ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น


1,003 ผู้ชม


ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น

kanjanida (11,068 views) first post: Fri 21 May 2010 last update: Fri 21 May 2010

ตายล่ะหว่า เมืองไทย ดร.เก๊ -ไร้คุณภาพ ชอนไชทุกวงการ ตั้งแต่ราชการยันธุรกิจเอกชน


หน้าที่ 1 - ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น

ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น


ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น


ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น
โดย ผู้จัดการ 360 : รายสัปดาห์
 ตายล่ะหว่า เมืองไทย ดร.เก๊ -ไร้คุณภาพ ชอนไชทุกวงการ ตั้งแต่ราชการยันธุรกิจเอกชน
       
       - เจาะค่านิยมมนุษย์เงินเดือน ชอบเรียนเพิ่ม หวังอัปเกรด เพิ่มเงิน
       - เปิด 3 วิธีได้ปริญญาปลอม แฉ 3 ประเทศควรจับตา
       - สกอ.แบะท่า บทบาททำได้แค่ตรวจสอบ แนะหน่วยงานให้ดูแลกันเอง
       
       ผลประโยชน์ รายได้ บารมี ความเกรงใจ ความนับหน้าถือตา ความเชื่อถือ คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนได้มาจากคำนำหน้าว่า "ดอกเตอร์" หรือ "ดร." แทบทั้งสิ้น เพราะเป็นแสดงถึงผู้มีความยอดเยี่ยมทางด้านการศึกษาเล่าเรียน ความเป็นรู้รอบในสรรพวิชา ความเป็นผู้อ่านมาก และอื่นๆ
       
       แต่ถามว่าความเป็นผู้มีความรู้มาก เป็นนักปรัชญา เป็นผู้ตรากตรำ และอุตสาหะในการแสวงหาความรู้นั้น "ดร." ทุกคนในเมืองไทยมีคุณสมบัติเหล่านี้กันถ้วนทั่วทุกตัวคนหรือไม่
       
       คำตอบคือ "ไม่ใช่"
       
       เหตุผลก็คือปัจจุบันหลายสถาบันการศึกษาทั้งของไทย และต่างประเทศ ที่ใช้ "การตลาด" นำหน้า ต่างต้องการปั๊มเงินเข้ากระเป๋าทั้งของอาจารย์ผู้สอน และของมหาวิทยาลัย มิเช่นนั้นสถาบันอาจอยู่ไม่รอด อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งของประเทศ และของตน ดังเช่น หลายมหาวิทยาลัยที่ประเทศฟิลิปปินส์ และอินเดีย ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ จึงเร่งผลิตหลักสูตรแปลกใหม่ พร้อมลดความเข้มข้นของหลักสูตรลง เพื่อดึงคนที่ต้องการใบปริญญาบัตรระดับปริญญาเอก ที่เดิมกว่าจะได้มาต้องเรียนแทบเลือดตากระเด็น ให้เข้ามาเรียนที่สถาบันของตนให้มากขึ้นเพราะจบง่ายกว่า เข้าทำนองจะจบจากที่ไหน หลักสูตรอะไร ง่ายหรือยากไม่สำคัญ เพราะท้ายที่สุดต่างก็มีคำว่า "ดร." อยู่ข้างหน้าเหมือนกัน
       
       กับอีกเหตุผลมาจากบรรดาผู้คนทั้งในแวดวงธุรกิจเอกชนและราชการ ต่างมีความต้องการคำว่า "ดร." มาประดับคำนำหน้านาม เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ตนเอง และวงศ์ตระกูล เพราะมีความเชื่อว่าคำนำหน้านี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์มีอาณิสงส์ส่งให้ตนได้มีความก้าวหน้าในชีวิตการงานที่ดีขึ้น ได้รับการยอมรับจากผุ้คนในวงสังคมมากขึ้น และที่สำคัญบางคนคิดว่าได้มาแล้วจะเป็นหนทางในการแสวงช่องทางในการทำมาหากินได้มากขึ้น และกว้างขึ้นกว่าเดิม
       
       เมื่อความต้องการทั้งของผู้เรียน และสถาบันการศึกษาสอดคล้องกันเช่นนี้ จึงหาใช่เรื่องแปลกอันใดไม่ที่ทุกวันนี้เราจะเห็น "ดร." เกิดขึ้นในบ้านเรามากมาย แถมกระจายไปสิงสถิตอยู่ทั่วทุกหัวระแหงทั้งหน่วยงานราชการ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) สถาบันศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานเอกชนอีกเพียบ หลายคนมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ แต่อีกหลายคนกลับถูกตั้งคำถามถึงความรู้ ความสามารถ เมื่อมีการถกแถลงกันในวงวิชาการ
       
