หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ


1,729 ผู้ชม


หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

สภาพทั่วไปหมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

ประวัติความเป็นมา
 บ้านค่ายเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่หมู่บ้านหนึ่ง  เมื่อครั้งก่อนได้ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา ก่อนที่จะมาตั้งเมืองชัยภูมิโดยเจ้าพ่อพญาแล เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิซึ่งได้รับโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชการที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในพื้นที่บริเวณหมู่บ้านค่ายจะมีแม่น้ำชีที่เป็นแม่น้ำสายหลักมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ในสมัยนั้นการทำงานของเจ้าพ่อพญาแล  จะต้องใช้ช้างเป็นพาหนะสำคัญในการป้องเขตแดนเมืองชัยภูมิและใช้ในการศึกสงคราม  โดยมอบหมายให้ “หมื่นแผ้ว” ออกไปตั้งกองช้างหลวงที่ตำบลกะฮาด  อำเภอเนินสง่า (ในปัจจุบัน)  อยู่ห่างจากชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้ว  ประมาณ 6 กิโลเมตร  มีหน้าที่ในการจับช้างป่ามาเลี้ยงและทำการฝึกเพื่อใช้เป็นยานพาหนะและป้องกันการรุกรานจากข้าศึก
 เมื่อยามศึกสงครามสงบลง  บรรดาทหารส่วนใหญ่ได้ยกทัพกลับภูมิลำเนา หมื่นแผ้วซึ่งเป็นหัวหน้าจึงได้นำพวกพ้องที่เหลืออยู่มาตั้งหมู่บ้านในบริเวณชุมชนบ้านค่ายเพราะเห็นว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก  โดยใช้บริเวณสองฝั่งแม่น้ำชีเป็นแหล่งอาหารของช้าง  จึงเรียกว่า “บ้านหมื่นแผ้ว” ตามชื่อของหัวหน้าค่ายมาจนถึงปัจจุบัน  ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านค่ายหมื่นแผ้ว”  เพราะแถบนี้เคยใช้เป็นค่ายทหารมาก่อนและมีหมู่บ้านต่าง ๆ  ที่จัดตั้งขึ้นมาอยู่ในเขตการปกครองเดียวกันเลียบตามฝั่งแม่น้ำชี  โดยกำหนดชื่อตามลักษณะการไหลของน้ำชี  ได้แก่ บ้านวังก้านเหลือง  บ้านโค้งยางพัฒนา  บ้านท่าหว้า  บ้านโค้งขนัน  บ้านโค้งน้ำตับ บ้านแก้งจิก บ้านกุดเวียน เป็นต้น



สภาพทางภูมิศาสตร์

1. ที่ตั้ง
ชุมชนบ้านค่ายตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ไปทางทิศใต้ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (สีคิ้ว – ชัยภูมิ)  เป็นระยะทางประมาณ 13  กิโลเมตร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีมีอาณาเขต ติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับคลองจอก  ตำบลหนองนาแซง อำเภอเมือง
ทิศใต้  ติดกับแม่น้ำชี เขตตำบลกะฮาด อำเภอเนินสง่า
ทิศตะวันออก ติดกับบ้านโค้งยางพัฒนา  ตำบลบ้านค่าย อำเภอเมือง
ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำชี เขตบ้านวังก้านเหลือง ต.บ้านค่าย
2. พื้นที่
เป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำชี  มีทิศทางไหลของน้ำคดเคี้ยวอยู่รอบหมู่บ้านทางทิศตะวันตกและ
ทิศใต้  ที่ดินของหมู่บ้านและที่นาส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  มีลักษณะเป็นดินตะกอนที่อุดมสมบูรณ์  ตามเขตการปกครองของเทศบาลตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว มีพื้นที่ประมาณ 5,344  ตารางกิโลเมตร  รวมแล้วมี  4  หมู่บ้าน  ดังนี้
1. บ้านค่ายหมื่นแผ้ว   หมู่ที่ 1
2. บ้านวังก้านเหลือง หมู่ที่  2
3. บ้านโค้งยางพัฒนา หมู่ที่ 9
4. บ้านค่ายเจริญ หมู่ที่  10
ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ

