ซาก...อารมณ์!!! kanjanida (11,275 views) first post: Fri 21 May 2010 last update: Fri 21 May 2010 น่าคิดว่า หาก “คำหยาบ” ที่ระบายกันออกมาในช่วงนี้ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา จนคนรุ่นหลังมาพบความรู้สึกกับคำถามที่ตามมาอีกมากมาย จากคนรุ่นหลัง น่าจะทำให้หลายคนในยุคนี้ต้องสะอึกกับสิ่งที่ได้ทำลงไป |
หน้าที่ 1 - ซาก...อารมณ์!!!
ซาก...อารมณ์
น่าคิดว่า หาก “คำหยาบ” ที่ระบายกันออกมาในช่วงนี้ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา จนคนรุ่นหลังมาพบความรู้สึกกับคำถามที่ตามมาอีกมากมาย จากคนรุ่นหลัง น่าจะทำให้หลายคนในยุคนี้ต้องสะอึกกับสิ่งที่ได้ทำลงไป
โดย...ธนพล บางยี่ขัน
ในวันแดดร่มลมตก ความรู้สึกแปลกๆ ก่อตัวขึ้น หลังพาตัวเองกลับไปยืนอยู่บนถนนสายประวัติศาสตร์ คล้อยหลังเพียงไม่กี่วันหลัง “มวลชนแดง” คืนพื้นที่ก่อนย้ายถิ่นฐานไปปักหลักกลางศูนย์กลางเศรษฐกิจประเทศ
ร่องรอยความสูญเสีย คราบเลือด คราบน้ำตา เริ่มจางหาย ความเสียหายที่พอซ่อมแซมได้ ตามอาคาร บ้านเรือนเริ่มได้รับการบูรณะฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
ทว่า สิ่งที่สะดุดตา กระตุกอารมณ์ กลับเป็น “คำหยาบ” ที่แทรกตัวอยู่ตามป้ายรถเมล์ กำแพง เสาไฟฟ้า หรือไปเขียนแทรกอยู่ตามป้ายประกาศ หรือแม้แต่กลางพื้นถนนด้วย สารพัดถ้อยคำ ขนาดไม่สั้นไม่ยาว หลากความหมาย
ตั้งแต่คำด่าเชิงการเมืองขับไล่รัฐบาลแบบมีหลักการและเหตุผล ไปจนถึงคำหยาบในหมวดสัตว์เลื้อยคลาน ในหมวดอวัยวะ ฯลฯ จนถึงคำหยาบที่ไม่มีความหมาย แต่เข้าใจอารมณ์
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ถูกลบ เนื่องมาจากกรรมวิธีลบข้อความตามกำแพงหรือป้ายต่างๆมีกระบวนการมากกว่าแค่การใช้น้ำล้างออก หรือแค่ขัดถูไม่กี่ที แต่ต้องใช้น้ำยาเฉพาะทาง หรือต้องทาสีทับข้อความ
คำหยาบเหล่านี้กลายเป็น “ซาก” ที่หลงเหลือทิ้งไว้ให้หวนระลึกถึงการชุมนุมที่ผ่านมา
แม้จะเข้าใจ “อารมณ์” เจ้าของผลงานประพันธ์ข้างถนน แต่แอบไม่เข้าใจว่าการต่อสู้เพื่อเรียกร้องหาประชาธิปไตย (ที่แท้จริง) หรือการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ทำไมต้องใช้คำหยาบคาย มากกว่าหลักการและเหตุผล
ยังไม่รวมกับการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “อุจจาระ” หรือ “เลือด”
แต่ที่แน่ๆ ถ้อยคำหยาบคายเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนในกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ไม่ว่าจะมาจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือก้นบึ้งของอารมณ์ความรู้สึก
ถึงจะย้ายมาที่ราชประสงค์ อาการเหล่านี้ก็ไม่ได้หมดไป “คำหยาบ” ด่าทอรัฐบาล นายกฯ ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างจากป้ายแบนเนอร์ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำติดตัวมา
นึกไปถึงยุคสมัยหนึ่งที่สองข้างทางถนนหนทางเต็มไปด้วยคำประกาศศักดา ของบรรดาโรงเรียนช่างกลชื่อดัง ที่ใช้พื้นที่สาธารณะระบายอารมณ์ความรู้สึกด่าทอโรงเรียนคู่อริแบบไม่สนใจสายตาประชาชนคนธรรมดาที่เดินผ่านไปมา
ก่อนจะวิวัฒนาการมาเป็นบรรดา “กราฟฟิตี” ของวัยรุ่นที่รับเอาศิลปะข้างถนนจากเมืองนอกเผยแพร่ จนระบาดไปพักหนึ่ง
และด้วยความไม่รู้ ศิลปะผ่านตัวอักษร ตามตู้โทรศัพท์ของวัยรุ่นเหล่านี้ ครั้งหนึ่งเคยถูกเชื่อมโยงเข้ากับขบวนการก่อการร้ายแบบหน้าแตกกันยกใหญ่
วันวานผ่านไป พื้นที่สาธารณะถูกหลายกลุ่มคนในสังคมจับจองประกาศความรู้สึกนึกคิด เริ่มกลายเป็นกระจกสะท้อนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะดี จะเลว ก็ล้วนแต่เป็นผลงานรังสรรค์จากคนรุ่นนี้ สืบต่อไปถึงคนรุ่นหลัง
ถ้าอยู่ได้ยาวนานก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากภาพบันทึกตามผนังถ้ำอธิบายการดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ในยุคนั้น หรือผ่านมายุคนครวัดนครธมที่กำลังเร่งประกาศศักดาสร้างเมืองก็มีศิลปะนูนต่ำบรรยายแสนยานุภาพของกองกำลังฝ่ายตนเองในขณะนั้น
น่าคิดว่า หาก “คำหยาบ” ที่ระบายกันออกมาในช่วงนี้ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา จนคนรุ่นหลังมาพบความรู้สึกกับคำถามที่ตามมาอีกมากมาย จากคนรุ่นหลัง น่าจะทำให้หลายคนในยุคนี้ต้องสะอึกกับสิ่งที่ได้ทำลงไป
วิวัฒนาการได้ขยับพื้นที่สาธารณะเข้ามาอยู่ในโลกไซเบอร์ การแสดงอัตตา เหตุผล อารมณ์ ความรู้สึก ปลุกกระแส ปั่นสถานการณ์ ทุกอย่างถูกพ่นผ่านพื้นที่ในโลกอินเทอร์เน็ต ที่รวดเร็วว่องไว จนบั่นทอนการตรวจสอบความถูกต้อง
ชนชั้นกลางคนรุ่นใหม่ เริ่มขยับหาพื้นที่ระบายความรู้สึกทางการเมืองของตัวเองผ่าน “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” จนเกิดกลุ่มก้อนในโลกเสมือน ก่อนพาตัวเองออกมาแสดงพลังในโลกจริงประกาศความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ต่อเหตุบ้านการเมือง
แต่สิ่งหนึ่งที่ลุกลามมาถึงในโลกไซเบอร์... คือบรรดาคำหยาบคายที่แทรกตัวฝ่าโปรแกรมคัดกรองคำหยาบเบื้องต้น มาแสดงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้แบบไม่ยากเย็น
ที่มา: โพสต์ทูเดย์