       แน่นอนว่าเมื่อ ดร.กำมะลอ ที่ไม่มีความรู้เข้าสู่วงวิชาการมากขึ้น ย่อมจะผลิตคนที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่สังคมมากขึ้นตามไปด้วย แล้วคนไทยเหล่านี้จะเอาความรู้จากไหนไปแข่งขันกับคนอื่น
       
       คำถามคือว่าแล้ว คนไทย กับประเทศไทยจะทำอย่างไรกับ ดร.กำมะลอเหล่านี้
       
       ค่านิยมปริญญาเอก ช่องทางสร้างดร.กำมะลอ
       
       ต้องยอมรับว่าค่านิยมใบปริญญาอย่างบัตรในไทยมีมาทุกยุคสมัยจากปริญญาตรี ปริญญาโท จนเกิดภาวะปริญญาโทเกลื่อนเมือง ภาพนี้ยังส่งผลไปถึงการศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่ไม่เพียงแต่เคยเกิดปริญญาเอกไร้คุณภาพ แต่ยังเป็นช่องทางการสร้างดอกเตอร์กำมะลอให้กับสังคมไทยอีกด้วย
       
       ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า ปัญหาดอกเตอร์กำมะลอในไทยเกิดจากค่านิยมของสังคมไทยที่ยึดติดกับกระดาษ (ปริญญาบัตร) และสถาบันการศึกษามากเกินไป เห็นได้จากถ้าจบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้รับการยอมรับ พูดอะไรก็น่าเชื่อถือ เพราะเป็นสถาบันการศึกษาหลัก แต่ถ้าจบมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงคนก็ไม่ให้การยอมรับ
       
       นอกจากนี้ คนไทยยังเชื่อว่ามหาวิทยาลัยรัฐมีชื่อเสียงดีกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ทำให้ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียง ยิ่งหากสามารถไปศึกษาในต่างประเทศได้ยิ่งดีใหญ่
       
       สำหรับเหตุผลที่ทำให้กระแสการเรียนปริญญาเอกในไทยมีมากขึ้น เนื่องจากสกอ.(สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา) กำหนดว่าการเปิดหลักสูตรปริญญาโทได้จะต้องมีดอกเตอร์ที่จบในหลักสูตรนั้น 5 คน ทำให้เป็นช่องทางให้มหาวิทยาลัยหากินกับอาจารย์ที่ต้องการปริญญาเอก
       
       บทพิสูจน์ใครคือตัวจริง  ด่านแรก 'ภาษาอังกฤษ'
       
       สำหรับเกณฑ์ในการประเมินว่าใครคือดอกเตอร์กำมะลอ หรือดอกเตอร์ตัวจริงนั้น ดร.สมเดช ให้มุมมองว่า ถ้าเรียนปริญญาเอกจบภายใน 2 ปี ไม่ใช่ดอกเตอร์ตัวจริงอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศ ก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา 4 ปีขึ้นไป เพราะคำนิยามของดอกเตอร์ คือ นักปรัชญา ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้ง ผู้ที่สร้างสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกใบนี้ เป็นความคิดที่ไม่เคยมีมาในโลก เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ซึ่งการที่จะทำได้แบบนี้ต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือไม่ใช่น้อย เพื่อกลั่นองค์ความรู้ให้ตกตะกอนก่อน และนำมาผ่านขั้นตอนการวิจัย การศึกษาข้อมูลการวิเคราะห์ พบผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ต้องมีการลงภาคสนาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ใช้เวลาในการทำ 2 ปีอย่างแน่นอน
       
       อย่าง ถ้าไปเรียนที่อังกฤษจะต้องขึ้นสอบป้องกัน (Defence) ท่ามกลางปัญญาชนจำนวนมาก หากข้อมูลที่เตรียมมาไม่พอ หรือตอบคำถามไม่ได้ เทอมหน้าต้องกลับมาสอบป้องกันใหม่ สิ่งที่ทำมาทั้งปีจะล้มเหลวหมดต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แม้แต่ในอเมริกาก็เชื่อว่ามีการกำหนดมาตรฐานตรงนี้อยู่แล้ว
       
