หลังที่อ้ำอึ้งมานาน...สุดท้ายก็อั้นไม่อยู่ เพราะประเมินดูแล้วว่าสถานการณ์คงจะไม่จบลงง่ายๆ แถมยังจะลุกลามบานปลายรุนแรงกว่าเดิมหลายร้อยพันเท่า จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะประกาศกฎหมายเข้มข้นเพิ่มเติม หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันในนาม "เคอร์ฟิว"
หน้าที่ 1 - ย้อนรอย'เคอร์ฟิว'ไทย
คำว่าการประกาศมาตรการห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "เคอร์ฟิว" นั้น หลายคนคงจะยังไม่รู้จักและไม่คุ้นนัก เนื่องจากว่าไม่ค่อยได้ประกาศใช้กันบ่อยครั้งนัก สำหรับประเทศไทย รู้เพียงแต่ว่าเป็น "กฎเหล็ก" ชนิดเรียกว่าเข้มข้น กระดุกกระดิกตัวยังลำบาก ไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรในสภาวการณ์ดังกล่าว
เรื่องนี้ พล.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน อธิบายขยายความกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า คำว่า การประกาศ "เคอร์ฟิว" นั้น เป็นมาตรการกฎหมายขั้นข้มข้น ประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนออกจากเคหะสถานตามพื้นที่ที่กำหนด ตามระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการประกาศภายหลังที่มีการประเมินแล้วว่าสถานการณ์จำเป็น กำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือให้ความสะดวกต่อการปราบปรามกลุ่ม เป้าหมาย เพื่อเป็นการสะดวกในการแยกแยะกลุ่มผู้ชุนุม กลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้เพื่อให้พื้นที่ที่ควบคุม เจ้าหน้าที่สามารถตรวจการและดำเนินการทางยุทธวิธีได้ง่าย ไม่เป็นอันตรายกับประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้อง ถ้าเคลื่อนไหวอยู่ก็แสดงว่ามีเจตนาที่จะฝ่าฝืน เจ้าหน้าที่อาจดำเนินการได้ อาจจะบาดเจ็บหรืออาจจะเกิดอะไรขึ้นถือว่าเรียกร้องอะไร เนื่องจากได้แจ้งให้ทราบแล้วเฉพาะในพื้นที่ที่มีการประกาศเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ประกาศปิดถนนก่อนหน้านี้ เกือบจะเคอร์ฟิวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาได้มีการอะลุ่มอะหล่วยให้คนที่มีที่พักอยู่ในพื้นที่ ชั้นในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งไม่ใช่ผู้ประท้วง แต่จำเป็นต้องเข้าที่พักอาศัย
สำหรับประชาชนก็คงยังทำตัวตามปกติ เพียงแต่ว่าในช่วงเวลาที่กำหนดเคอร์ฟิวนั้นไม่ควรออกนอกเคหะสถาน หรือเข้าออกในพื้นที่ที่กำหนด สมมติว่ากำหนดเวลาช่วง 13.00 น.-01.00 น. ช่วงเวลานั้นไม่ควรออกนอกบ้าน ให้อยู่ในพื้นที่ เพราะถือว่าได้ทำการแจ้งแล้ว ถ้าหากออกมาจะถือว่ามีความผิด ลักษณะความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ในเงื่อนไขความผิด ต้องปรับแค่ไหน รอลงอาญา แล้วแต่ฐานความผิดตามที่เจ้าหน้าที่ฟ้องร้อง
ส่วนประชาชนควรทำตัวอย่างไรนั้น พล.ต.ดิฏฐพร กล่าวว่า การประกาศเคอร์ฟิว เคยมีการประกาศในสมัยที่กองกำลังรักษาพระนคร (พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก) ซึ่งขณะนั้นมีการประกาศทั่วกรุงเทพมหานคร มีสายตรวจของกำลังสายตรวจร่วมทั่วกรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นก็ทำมาแล้ว แต่คนกรุงเทพมหานครในยุคหลังนี้ ยังไม่เคยผ่านเหตุการณ์ดังกล่าว เลยนึกไม่ออกว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ดังนั้นจึงเรียนว่า