 ลักษณะภูมิประเทศ
 เขตพื้นที่ชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้วเป็นที่ราบลุ่มมีน้ำชีและคลองน้ำล้อมรอบ  เหมาะแก่การประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม  ได้แก่การทำนา  การเพาะปลูกพืชผักสวนครัวและพืชไร่
 ลักษณะภูมิอากาศ
 มีลักษณะแบร้อนชื้น มรสุม 3 ฤดู คือ
 ฤดูร้อน  เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนมิถุนายน  อากาศร้อนจัดมีอุณหภูมิเฉลี่ย  30  องศาเซลเซียส
 ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม  ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปางกลาง อุณหภูมิเฉลี่ย 28  องศาเซลเซียส
 ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์  อากาศหนาวเย็น อุณหภูมิเฉลี่ย  16  องศาเซลเซียส
 อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25  องศาเซลเซียส
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
                   แผนที่จังหวัดชัยภูมิ
โครงสร้างพื้นฐาน
1. การคมนาคม
บ้านค่าย ตั้งอยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  201 (สีคิ้ว – ชัยภูมิ)  ห่างจากตัวอำเภอเมืองชัยภูมิ  13  กิโลเมตร  การคมนาคมสะดวก  ด้วยรถโดยสารประจำทางซึ่งมีบริการตลอดเวลา  การติดต่อระหว่างหมู่บ้านจะใช้ถนนลาดยางที่เข้าถึงหมู่บ้านภายในตำบล
2. การไฟฟ้า
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ขยายการบริการ  ไฟฟ้าครอบคลุมเกือบทุกหลังคาเรือน  ผู้มีไฟฟ้าใช้ในเขตเทศบาล  จำนวน 1,413 หลังคาเรือน  และมีไฟฟ้าสาธารณะสิ่งสว่างตามถนน
3. การประปา
มีสถานีประปาบ้านค่ายหมื่นแผ้ว  บริการประชาชนใช้ตลอดทั้งปี  มีผู้ใช้น้ำประปาร้อยละ 90  
4. การสื่อสารโทรคมนาคม
ไปรษณีย์โทรเลข  มีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จำนวน 1  แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
โทรศัพท์ ส่วนบุคคลบริการประชาชน  250 เลขหมาย และมีตู้โทรศัพท์ทางไกลสาธารณะ  จำนวน  7  ตู้
การจราจร สะดวก  มีรถประจำทางผ่านหลายเส้นทาง เช่น ชัยภูมิ – กรุงเทพ ฯ  ชัยภูมิ- นครราชสีมา  ชัยภูมิ – ลำนารายณ์  กรุงเทพฯ – หนองบัวลำภู  กรุงเทพฯ – เมืองเลย  ชัยภูมิ- บ้านค่าย (รถเมล์เล็ก)  และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว อำนวยความสะดวกและความปลอดภัย
การใช้ที่ดิน  ในเขตชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้วส่วนมากมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่ออยู่อาศัยทำการเกษตร และบางส่วนที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์


สภาพทางสังคม

1. ประชากร
มีจำนวนประชากรซึ่งทำการสำรวจเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2543 มีจำนวนทั้งสิ้น  5,883  คน มี1,423  หลังคาเรือน  แยกเป็นชาย 3,031  คน  หญิง  2,852  คน  ความหนาแน่นประชการเฉลี่ย  1,101 คนต่อตารางกิโลเมตร
2. การศึกษา
หมู่บ้านค่าย มีโรงเรียน  2  แห่ง คือโรงเรียนบ้านหมื่นแผ้ว  จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและโรงเรียนบ้านค่ายวิทยา  จัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษา   โรงเรียนบ้านค่ายหมื่นแผ้ว  ตั้งเมื่อวันที่ 1  มีนาคม พ.ศ. 2575  ในครั้งแรกชื่อ  “โรงเรียนเรียบประชาบาลตำบลบ้านค่าย”  เปิดทำการสอนโดยอาศัยศาลาวัดบ้านหมื่นแผ้วเป็นอาคารเรียน  มีครู 2 คน นายอุย  มีกุศล  เป็นครูใหญ่คนแรก  1 กันยายน พ.ศ. 2495  ทางการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนมาเป็น “โรงเรียนวัดหมื่นแผ้ว  ในปี พ.ศ. 2497 โรงเรียนได้ย้ายออกจากบริเวณวัด  มาจัดตั้งในพื้นที่แห่งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านหมื่นแผ้ว” ในปีการศึกษา 2533  กรมสามัญศึกษาอนุมัติให้เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
3. ศาสนา
มีวัดอยู่ 2 วัดได้แก่  วัดนาคาวาสวิหาร  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้ววัดกลางหมื่นแผ้ว  ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี  กึ่งกลางระหว่างหมู่บ้านค่ายหมื่นแผ้วและบ้านค่ายเจริญ
4.การสาธารณสุข  ชุมชนบ้านค่าย  ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลบ้านค่ายหมื่นแผ้ว  มีระบบบริการสุขภาพอนามัย   มีสถานีอนามัยประจำตำบลอยู่ห่างจากชุมชน  1.5 กิโลเมตร  โรงพยาบาลประจำจังหวัดประมาณ 13 กิโลเมตร
5. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  มีสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านค่าย


