โลจิสติกส์ยางพาราอีสาน"


1,179 ผู้ชม


โลจิสติกส์ยางพาราอีสาน"
 

"โลจิสติกส์ยางพาราอีสาน"
รศ.ดร.ดวงพรรณ ศฤงคารินทร์
สำนักประสานงานชุดโครงการวิจัย โลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

          เมื่อต้นปี 2551 ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เขยิบฐานะสำนักประสานงาน ชุดโครงการวิจัยโลจิสติกส์ขึ้นเป็นศูนย์วิจัยโลจิสติกส์เชิงยุทธศาสตร์ ทางทีมวิจัยได้ตกลงจะจับประเด็นเรื่องระบบโลจิสติกส์ชาติที่มีแผนยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2549 ว่า ขณะนี้ดำเนินการถึงไหน อย่างไร อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรควรแก้ไข

          แต่อย่างที่เคยกล่าว โลจิสติกส์ไม่ได้ อิ่มในตัวเอง มันจะต้องวิ่งอยู่บนโซ่ อุปทาน ดังนั้นทีมวิจัยจึงต้องเลือกโซ่อุปทานขึ้นมา เพื่อเดินทางตามกิจกรรม โลจิสติกส์

          ยางพาราเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ถูกเลือก (นอกนั้นคือสับปะรดและสิ่งทอ) ทีมวิจัยได้ติดตามโซ่อุปทานยางพาราตั้งแต่สวนปลูกจนถึงส่งออก

โลจิสติกส์ยางพาราอีสาน"

          หนึ่งในประเด็นสำคัญที่พบคือปัญหาพื้นที่ปลูกใหม่ในภาคอีสาน ข้อมูลเบื้องต้น ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรแห่ปลูก แต่ผลผลิต ที่ออกยังไม่มีตลาดรองรับ และไม่รู้จะขายให้ใคร

          นอกจากนี้มีปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคาซึ่งเป็นในทุกๆ ระบบ ทางทีมวิจัยเดินทางไปจังหวัดหนองคายซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการปลูกยางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 6.02 แสนไร่ ผลผลิตรวมปี 2550 จำนวน 3.6 หมื่นตัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ มากกว่า 30% ของผลผลิตภาคอีสานทั้งหมด

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของผลผลิตทั้งประเทศคือ 3.2 ล้านตัน จากพื้นที่ทั้งหมดทั่วประเทศ 15 ล้านไร่ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 2.2 ล้านไร่ ผลผลิตรวมปี 2550 จำนวน 1.56 แสนตัน (ศูนย์วิจัยยางพารา, 2551)

          และมีการพยากรณ์ว่า ในปี 2554 ผลผลิตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะ สูงถึง 3.75 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท (ผลผลิตเฉลี่ย 250 ก.ก./ไร่/ปี ที่ราคายาง 70 บาท/ก.ก.) (ศูนย์วิจัยยางพารา, 2551) ซึ่งเป็นผลผลิตจากพื้นที่ในจังหวัดหนองคายประมาณ 9.3 หมื่นตัน

          จากปริมาณผลผลิตในปัจจุบันและค่าพยากรณ์ในอนาคตชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ปลูกใหม่ ทางทีมวิจัยจึงตามศึกษาปัญหาของพื้นที่ปลูกใหม่อย่างเจาะลึกถึงสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าปัญหาเบื้องลึกที่สอดคล้องกับสิ่งที่พบในเรื่องยาง การจัดการโซ่คุณค่าและการจัดการส่งออก ได้แก่

     1) ปัญหาเรื่องการจัดการโซ่คุณค่า ผลการสำรวจพื้นที่ปลูกใหม่พบว่า สถานการณ์ปัจจุบันผลผลิตจากการกรีดทั้งหมด เกษตรกรแปรรูป ขายเป็นยางแผ่นดิบประมาณ 20% ขายเป็นยางก้อนถ้วย (cup lump) ประมาณ 70% และขายเป็นน้ำยางประมาณ 10% (สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง, 2551)

