จัดฟันสวย...แบบเจ็บๆ


2,097 ผู้ชม


จัดฟันสวย...แบบเจ็บๆ

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของนิตยสารหมอชาวบ้าน และ วิชาการ.คอม
URL : https://www.doctor.or.th




เจ็บๆ ในที่นี้หมายถึงสวยแบบบาดใจ แต่ถ้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจจะกลายเป็นเจ็บตัวและเจ็บใจไปเลยก็ได้
ทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นวัยรุ่น หนุ่มสาว และคนทำงานทั่วไปมีอะไรแว๊บๆ แปลกปลอมอยู่ในปากสารพัดสี ไม่ว่าจะเป็นสีเงินจากเหล็ก สีชมพู แดง เขียว ขาวจากยางตรงบริเวณฟัน เป็นต้น
นักเรียน นักศึกษา ในหลายสถาบันจะเป็นมีกลุ่มฟันเหล็ก ฟันสารพัดสีจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ใส่เพื่อสุขภาพ และใส่เพื่อแฟชั่น
จัดฟันสวย...แบบเจ็บๆ
สำหรับชาวต่างประเทศ ไม่ได้มองการใส่เหล็กหรือวัตถุใดๆ ในปากเป็นสิ่งแปลกประหลาด เพราะว่าในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จะมีคนมากกว่าร้อยละ ๙๐ มีประสบการณ์ในเรื่องนี้กันมาแล้วทั้งนั้น
การใสวัตถุแปลกปลอมที่พูดถึงนี้ ในทางการแพทย์ คือขั้นตอนของการจัดฟัน เชื่อว่าในสมัยคุณปู่ คุณย่า คงจะหาคนที่จัดฟันกันยากสักหน่อย เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.๒๕๔๘ นี้ ซึ่งคงจะมีแต่ฟันสีเข้มจากการกินหมากกินพลูเสียมากกว่า คนในสมัยนี้จึงมีภาษีดีกว่าคนโบราณคือสวยด้วยแพทย์หรือทันตแพทย์จัดฟันนั่นเอง
เรามาทำความรู้จักเรื่องการ “จัดฟัน” เพื่อสุขภาพกันดีกว่าการจัดฟันอาจจะมีอาการเจ็บหรือรำคาญจากเครื่องมือจัดฟันบ้าง โดยเฉพาะวันแรกๆ ของการติดเครื่องมือหรือใส่ลวด แต่ต่อมาก็มักจะชินและอาจจะลืมไปเลยก็ได้ว่ากำลังจัดฟันอยู่โดยเฉพาะเด็กๆ
สำหรับผู้ที่พยายามหาวัตถุแปลกปลอมมาใส่ปากเพื่อแฟชั่นบางรายอาจจะเจ็บตัว เจ็บใจ และได้โรคในช่องปากเป็นของแถมจากแฟชั่นจัดฟันโดยขาดความรู้ความเข้าใจ


การจัดฟันให้ประโยชน์อะไรบ้าง

การจัดฟันเพื่อสุขภาพ มีประโยชน์หลักๆ ดังนี้
๑.  ทำให้มีการบดเคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น
ฟันซ้อนเก ฟันห่าง หรือฟันไม่สบกัน อาจทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด เมื่อกลืนลงไปจึงเพิ่มการทำงานของกระเพาะอาหาร หลังจากจัดฟันแล้วทำให้การบดเคี้ยวดีขึ้น เคี้ยวอาหารได้ละเอียดทำให้รู้สึกอร่อยกับอาหารกระเพาะอาหารก็ทำงานน้อยลง
๒.  ทำความสะอาดง่าย
ฟันที่เรียบสวยไม่ซ้อนเกการแปรงฟันจะง่ายขึ้น ทำความสะอาดง่าย ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคฟันผุ หรือโรคเหงือกและช่วยขจัดความกังวลและเกิดความมั่นใจในเรื่องกลิ่นปากได้
๓.  ฟันสวยงาม
ฟันซ้อนเก ฟันห่างหรือเรียงตัวไม่ดี หลังจัดฟันแล้ว ฟันจะเรียงตัวกันอย่างสวยงาม อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้มีความมั่นใจในการพูดคุย เป็นการเสริมบุคลิกภาพและรอยยิ้มที่ชวนประทับใจ