       "ถ้าใครจบดอกเตอร์ภายใน 2 ปี มาบอกผมได้เลย เขาเป็นจีเนียสแล้ว คนเก่งๆ ในอังกฤษยังใช้เวลาในการเรียนดอกเตอร์ 3 ปีเลย เขาเป็นเจ้าของภาษาแท้ๆ คนไทยที่เก่งๆ จบ 3 ปีก็มี แต่ถ้าบอกว่า 2 ปีจบไม่ใช่ พวกนี้ดอกเตอร์กำมะลอหมด"
       
       หากอยากรู้ว่าใครคือดอกเตอร์ตัวจริงนั้น ดร.สมเดช ให้คำแนะนำว่า ถ้าเขามาสมัครงานให้สื่อสารกับเขาเป็นภาษาอังกฤษ ให้เขาเขียนเรียงความ (Essay) เรื่องหนึ่ง หรือให้เขานำผลงานวิทยานิพนธ์มาให้ดู สิ่งเหล่านี้ช่วยพิสูจน์ได้ หรือการเช็คกลับไปยังมหาวิทยาลัยที่เขาศึกษา ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีมหาวิทยาลัยใดในไทยทำมาก่อน เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมพี่น้องเพื่อนฝูง จึงไม่มีใครกล้ามาบอกว่าคนนี้เป็นดอกเตอร์กำมะลอ
       
       "ที่ไม่มีใครกล้าพูดตรงนี้ เพราะดอกเตอร์กำมะลอบางคนสนับสนุนคนเหล่านั้นขึ้นตำแหน่งใหญ่ในมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปไม่มีมหาวิทยาลัยใดเช็ก เพราะเชื่อในตัวคนเหล่านี้ มหาวิทยาลัยจะดูแต่ประกาศนียบัตร หน้าที่การตรวจเช็คตรงนี้เป็นเรื่องของ HR แต่ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยต่างจังหวัด มหาวิทยาลัยเล็กๆ หรือเอกชน ฝ่าย HR พูดภาษาอังกฤษไม่เป็นด้วยซ้ำ รัฐมนตรีบ้านเราบางคนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยนับภาษาอะไรกับคนทำงาน HR"
       
       ในขณะที่นักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เข้าศึกษาต่อ มหาวิทยาลัยยังมีการส่งหนังสือตรวจสอบไปยังโรงเรียนของเด็กว่าจบมาจริงหรือเปล่า อย่างสวนสุนันทาเด็ก 2,000 กว่าคนมีการส่งหนังสือไปเช็กได้ แต่กับตัวอาจารย์ไม่กล้าเช็ก เพราะเกรงใจเขาแต่ไม่เกรงใจเด็ก
       
       'ฟิลิปปินส์-อินเดีย-อเมริกา'   แหล่งผลิตปริญญาปลอม?
       
       ดร.สมเดช ที่อ้างว่าได้ทุนเรียนปริญญาเอกจาก ก.พ. กล่าวถึงตลาดการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ได้รับการยอมรับในไทยจะเป็นมหาวิทยาลัยจากประเทศอังกฤษ แคนนาดา ออสเตรเลีย ส่วนของอเมริกาก็มีหลายแห่งได้รับการยอมรับ แต่ก็มีอีกหลายแห่งไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากอเมริกาเป็นประเทศเสรี และทุนนิยม การเปิดมหาวิทยาลัยสามารถทำได้ไม่ยากทำให้ที่ผ่านมาอเมริกาเกิดมหาวิทยาลัยห้องแถวจำนวนมาก โดยมหาวิทยาลัยห้องแถวนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งนั้น ในขณะที่อังกฤษไม่สามารถตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบนี้ได้ เพราะเขามีองค์กรตรวจสอบ
       
       การตั้งมหาวิทยาลัยหอแถวไม่เพียงแต่ในอเมริกาเท่านั้นที่สามารถทำได้ แม้แต่ในไทยเองก็สามารถทำได้ เพียงแต่สกอ.ไม่ให้การรับรองเท่านั้นเอง พร้อมระบุแหล่งการผลิตดอกเตอร์กำมะลอว่า มีอยู่ในอเมริกา คือ มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน มหาวิทยาลัยโนอาร์ ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ อินเดีย ก็มีหลายมหาวิทยาลัย ส่วนในอังกฤษไม่มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตดอกเตอร์กำมะลอ ถ้ามีก็จะเป็นมหาวิทยาลัยจากอเมริกาเข้ามาตั้งมากกว่า
       
