อุ้มบุญแมว (เพื่อเสือ)


794 ผู้ชม


อุ้มบุญแมว (เพื่อเสือ)
 เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ กิจจา อภิชนรจเรข

          หลอดไฟวัตต์ต่ำส่องแสงสลัวๆ จากผนังข้างห้อง ภายในห้องทดลองของภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งกำลังคืบคลานอย่างแผ่วเบาออกมาจากกรง สายตาเจ้าเล่ห์น้อยๆ ของมันมองไปรอบๆ เมื่อไม่เห็นใครก็ค่อยๆ สืบเท้าเงียบกริบ จุดมุ่งหมายของมันจะเป็นสิ่งใดกันนะในห้องทดลองแห่งนี้ ?

          เจ้าสิ่งมีชีวิตเหยียบย่างอย่างระแวดระวัง อันที่จริงมันก็แค่สิ่งมีชีวิตสิ่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ (น่า) มีอำนาจรบกวนจิตใจของเราได้ แต่เพราะสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในห้องทดลอง นั่นคือโครงการย้ายฝากตัวอ่อนแมวด้วยกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (In Vitro Fertilization-IVF) ที่ทำให้พวกมันแตกต่างจากแมวอื่น และทำให้พวกมันดูราวกับจะมีอำนาจอย่างประหลาด

          สิ่งมีชีวิตที่ว่า คือ ลูกแมว 2 ตัว จากกระบวนการดังกล่าว เจ้าแมวทั้งสองเหมือนกำลังมองหาอะไรบางอย่าง นั่น! มันหันมาเห็นเราแล้ว !!!

อุ้มบุญแมว (เพื่อเสือ)

ลูกแมวไอวีเอฟ

          เงาร่างแปลกๆ ทาบลงบนผนังห้องที่เบื้องหลัง บางส่วนทาบทับลงตามช่องชั้นและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ยิ่งทำให้เงาของเจ้าแมวที่ปรากฏกายขึ้นทางโน้นทางนี้ยามเมื่อย่างกรายไปมาบนชั้นทดลอง ยิ่งเหมือนภาพไม่จริง แต่หลายสิ่งหลายอย่างบนโลกใบนี้ก็ล้วนเกิดขึ้นครั้งแรกด้วยความไม่น่าเป็นไปได้ ลูกแมวที่เกิดจากการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือลูกแมวไอวีเอฟ ก็เช่นเดียวกัน
          
          
นั่นแน่...อยู่นี่เอง ตามหาอยู่ตั้งนานแล้วเสียงสดใสของเจ้าของผลงาน สพญ.อัมพิกา ทองภักดี คุณหมอยิ้มกว้างพร้อมกับตะครุบเจ้าแมวน้อยทั้งสอง เบาหวิวและ หนักอึ้งเจ้าลูกแมวโดนจับได้ก็แผดเสียงก้อง... ม่าวๆๆๆๆๆ เสียงของมันแหบลึก และดังพิลึกพิลั่นผิดลูกแมววัยเดียวกัน ลูกแมวไอวีเอฟจะมีอะไรแตกต่างไปจากลูกแมวทั่วไปหรือเปล่านะ

          เหมือนแมวบ้านทั่วไปทุกอย่างค่ะ ไม่มีอะไรที่ผิดปกติเลยคุณหมอตอบ ใบหน้ายิ้มแย้มหยอกล้อลูกแมวเล่น เจ้าแมวทั้งสองเป็นผลงานการวิจัยของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณหมออัม นิสิตโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาการพัฒนาตัวอ่อน และการย้ายฝากตัวอ่อนของแมวป่าหัวแบนในอนาคต ความสำเร็จในเบื้องต้นถือเป็นการผลิตลูกแมวที่ปฏิสนธินอกร่างกายได้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เป็นต้นแบบงานอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ด้วย

เบาหวิวและหนักอึ้ง

          แม่พวกมันชื่อตุ๊กตา ตุ๊กตาเป็น 1 ใน 7 ของแม่แมวตัวรับของโครงการ หนักอึ้งฤทธิ์มากกว่าเบาหวิว เล็บยาวแหลมเฟี้ยวที่ดูแล้วสงสารคนอุ้ม ทำการตะเกียกตะกายป่ายปีนไม่มีหยุด ไอวีเอฟเป็นการเลียนแบบการปฏิสนธิในธรรมชาติ ความผิดปกติของเพศผู้เพศเมีย ทำให้ต้องมีการมาเจอกันนอกร่างกาย เป้าหมายอยู่ที่สัตว์ป่า อันดับแรกคือ แมวป่าหัวแบน ซึ่งขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้าน หากแต่การทดลองย้ายฝากในแมวบ้านก่อน


          
นั่นเป็นเพราะเดิมพันชีวิตของแมวป่าหัวแบน เป็นเดิมพันที่ราคาแพงลิบลิ่ว องค์การสวนสัตว์ไม่ยอมแน่หากจะให้ทดลองในแมวป่าหัวแบนโดยตรง แมวชนิดนี้เหลือในธรรมชาติน้อยมาก หรือในสวนสัตว์ก็มีเพียง 5 ตัวทั่วประเทศ ถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อันดับ 1 ของไทย

          การทดลองในแมวบ้านจะใช้เป็นโมเดลเพื่อพัฒนาสู่สัตว์สายพันธุ์เดียวกัน ได้แก่ แมวป่าและเสือทั้ง 9 สายพันธุ์ในไทย