ควรจัดฟันเมื่อใด

เวลาใดที่ควรจัดฟันนั้นขึ้นกับปัญหาของแต่ละบุคคล อาจเริ่มต้นได้ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความผิดปกติของการสบฟันนั้นๆ และสภาพในช่องปาก
ปกติแล้วฟันแท้ของคนเราเริ่มโผล่ขึ้นมาเป็นซี่แรกโดยไม่ต้องขึ้นแทนฟันน้ำนมเลยคือฟันกรามแท้ซี่แรกในช่วงอายุ ๖ ขวบหลังจากนั้น คือช่วยอายุ ๗-๘ ขวบ ฟันแท้หน้าล่างจะค่อยๆ ขึ้นแทนฟันน้ำนม ตามด้วยฟันแท้หน้าบนและจะทยอยกันขึ้นอย่างที่เราเรียกว่ามีการผลัดฟัน
ถ้าหากมีการขึ้นของฟันที่ไม่ถูกต้องเช่นฟันน้ำนมถูกถอนไปก่อนกำหนด หรือ ฟันน้ำนมไม่ยอมหลุดทำให้ฟันแท้ขึ้นซ้อนผิดที่ผิดทาง เป็นต้น หรือในผู้ใหญ่ ที่ถูกถอนฟันไปเพราะฟันผุ หากไม่ได้รับการใส่ฟันปลอมก็อาจทำให้ฟันล้มเอียง ห่างหรือซ้อนเกได้ ถ้าตรวจพบว่ามีฟันซ้อนเกมาก มีฟันขึ้นไม่ได้ มีการสบฟันที่ผิดปกติ หรือขากรรไกรไม่สมดุลจึงควรพบทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อรับการตรวจและคำแนะนำ
ความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นในเด็กเล็ก เช่น ขากรรไกรบน-ล่างไม่สมดุลกัน ฟันหน้าล่างคร่อมฟันหน้าบน อาจเริ่มรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันความผิดปกติที่จะมีมากขึ้น ในขณะที่ยังมีการเจริญเติบโตของในหน้าและขากรรไกร การจัดฟันในเด็กเล็กจะเป็นการใส่เครื่องมือเพื่อกระตุ้นให้การเจริญเติบโตของขากรรไกรบนและล่างได้สัดส่วน
เด็กบางรายที่มีความเคยชินบางอย่าง เช่น ดูดนิ้ว แกะเล็บ กัดริมฝีปาก หายใจทางปากเป็นประจำ หรือมีการกลืนที่ผิดปกติ อุปนิสัยเหล่านี้จะมีผลต่อการเรียงตัวของฟัน หรืออาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของใบหน้าและขากรรไกรที่ผิดปกติ ทำให้ต้องมารับการจัดฟันเร็วขึ้น เพื่อป้องกันหรือแก้ไขความผิดปกติเหล่านั้น
จะเห็นได้ว่าอายุไม่ใช่ตัวกำหนดว่าควรจัดฟันที่อายุเท่าใด อย่างไรก็ตามกรณีเด็กที่มีปัญหาขากรรไกรจัดฟันในเด็กผู้ชายคือ ๑๓-๑๔ ปี และในเด็กผู้หญิงคือ ๑๑-๑๒ ปี เนื่องจากจะเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีการเจริญเติบโตของขากรรไกรสูงสุด หรืออาจจะให้ทันตแพทย์จัดฟันดูได้ ตั้งแต่จากระยะที่มีทั้งฟันแท้และฟันน้ำนมอยู่เพื่อประเมินช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าเด็กมีความผิดปกติที่ฟันอย่างเดียว ก็อาจรอให้เด็กมีอายุมากขึ้นจนมีฟันแท้ขึ้นครบเป็นต้น