หน้าที่ 2 - การฝึกช้างเพื่อการแสดง

การฝึกช้างเพื่อการแสดง
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
การฝึกช้างเป็นวิธีชุมชนหมื่นแผ้วอีกรูปแบบหนึ่งที่คนในชุมชนมีความผูกพันมายาวนาน  ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษออกไปคล้องช้างป่าแล้วนำมาฝึก  เพื่อขายสร้างราบได้ให้กับครอบครัวหลายคนมีเงินสร้างบ้านหลังใหญ่โต  ซื้อที่นา  ที่สวน  มีฐานะร่ำรวยมาจนปัจจุบัน  เมื่อทางราชการประกาศห้ามจับช้างป่า  หลายคนได้เปลี่ยนเป็นการนำช้างที่มีอยู่รับจ้างลากซุงในพื้นที่สัมปทานป่าไม้  การฝึกช้างเข้าสูระบบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  หรือแม้แต่การใช้เพื่อการแสดงเร่ที่มีอยู่ให้เห็นในปัจจุบัน
การฝึกช้างเป็นศิลปะและความสามารถของคนเลี้ยงช้างของชุมชนบ้านค่ายหมืนแผ้วที่เกิดจากความผูกพัน  ความเข้าใจระหว่างคนกับช้าง  รวมไปถึงความรู้ความสามารถที่รับมาจากบรรพบุรุษ  ครูบาช้างหลายๆ ท่านได้บอกว่าไม่ใช้เรื่องง่ายเลยที่จะฝึกช้างโดยคนที่ขาดประสบการณ์และไม่มีความรู้เกี่ยวกับช้างเพราะถือเป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ขึ้นระหว่างช้างกับในลักษณะที่แตกต่างกันไป
คณะช้างแสดงเร่ของบ้านค่ายหมื่นแผ้ว  ที่มีกว่า  14  คณะ  ในปัจจุบันทุกคณะต่างก็ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษทั้งสิ้น  ทั้งการเลี้ยงช้าง  การฝึกช้างเพื่อการแสดง  ดังนั้นช้างที่ผ่านการฝึกสามารถสื่อความหมายได้ดีระหว่างควาญช้างกับช้าง  ทั้งนี้เกิดจาดความสามารถในการฝึกช้างของคณะช้างต่าง ๆ
การนำช้างเข้ามาฝึกเพื่อการแสดงที่พบในปัจจุบัน  ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกช้างที่มีอายุ  8-10  เดือน  เป็นลูกช้างที่จัดซื้อมาจากท้องถิ่นบ้าง  ลูกช้างที่เกิดจากการผสมพันธุ์จากแม่ช้างที่อยู่ในคณะช้างของตนบ้างหรือเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างคณะช้างด้วยกัน  การฝึกช้างเพื่อการแสดงของชุมชนบ้างค่ายหมื่นแผ้ว  จะเลือกเอาช้างที่มีอายุน้อย  และความสามารถของช้างแต่ละเชือกเป็นหลัก  โดยมีเหตุผลสำคัญประการแรกคือ  สามารถปรับตัวเข้ากับควาญช้าง  และสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้เร็ว  ประการที่สองสามารถควบคุมให้ช้างปฏิบัติตามคำสั่งได้ง่ายไม่ดุร้าย  ประการสุดท้ายคือ  สามารถให้แสดงท่าต่างๆ  ได้หลายท่า  มีความคล่องตัวในการแสดงสูง  ด้วยเหตุผลดังกล่าวช้างที่นำมาฝึกมีการเจริญเติบโตของช้างไม่เป็นไปตามธรรมชาติ  เพราะช้างในวัยนี้ไม่สามารถที่จะเคี้ยวบดอาหารกินได้เพราะอยู่ในวัยที่ต้องอาศัยนมแม่เป็นหลัก  เมื่อแยกออกมาเพื่อทำการฝึกจึงเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงช้างเมื่อแยกออกมาเพื่อทำการฝึกจึงเป็นหน้าที่ของผู้เลี้ยงในการดูแลหาอาหารป้อนให้จนกว่าช้างจะสามารถกินอาหารเองได้เหมือนกับช้างเชือกอื่น  ๆ  อาหารที่ให้แทนนมแม่ระหว่างการฝึก  ได้แก่  นม  (เป็นนมที่ใช้เลี้ยงทารก)  ต้มข้าวใส่น้ำตาล  กล้วยสุกบดระเอียดผสมกันข้าวต้มใส่เกลือ  เป็นต้น  นอกจากให้อาหารดังกล่าวแล้วยังเสริมอาหารประเภทหญ้า  โดยให้กินครั้งละ 1-2 เส้น เพื่อให้ช้างเกิดความเคยชิน แล้งค่อยเพิ่มปริมาณตามลำดับ จนกว่าจะสามารถกินเองได้   การดูแลการเอาใจใส่การฝึกช้างในลักษณะดังกล่าวจะต้องเป็นอย่างนี้ไม่น้อยกว่า  2 ปี  จึงสามารถปล่อยให้อยู่ตามลำพังกับช้างเชือกอื่น ๆ ได้
การฝึกคณะช้างของชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้วมีรูปแบบในการฝึกพื้นฐานดังนี้

