วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงท้องถิ่นด้วยธรรมชาติ-วัฒนธรรม


734 ผู้ชม


วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงท้องถิ่นด้วยธรรมชาติ-วัฒนธรรม
 โดย ธวัชชัย เพ็งพินิจ และอคจร แม๊ะบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หนองคาย

          แม่ฮ่องสอน ดินแดนแห่งเมืองเหนือที่มีประเทศพม่าเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง ได้ชื่อว่าเป็น "เมืองสามหมอก" เนื่องจากเป็นเมืองในหุบเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนทอดขนานไปกับทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแดนลาว จึงทำให้ปกคลุมด้วยหมอกตลอดทั้งปี มีทิวทัศน์สวยงามตามธรรมชาติและป่าไม้นานาพันธุ์

          กระทั่งมีคำกล่าวว่า แม่ฮ่องสอนเปรียบเสมือน "สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย"

          แม่ฮ่องสอนมีด้วยกันทั้งหมด 7 อำเภอ 44 ตำบล 415 หมู่บ้าน ประชากรมีความหลากหลายด้านชนเผ่า แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงท้องถิ่นด้วยธรรมชาติ-วัฒนธรรม
ภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว

            กลุ่มแรก คือ คนไทยเชื้อสายไทยใหญ่ หรือคนไต เป็นกลุ่มที่อยู่พื้นราบ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัด ชาวไทยใหญ่เรียกตัวเองว่า "ไตโหลง" หรือ "ไต" พม่าเรียกว่า "ฉาน" หรือ "ชาน" และกลุ่มที่สอง ชาวไทยภูเขา ประกอบด้วยชนเผ่า เช่น กะเหรี่ยง (แบ่งเป็นกะเหรี่ยงโปว์และกระเหรี่ยงสะกอ) มูเซอ (แบ่งเป็นมูเซอแดงและมูเซอดำ) ลีซอ ลัวะ แม้ว หรือม้ง (แบ่งเป็นม้งขาวและม้งลายตามสีกระโปรงของผู้หญิงชาวม้ง) ปาดองหรือกะเหรี่ยงคอยาว และจีนฮ่อ

          แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งป่าไม้ น้ำตก ถ้ำ มีแหล่งแร่ที่สำคัญ เช่น แร่ฟลูออไรต์หรือฟลูออสปาร์ แร่แบไรต์ แร่เฟลด์สปาร์ และหินอุตสาหกรรม ส่วนผู้คนในพื้นที่ก็มีวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสืบทอดมาอย่างยาวนาน

          ความพร้อมทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมนี้เอง ทำให้ "วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน" นำเรื่องธรรมชาติและวัฒนธรรมของจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาเป็นจุดเด่นในการเรียนการสอน และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวิทยาลัยฯ กับชาวบ้านในชุมชน
          
          
เพื่อให้สมาชิกของชุมชนได้พัฒนาตนเอง และเพิ่มศักยภาพของชุมชนในด้านต่างๆ พร้อมทั้งปลูกฝังให้อนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนไปด้วยในคราวเดียวกัน

          วิทยาลัยชุมชน (วชช.) เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญา ทำหน้าที่ให้บริการการศึกษาระดับสูง (Higher Education) และจัดอบรมระยะสั้นแก่ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมสนับสุนนการพัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของชุมชน เปิดให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามารับการศึกษา

          สำหรับวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนนั้น จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 โดยกระทรวงศึกษาธิการออกประกาศกระทรวงให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2545 มีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นแม่ข่าย มีศูนย์ประสานงาน 5 ศูนย์ ประกอบด้วย อ.ปางมะผ้า อ.ปาย อ.ขุนยวม อ.แม่ลาน้อย และ อ.แม่สะเรียง

วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงท้องถิ่นด้วยธรรมชาติ-วัฒนธรรม

            ดร.จำรูญ คำนวญตา ประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน พูดถึงรายละเอียดของวิทยาลัยว่า ไม่ได้ให้อาจารย์เป็นฝ่ายสอนประชาชนในพื้นที่อย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกับชุมชน หรือไม่ก็ไปเติมเต็มในส่วนที่ทางพื้นที่ยังขาด โดยเฉพาะความรู้ด้านวิชาการ