จัดฟันสวย...แบบเจ็บๆ
ผู้ใหญ่จัดฟันได้หรือไม่

อายุไม่ใช่ข้อห้ามสำหรับการจัดฟัน สุขภาพของฟันและช่องปากต่างหากที่เป็นตัวบ่องชี้ ผู้ใหญ่วัย ๓๐ ปี ๔๐ ปี สามารถจัดฟันได้แต่ต้องมีการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดี
ผู้ใหญ่บากคนต้องจัดฟันอันเนื่องมาจากการถูกถอนฟันออกไปเป็นระยะเวลานานๆ แล้วไม่ได้ใส่ฟันปลอม ทำให้ฟันที่อยู่ข้างเคียงกับซี่ที่ถูกถอนไปล้มเข้าไปในช่องว่างของฟันที่หานไป เมื่อจะใส่ฟันก็ใส่ไม่ได้ ต้องจัดฟันโดยตั้งฟันที่ล้มขึ้นเพื่อจะได้ใส่ฟันได้ หรือบางคนมีฟันซ้อนเกและทำความสะอาดไม่ดีเท่าที่ควรจนเริ่มเป็นโรคเหงือกและได้รับการแนะนำให้มาจัดฟัน เป็นต้น
การจัดฟันในผู้ใหญ่จะต่างจากการจัดฟันในเด็ก เนื่องจากการจัดฟัน คือ การเคลื่อนฟันจากตำแหน่งเดิมที่ฟันเคยอยู่ ดังนั้นการเคลื่อนฟันในเด็กจะง่ายกว่าเร็วกว่าเนื่องจากเด็กจะมีกระบวนการทำลายกระดูกและสร้างกระดูกได้ดี แต่ในผู้ใหญ่กระบวนการสร้างกระดูกจะช้ากว่าเดิม เพราะฉะนั้นการจัดฟันในเด็กถ้าทำได้จะดีกว่าการจัดฟันในขณะเป็นผู้ใหญ่ ผลที่ได้จากการจัดฟันก็จะอยู่ตัวมากกว่าในผู้ใหญ่
นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขโครงสร้างของขากรรไกรที่ไม่สมดุล เช่น ขากรรไกรบนยื่นขากรรไกรเล็ก หรือขากรรไกรล่างยื่นการจัดฟันชนิดที่ต้องเลื่อนหรือกระตุ้นขากรรไกรให้โตช้าหรือเร็วทำได้เฉพาะตอนเป็นเด็กในขณะที่ยังมีการเจริญเติบโตของใบหน้าและขากรรไกรเท่านั้น ในผู้ใหญ่ทำไม่ได้เพราะไม่มีการเจริญเติบโตมาช่วยแล้วการจัดฟันในผู้ใหญ่ที่มีขากรรไกรบนและล่างไม่สมดุลหรือเป็นความผิดปกติที่โครงสร้างใบหน้าและขากรรไกรจึงต้องมีการผ่าตัดเข้ามาร่วมด้วย


ทำไมต้องถอนฟันเพื่อจัดฟัน

การจัดฟันอาจจะมีการถอนฟันบางซี่ร่วมด้วยในกรณีที่มีฟันซ้อนเก ฟันยื่น หรือกรณีขากรรไกรบนและล่างผิดปกติ  
การถอนฟันจะทำให้มีที่ว่างเพียงพอสำหรับการแก้ไขความผิดปกติได้ ในบางรายอาจมีฟันเกหรือยื่นทั้งบนและล่างจึงจำเป็นจะต้องถอนฟันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฟันกรามน้อยซี่แรกซ้ายขวาของขากรรไกรบนและล่างรวม ๔ ซี่ และใช้ช่องว่างจากการถอนฟันเพื่อมาขยับฟันที่เกอยู่ให้เรียบได้อย่างไรก็ตามฟันที่จะถอนอาจเป็นฟันซี่อื่นได้ ขึ้นกับดุลพินิจของทันตแพทย์จัดฟันและสภาพปัญหาในช่องปากและทันตแพทย์จัดฟันจะปิดช่องที่เกิดจาการถอนฟันโดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม


ข้อนตอนก่อนการจัดฟัน
๑.  ทันตแพทย์จัดฟันจะซักถามถึงเหตุผลในกาจัดฟันของผู้ป่วยเพื่อประเมินประกอบกับการตรวจในช่องปากโดยดูด้วยตาเปล่า และแจ้วขั้นตอนการรักษาคร่าวๆ ให้ผู้ป่วย
๒.  หากผู้ป่วยสนใจที่จะรับการรักษา ทันตแพทย์จัดฟันจะซักประวัติโรคประจำตัว เอกซเรย์ฟัน กระดูกขากรรไกร และใบหน้า พิมพ์ฟัน ถ่ายรูปฟัน และใบหน้าของผู้ป่วยเพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างละเอียด และเพื่อเก็บไว้เปรียบเทียบผลก่อน-หลังการรักษา
๓.  ทันตแพทย์จัดฟันจะอธิบายแผนการรักษา ทางเลือกประเมินระยะเวลา ผลข้างเคียงของการจัดฟันและค่าใช้จ่ายตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้ป่วย และผู้ปกครอง (กรณีผู้ป่วยเด็ก) ได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ
๔.  ก่อนการจัดฟันหากผู้ป่วยมีฟันผุฟันคุด หรือเหงือกอักเสบจะต้องทำการอุด ถอน และรักษาโรคเหงือกให้เรียบร้อยเสียก่อน


ระยะเวลาการจัดฟัน

ระยะเวลาของการจัดฟันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหาตลอดจนการเจริญเติบโตของผู้ป่วยรวมถึงความร่วมมือของผู้ป่วยด้วยโดยปกติการจัดฟันในเด็ก จะใช้เวลาประมาณ ๒ ปี หรือเร็วกว่าส่วนผู้ใหญ่อาจใช้เวลา ๒-๓ ปีโดยเฉลี่ย
หลังจัดฟันเสร็จแล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟันเพื่อมิให้ฟันที่เรียงตัวสวยงามนั้นเคลื่อนกลับสู่สภาพเก่า จึงต้องทิ้งระยะเวลาให้ฟันนั้นมีการปรับสภาพในตำแหน่งใหม่นั้นๆ โดยระยะเวลาในการใส่เครื่องมือคงสภาพฟันนั้น ทันตแพทย์จัดฟันจะให้คำแนะนำเป็นรายๆ ไป โดยปกติถ้ายังสามารถใส่เครื่องมือคงสภาพฟันได้เรื่อยๆ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าฟันยังไม่เคลื่อนหรือซ้อนเกกลับไปอีก