       สำหรับปริญญาบัตรที่ดอกเตอร์กำมะลอได้มามีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.จากเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้สามารถทำปลอมใบปริญญาบัตร หรือทรานสคริปต์ ขึ้นมาจนเหมือนของจริงมาก แล้วนำหลักฐานปลอมพวกนี้ไปสมัครงานตามสถาบันการศึกษา หรือตามบริษัทเอกชน
       
       "เอาว่าเรื่องนี้เรื่องจริงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เอาวุฒิปลอมมาสมัครเป็นอาจารย์ ใช้ทรานสคริปปลอมด้วย แล้วตรวจสอบเจอต้องไล่ออกเลย ถามว่าที่นี่มีไหม เคยมีอาจารย์อย่างนี้มาสมัคร ผมเช็ค แต่โดยทั่วไปเขาไม่เช็ค เพราะสังคมไทยไว้ใจกัน เอาง่ายๆสมมติมีดอกเตอร์มาสมัครงานที่นี่มีใครจะเอาวุฒิของเขากลับไปถามมหาวิทยาลัยนั้นหรือไม่ ว่าจบจริงหรือเปล่า ผมเชื่อเลยว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยปริญญาเก๊หรือปลอมอยู่ ลองเช็คจริงๆสิรับรองว่าเจอ"
       
       2. ได้มาด้วยการซื้อปริญญาบัตร โดยความเชื่อส่วนตัวของ ดร.สมเดช คาดว่าปริมาณของคนที่ซื้อปริญญาบัตรมามีประมาณ 1% ของจำนวนอาจารย์ทั้งหมดในไทยถือว่าเป็นจำนวนที่มากหรือบางคนเอางานวิจัยของคนอื่นมาแปลแล้วอาจารย์ที่ปรึกษาให้ผ่าน โดยไม่มีการตรวจสอบว่าวิทยานิพนธ์นี้เป็นของคนอื่น
       
       3. ได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยที่ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ไม่ได้รับรอง หรือรับรองบางหลักสูตรเท่านั้น
       
       "มหาวิทยาลัยที่ขายปริญญาเขาไม่ได้ผิดกฎหมายโดยเฉพาะที่อเมริกา เพราะคนซื้ออยากจะซื้อ คนขายก็ทำออกมาขาย ยังมีการขายในเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย มีประโยคหนึ่งที่คนในวงการศึกษาชอบพูด คือ แมวสีอะไรก็จับหนูได้ เรียนดอกเตอร์ที่ไหนก็เหมือนกัน"
       
       สำหรับปริมาณการเกิดดอกเตอร์กำมะลอนั้นจะเกิดในประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เพราะประเทศพัฒนาเขาไม่ได้สนใจการเรียนดอกเตอร์ แต่คนไทยเชื่อฟังคนที่เป็นดอกเตอร์ ถ้าไม่จบดอกเตอร์ไม่ค่อยมีคนสนใจ นอกจากนี้ นักศึกษาทุนหากเรียนไม่จบเขาจะต้องกลับมาชดใช้ทุน บางคนจึงเลือกซื้อปริญญาบัตรหรือเรียนในมหาวิทยาลัยที่จบง่ายๆ แทน แต่ถ้าเป็นนักศึกษาทุนของก.พ.ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องให้ส่งผลการเรียนให้ก.พ.ทราบตลอด ดังนั้น ก.พ.จะเป็นตัวช่วยกรองคุณภาพของดอกเตอร์ระดับหนึ่ง
       
       ดร.สมเดช ยังได้ให้เหตุผลที่ทำให้มหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์และอินเดียเป็นแหล่งผลิตปริญญาปลอม เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี เขาอยากได้ค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติ เช่น ค่าเรียนปริญญาเอกที่ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 3 ล้านบาท อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะได้ 40% ดังนั้น ถ้าอาจารย์ให้นักศึกษาผ่านง่ายๆ เขาก็จะได้เงินมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวเกิดขึ้นมาตลอดในช่วง 5 ปีมานี้และเพิ่มปริมาณที่มากขึ้น
       