          ลักษณะของเกษตรกรที่ขายน้ำยางส่วนมากเป็นเกษตรกรรายใหญ่มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 100-200 ไร่ สามารถขายตรงเข้าโรงงานอุตสาหกรรมได้ ส่วนเกษตรกรที่แปรรูปขายยางพาราแผ่นดิบส่วนมากเป็นเกษตรกรที่รวมกลุ่มกัน หรือเป็นสหกรณ์ ด้วยเหตุนี้ต้องมีต้นทุนการลงทุนเพื่อแปรรูป และขายสู่พ่อค้าคนกลางหรือโรงงานอุตสาหกรรม

          สัดส่วนมากที่สุดคือการขายยางก้อนถ้วยสู่พ่อค้าคนกลาง เนื่องจากขายได้ง่าย และมีผู้มารับถึงแหล่งผลิต ที่จะนำไปขายต่อทำเป็นยางแท่งในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

          ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโซ่คุณค่าที่เห็นได้ชัดคือ ราคาขายของยางก้อน ต่ำกว่าราคายางแผ่นมากและผลผลิตที่ได้น้อยกว่าการนำน้ำยางไปแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบ (ราคายางก้อนถ้วยประมาณ 35 บาท/ก.ก., ราคายางแผ่นดิบประมาณ 70 บาท /ก.ก. (สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 2551)) และราคารับซื้อมักถูกกำหนดจากพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้การทำยางก้อนถ้วย ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น ตลาดรับซื้อก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้

          สถานการณ์ที่ว่านี้จะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากโรงงานแปรรูปยางแท่งที่ใช้ยางก้อนถ้วยเป็นวัตถุดิบเริ่มเข้ามาตั้งมากขึ้นในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรขายเป็นยางก้อนถ้วยมากขึ้น และไม่สามารถเพิ่มมูลค่ากำไรที่ควรได้จากโซ่คุณค่าของยางพารา

          สาเหตุหลักที่เกษตรกรไม่พยายามเพิ่มมูลค่ายางในโซ่คุณค่านั้นคือ

          1)ไม่สามารถรวมกลุ่มเข้มแข็งในการลงทุนแปรรูปยางแผ่นดิบได้ เนื่องจากเงินลงทุน และต้องการความสะดวกสบายในการกรีดและขาย เนื่องจากยางก้อนถ้วยกรีดและขายง่ายกว่า

          2)เกษตรกรไม่คำนึงถึงกำไรที่ควรจะได้ เนื่องจากไม่ทราบราคายาง ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือแม้กระทั่งการยอมรับการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากการมีหนี้ล่วงหน้า

          3)กลุ่มสหกรณ์ไม่เข้มแข็ง มีการแทรกแซงราคาจากพ่อค้าคนกลางได้ง่าย
          จากสาเหตุและปัญหาที่พบจากการ วิเคราะห์โซ่คุณค่ายางพาราภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นพบว่า เป็นปัญหาการขาดความรู้ในการขาย และตลาดยุติธรรมในการรับซื้อ และความสามารถของเกษตรกรในการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มมูลค่าในโซ่อุปทาน กล่าวคือ คำถามที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรตลอดมาคือ "ปลูกแล้วขายที่ไหน" ดังนั้น หนทางที่ขายง่ายที่สุด คือ มีพ่อค้ามารับซื้อล่วงหน้า ส่งผลให้พ่อค้าสามารถกดราคาได้ ผลที่ตามมาคือเกษตรกรนิยมขายยางก้อนถ้วย และไม่พยายามที่จะรวมกลุ่มแปรรูป เนื่องจากคำนึงถึงความสะดวกสบายในการกรีดและการขาย ประกอบกับบางรายมีหนี้ล่วงหน้าทำให้พ่อค้าคนกลางมีอำนาจต่อรองซื้อได้ในราคาต่ำ