1) ขั้นสัมผัส
  หลังจากแยกลูกช้างออกจากแม่หรือนำลูกช้างน้อยมาเพื่อการฝึกจะต้องนำลูกช้างมาผูกตรึงกับหลักหรืออาจเป็นต้นไม้ใหญ่บริเวณที่เตรียมไว้สำหรับการฝึกช้าง  โดยผูกคอติดแน่นกับเสาหลัก  ผูกขาทั้ง 4 แยกออกจากกับโดยไม่ให้ลูกช้างสามารถขยับตัวไปไหนได้  เมื่อแน่นใจว่าช้างไม่ดิ้นแล้ว  ผู้ทำการฝึกจะใช้มือตบ  หรือลูบบริเวณลำคอของช้าง  เพื่อสร้างความเคยชินและสัมผัสโดยตรงในขณะที่ตบหรือลูบผู้ทำการจะพูดหรือบอกไปด้วยคล้ายกับว่าเป็นการสอน  เป็นขั้นที่เริ่มให้ช้าง สื่อความหมายกับผู้ฝึกทางภาษาไปด้วย  ผู้กระทำการฝึกจะสัมผัสกับช้างในลักษณะดังกล่าว  2-3  วัน  หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับรู้  การปรับตัวของช้างที่ทำการฝึกโดยสังเกต จากปฎิกิริยาตอบสนอง เช่น  ไม่มีเสียงร้อง  หยุดนิ่งเมื่อผู้ฝึกเข้าไปสัมผัสกินอาหารที่ผู้ฝึกได้เตรียมไว้เป็นต้น  จากนั้นผู้ฝึกจะปลดเชือกที่ตรึงไว้ออกเพื่อฝึกในขั้นต่อไป
2) ขั้นเดินวนหลัก
การฝึกในช่วงนี้จะเริ่มทำการฝึกเมื่อช้างสามารถปรับตัวเข้ากับคนหรือเชือก(โซ่) ที่สำคัญเริ่มเข้าใจ และสื่อความหมายกับคนได้บ้างแล้งก็จะคลายเชือกหรือโซ่ที่ตรึงไว้ออกจากหลัก  เพื่อนำช้างมาฝึกการเดินโดยผ่านการควบคุมของผู้ฝึกเป็นการกำหนดให้ช้างเดินรอบหลักแต่ขาของช้างยังผูกติดอยู่กับหลัก  และจะปรับระยะของเชือกให้ห่างจากหลักตามความสามารถของการเรียนรู้ของช้างและสามารถควบคุมช้างได้  การฝึก ในลักษณะนี้ผู้ฝึกจะมีอุปกรณ์ช่วยในการควบคุม  เพื่อให้ช้างเกิดการเรียนรู้วิธการควบคุมของผู้ฝึก ในลักษณะต่าง ๆ  ด้วย  อุปกรณ์ดังกล่าวได้แก่  ตะขอ  เบ็ด  เหล็กแหลมหรือตะปู  การฝึกในขั้นนี้สิ้นสุดลงเมื่อช้างมีความคล่องตัวในการเดินที่อยู่ในการควบคุม