การจัดฟันประสบความสำเร็จได้อย่างไร

ความสำเร็จในการจัดฟันได้ได้ขึ้นกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยู่ที่ความร่วมมือของผู้ป่วย และทันตแพทย์จัดฟัน ความร่วมมือของผู้ป่วยจัดฟันคือ
๑.  แปรงฟันและเครื่องมือจัดฟันให้สะอาด เศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่หมักหมม อาจทำให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ (โรคปริทันต์) ฟันด่าง และทำให้มีกลิ่นปาก
๒.  ลดอาหารประเภทกรอบ แข็ง เหนียว เพราะจะทำให้เครื่องมือจัดฟันหลุดง่าย ทำให้การจัดฟันเสร็จช้า
๓.  ความร่วมมือของผู้ป่วยในการใส่ยางคล้องฟัน หรือเครื่องมือเสริม จะช่วยทำให้ผลการรักษาเป็นไปตามที่คาดไว้
๔.  ควรไปพบทันตแพทย์จัดฟันเพื่อปรับเครื่องมือตามนัด การผิดนัดทำให้การจัดฟันไม่ประสบผลที่ดี


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการจัดฟันได้แก่
๑.  การแปรงฟันไม่สะอาด จะทำให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ และเกิดฟันด่างขาวได้
๒.  การเจริญเติบโตของขากรรไกรดีหรือไม่ ขึ้นกับกรรมพันธุ์เป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ยากแก่การควบคุม ดังนั้นแม้ว่าจะมีการวางแผนการรักษาอย่างละเอียด รอบคอบ การจัดฟันก็อาจไม่สามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้
๓.  สำหรับฟันซี่ที่เคยได้รับอุบัติเหตุมาก่อน อาจมีรอยร้าวที่มองไม่เห็น ฟันที่ผุมาก หรือฟันที่มีวัสดุอุดลึกอาจจะมีรอยทะลุโพรงประสาทแล้ว แต่ยังไม่เกิดอาการเคลื่อนฟันอาจทำให้ฟันเหล่านี้ปรากฏอาการขึ้น เช่น ปอด หรือเปลี่ยนสี กรณีนี้การรักษาคลองรากฟันเป็นสิ่งจำเป็น
๔.  การละลายตัวของรากฟันอาจเกิดขึ้นได้ โดยทั่วๆ ไปปลายรากฟันอาจสั้นลงเล็กน้อยระหว่างหรือหลังการจัดฟัน
๕.  การจัดฟันไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการเกิดปัญหาข้อต่อขากรรไกร อย่างไรก็ตาม หากเคยมีประวัติปวดข้อต่อขากรรไกร หรือขากรรไกรค้าง ควรแจ้งให้ทันตแพทย์จัดฟันทราบทันที


เครื่องมือที่ใช้จัดฟันมีกี่แบบ
เครื่องมือที่ใช้จัดฟันมี ๒ แบบ คือ ชนิดถอดได้ และชนิดติดแน่น
๑.เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้  ผู้ป่วยสามารถถอดออกเองได้ มี ๒ ชนิด คือ ใช้เคลื่อนฟัน และใช้เคลื่อนตำแหน่งของขากรรไกร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโต
ข้อดี สามารถถอดออกได้ขณะกินอาหารและขณะแปรงฟันการดูแลทำความสะอาดฟันทำได้ง่ายกว่าเครื่องมือชนิดติดแน่น
ข้อเสีย เครื่องมือจะทำงานเมื่อเครื่องมืออยู่ในปากเท่านั้น แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ใส่ การจัดฟันจะไม่ได้ผล นอกจากนี้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้จะใช้ได้เฉพาะการเคลื่อนฟันอย่างง่ายจึงไม่เหมาะที่จะใช้ในรายที่มีฟันซ้อนเกหลายๆ ซี่
๒. เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น
เครื่องมือชนิดนี้จะติดแน่นกับตัวฟัน ซึ่งอาจจะเป็นสเตนเลส (สีโลหะ) หรือเซรามิก (สีฟัน) โดยผู้ป่วยไม่สามารถถอดเครื่องมือชนิดนี้ออกเองได้ เครื่องมือชนิดนี้จะใช้เมื่อต้องการเคลื่อนฟันหลายๆ ซี่พร้อมกัน ผู้ป่วยจะกินอาหารโดยมีเครื่องมือชนิดนี้อยู่ในปากด้วย