          อุปสรรคอีกประการในการรวมกลุ่มแปรรูปคือ เงินลงทุนในการซื้อเครื่องจักรการแปรรูปยางแผ่น ซึ่งสมาชิกที่จะรวมกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือหรือหากตั้งกลุ่มสำเร็จแล้ว อาจมีการแทรกแซงราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้กลุ่มแตกได้ง่ายหากไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้น หนทางที่จะเพิ่มมูลค่ายางพาราโดยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบันนี้มีความยากลำบากมาก

          แนวทางแก้ไขเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาเพื่อรองรับพื้นที่ปลูกใหม่ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตคือ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความสามารถที่จะ move up the value chain จากขั้นต้นสู่ขั้นสูงขึ้นได้ กล่าวคือ

          1)ขั้นต้นสามารถแปรรูปขายยางแผ่นดิบเพื่อเพิ่มมูลค่าจากยางก้อนถ้วย

          2)ขั้นที่สองคือสามารถแปรรูปเป็นยางแผ่นดิบและสามารถสร้างตลาดได้เองหรือแม้กระทั่งสามารถส่งออกได้เอง

          3)ขั้นที่สามคือสามารถแปรรูปเป็น compound และขายตรงสู่โรงงานอุตสาหกรรมหรือส่งออกได้เอง

          4)ขั้นที่สี่คือสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จเบื้องต้นง่ายๆ ได้

          ปัจจัย (enabling factors) สำหรับการเพิ่มมูลค่าขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 นั้นคือการรวมกลุ่มเข้มแข็งของเกษตรกรซึ่งจะ สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแนวความคิดของเกษตรกรให้เชื่อในการแปรรูปเพิ่มมูลค่ามากกว่าการขายยางก้อนถ้วย และการให้ข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกรเพื่อรับทราบราคาขายที่ควรจะเป็น

          สำหรับแนวทางแก้ไขนี้จะทำการ ศึกษาเบื้องลึกถึงแนวทางการรวม กลุ่มเข้มแข็งจากกรณีศึกษาที่ประสบ ความสำเร็จทางภาคใต้แล้วเป็นแม่แบบ และถ่ายทอดสู่วิธีปฏิบัติต่อไป

          ปัจจัยสำหรับการเพิ่มมูลค่าขั้นที่ 3 นั้นคือสูตร compound (เป็นผลิตภัณฑ์ semi-finished product ที่สามารถเติมสารตามสูตรทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ได้) เบื้องต้นที่เหมาะสมกับความสามารถของเกษตรกร และความต้องการของโรงงาน หรือตลาดส่งออก

          แนวทางนี้จะต้องทำการวิเคราะห์ความต้องการของโรงงานพร้อมความคุ้มทุนในการรับซื้อจากเกษตรกรมากกว่าการผลิต compound เองในโรงงาน (Make or Buy decision ของผู้ผลิต) ประกอบกับสูตรและชนิดความเป็นไปได้ของ compound ที่เหมาะสมกับความสามารถและการลงทุนของกลุ่มเกษตรกร รวมถึงการร่วมรับซื้อรับขายของกลุ่มเกษตรกร การบริหาร order ลูกค้า การเข้าถึงตลาด และรูปแบบการรวมกลุ่มของสหกรณ์ มิใช่เพียงกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะวิเคราะห์ในบทต่อไป

          ปัจจัยสำหรับการเพิ่มมูลค่าถึงขั้นที่ 4 นั้น ทีมวิจัยยังเห็นว่าเป็นขั้นที่สูงเกินไปสำหรับกลุ่มเกษตรกรเนื่องจากการหาตลาดผลิตภัณฑ์สำเร็จควรจะเป็นโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมมากกว่า จึงจะไม่นำมาพิจารณาในการศึกษานี้

     2) ปัญหาการจัดการการส่งออกในอนาคต

          จากตัวเลขผลผลิตที่เพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกใหม่ ปัญหาที่ยังไม่มีนโยบายรองรับที่จะตามมาคือ ช่องทางการส่งออกในอนาคตของผลผลิตในภูมิภาคนี้สถานการณ์ในปัจจุบัน คือการไหลของยางก้อนถ้วยประมาณ 40% ของผลผลิตทั้งหมดสู่โรงงานแปรรูปในภาคตะวันออกและส่งออกทางท่าเรือแหลมฉบัง

