ไทยเวียดนามความเหมือนและความต่าง


3,150 ผู้ชม


ไทยเวียดนามความเหมือนและความต่าง
รายละเอียด ไทยเวียดนามความเหมือนและความต่าง


รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ
รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

  "สกว.ชวนคิด : ไทยเวียดนามความเหมือนและความต่าง"
 รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ
 รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 [email protected]

          คนไทยรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเวียดนามน้อยมาก และส่วนใหญ่เราจะได้ยินได้ฟังจากข่าวคราวต่างๆ ที่ถูกหยิบยื่นให้ในสมัยสงครามเวียดนาม ทำให้ภาพของความน่ากลัวและไม่น่าคบติดตรึงอยู่ในใจของคนไทยจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้ว เวียดนามน่ากลัวขนาดนั้นจริงหรือเปล่า

          ถ้าจะว่าไปแล้วเวียดนามกับไทยมีความคล้ายคลึงกันมากที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของเรา เวียดนามมีรูปร่างประเทศเหมือนตัว S ทอดยาวตามแนวชายฝั่งทะเล โดยรวมแล้วความยาวของประเทศก็พอๆ กับไทย ทางตอนเหนือจึงมีอากาศเย็นกว่าทางใต้ เหมือนเมืองไทย พื้นที่ทั้งหมดมีประมาณ 207 ล้านไร่ เล็กกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ 321 ล้านไร่ของไทย มีประชากร 85 ล้านคน ของไทยมี 62 ล้านคน และส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน ดังนั้นพืชผลที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง อาชีพหลักของคนในชาติ และวิถีความเป็นอยู่จึงค่อนข้างใกล้เคียงกัน

          อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของไทยกับเวียดนามค่อนข้างต่างกัน ซึ่งส่งผลให้มีหลายอย่างแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดนี้ คนไทยก็ยังไม่เข้าใจเวียดนามว่า จริงๆ แล้วเราควรวางตัวหรือคิดเรื่องความร่วมมือกับเวียดนามในลักษณะใดดี ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งหรือคู่ค้า หรือรูปแบบอื่นๆ เพราะเท่าที่ผ่านมา ภาครัฐของเราไม่ค่อยได้สนใจหาข้อมูลเกี่ยวกับเวียดนามมาเผยแพร่ให้คนไทยได้รับรู้ หรือคนไทยเองอาจคิดว่าไม่มีอะไรน่าสนใจ หรือคิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเวียดนาม เพราะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจที่จะมีผลต่อเราโดยตรงก็ได้
          
          แต่ในโลกของความเป็นจริงแล้ว ชาติต่างๆ รอบตัวเราต่างก็พยายามเรียนรู้และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับไทย และถ่ายทอดให้คนในชาติได้รับทราบในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งในบทเรียนสำหรับนักเรียนประถม ทั้งในแง่มุมที่เป็นจริงและไม่จริง แต่ว่าไทยเรากลับไม่เคยได้รับรู้ความเป็นไปของชาติต่างๆ ใกล้บ้านเราเลย

          ผลก็คือ คนอื่นรู้เรา แต่เราไม่รู้เขา ดังนั้นบางครั้งเราจึงแสดงออกในรูปแบบที่ไปสะกิดแผลหรือกระทบจุดอ่อนไหวของคนในชาติอื่นโดยความไม่รู้ เกิดผลพวงตามมาหลายอย่าง เช่น ความขัดแย้งซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทั้งแบบเงียบๆ และแบบโจ่งแจ้ง จนถึงขั้นทำลายทรัพย์สินกันในบางประเทศ

          คนไทยเราไม่รู้แม้กระทั่งว่า ชาติอื่นมองคนไทยอย่างไร ซึ่งหากเจาะลึกลงไปในวิถีของคนชาติต่างๆ รอบตัวเราแล้ว อาจรับทราบว่า มุมมองและวิธีคิดของคนเหล่านั้นที่มีต่อคนไทยอาจอยู่ในรูปแบบที่เราเองก็คงนึกไม่ถึงเหมือนกัน ดังนั้นหากจะมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว การพึ่งพาอาศัยกันหรือเกื้อกูลกันอาจเกิดไม่ได้เต็มที่ ประโยชน์ต่างๆ ที่เราควรจะได้ก็กลับไม่ได้ เพราะว่าความไม่เข้าใจกันอย่างแท้จริงนั่นเอง