          ปัจจุบันเราเก็บน้ำเชื้อของเสือและแมวป่า 9 สายพันธุ์ในประเทศไทยไว้ครบหมดแล้ว โดยสต๊อกไว้ในโฟรเซนซู (Frozen Zoo) รวมทั้งเก็บเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ (Cell Banking) เป้าหมายต่อไปคือการศึกษาวิจัยกระบวนการของตัวอ่อน การโคลนนิง การนำน้ำเชื้อเพื่อการย้ายฝากในสัตว์สายพันธุ์เดียวกันและต่างสายพันธุ์ศ.นสพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ รองคณบดีและที่ปรึกษาโครงการ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตเราอาจได้เห็นแมวบ้านอุ้มบุญให้แมวป่า รวมทั้งการพัฒนาย้ายฝากตัวอ่อนในแมวป่าหรือเสือโดยตรงก็ได้

ทฤษฎีวิวัฒนาการ (ใหม่)

          เมื่อ ชาลส์ ดาร์วิน ตัดสินใจที่จะเชื่อกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เขานำเสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ (On the Origin of the Species) ต่อโลก สัตว์และพืชที่ปรับตัวได้เท่านั้นคือผู้อยู่รอด นั่นคือเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน แต่โลกวันนี้ธรรมชาติลดบทบาท มนุษย์มีเทคโนโลยีที่เพิ่มประชากรสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ได้ มนุษย์กลายเป็นผู้เลือก ว่า สัตว์สิ่งมีชีวิตใดจะเป็นผู้รอด อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เล่นบทพระเจ้า



           สพญ.ดารกา ทองไทยนันท์ สัตวแพทย์ 5 สวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า คนที่ทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่าต้องคิดเผื่ออนาคต จริงอยู่ที่มนุษย์อาจหาญเล่นบทพระเจ้า แต่ในมุมมองคนทำงานแล้ว หากผลลัพธ์ที่ได้คือการยืดอายุการดำรงอยู่ของเผ่าพงศ์ สัตว์ป่ามีชีวิตต่อไปได้แม้เพียงสายพันธุ์หนึ่งสายพันธุ์ใด หรือแม้แค่เพียงตัวหนึ่งตัวใด การเล่นบทพระเจ้าก็คุ้ม

         สพญ.ดารกา หรือหมอดาว สัตวแพทย์หญิงคนแรกขององค์การสวนสัตว์ฯ ผู้คลุกคลีตีโมงกับสัตว์สายพันธุ์เสือมานาน เล่าอีกว่า เสือในไทยลดลงอย่างน่าใจหาย เรียงตามขนาดตัวคือ 1.เสือโคร่งไทย พบได้บ้างแถบผืนป่าตะวันตก เดิมมีการล่าเอาหนัง เขี้ยว และหน้าผากไปขาย ปัจจุบันมีชาวต่างชาติมาทำงานวิจัย สำรวจประชากรอย่างต่อเนื่อง 2.เสือดาว ไม่ค่อยมีรายงานว่าพบในธรรมชาติ 3.เสือลายเมฆ ลายเหมือนเมฆ หางยาว ปีนต้นไม้เก่งมาก ปัจจุบันใกล้สูญพันธุ์แล้ว เนื่องจากนิยมล่าเอาหนังไปขาย ตัวผู้มักทำร้ายตัวเมียถึงตาย สูญพันธุ์ง่าย สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีงานวิจัยร่วมกับสถาบันสมิธโซเนี่ยน อเมริกา ทำโครงการเพาะขยายพันธุ์ ประสบความสำเร็จและน่าสนใจมาก 4.เสือไฟ ยังพบในธรรมชาติ แต่น้อยมาก มักพบทางใต้ สวนสัตว์สงขลามีโครงการขยายพันธุ์อยู่ 5.เสือปลา ชอบจับปลา พบทางใต้ เหลือน้อยแล้ว 6.เสือกระต่าย หรือแมวป่า พบได้บ้างแต่น้อยมากๆ ในสวนสัตว์ยังมีอยู่บ้าง 7.แมวลายหินอ่อน ลายสวยเหมือนหินอ่อน ขนาดเล็ก ตายง่าย ในสวนสัตว์ไม่พบแล้ว พบตามชายแดนเขมร หายากมากๆ 8.แมวดาว พบได้บ้างในธรรมชาติ และ 9.แมวป่าหัวแบน เดิมคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เมื่อ 2-3 ปีก่อนจับได้ในบ้านประชาชน (ลักลอบ)

          นี่คือสถานการณ์เสือในไทย ปัญหาการสูญพันธุ์หลักๆ มาจากการล่าของมนุษย์ ทั้งเพื่อการบริโภค การเลี้ยงไว้เสริมบารมี เลี้ยงไว้ดูเล่น และจากการทำลายป่า จำนวนเสือลดลงเรื่อยๆหมอดาวเล่า หมอสัตว์ป่าทั่วประเทศไทยทำงานกันเป็นกลุ่ม มีเครือข่ายช่วยเหลือกัน สนใจเข้าไปดูใน zoovetnetwork.com

          พระเจ้า ธรรมชาติ หรือมนุษย์ ไม่ว่าใครจะเล่นบทผู้เลือก โอกาสของแมวป่าหัวแบนวันนี้ก็น่าจะมีไม่น้อย เพราะล่าสุดไม่เพียงแค่ตุ๊กตา แต่เหลือง-แม่แมวตัวรับอีกตัวหนึ่งก็เพิ่งคลอดลูกแมวไอวีเอฟอีก 6 ตัว เบาหวิวกับหนักอึ้งมีน้องแล้วนะ ไม่แน่ว่าต่อไปน้องของหนักอึ้งกับเบาหวิวจะเป็นลูกแมวป่าหัวแบนก็ได้

   

 แหล่งที่มา :  โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 มีนาคม 2551

อัพเดทล่าสุด