          ทิศทางในอนาคต คือการเพิ่มขึ้นของโรงงานแปรรูปในภูมิภาคนี้เอง หรือหากปัญหาการสร้างมูลค่าเพิ่มของเกษตรกรสามารถแก้ได้สำเร็จ ช่องทางการส่งออก ในภูมิภาคนี้คงจะต้องมีการปรึกษาและ กำหนดขึ้น

          จากข้อมูลเบื้องต้นทีมวิจัยพบว่าเส้นทางที่เป็นไปได้ในภูมิภาคนี้มี 4 เส้นทางคือ

          1)จากด่านศุลกากร อ.บึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ลงเรือแพที่ด่านบึงกาฬข้ามไปสู่ปากซัน แขวงบอลิคำไซ ของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และมุ่งสู่ท่าเรือตอนใต้ของเมืองวินห์ประเทศเวียดนาม หรือมุ่งสู่ทางเหนือสู่ฮานอย และเข้าสู่ประเทศจีนทางรถได้

          2)จากด่านท่าแขกที่ จังหวัดนครพนมลงเรือแพสู่แขวงคำม่วนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเข้าสู่ประเทศเวียดนามได้.

          3)จาก อ.เมือง จังหวัดหนองคายข้ามสะพานมิตรภาพสู่เวียงจันทน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเข้าสู่จีนตอนใต้ได้

          4)เข้าสู่เส้นทางหมายเลข 9 ข้ามสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 จังหวัดมุกดาหารสู่ เส้นทางสะหวันนะเขต และเข้าสู่ท่าเรือดานังประเทศเวียดนามได้
          แต่ทั้ง 4 เส้นทางนี้ ต้องคำนึงถึงแหล่งปลูก แหล่งผลิต (origin10) และจุดหมายปลายทาง (destination) และชนิดของ อุปสงค์ของตลาดที่จะขับการไหลของสินค้าในโซ่คุณค่า โดยพิจารณาถึงต้นทุน โลจิสติกส์ ระยะเวลาที่ใช้และเหตุการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น (ปริมาณผลผลิต) ซึ่งจะพิจารณาต่อไป
          การศึกษาเส้นทางโลจิสติกส์เพื่อขนส่งยางออกนั้น เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นทางทีมวิจัยยังไม่มีข้อมูลโดยละเอียดในประเด็นนี้ ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปถึงการรวมกลุ่มแปรรูปเพื่อการส่งออก โดยต้องคำนึงถึงผลผลิตที่เพียงพอต่อการส่งขายผ่านเส้นทางต่างๆ และปริมาณที่ส่งออกในอนาคตเป็นตัวแปรพิจารณาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแต่ละเส้นทางรองรับการไหลของสินค้า
          การแก้ปัญหายางพาราคงต้องแก้ทั้งระบบตั้งแต่การปลูก-การกรีด-แปรรูป-ขาย-ส่งออก โดยพิจารณาตั้งแต่ข้อมูล องค์ความรู้ที่ชาวสวนยางจะได้รับจนถึงเทคโนโลยีการแปรรูป แล้วจึงพิจารณาถึงโลจิสติกส์ส่งออกเป็นด่านสุดท้าย
          และคงต้องคำนึงถึงการแบ่งผลกำไรในสายโซ่คุณค่านี้ (profit shaving) เพื่อคนส่วนมากใน supply chain ที่จะได้ ประโยชน์สูงสุดมิใช่เป็นการทำกำไรให้กับคนบางกลุ่ม หรือก้มหน้าก้มตารับจ้าง กรีดยาง รับจ้างผลิตตลอดไปเกษตรกรเองคงจะต้องทำตัวให้เข้มแข็ง หรือรวมตัวกันให้แข็งแรง มิฉะนั้นอำนาจต่อรองคงจะเป็นอย่างนี้เรื่อยไป ...
 

   

 แหล่งที่มา :  ประชาชาติธุรกิจ 5-7 พฤษภาคม 2551

อัพเดทล่าสุด