ภาพ : สุกัญญา รักไทย


          หลังจากที่ท่านเอกอัครราชทูตไทยคือท่านกิตติพงษ์ ณ ระนอง ได้ไปประจำที่กรุงฮานอยได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าไทยเราควรจะมีองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าจริงๆ เกี่ยวกับเวียดนาม ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความรู้สึกนึกคิด เพราะว่าความรู้เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางแผนและกำหนดท่าทีของไทยในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งอาจต้องมีการร่วมมือกันเป็นคู่ค้าในหลายเรื่อง หรืออาจเป็นคู่แข่งในบางเรื่อง รวมทั้งคนไทยที่จะทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเวียดนาม ก็น่าจะได้ใช้ประโยชน์จากความรู้เหล่านี้ได้ จึงได้มีการปรึกษากับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ว่าควรจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรดี

          ในที่สุดก็ได้นำไปสู่เวทีระดมความคิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญและหยิบยกมาศึกษาก่อน จนได้ข้อสรุปว่า ควรศึกษาศักยภาพเชิงเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนามในแง่มุมต่างๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องมีข้อมูลและความรู้เพื่อใช้ในการวางแผนในลักษณะของ “รู้เขารู้เรา”


ภาพ : สุกัญญา รักไทย

           ดังนั้น ทาง สกว. จึงได้ประกาศโจทย์วิจัยทางด้านนี้ออกมา และมีนักวิจัยหน้าใหม่หลายท่านให้ความสนใจและส่งข้อเสนอโครงการเข้ามา และในวันนี้มี 7 โครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นที่ต้องการทั้งทางด้านการค้า การลงทุน ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ยางพารา เป็นต้น

          โครงการเหล่านี้ดำเนินการมาได้เกินครึ่งแล้ว และมีข้อมูลความรู้ต่างๆ ออกมามากมาย ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนไทยทั่วไป เพราะว่างานแบบนี้คงหาไม่ได้ง่ายนัก เนื่องจากเป็นการศึกษาเชิงลึก และต้องลงไปในพื้นที่จริงของประเทศเวียดนามหลายครั้งเพื่อให้ได้ข้อมูลออกมา ดังนั้น ความที่องค์ความรู้เหล่านี้มีค่า เมื่อหาได้มาแล้วก็ควรจะต้องมีช่องทางในการสื่อสารออกไปในวงกว้างเพื่อประโยชน์ของสังคม จึงเป็นที่มาของการเปิดคอลัมน์นี้ เพื่อให้นักวิจัยในโครงการทั้งหมดได้สื่อสารสิ่งที่ค้นพบมาจากการศึกษาครั้งนี้ในรูปแบบของภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย

          ส่วนรายงานฉบับเต็ม ซึ่งเป็นเนื้อหาทางวิชาการนั้น เมื่อเสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาแล้ว ก็จะได้นำไปเก็บไว้ในห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ของ สกว. เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและผู้สนใจในรายละเอียดได้เข้ามาอ่านหรือดาวน์โหลดไปใช้ประโยชน์ได้

         การดำเนินงานของชุดโครงการเวียดนามครั้งนี้ นอกจากจะได้องค์ความรู้แล้ว ยังได้ “คน” ที่ต่อไปจะเป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับเวียดนามในเรื่องเฉพาะต่างๆ ซึ่งจะกระจายกันอยู่ในหลายหน่วยงาน รวมทั้งเกิดเป็นเครือข่ายที่ต่างก็มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่ตลอดเวลา และจะนำไปสู่การพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเวียดนามอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถึงวันนั้น คนไทยก็คงจะมีความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเวียดนามได้ดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์ในด้านการวางแผนและการหาช่องทางเข้าไปเกี่ยวข้องกับเวียดนามได้ง่ายขึ้น

   

 แหล่งที่มา :  กรุงเทพธุรกิจ 21 กุมภาพันธ์ 2551

อัพเดทล่าสุด