การแปรงฟันขณะจัดฟัน

การจัดฟันด้วยเครื่องมือชนิดติดแน่นจะทำให้การทำความสะอาดฟันยุ่งยากกว่าปกติ เนื่องจากจะมีเศษอาหารเกาะติดได้ง่าย ถ้าไม่พิถีพิถันในการทำความสะอาดฟันอาจเผลอยิ้มโดยมีเศษอาหาร เช่น ผักติดอยู่ที่ฟันและเครื่องมือได้
การแปรงฟันเพื่อสุขภาพของช่องปากขณะจัดฟันขึ้น อาจใช้แปรงสีฟันธรรมดา หรือแปรงสีฟันสำหรับจัดฟันซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีร่องตรงกลางก็ได้นั่นคือ วางร่องแปรงทับไปบนเครื่องมือจัดฟัน แล้วหมุนแปรงเป็นวงกลม หมุนซ้ำแล้วซ้ำอีก ในบริเวณขยับแปรงไปมาเบาๆ โดยแปรงซ้ำที่เดิมซี่ละประมาณ ๖ ครั้ง ซึ่งถ้าจะให้แปรงได้สะอาดทั้งปาก ควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๓ นาที นอกจากนี้อาจต้องใช้แปรงซอกฟันหรือไหมขัดฟันช่วยเสริมเพื่อให้มั่นใจว่าได้กำจัดเศษอาหารจากบริเวณซอกฟันได้หมด
ถ้าผู้ป่วยแปรงฟันได้ดีในระหว่างการจัดฟันเวลาจัดฟันเสร็จถอดเครื่องมือออก ฟันก็จะขาวสดใสเหมือนเดิม แต่ถ้าแปรงฟันไม่ดีพอ ฟันก็จะผุได้ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ใส่เครื่องมือจัดฟันอยู่ควรจะตั้งใจดูแลฟันให้สะอาดแปรงอย่างน้อยวันละ ๓ ครั้ง และแปรงให้ได้ทุกครั้งหลังกินอาหารก็ยิ่งดี


การจัดฟันจำเป็นจะต้องเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางหรือไม่
จำเป็นมาก เนื่องจากทันตแพทย์จัดฟัน คือทันตแพทย์ที่เรียนมาเฉพาะทางจัดฟัน นั่นคือหลังจากจบปริญญาทางทันตแพทย์แล้ว จะต้องเรียนต่อด้านทันตกรรมจัดฟันเฉพาะทางอีกประมาณ ๓ ปี ได้วุฒิบัตรทางทันตกรรมจัดฟัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความรู้ ความสามารถที่จะจัดฟันให้ผู้ป่วยได้ผลดีที่สุด ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจ จัดฟันควรมีการซักถามหรือสืบประวัติของทันตแพทย์ที่จะให้การรักษาเราซะหน่อย ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้นว่าจะไม่เจ็บด้วยและเจ็บฟรีแน่


ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดฟัน

การจัดฟันด้วยเครื่องมือติดแน่น ใช้เวลาประมาณ ๒ ปี โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของปัญหา การเจริญเติบโตของขากรรไกรผู้ป่วย รวมถึงความร่วมมือของผู้ป่วย เพราะการจัดฟันต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นหลัก การรักษาความสะอาดของฟัน การดูแลเครื่องมือจัดฟัน และการใส่ยางดึงฟันตามที่แพทย์จัดฟันแนะนำ เป็นต้น
สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดฟัน ก็ขึ้นกับความรุนแรงของปัญหา รวมถึงชนิดของเครื่องมือจัดฟันที่ใช้ ระยะเวลาในการรักษาและสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการ
โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๕,๐๐๐-๓๕,๐๐๐ บาท ในโรงพยาบาลของรัฐ และอาจจะสูงกว่านี้ตามคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน


แฟชั่นจัดฟัน ปลอดภัยหรือไม่
การจัดฟันในปัจจุบันถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง จะเห็นได้ว่าวัยรุ่นสมัยนี้อยากที่จะจัดฟันมากขึ้น บางคนมาพบทันตแพทย์เพราะต้องการให้ติดเครื่องมือจัดฟัน
แต่การทำเป็นแฟชั่นแบบเป็นเครื่องประดับนั้นไม่ควรทำเพราะอาจเกิดโทษ ถ้าดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีพอ
สำหรับบางคนที่ไปซื้อลวดจัดฟันแฟชั่นแบบร้อยเป็นลูกปัดที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปนั้น อาจเกิดอันตรายมากขึ้นไปอีกจากลวดที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นสนิม หรือเกี่ยวปากเป็นแผลทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งเป็นเรื่องไร้ประโยชน์และเกิดโทษกับร่างกายด้วย


