มะเร็งตับ ชายมากกว่าหญิง
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
รพ.กรุงเทพ และวิชาการดอทคอม
www.bangkokhospital.com
มะเร็งตับเป็นโรคที่พบมากในประเทศแถบเอเชียรวมทั้งประเทศไทยที่มีการตรวจพบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ผู้ป่วยส่วนมากที่ตรวจพบจะมีอายุเฉลี่ย 40-60 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงด้วยอัตราเฉลี่ย 4.6 : 1 คน
อาการของมะเร็งตับ
มะเร็งตับในระยะเริ่มต้นจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่อาการต่างๆ ที่แสดงออกมาเป็นอาการบ่งชี้ว่า น่าจะมีปัญหาที่ตับอาการที่พบบ่อยมีดังนี้
1. ไม่แสดงอาการผิดปกติทางร่างกาย แต่จะตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์อัลตราซาวนด์ช่องท้อง
2. มีอาการปวดแน่นท้องบริเวณชาย โครงด้านขวา ท้องอืด ท้องโต
3. มีอาการอ่อนเพลียและมีไข้
4. เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลด
5. มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มและขาบวม
6. มีอาการเลือดออกง่าย อาเจียนเป็นเลือด
7. มีอาการซึมและสับสน
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตับ
1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับ อักเสบบี
2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับ อักเสบซี
3. ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งที่มีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานๆ จากภาวะไขมันสะสมในตับและจากภาวะธาตุเหล็กในตับสะสมผิดปกติ
4. ผู้ป่วยที่ได้รับสารอะฟลาทอกซิน
5. ผู้ป่วยที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งตับหรือมีโรคไวรัสตับอักเสบบี
ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับในระยะสุดท้ายจะมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 6-20 เดือน หลังจากการตรวจพบ ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของมะเร็งสภาพร่างกายของผู้ป่วยและวิธีการรักษาที่ได้รับ
วิธีการตรวจหามะเร็งตับ
ตรวจหาสารอัลฟ่าฟีโตโปรตีน(Alfa-fetoprotein: AFP) : เป็นสารที่เป็นตัวบ่งชี้ เพื่อการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับในระยะสุดท้าย ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับประมาณ 60% จะตรวจพบสารนี้ในระดับที่สูงมาก ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงควรตรวจเลือดตรวจการทำงานของตับ ตรวจค่าบ่งชี้การเป็นมะเร็งตับทุก 3-6 เดือน และตรวจอัลตราซาวนด์ทุก 6 เดือน
การป้องกันโรคมะเร็งตับ
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเป็นมะเร็งตับควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ควรรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
2. ไม่รับเลือดนอกจากกรณีจำเป็น
3. ลด งด หรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกประเภท
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน เช่น ถั่วลิสงที่ชื้นหรือเก่า
5. งดการใช้ยาเสพติด
6. ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น
7. ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสบีและซี ควรดูแลและรักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัดและติดตามผลตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะค่าการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอ