอกเมือง เนื่องจากดิฉันได้ที่พักในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัย การเดินทางไปสถาบันวิจัย ดิฉันจึงต้องเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนของเมืองเวลลิงตัน ซึ่งสามารถเดินทางได้หลายทาง ทั้งทางรถประจำทาง และทางรถไฟ แต่ทั้งสองวิธีนั้นยังไม่สามารถไปถึงสถาบันวิจัยโดยตรง  จะต้องเดินเท้าเข้าไปประมาณ 15-20 นาที ซึ่งดิฉันเลือกที่จะเดินทางโดยทางรถไฟเพราะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามทั้งสองข้างทาง การซื้อตั๋วรถไฟอาจซื้อแบบเป็นเดือนหรือครั้งเดียวก็ได้ แต่การซื้อตั๋วรายเดือนจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้มาก  
ก่อนที่ดิฉันจะเริ่มทำวิจัยทั้งที่มหาวิทยาลัย และที่สถาบันวิจัยนั้น ดิฉันจะต้องใช้เวลาประมาณสองอาทิตย์ในการเข้าอบรมกระบวนการรักษาความปลอดภัย (safety) ของการทำงานในห้องปฏิบัติการ รวมถึงการอบรมการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตของศูนย์วิจัย และการตรวจสุขภาพ แม้กระทั่งท่าทางในการนั่งทำงาน วิธีการยกสิ่งของที่ถูกต้องยังต้องได้รับคำแนะนำ และรับการสาธิตจากพยาบาลประจำศูนย์วิจัย ทั้งนี้ การดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในประเทศนิวซีแลนด์
 
 

ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ring  เนื่องจากดิฉันต้องทำงานวิจัยสองแห่ง ทั้งที่มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัย สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน คือการวางแผน และการบริหารเวลา ดิฉันจึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่าแต่ละวันในสัปดาห์จะต้องทำอะไรก่อนและหลังเพื่อที่จะได้วางแผนการเดินทางได้ถูกต้อง ด้วยความใจดี และเอาใจใส่ต่อนักศึกษาของ Prof. Kenneth ในช่วงสัปดาห์แรกๆ Prof. Kenneth จะขับรถพานักศึกษาไปรู้จักสถานที่ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในตัวเมืองเวลลิงตัน ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาลและสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น          
Prof. Kenneth เป็นอาจารย์ที่ดี คอยให้คำปรึกษาในทุกด้าน ทั้งในด้านการวิจัยและเรื่องส่วนตัว ทุกครั้งที่ทางมหาวิทยาลัยมีการบรรยายพิเศษ หรือการสอนที่อาจารย์เห็นว่ามีประโยชน์ต่อนักศึกษา อาจารย์จะคอยแจ้งข่าวและเคี่ยวเข็ญให้นักศึกษาเข้าไปร่วมฟังการบรรยาย หลังจากกลับจากการเรียนหรือการบรรยายก็จะมีการติดตามผล และอาจารย์จะพยายามอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่ดิฉันยังไม่เข้าใจ
 
 

ประสบการณ์จากการทำวิจัยในดินแดนแห่ง The Lord of the Ring  อีกสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อการทำวิจัย คือ ระบบการหาข้อมูล ระบบฐานข้อมูล สิ่งพิมพ์ และ  วารสารทางวิชาการ ดิฉันสามารถใช้ได้ทั้งที่มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และที่บ้านโดยผ่านรหัสผ่านที่ได้รับ ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่มีประโยชน์และทันสมัยมาก หากดิฉันต้องการวารสารใดที่ไม่มีทั้งในห้องสมุดหรือศูนย์วิจัยแล้ว ทางห้องสมุดก็จะมีบริการจัดหาให้ในราคาที่ถูกและรวดเร็ว แต่สิ่งที่มีราคาแพงในการใช้ห้องสมุด คือ ค่าบริการถ่ายเอกสาร ซึ่งมีราคาสูงกว่าบ้านเราถึง 10 เท่า ดังนั้นดิฉันจึงเลือกวิธีจดเสียส่วนใหญ่  ซึ่งเป็นการพัฒนาให้ดิฉันได้รู้จักการสรุปสาระสำคัญอีกด้วย
เมืองเวลลิงตัน เป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งอยู่บริเวณตอนปลายของเกาะเหนือ มีภูมิอากาศค่อนข้างหนาวเย็น โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว นอกจากจะมีอุณหภูมิต่ำถึง 5-6 องศาแล้ว ยังมีลมแรงมาก และมีฝนตกอยู่เป็นประจำ ดังนั้นผู้ที่คิดจะเดินทางไปอยู่เมืองนี้ควรต้องเตรียมเสื้อกันหนาวที่สามารถกันลมและกันฝนได้ในตัว หากจะใช้ร่มต้องไปออกกำลังแขนให้ดี เนื่องจากลมแรงมาก ร่มอาจจะปลิวได้ ในฤดูหนาวช่วงเวลากลางวันจะสั้นมาก พระอาทิตย์จะขึ้นในเวลาประมาณ 7 โมงเช้า และจะตกในเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ในช่วงฤดูหนาวดิฉันจึงต้องทำงานแข่งขันกับเวลาเป็นอย่างมาก หากกลับบ้านหลังจากพระอาทิตย์ตกดินแล้ว บรรดาร้านอาหารต่างๆ ก็จะทยอยปิดกัน  ดิฉันก็ต้องอาศัยฝากท้องไว้กับอาหารสำเร็จรูป หรือต้องทำอาหารเอง ในทางกลับกันในฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบาย มีอุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส พระอาทิตย์จะขึ้นประมาณตีห้า และตกประมาณ 3 ทุ่ม ทำให้มีช่วงเวลากลางวันยาวนานมากเป็นพิเศษ สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากประเทศไทยคือ วันอาทิตย์ในประเทศไทย ผู้คนส่วนใหญ่นิยมจะออกจากบ้านเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยตามร้านค้านอกบ้าน แต่ที่นิวซีแลนด์ผู้คนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาอยู่บ้านกับครอบครัว และบรรดาร้านค้ามักจะปิดหรือเปิดในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในวันอาทิตย์ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย คือ Sunday market ซึ่งบรรดาชาวไร่ และเจ้าของฟาร์มมักจะนำเอาสินค้าทางการเกษตรมาขายในราคาถูก และมีคุณภาพ ดิฉันจึงเป็นบุคคลหนึ่งที่มักจะไม่พลาดตลาดนี้
 