มารู้จักเครื่องมือทางทันตกรรมจัดฟันชนิดติดแน่น

เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นนี้ผู้ป่วยไม่สามารถใส่และถอดเองได้ ทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้ติดและถอดเครื่องมือออกให้หลังจากจัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว


เครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด
๑.  ติดด้านนอกฟัน
จะมีข้อดีคือ ทำได้เร็วกว่า ผู้ป่วยสบายปากกว่าราคาถูกกว่า และทำความสะอาดช่องปากได้ง่ายกว่าข้อเสียคือจะมองเห็นได้เวลาพูดหรือยิ้ม ดังนั้นผู้ใหญ่ที่อยากจะจัดฟันมักจะไม่ชอบ ก็อาจเลี่ยงเป็นแบบเซรามิกที่สีคล้ายฟันได้
๒.  ติดด้านในฟัน
จะมีข้อดี คือ มองไม่เห็นเวลาพูดหรือยิ้ม ให้ความสวยงาม เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ต้องอาศัยความสวยงามอาชีพการงาน แต่ข้อเสียคือจะมีราคาแพงกว่า ทำความสะอาดได้ยากกว่าโดยเฉพาะบริเวณคอฟันด้านในซึ่งอาจจะต้องให้ทันตแพทย์ช่วยทำความสะอาดให้เป็นระยะๆ นอกจากนี้อาจจะรำคาญหรือเจ็บเพราะโดนลิ้นเป็นประจำเวลาพูดหรือเคี้ยว ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความอดทนและความเคยชินของแต่ละคน


ข้อดีของการจัดฟันชนิดติดแน่น

๑.  สามารถเคลื่อนฟันได้หลายๆ ซี่ หลายๆ ตำแหน่งพร้อมกันในเวลาเดียวกัน
๒.  สามารถแก้ไขการสบฟันผิดปกติทียุ่งยากซับซ้อน
๓.  สามารถเคลื่อนฟันไปในตำแหน่งถูกต้องและแน่นอน
๔.  เครื่องมือติดในช่องปากตลอดเวลา ทำให้อาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยน้อยลง ผลการรักษาก็จะดีกว่าแบบถอดได้ อย่างไรก็ตามแบบติดแน่นมักจะใช้ในกรณีมีฟันแท้ขึ้นครบหรือเกือบจะครบแล้ว เพราะสามารถแก้ไขฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบได้ดีกว่า


ข้อเสียของการจัดฟันชนิดติดแน่น
๑.  ผู้ป่วยอาจรู้สึกรำคาญหรือพูดไม่ชัดในช่วงแรก เนื่องจากมีเครื่องมือติดแน่นอยู่ในช่องปาก
๒.  ทำความสะอาดช่องปากได้ยากกว่าปกติเนื่องจากผู้ป่วยถอดเครื่องมือทำความสะอาดไม่ได้
๓.  ผู้ป่วยยอมรับน้อยกว่าเครื่องมือแบบถอดได้ เพราะผู้ป่วยสามารถถอด-ใส่เครื่องมือแบบถอดได้ในขณะเข้าสังคมได้
๔.  ราคาของเครื่องมือจะแพงกว่าแบบถอดได้