       โดยความรู้ที่ดอกเตอร์เหล่านี้ได้มาเป็นความรู้ที่ไม่สามารถนำมาพัฒนาประเทศของตัวเองได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้เขาก็ไม่สนใจ เพราะไม่ใช่ประเทศของเขา ในความคิดของตนเองแล้วอยากจะสนับสนุนให้คนไทยเลือกเรียนในไทยแทน อย่างน้อยอาจารย์คนไทยก็อยากจะเห็นคนไทยได้ดี แต่ประเทศอื่นเขาไม่มาสนใจเรื่องนี้
       
       แตกไลน์ดอกเตอร์  ปั้นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
       
       นอกจากกระบวนการขายปริญญาบัตรแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอเมริกาพยายามออกหลักสูตรปริญญาเอกที่เป็นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่าง ดอกเตอร์ด้านธุรกิจ, ดอกเตอร์ด้านการศึกษา เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้นักวิชาการต้องหาจุดขายใหม่ๆ ของหลักสูตร หลักสูตรเฉพาะที่ผลิตขึ้นมาใหม่นี้เขาหากินกับนักธุรกิจ เพราะนักธุรกิจไม่อยากจะทำวิจัย แต่อยากจบดอกเตอร์
       
       "อเมริกามองว่าหลักสูตรแบบนี้ขายได้ ลูกค้าพอใจจะซื้อก็ทำขาย คุณภาพมีไม่มีไม่ใช่เรื่องของเขา อย่าง คณะของผมก็มีการเปิด BBA เพราะเราเอาต้นแบบมาจากอเมริกา แต่ของเราใช้เวลาเรียน 3 ปี มหาวิทยาลัยในไทยไปรับวัฒนธรรมอเมริกามาก เรามองการศึกษา คือ การค้า หลักสูตรจะอยู่รอดต้องสร้างแบรนด์ตัวเอง ต้องทำสินค้าให้หลากหลาย ตอบสนองตลาด"
       
       หากนำระบบการศึกษาแบบอังกฤษเข้ามาจะไม่เหมาะสมกับคนไทย เพราะการศึกษาแบบอังกฤษเป็นการเรียนแบบไม่มีเวิร์คคอร์ส นักศึกษาจะต้องค้นคว้า วิจัย ศึกษาด้วยตัวเอง แล้วนำข้อมูลขึ้นสอบป้องกันซึ่งคนไทยไม่คุ้นเคยกับระบบนี้แต่คุ้นกับระบบอเมริกา
       
       อย่างไรก็ดี ในมุมมองของ ดร.สมเดช ซึ่งเป็นนักวิชาการที่จบปริญญาเอกมาอย่างถูกต้องนั้น มองว่า ดอกเตอร์ที่ไม่ได้ทำวิจัยถือว่าเรียนจบปริญญาเอกคนละระดับ จะมาบอกว่าเรียนง่ายกว่าแล้วเป็นดอกเตอร์ไม่ถูกต้อง


ดร.กำมะลอระบาดเผยแหล่งปริญญาไม่ถึงขั้น      


 
      'ไทย' แหล่งใหม่  ผลิต-ขายปริญญาปลอม
       
       ดร.สมเดช ยังได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการศึกษาของไทยในอนาคตว่า ไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นเหมือนกับฟิลิปปินส์ และอินเดีย คือมีการขายปริญญาบัตร เห็นได้จากมหาวิทยาลัยบางแห่งที่เปิดหลักสูตร MBA Exclusive เขาไม่ได้มองว่าคนมาสมัครเกรดเท่าไร แต่ถามว่ารายได้เท่าไร มีเงินเรียนหรือไม่
       
       "ตอนนี้การศึกษาไทยมันเละมาก ปริญญาโทไม่มีคุณภาพเหมือนกับในอดีตแล้ว มีแต่ทำ IS (รายงานส่วนบุคคล) ไม่มีทำวิทยานิพนธ์เลย หรือถ้ามีวิทยานิพนธ์ที่ทำกันออกมาก็ซ้ำๆ กันไปหมด ลอกกันเลยก็มี อาจารย์ก็ไม่มีเวลาตรวจ ไม่มีเวลาไปอ่านวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยอื่นก็ไม่รู้เด็กลอกใครมา พอวันหลังจับได้ว่าเขาลอกมาก็ไม่กล้าขอปริญญาคืน กลัวคนเขาว่าอาจารย์ตรวจไม่ดีเอง ก็ต้องหาข้ออ้างยังไงก็ได้ให้วิทยานิพนธ์นี้เป็นวิทยานิพนธ์ที่ดี"
       