"ในเวลาที่เขาห้าม ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ใครที่คิดว่าตนเองมีธุระ จะต้องรีบกลับบ้าน ต้องรีบกลับให้ทันก่อนเวลาที่ห้าม ถ้ากลับไม่ทันก็ต้องหาที่พักที่อื่น บ้านเพื่อน หรือพักค้างอยู่ที่ทำงาน หรืออย่างพยาบาลที่ออกเวร ออกในช่วงเวลาที่เคอร์ฟิว ก็ควรจะพักที่โรงพยาบาลไปเลย ทำนองนี้ จะได้ไม่กระทบต่อการเข้าออก เพราะการแสดงตัวในการเข้าออก มันย่อมจะมีความยุ่งยาก แม้จะไม่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง อย่าฝ่าฝืนการประกาศเท่านั้นเอง"
"ถ้าเกิดว่าคนที่ไม่รู้ไม่ทราบ ไม่เกี่ยวกับผู้ชุมนุม เดินออกมาในเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีการบอกกล่าวเตือนกันก่อน เพราะกฎหมายส่วนใหญ่มีการอะลุ่มอะหล่วยอยู่แล้ว ส่วนวิธีการปฏิบัตินั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเตือนให้กลับไปในพื้นที่ที่ไม่ประกาศเคอร์ฟิว"
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า การประกาศเคอร์ฟิวนั้น เพื่อไม่ให้มีการส่งกำลังบำรุงได้ และแนวร่วมประชาธิปไตต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ให้คนที่ประสงค์ออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่ปลอดภัยได้ ซึ่งในช่วงเวลาที่ประกาศเคอร์ฟิว ควรเก็บตัวอยู่ในเคหสถาน และมีช่องทางติดต่อสื่อสารเลขหมายโทรฉุกเฉินต้องเตรียมไว้
ย้อน "เคอร์ฟิว" ไทย-เทศ
สำหรับการประกาศเคอร์ฟิว นั้น เกิดขึ้นในภาวะที่ต้องการขจัดภัยภายในประเทศ นำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศเคยประกาศใช้แล้ว เช่น
- ตำรวจอินเดียประกาศเคอร์ฟิวในเมืองทางตอนใต้ของเมืองไฮเดอราบัด (HYDERABAD) ในวันอังคาร (30 มี.ค.53) หลังจากคน 2 ศาสนาปะทะกันอย่างรุนแรง
- จีนประกาศเคอร์ฟิวในเมืองอุรุมฉี เพื่อป้องกันเหตุนองเลือด หลังจากเกิดการปะทะระหว่างชาวฮั่นกับชาวอุยกูร์ในพื้นที่ (8 ก.ค.52)
- ฮอนดูรัสประกาศเคอร์ฟิว หลังอดีตปธน.เซลายา แอบกลับเข้าประเทศ (22 ก.ย.52)
- รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศเคอร์ฟิว เหตุ "ทหารกบฏ" ยึดโรงแรม เรียกร้อง "อาร์โรโย" ลาออก (30 พ.ย.50)
- รัฐบาลทหารของสหภาพพม่า ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกนอกบ้านยามวิกาลใน 2 เมืองใหญ่ ตั้งแต่เวลา 21.00-05.00 น. เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นเวลา 60 วัน และห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน หวังจะยุติการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีลงให้ได้ (30 ก.ย.50 )
สำหรับการประกาศ "เคอร์ฟิว" ในประเทศไทย
- รัฐบาลประกาศ พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะกองทัพภาคที่ 4 ได้ออกประกาศเร่งด่วนเพื่อควบคุมสถานการณ์เฉพาะหน้า "เคอร์ฟิว" ในพื้นที่ อ.ยะหา-อ.บันนังสตา จ.ยะลา ประกาศ 4 ฉบับ (15 มี.ค.50)
- รัฐบาลประกาศ พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศ "เคอร์ฟิว" ห้ามบุคคลในท้องที่กรุงเทพมหานคร ออกจากเคหสถาน ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. (20 พ.ค.35)
ความ หมาย ที่มา
"เคอร์ฟิว"
เคอร์ฟิว (ฝรั่งเศส: couvre feu, อังกฤษ: curfew) หมายถึง คำสั่งของรัฐบาลให้ประชาชนกลับเคหสถานก่อนเวลาที่กำหนด อีกนัยหนึ่งคือการห้ามประชาชนออกจากเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด (มักเป็นเวลากลางคืน) ซึ่งเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือให้ความสะดวกต่อการปราบปรามกลุ่มเป้าหมาย
คำว่า "เคอร์ฟิว" มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า couvre feu ซึ่งมีความหมายถึง การปิดไฟหรือดับไฟ (couvre = ปิด หรือ ดับ, feu = ไฟ) ซึ่งคำนี้ถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษโดยสะกดว่า curfew
บทความจาก ไทยรัฐออนไลน์
โดยไทยรัฐออนไลน์