เลือกโรงเรียนอย่างไร ให้เหมาะกับลูก


847 ผู้ชม


เลือกโรงเรียนอย่างไร ให้เหมาะกับลูก

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส.และวิชา การดอทคอม
www.thaihealth.or.th  


เลือกโรงเรียนอย่างไร ให้เหมาะกับลูก             ใกล้ถึงช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่ ผู้ปกครองทั้งหลายต่างพยายามดิ้นรนขวนขวายหาสถานศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อให้ บุตรหลานมีอนาคตที่ยาวไกลและเป็นความหวังของพ่อแม่ต่อไป แต่การเลือกสถานศึกษาที่เหมาะสมเป็นเรื่องยากต่อการตัดสินใจ ดังนั้นผู้ปกครองต้องใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบเพื่อจะได้ไม่ผิดหวังในภายหลัง
            นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ ให้คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครองว่า หลักสำคัญในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน อันดับแรกสุดควรพิจารณาจาก "สถานที่ตั้ง"เนื่องจากสังคมยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความเร่งรีบและการ แข่งขัน กับเวลา ปัจจัยด้านการเดินทางจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก โดยสถานศึกษาจะต้องอยู่ไม่ไกลจากที่พักอาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้ปกครอง เพื่อความสะดวกในการเดินทางและการรับส่งบุตรหลาน
            ประการต่อมาควรพิจารณาจาก "สภาพแวดล้อมทางกายภาพ"หรือบรรยากาศภายในบริเวณโรงเรียน อาทิสภาพภูมิทัศน์และความร่มรื่น ควรมีพื้นที่สีเขียวเพื่อฟอกอากาศที่บริสุทธิ์ ความสะอาดเรียบร้อยของอาคารสถานที่ต้องไม่มีวัสดุก่อสร้างที่อาจเกิดอันตราย ต่อเด็ก การบริหารจัดการขยะต้องไม่มีกลิ่นรบกวนต่อบรรยากาศการเรียนการสอน การจัดห้องเรียนต้องมีความปลอดโปร่ง ไม่แออัดจนเกินไป รวมถึงความปลอดภัยของเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นเพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ออก กำลังกายและมีพัฒนาการที่สมวัย
            "ผู้ปกครองควรหาเวลาไปตระเวนเยี่ยมชมสถานศึกษาหลายๆ แห่งเพื่อเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ทั้งในด้านสถานที่ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งกิจกรรมการเรียนการสอน หรือสามารถเข้าชมได้ตามเว็บไซต์ของโรงเรียนแต่ละแห่งเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจ" รองเลขาธิการกพฐ. กล่าว
            ปัจจัยที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ "มาตรฐานและคุณภาพทางการศึกษา"ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีความโดดเด่นในแต่ละ ด้านแตกต่างกันไป บางแห่งอาจมุ่งเน้นในแง่วิชาการเป็นหลัก บางแห่งอาจมีจุดเด่นในด้านดนตรี กีฬาและศิลปะ เป็นต้น ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรพิจารณาถึงความถนัดและความชอบของบุตรหลานว่ามีความ สามารถพิเศษในด้านใด เพื่อจะส่งเสริมและสนับสนุนให้ถูกทาง


เลือกโรงเรียนอย่างไร ให้เหมาะกับลูก


            โดยภาพรวมของหลักสูตรและกิจกรรมทั้งหมดต้องมุ่ง ส่งเสริมการพัฒนาของเด็กให้ครบทั้ง 4 ด้านคือ การพัฒนาด้านร่างกายอารมณ์ สังคมและสติปัญญา
            "ถ้าเด็กเป็นคนหัวดีและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สูงก็ควรไปสอบแข่งขันในโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง หรือถ้าเด็กชื่นชอบในด้านกีฬาและศิลปะก็ควรได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มุ่ง เน้นกิจกรรมนอกห้องเรียน แต่หากบังคับให้เรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงเกินความสามารถของเด็ก อาจทำให้เด็กเรียนไม่ทันเพื่อนและอาจส่งผลเสียในภายหลังได้" รองเลขาธิการกพฐ. กล่าว
            นายสมเกียรติ ย้ำว่าสิ่งที่ผู้ปกครองต้องคำนึงคือไม่ควรบังคับฝืนใจ แต่ควรเป็นความสมัครใจของเด็กด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เด็กมีความตั้งใจเรียนในสถานศึกษานั้นๆมากขึ้น
            "การเรียนที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังเสมอไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าเด็กมีความสุขในการเรียนด้วยหรือไม่" นายสมเกียรติกล่าว
            ด้านนายอรรถพร สุวัธนเดชา ผู้อำนวยการสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร(กทม.) แนะแนวทางการเลือกสถานศึกษาว่า ปัจจัยแรกที่ต้องพิจารณา คือการเดินทางจะต้องสะดวกทั้งต่อผู้ปกครองและบุตรหลาน หากระยะทางไกลเกินไปจะทำให้ต้องรีบตื่นเช้าและฝ่ารถติด ทำให้เด็กเหนื่อยล้าและบั่นทอนสมาธิในการเรียนได้
            นายอรรถพร กล่าวว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกโรงเรียนใด ผู้ปกครองควรหาโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในสถานที่จริง เพื่อสัมผัสบรรยากาศภายในโรงเรียน ไม่ว่าจะสภาพแวดล้อม อุปกรณ์การศึกษา การจัดกิจกรรมนันทนาการต่างๆ รวมทั้งท่าทีของครูและบุคลากรในโรงเรียนว่าเอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงอัตราส่วนระหว่างครูต่อเด็กว่ามีความเหมาะสมเพียงพอหรือไม่
            ในแง่คุณภาพการศึกษาทุกวันนี้โรงเรียนส่วนใหญ่มีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ เบื้องต้นอาจพิจารณาจากชื่อเสียงประวัติ และผลการเรียนของเด็กในช่วงที่ผ่านมา ในทางกลับกันหากโรงเรียนใดที่ได้รับความนิยมสูง การสอบแข่งขันก็ย่อมสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นอย่ายึดติดกับ"ค่านิยม"มากเกินไป เพราะโรงเรียนชื่อดังบางแห่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกำลังของผู้ปกครอง
            นายอรรถพร แนะนำว่า ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด กทม. 435 แห่ง มีการยกระดับทั้งในด้านวิชาการ กิจกรรม รวมถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ
            "จุดเด่นของโรงเรียนกทม. คืออยู่ใกล้ชุมชน เดินทางสะดวก และมีการประเมินคุณภาพทุกปี ที่สำคัญคือมีนโยบายเรียนฟรี20 รายการ โดยที่ไม่มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มอย่างแน่นอน แม้ในภาพรวมอาจไม่ดีเลิศเหมือนสถาบันศึกษาชั้นนำ แต่ในด้านพื้นฐานทั่วไปถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน"นายอรรถพรกล่าว
            ทั้งนี้ การศึกษาที่สัมฤทธิผลนั้นจะต้องพัฒนาให้เด็ก "เก่ง ดี และมีความสุข"ไปพร้อมๆ กัน



อัพเดทล่าสุด