       อย่างไรก็ดี ในส่วนของปริญญาเอกยังนับว่าไม่เละเหมือนกับปริญญาโท เนื่องจากอาจารย์ไทยมีอีโก้มาก มองว่าตัวเองเรียนมายากก็ไม่อยากให้คนอื่นจบง่ายๆ
       
       ป.เอก 'มรภ.สวนดุสิต'  สร้างนิยาม "จ่ายครบจบแน่"
       
       สำหรับหลักสูตรปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ที่สร้างโดย รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Management Program) เมื่อ 5-6 ปีก่อน จนเกิดปรากฎการณ์คนไทยแห่เรียนดอกเตอร์อย่างล้นหลาม
       
       เนื่องจากหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรปริญญาเอกแรกของไทย เพราะที่ผ่านมาปริญญาเอกในไทยส่วนใหญ่จะเป็นปรัชญาดุษฎีบัณฑิตซึ่งมักเน้นในเรื่องของการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเชิงวิชาการ ที่สำคัญเปิดกว้างสำหรับผู้เรียนที่ไม่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ เพราะมองว่าคนไทยเก่งๆ มีมาก แต่มีจุดอ่อนด้านภาษา
       
       นอกจากนี้ ยังเน้นการให้นักศึกษาสามารถเรียนจบได้ภายในเวลาที่กำหนด โดยโครงการจะเร่งรัดในเรื่องของการค้นหาหัวข้อวิจัย ทำอย่างไรให้สอบหัวข้อให้ผ่าน วิธีการนำเสนอดุษฎีนิพนธ์แต่ละขั้นตอน ทั้งมีวิธีการเรียนการสอนแบบบล็อกคอร์ส คือการให้ผู้เรียนเรียนจบไปทีละวิชาภายในเวลาที่กำหนด ซึ่ง รศ.ดร.เสรีมองว่าการที่ช่วยนักศึกษาแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าหลักสูตรจะการันตีว่าต้องจบแน่นอน แต่หลักสูตรใส่ใจผู้เรียนมากกว่า จนกล้าพูดได้ว่า ถ้าผู้เรียนทำตามที่ชี้แนะก็เรียนจบ แต่ถ้าไม่ทำตามก็ช่วยไม่ได้
       
       อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวในแวดวงการศึกษาได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ว่า หลักสูตรของรศ.ดร.เสรีนั้น สกอ.ไม่ได้รับรองวุฒิให้กับบัณฑิตทุกคน แต่รับรองเป็นรายบุคคล เพราะมองว่าหลักสูตรไม่มีคุณภาพ โดยดูจากเนื้อหาการสอน ผลงานวิจัย ตำรา การทำวิทยานิพนธ์ ฯลฯ ทำให้คนเหล่านี้เข้ารับราชการไม่ได้แต่บางคนก็ไม่สนใจ เพราะไปสมัครทำงานกับเอกชนแทน โดยขณะนี้มีการฟ้องร้องกันอยู่กับศาลปกครอง
       
       "หลักสูตรของ รศ.ดร.เสรีเป็นจุดที่ทำให้เห็นภาพปริญญาเอกเป็นธุรกิจ ซื้อขายกันได้ เพราะเขาเป็นนักการตลาดคนดัง คนสนใจมาเรียน 200-300 คน มหาวิทยาลัยต่างประเทศรับปริญญาเอกเขารับแค่ 10 คนต่อปีเอง ก่อนจะเรียนต้องบอกหัวข้อวิทยานิพนธ์ก่อน แต่หลักสูตรนี้ไม่ต้องบอกว่าจะทำหัวข้อใดก็เรียนได้เลย"
       
      ปั้น"ดอกเตอร์"  ไม่ง่ายอย่างที่คิด
       
       เดิมทีนั้นกว่าใครสักคนจะคว้าปริญญาเอกมาครอบครองได้นั้น ต้องทั้งเรียนทั้งอ่านจนเลือดตาแทบกระเด็น ต้องคนมีมันสมองระดับเกินคนธรรมดาถึงจะสามารถเรียนได้ ทำให้แทบทุกคนต่างศรัทธา เชื่อมั่นว่าคนที่เก่ง เรียนมาก รู้มาก รู้ลึก รู้กว้าง คือคนที่น่าเชื่อถือ ทุกคนต่างให้การยอมรับนับถือทันทีแม้จะยังไม่ทันได้เอื้อนเอ่ยคำใดๆออกมา แม้ในปัจจุบันความเชื่อที่ว่านี้ก็ยังติดอยู่ในความคิดของคนอีกหลายต่อหลายคน
       