          อาจารย์จำรูญยังบอกด้วยว่า วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนจะมุ่งเน้นไปที่ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ และการท่องเที่ยวที่มีภายในชุมชน โดยทุกวันนี้วิทยาลัยได้ร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาองค์ความรู้ของชนเผ่าต่างๆ แล้วนำมาสร้างฐานข้อมูลทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรม


          "จุดนี้ทางวิทยาลัยทำได้ครอบคลุมมาก เพราะเรามีศูนย์ประสานงานอยู่ทั่วทั้งจังหวัด เพราะนอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว เราจำเป็นต้องวิจัยชนเผ่าแต่ละชนเผ่าในแต่ละพื้นที่ เพื่อเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากชนเผ่าต่างๆ มาใช้เป็นฐานในการพัฒนาด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน" อาจารย์จำรูญบอก

          ด้าน ถนัด สินอนันต์วณิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านธุรกิจการค้า เสริมว่า แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ มีองค์ความรู้เยอะมาก มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 30,000 ปี มีเมล็ดข้าวอายุราว 10,000 ปี มีภาษาไทยใหญ่ที่ไม่เหมือนภาษาล้านนาในจังหวัดเชียงใหม่ มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์

          "ที่ผ่านมามีการทำวิจัยเรื่องชนเผ่าทุกชนเผ่าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ยังไม่มีใครรวบรวมเป็นมรดก วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนในฐานะสถาบันทางปัญญาจึงคิดว่าควรเป็นตัวประสานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดีไหม เพราะชุมชนต้องการให้วิทยาลัยเข้าไปช่วยเหลือทางวิชาการในเรื่องการสร้างและรวบรวมองค์ความรู้ ช่วยด้านการศึกษา ช่วยด้านหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาสู่เรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลเมือง หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ถนัดเล่า

ชิงช้าชุมชนจีนฮ่อ
บ้านสันติชล อ.ปาย

           ส่วน คมสัน คูสินทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน พูดถึงประเด็นความร่วมมือกับชุมชนให้เห็นภาพว่า ชาวบ้านที่ อ.ปางมะผ้า ปลูกพืชออกจำหน่ายขายได้ราคาระดับหนึ่งแต่คุณภาพยังถือว่าน้อย บางครั้งเก็บมา 100 กิโลกรัม แต่มีเพียง 30 กิโลกรัมที่ได้มาตรฐาน ทางวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนจึงไปประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือและพัฒนาการปลูกพืช

         หรือเกษตรอินทรีย์ที่ อ.ปาย ก็เน้นให้ชาวบ้านที่เป็นชาวเขาเผ่าลีซอปลูกพืชปลอดสารเคมี โดยปลูกพืชที่ทำรายได้หลักให้ คือ หอมแดง กระเทียม และแครอต จากนั้นก็ช่วยมองหาช่องทางการตลาดให้

         "จังหวัดแม่ฮ่องสอนแตกต่างจากพื้นที่อื่น แนวคิดการพัฒนาด้านชนเผ่า ทรัพยากรธรรมชาติ และการท่องเที่ยว ที่วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนดำเนินการอยู่เป็นการจับเอาจุดเด่นมาใช้อย่างชาญฉลาด

          "แต่แนวคิดทั้ง 3 ต้องเคลื่อนไปพร้อมกันและเกื้อหนุนกันคล้ายใยแมงมุมโยงกันอยู่ 3 ใย ซึ่งแต่ละใยต้องเชื่อมด้วยจิตสำนึกที่ดีต่อบ้านเกิด ไม่อย่างนั้นความเฉพาะที่เป็นเสน่ห์ของแม่ฮ่องสอนจะถูกทำลายลงด้วยตัวของตัวเอง และฐานล่างสุดของการเคลื่อนต้องยืนอยู่บน 5 ภูมิ คือ ภูมิเมือง ภูมิธรรม ภูมิสังคม ภูมิปัญญา และภูมิสิ่งแวดล้อม ในรูปขององค์ความรู้และฐานข้อมูล" เป็นความเห็นของ ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง ที่มีต่อการดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

          ชุมชนจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังและความสามัคคีของหลายภาคส่วนและที่สำคัญ คือ...ประชาชนในพื้นที่นั่นเอง

   

 แหล่งที่มา :  มติชน วันที่ 11 มีนาคม 2551

อัพเดทล่าสุด