ความดีต้องเพียงพอ ชีวิตต้องพอเพียง


768 ผู้ชม


ความดีต้องเพียงพอ ชีวิตต้องพอเพียง


วันที่ 6 พ.ย. 2552
 

    

 
               ความดีต้องเพียงพอ  ชีวิตต้องพอเพียง

                โครงการรณรงค์ทำความดีเพื่อพ่อของศูนย์คุณธรรม ร่วมกับ สบร.และสำนักนายกฯ  ที่ได้ดำเนินการเปิดโครงการในวันที่ 23 ก.พ.51  โดยมีแนวคิดส่งเสริม/ปลูกฝังเยาวชนและประชาชนชาวไทยทุกคนให้มีการนำคุณธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน    ท่าน พล.อ.อ. วีรวิท  คงศักดิ์  ที่ปรึกษาศูนย์คุณธรรมได้กล่าวถึง 8 คุณธรรมที่จำเป็น  ที่เยาวชนและคนไทยทุกคน ควรนำมาใช้ในการดำรงชีวิต  โดยท่านแบ่งเป็นคุณธรรมที่ควรสร้างให้เกิดขึ้นในตัวเราก่อน 3 คุณธรรม ได้แก่
               
1.  ขยัน     เยาวชนทุกคนต้องมีความขยันหมั่นเพียร  มุ่งมันตั้งใจในสิ่งที่เราทำ   โดยดูจากในหลวงของพวกเราเป็นแบบอย่าง  ในหลวงท่านทรงทำงานหนักมากที่สุดตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งการครองราชย์ ท่านรู้จักประเทศไทยทุกซอกทุกมุม  ท่านเสด็จในทุกพื้นที่ของประเทศโดยไม่ทรงรู้สึกเหน็ดเหนื่อย   สิ่งเดียวที่ท่านปรารถนาคือให้ประชาชนทุกคนของท่านมีความสุข 
               
2.   ประหยัด ทำให้สำเร็จด้วยความประหยัด เยาวชนทุกคนควรนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง   คือรู้จักประหยัดอย่างพอเพียง  มีเหตุมีผลและรู้จักที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่าง
               
3.  ซื่อสัตย์   เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์   ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง  และผู้อื่น  ต้องเริ่มที่ตัวเรา  ถ้าวันนี้ผู้ใหญ่ยังไม่เป็นอย่างความซื่อสัตย์ให้เยาวชนได้เห็น  เราจะเห็นความซื่อสัตย์ของคนไทยในอนาคตได้อย่างไร  อย่างไรก็ตามความซื่อสัตย์นั้นให้เริ่มที่ตัวเราก่อน  เยาวชนทุกคนต้องสร้างจิตสำนึกความซื่อสัตย์ให้เกิดในตัวเราให้จงได้
                นอกจากนี้ยังมีคุณธรรมอีก
5 ประการที่จะเป็นตัวช่วยให้เราทุกคนไปอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างมีความสุข  คุณธรรมดังกล่าวประกอบด้วย
               
1.   มีวินัย   การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  วินัยเป็นตัวช่วยในการจัดระเบียบของสังคม  เราต้องรักษากฎกติกามารยาท
               
2.   สุภาพ  ความสุภาพ  อ่อนน้อม ถ่อมตน นับเป็นสิ่งที่เยาวชนไทยทุกคนพึงมีพึงปฏิบัติให้เป็นนิสัย   
               
3.   สามัคคี  อยู่ร่วมกันต้องรักกันสามัคคีกัน  รวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน  หนักนิดเบาหน่อยควรอภัยให้กัน  รู้จักนำแนวคิด  รู้ รัก สามัคคี ของในหลวงมาเป็นแนวทางดำรงชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข
               
4.   มีน้ำใจ  มีจิตอาสา  พร้อมที่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา
               
5.   กตัญญู  ต่อบิดามารดา  และกตัญญูต่อแผ่นดิน  รักชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์
               

               

                และท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือง  เน้นว่า  เก่งต้องคู่ความดี  เยาวชนของเราเก่งแล้วเห็นได้จากการแข่งขันความรู้ในโอลิมปิกจะเลิศ  แสดงว่าเยาวชนเราเก่งแล้วแต่เรายังสู้เขาไม่ได้ ในเรื่องความดี   หลายประเทศที่เจริญกว่าเราเพราะเขาเอาความดีนำหน้าความเก่ง  วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาความดีนำหน้าความเก่ง  โดยใช้คุณธรรมทั้ง 8 ประการนั่นเอง
                คุณลิขิต
  เพชรสว่าง  กรรมการอาวุโสศูนย์คุณธรรมฯ   ชี้ถึงประเด็นหน้าที่พลเมืองดี  ซึ่งนับเป็นระเบียบวินัยที่กำกับคนในประเทศ  โดยตั้งคำถามว่า  ทุกวันนี้เราทำหน้าที่พลเมืองดีแล้วหรือยัง  ไม่ว่าจะเป็น
               