 

 การคมนาคมของเมืองเวลลิงตันมีทั้งทางรถประจำทาง รถไฟ และแท็กซี่ ซึ่งการคมนาคมสาธารณะของเมืองนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก โดยเฉพาะรถประจำทางซึ่งมีความตรงต่อเวลาสูง อีกทั้งยังมีการอำนวยความสะดวกต่อผู้พิการอย่างดี ส่วนด้านการรักษาความสะอาดและรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ก็มีประสิทธิภาพสูง ในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ เมื่อเราไปซื้อของ หากต้องให้ทางร้านใส่ถุงพลาสติกให้ก็จะมีการคิดราคาเพิ่ม ระบบการเก็บขยะจะดำเนินงานโดยเอกชน โดยที่ดิฉันจะต้องไปซื้อถุงขยะที่มีสีและสัญลักษณ์พิเศษ ซึ่งหากไม่ใช้ถุงเฉพาะนี้ทางรถเก็บขยะก็จะไม่จัดการเก็บขยะให้ ถุงขยะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นหากบ้านไหนมีขยะเยอะก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะตามไปด้วย แต่ในทางกลับกันหากขยะนั้นสามารถรีไซเคิลได้ ทางบริษัทเก็บขยะจะจัดการให้ฟรี แต่เราจะต้องทำการแยกให้เห็นอย่างเด่นชัด ดิฉันอยากให้เมืองใหญ่ๆ ในประเทศไทยที่มีปัญหาด้านการกำจัดขยะมีระบบจัดการขยะที่ดีอย่างนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของบุคคลในเมืองนั้นๆ ด้วย  
อีกช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานของเมืองนี้คือ ช่วงการแข่งขันกีฬารับบี้ ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของคนนิวซีแลนด์ และมีการย้ายสถานที่แข่งไปตามเมืองต่างๆ ทีมรับบี้ดังๆ ของนิวซีแลนด์มีสองทีม คือ ทีม All black และ Lion ซึ่งทั้งสองทีมมีสีดำ และสีแดงแทนสัญลักษณ์ ในวันแข่งขันชาวเมืองจะนิยมแต่งกายตามทีมที่เชียร์ และมีการเดินขบวนไปตามสถานที่ต่างๆ ในเมือง โดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน บางร้านที่สนับสนุนทีมใดเป็นพิเศษก็จะอนุญาตให้ชาวเมืองที่เชียร์ทีมเดียวกันเข้าไปดื่มกินในราคาพิเศษ อีกทั้งยังสามารถขึ้นรถไฟหรือรถประจำทางฟรีอีกด้วย แต่สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุด คือ ไม่ว่าทีมใดจะแพ้หรือชนะ ก็ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ยังคงให้กำลังใจกันในการแข่งนัดต่อไปอีกด้วย
 
 

 ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำวิจัยที่ประเทศนิวซีแลนด์ ดิฉันถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของชีวิต ดิฉันสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งด้านการทำงานวิจัย และการใช้ชีวิต หากมีบุคคลอื่นมาถามถึงอุปสรรคในการใช้ชีวิตที่ต่างประเทศคืออะไร ดิฉันสามารถตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่าคือ "ตัวเอง"  หากเราสามารถเอาชนะตัวเองและมีความอดทน   ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ก็จะดูเป็นเรื่องเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญดิฉันขอขอบพระคุณทุน คปก. ที่ให้โอกาสดิฉันได้ไปทำวิจัยที่ต่างประเทศ ขอบพระคุณอาจารย์ที่ปรึกษา ศ.ดร. ทวี ตันฆศิริ และ Prof. Kenneth J.D. MacKenzie รวมถึงครอบครัวของดิฉันที่คอยให้กำลังใจตลอดมา ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้นี้ไปใช้ในการวิจัย และการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ของตัวเองต่อไปในอนาคต หากดิฉันได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์นี้อีกครั้งดิฉันจะเล่าประสบการณ์การวิจัยในประเทศสิงคโปร์ซึ่งแตกต่างจากประเทศนิวซีแลนด์อย่างชัดเจน
 
 
 
   

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 78 หน้าที่ 73-75

อัพเดทล่าสุด