       เดิมทีอีกเช่นกันว่าสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยและกระทรวงศึกษาธิการต่างรู้เรื่องนี้ดี จึงจัดการสนองความต้องการของผู้บริโภคเหล่านี้ โดยมีโครงการผลิตนักวิชาการระดับปริญญาเอกออกมา ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แบบไม่มีเจตนาร้ายหรือหลอกต้มแต่อย่างใด
       
       ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการคุมครองผู้บริโภค(สคบ.) ต่างไม่มีความรู้ที่จะเข้าไปคุ้มครองผู้บริโภค ปล่อยให้ทบวงฯทำหน้าที่โดยตรงก็เพียงกำหนดมาตรฐานไว้ในแผ่นกระดาษเท่านั้น โดยไม่มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมดีเท่าที่ควร ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเรียนเอง ทั้งที่ประชาชนก็ไม่มีความรู้ข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินความถูก-ผิดได้ สอดคล้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ไม่ออกมาให้ความจริงต่อสังคม
       
       ที่ผ่านมามีการเปิดสอนระดับปริญญาเอกจากหลายประเทศ ทั้งอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา บางแห่งก็มีเข้ามาผลิตในไทย ทั้งที่เข้ามาแอบเปิดหลักสูตรตามโรงแรม ตามสถาบันการศึกษา โดยมีคนไทยเป็นนายหน้าชักจูงเข้ามาเรียน ขณะเดียวกันก็มีบางแห่งมาในรูปความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาไทยทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งที่สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฏ  
       
       ว่ากันว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นดอกเตอร์มักจะมีมากมายมหาศาล สังเกตได้จากปัจจุบันหากวิทยาลัยและสถาบันต่างๆต้องการเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัยนั้น สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีอาจารย์ปริญญาเอกอยู่ในอัตราร้อยละ 3 ต่อจำนวนนักศึกษา
       
       แม้จะเป็น ดร.จริงบ้าง เก๊บ้าง ถ้าทบวงฯไม่มีการทักท้วง ก็สามารถขอเปลี่ยนประเภทจากวิทยาลัยเป็นสถาบัน และจากสถาบันเป็นมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งทุกแห่งอยากมีคำนำหน้าเป็นมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น เนื่องจากได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและนักศึกษามากกว่า
       
       ขณะเดียวกันการมี ดร. นำหน้าจะมีรายได้จากการสอนหลักสูตรปริญญาโทและเอกมากขึ้น เพราะสามารถสอนระดับดังกล่าวได้ อัตราค่าจ้างสอนก็จะสูงขึ้นตามในบัณฑิตวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในแต่ละภาคเรียนจะสามารถทำเงินนับแสนบาทเลยทีเดียว เช่น อัตราค่าสอนหากมี "ดร." นำหน้าจะเพิ่มขึ้นจากหลักพันต้นๆ ไปเป็น 2 พัน 5 พันถึง 1 หมื่นบาท ส่วนจะแพงมากหรือน้อยขึ้นกับชื่อเสียงของวิทยากรท่านนั้น และค่าเล่าเรียนของแต่ละหลักสูตรด้วย นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันตามไปด้วยเช่นกัน เช่น รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์จะอยู่ที่ 3 พัน- 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์จะอยู่ที่ 2 - 5 หมื่นบาทต่อเทอม
       
       ที่สำคัญสามารถยกระดับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาปริญญานิพนธ์ได้ ส่งผลทำให้มีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และการค้นคว้าอิสระ ซึ่งเชื่อกันว่าปริญญานิพนธ์ 1 เรื่องจะได้รับเงินค่าที่ปรึกษาประมาณกว่า 10,000 บาทขึ้นไป และดอกเตอร์หนึ่งคนสามารถเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาปริญญาโทและเอกได้รุ่นละ 5 คน (ที่ปฏิบัติกันอยู่ไม่เกิน 5 รุ่น) การค้นคว้าอิสระ 10 คน รายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน
       
         หากเรียนจบถึงระดับดอกเตอร์แล้วตำแหน่งอธิการบดีจึงไม่ไกลเกินเอื้อมแถมมีคนเชื่อถือ ทำให้มีหน้าตาในสังคมสามารถเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีอย่างมีศักดิ์ศรี


ที่มา : ผู้จัดการ 360 : รายสัปดาห์


อัพเดทล่าสุด