-          การอบรมเลี้ยงดูให้ความอบอุ่นกับลูกซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ 
               
-          การเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่ที่เราต้องปฏิบัติ   ไม่ว่าจะเป็นการเสียภาษี  การเคารพกฎจราจร  การไปทำหน้าที่เลือก สส. สว. เป็นต้น
                ขอให้เรามาร่วมทำความดีถวายในหลวงโดยการทำหน้าที่พลเมืองดี
  ถวายในหลวง  ดังคำของพระองค์ท่านที่ว่า  "...เราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดี   แต่หาคนดีมาปกครองบ้านเมือง..."  เริ่มที่เรา 
               
   ท่าน ดร.เสรี วงศ์มณฑา ท่านได้รับเชิญมาบรรยายพิเศษในโอกาสนี้ด้วย  ท่านได้สรุปประเด็น  วินัย 1 ในคุณธรรม  ว่าการทำดีมี 3 ระดับ
                               
o     ทำดีเพราะกลัวการถูกลงโทษ  แต่ยังไม่ละอายต่อการทำชั่ว มีแค่โอตะปะ
                               
o     ทำดีเพราะพวกมากลากไป  ไม่กล้าทำชั่วเพราะอาย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ทำชั่วก็จะทำตาม
                               
o     ทำดีเพราะมีวินัย  ทำดีจากส่วนลึกของหัวใจ  ตระหนักว่าต้องทำความดี  จากมโนสำนึก หรือจิตสำนึกของตนเอง ไม่ต้องเอากฎระเบียบมาขู่มากำกับแต่ใช้ใจกำกับ  เป็นหิริ  ใจให้เราทำความดีให้เพียงพอ   ให้สมเป็นคนดีของสังคม
                นอกจากนี้ท่านให้แนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งว่า
 บ้านเมืองของเรานั้นมีกฎระเบียบ มีวินัย  และมีจารีต ศีลธรรมประเพณี  เป็นกรอบให้ทุกคนปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  การปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ  ในฐานะของเยาวชนพึงระลึกไว้เสมอว่าเราต้องอยู่ในกรอบจารีต ศีลธรรม  ประเพณีอันดีงามของไทยด้วย  บ้านเมืองของเราจึงจะร่มเย็นเป็นสุข
                เราในฐานะของการเป็นคนไทยคนหนึ่งที่เป็นผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนไทย
  เริ่มจากตัวเราต้องมีคุณธรรมอย่างน้อย 8 ประการดังกล่าวข้างต้น  และเริ่มต้นจากสังคมเล็กที่สุดคือในครอบครัวของเราก่อนโดยเราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน  จากสังคมเล็ก ๆ ขยายสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ ครู/อาจารย์ก็ต้องมีคุณธรรมเป็นอย่างแก่เยาวชน  หัวหน้า/ผู้บังคับบัญชาก็ต้องมีคุณธรรมเป็นแบบอย่างแก่ลูกน้อง/ผู้ใต้บังคับบัญชา  ผู้บริหารบ้านเมืองก็ต้องมีคุณธรรมเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทุกคน  เพียงเราทุกคนเงยหน้าขึ้นดูในหลวงของพวกเรา  ท่านเป็นผู้ที่อุดมไปด้วยคุณธรรมจริยธรรม ยอดกตัญญูที่สุด เห็นภาพท่านผูกเชือกรองเท้าให้สมเด็จย่าทีไรเป็นปลื้มใจทุกที  ไฉนเราคนไทยทุกคนจึงไม่นำท่านมาเป็นแบบอย่าง  มาวันนี้เราทุกคนควรหันหน้าเข้าหากันร่วมกัน "ทำดีเพื่อพ่อ" ให้พ่อของเราได้ชื่นใจเริ่มวันนี้  เริ่มที่ตัวเรา  "ความดีต้องเพียงพอ  ชีวิตต้องพอเพียง" 

  

ขอบคุณบทความจาก  https://researchers.in.th

ขอบคุณรูปภาพจาก   https://www.haii.or.th/wiki84/images

อัพเดทล่าสุด