ส่วนประกอบหลักของเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น
๑.  แบร็กเก็ตจัดฟัน (Bracket)
ใช้สำหรับติดที่ผิวเคลือบฟันโดยยึดด้วยวัสดุทางทันตกรรมจัดฟัน หรือติดบนแบนด์จัดฟันเพื่อให้สอดลวดจัดฟัน
๒.  แบนด์ (Band)
แบนด์ทำมาจากโลหะไร้สนิมและยึดติดกับฟันด้วยวัสดุทางทันตกรรมจัดฟัน แบนด์มีประโยชน์โดยใช้ติดแบร็กเกตชนิดมีท่อและตะขอเกี่ยว และ/หรือตัวยึดเกาะอื่นๆ โดยอาจใช้เป็นแบนด์เปล่าหรือเป็นแบนด์ที่ทำสำเร็จรูปให้ความแข็งแรงต่อการเคลื่อนฟันได้ดี เหมาะสำหรับฟันที่ใช้เป็นหลักเพื่อเคลื่อนฟัน๓.  ลาดจัดฟัน (Arch wire)
ทำจากวัสดุไร้สนิม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ยกเว้นผู้ที่อาจมีโรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวกับสารบางชนิดในลวด เช่น นิกเกิล ลวดจัดฟันช่วยในการเคลื่อนฟัน โดยใช้ใส่ในร่องของแบร็กเก็ต และยึดด้วยลวดมัดฟันหรือยางรักฟัน ซึ่งลวดจัดฟันมีอยู่หลายประเภทขึ้นกับจุดประสงค์ในการรักษา
๔.  ลวดมัดฟัน
ใช้ผูกแบร็กเก็ตให้ติดกับลวดจัดฟัน ใช้ในกรณีที่ต้องการความแข็งแรงในการเคลื่อนฟัน ลวดมัดฟันจะมีหางลวดที่ถูกพับซ่อนไว้ด้านข้างของแบร็กเก็ต กรณีที่หางลวดยื่นออกมาจากการแปรงฟันหรือเคี้ยวอาหาร ผู้ป่วยสามารถใช้วัสดุปลายทู่กดพับกลับเข้าไปได้เอง
๕.  ยางรัดฟัน (Alastic ring)
เป็นยางวงเล็กๆ ใช้คล้องลวดจัดฟันให้ติดกับแบร็กเก็ตเพื่อช่วยในการเคลื่อนฟัน ทำจากวัสดุทางธรรมชาติไม่มีอันตรายต่อร่างกาย มีสีต่างๆ เพื่อเพิ่มความสวยงาม ยางรัดฟันควรได้รับการเปลี่ยนเป็นประจำทุกเดือนเนื่องจากอาจเปื่อยและขาดจากการถูกน้ำลายในช่องปากเป็นเวลานานๆ การเคลื่อนฟันจะไม่ได้ผลดี
๖.  ยางจัดฟัน (Elastic band)
เป็นยางซึ่งใช้คล้องที่ขอเกี่ยว เพื่อเคลื่อนฟันระหว่างขากรรไกรหรือภายในขากรรไกรเดียวกัน ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้คล้องเองตามทิศทางและเวลาที่ทันตแพทย์จัดฟันกำหนด และผู้ป่วยควรเปลี่ยนยางเองทุกวันเพื่อให้ได้แรงสม่ำเสมอ
๗.  ยางรัดฟันลูกโซ่ (C-chain)
เป็นยางวงต่อวัน ใช้คล้องกับแบร็กเก็ตเพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟันที่เหลือเล็กๆ น้อยๆ หรือใช้ในการเคลื่อนฟันซี่ใดซี่หนึ่ง
เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้
เป็นเครื่องมือที่สามารถใส่และถอดจากปากโดยผู้ป่วยเองได้ ประกอบด้วย ๓ ส่วน คือส่วนโครงสร้าง ส่วนยึดเกาะ ส่วนให้แรง


ข้อดีของเครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้

๑.  ใช้แก้ไขฟันที่มีการสบผิดปกติเล็กน้อย
๒.  กระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรและส่วนของกระดูกเบ้าฟันได้
 
ข้อจำกัดของเครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้
๑.  เครื่องมือถอดได้ไม่สามารถเคลื่อนฟันหลายๆ ซี่
๒.  การจัดฟันด้วยเครื่องมือชนิดถอดได้ต้องการความร่วมมือของผู้ป่วยในการใสและถอดเครื่องมือตามที่ทันตแพทย์กำหนด เพื่อให้ผลรักษาเป็นไปตามที่ต้องการ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด


ชนิดของเครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้

๑.  Passive appliance คือ เครื่องมือที่ไม่แรงกระทำต่อฟันและกระดูกเบ้าฟันเพื่อต้องการให้ฟันนิ่งอยู่กับที่
เครื่องมือชนิดนี้จะไม่ได้ให้แระกระทำต่อวันผันจุดประสงค์เพื่อคงสภาพฟันไม่ให้เคลื่อนที่ ตัวอย่างของ Passive appliance ได้แก่
-  เครื่องมือคงสภาพฟัน  (Retainer) เป็นเครื่องมือถอดได้ที่ผู้ป่วยใส่หลังจากการจัดฟันสิ้นสุดลงแล้ว เพื่อควบคุมฟันที่เคลื่อนที่ไปนั้นให้คงที่ในตำแหน่งใหม่ที่ต้องการจนกว่าเนื้อเยื่อรอบผันจะมีการปรับตัวเข้ากับตำแหน่งใหม่ของฟันได้
-  เครื่องมือคงสภาพช่องว่าง (Space maintainer) เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ป้องหันการล้มหรือการเคลื่อนของฟัน เพื่อรักษาช่องว่างให้สำหรับฟันแท้ที่จะขึ้นมาในกรณีที่ต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด
-  เครื่องมือกันลิ้น หรือกันการดูดนิ้ว เป็นเครื่องมือที่ใส่ในผู้ป่วยที่มีนิสัยชอบเอาลิ้นมาดุนฟันด้านหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียคือฟันหน้ายื่นหรือเปิด ไม่สบกัน นิสัยการดูดนิ้วจะทำให้ฟันหน้าบนยื่นและฟันหน้าล่างหลุบเข้าไปด้านใน จึงต้องมีเครื่องมือใส่เพื่อคอยเตือนว่าอย่าดันหรืออย่าดูด เป็นต้น


๒.  Functional appliance คือ เครื่องมือที่เน้นการใช้แรงจากกล้ามเนื้อรอบช่องปากและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว เพื่อส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ของผันและกระดูกเบ้าฟัน
เป็นเครื่องมือที่อาศัยแรงจากการทำงานของกล้ามเนื้อรอบช่องปากและใบหน้า และกล้ามเนื้อบดเคี้ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดการเคลื่อนตัวของผัน กระดูกเบ้าฟันและฐานะกระดูก และกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรไปยังตำแหน่งที่ถูกต้อง ดังนั้นเครื่องมือชนิดนี้จะใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยระยะฟันชุดผสมและในช่องที่มีการเจริญเติบโตอยู่
  
๓.  Active appliance คือ เครื่องมือที่มีแรงภายในตัวเครื่องในการเคลื่อนฟัน และกระดูกเบ้าฟัน
เป็นเครื่องมือที่ให้แรงจากส่วนของสปริง สกรูหรือยางในการเคลื่อนฟันโดยทั่วไปมักเรียกว่า Active plate


การรักษาจะได้ผลดีเมื่อ

การจัดฟันจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบร่วมกัน ไม่ใช่เพียงจุดใดจุหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้การจัดฟันสมบูรณ์ตามความต้องการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ
๑.  ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการสวมใส่เครื่องมือเป็นอย่างดี
๒.  ผู้ป่วยเลิกพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดการสบฟันที่ผิดปกติ เช่น กัดเล็บ , ดูดนิ้ว , ลิ้นดุนฟันเวลากลืนน้ำลาย หรือชอบหายใจทางปาก เป็นต้น


การดูแลรักษาเครื่องมือจัดฟัน
๑.  ระหว่างที่ไม่ได้ใส่เครื่องมือ ให้เก็บใส่กล่องที่มีฝาปิด
๒.  ควรแปรงฟันและทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังอาหารและก่อนนอนด้วยยาสีฟันกับแปรงขนนุ่มให้ทั่วทุกด้าน ขณะทำความสะอาดควรมีภาชนะใส่น้ำรองรับกันเครื่องมือหล่นแตก และควรจับเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องมือ ไม่กำเครื่องมือไว้ทั้งชิ้นเพราะจะทำให้บิดเบี้ยวได้
๓.  ไม่เก็บไว้ในห่อกระดาษ หรือใส่ในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกง เพราะอาจลืมทิ้งหรือนั่งทับ ทำให้เครื่องมือเสียหายได้
๔.  หลีกเลี่ยงอาหารแข็ง กรอบ น้ำแข็ง หรือสิ่งแปลกปลอม เช่น กัดปากกา ดินสอ เป็นต้อ


ปัญหาที่เกิดขึ้น

๑.  เมื่อใส่เครื่องมือครั้งแรก อาจมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือตึง ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยควรใส่ต่อไป แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรถอดออกแช่น้ำไว้และกลับมาพบทันตแพทย์
๒.  หากเกิดปัญหาใดๆ กับเครื่องมือ เช่นแตกหัก หลวม หรือคมบาดปาก ให้รีบกลับมาพบทันตแพทย์โดยด่วน


การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด

ทำไมต้องผ่าตัดร่วมกับการจัดฟัน
ผู้ป่วยที่หยุดารเจริญเติบโตแล้วและมีความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกขากรรไกรและใบหน้าที่ไม่สมดุล ทำให้มีการสบผันผิดปกติอย่างมาก และมีผลต่อรูปหน้าที่ไม่ได้สัดส่วน ไม่สวยงาม การจัดฟันอย่างเดียวจึงไม่สามารถแก้ไขได้ต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย ดังนั้นการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด ต้องมีการตรวจที่ละเอียดกว่าปกติเพื่อการวิเคราะห์และวินิจฉัย โดยจะมีการทำงานร่วมกันเป็นทีมระหว่างทันตแพทย์จัดฟันและศัลยแพทย์ผ่าตัดทันตแพทย์จัดฟันจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ ตลอดจนรายละเอียดก่อนการรักษา เนื่องจากจะต้องมีการจัดฟันก่อนเมื่อฟันเรียงตัวได้ตามที่ต้องการ จึงจะแก้ไขโครงสร้างของขากรรไกรด้วยการผ่าตัดในขณะที่ผู้ป่วยยังมีเครื่องมือจัดฟันอยู่

อัพเดทล่าสุด