3) ขั้นการเดินอิสระ
การเดินอิสระเป็นขั้นการฝึกที่นับว่าช้างได้พัฒนาการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น  เพราะในขั้นนี้ช้างจะไม่ถูกตรึงหรือผูกติดกับหลักจะเป็นการฝึกที่อยู่ภายใต้การควบคุมเพียงอย่างเดียวจึงเป็นช่วงที่ต้องอาศัยความชำนาญของผู้ฝึก  และความสามารถในการเรียนรู้ของช้างเอง  ขั้นนี้ผู้ฝึกจะนำช้างไปในที่ต่างๆ  โดยใช้อุปกรณ์ควบคุมคือ  เบ็ด  หรือตะปู  เพื่อเคาะใบหูของช้าง  ขั้นนี้ผู้ฝึกจะสอนให้ช้างช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น  ฝึกการกินหญ้าเองบริเวณใกล้  ให้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมากขึ้นในขั้นนี้ผู้ฝึกจะต้องมีเวลาให้กับช้างมากขึ้น  และคอยให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาถือเป็นจุดเริ่มต้นของความผูกพันที่แน่นแฟ้นของคนกับช้าง  เสมือนกับเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน  ขั้นนี้ผู้เลี้ยงช้างจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทุก  ๆ  ด้านของช้างทั้งนิสัยในคอความถนัดความสามารถ  ตลอดจนวิธีการเลี้ยงช้างที่เหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดอันตรายเมื่อช้างโตขึ้น  กลุ่มผู้เลี้ยงช้างชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้วได้เริ่มจากตรงนี้เองที่จะนำช้างมาฝึกในรูปแบบต่าง  ๆ  เพื่อนำช้างเข้าสู่คณะช้างเพื่อร่วมทำการแสดงกับช้างเชือกอื่นต่อไป
การประยุกต์การฝึกเพื่อแสดงช้าง  เป็นการฝึกที่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษของผู้ฝึก  ร่วมกับความสามารถของช้างที่ทำการฝึกซึงเกิดจากความคิดประยุกต์ท่าต่างๆ ของผู้ฝึกให้มีความเหมาะสมกับช้าง  เชือกใดมีความสามารถตรงกับท่าที่ฝึกแตกต่างกับออกไปช้างเชือกใดมีความสามารถตรงกับท่าที่ฝึกก็จะใช้เวลาในการฝึกเพียงสั้น ๆ  เท่านั้นก็สามารถนำออกแสดงได้และมีความมั่นใจสูงในระหว่างแสดง
การฝึกช้างเพื่อทำการแสดงของกลุ่มผู้เลี้ยงช้างของชุมชนค่ายหมื่นแผ้วถือเป็นภาระกิจหนึ่งที่ทุกคนให้ความสำคัญมาก  และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ  โดยทั่วไปแล้วการฝึกช้างจะมีรูปแบบการฝึกที่ไม่แตกต่างกันมากนัก  โดยเริ่มฝึกท่าต่าง  ๆ  เรียงลำดับความง่ายยาก  และท่าที่จำเป็นที่ช้างทุกเชือกสามารถทำการแสดงร่วมกับช้างเชือกอื่น ๆ ได้
1. การสวัสดี
2. ท่านอน
3. ท่านั่ง
4. ท่านั่งยกล้อ
5. ท่านั่งบนเก้าอี้
6. การยืน
7. การยืนบนถัง
8. การเต้นรำ
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
นอกจากท่าการแสดงพื้นฐานดังกล่าวแล้วยังมีท่าการแสดงที่นับว่ามีความยากเพิ่มขึ้นอีกซึ่งจะต้องอาศัยความชำนาญในการฝึก  และความสามารถเฉพาะตัวของช้างที่จะได้รับการฝึกอีกด้วยมิฉะนั้นแล้วช้างและคนจะได้รับอันตรายได้ง่ายตัวอย่างเช่น
1. ท่ายกล้อบนเก้าอี้
2. ยืนบนถังน้ำมัน
3. ยืนสองขาบนถังน้ำมัน
4. ช้างไต่ลวดสริง
5. ช้างยืนบนถังต่อตัว
6. ช้างนอนทับคน
7. ช้างยืนสองขาบนสะพาน
8. ช้างลอดบ่วงไฟ
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ถ้าการแสดงนี้ช้างได้รับกรฝึกและทบทวนการแสดงอยู่เป็นประจำโดยเน้นท่าการแสดงที่มีความถนัดจนเกิดความชำนาญและสามารถแสดงได้ทันที่เมื่อผู้ฝึกส่งสัญญาณหลังจากนั้นช้างจะได้รับท่าการฝึกอื่น  ๆ  อีกต่อเนื่อง  ทั้งในระหว่างการพักช้างที่อยู่บ้านและในระหว่างการออกแสดงเร่ในสถานที่ต่าง  ๆ  ในช่วงเวลาประมาณ  06.00  น.-07.00 น.ของทุกวัน


หน้าที่ 3 - การจัดแสดงช้าง

การจัดการแสดงช้าง
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
1.ประวัติการจัดการแสดงช้างของชุมชนค่ายหมื่นแผ้ว
การจัดการแสดงของช้างชุมชนค่ายหมื่นแผ้ว  ได้เกิดขึ้นหลังจากครูบาช้างได้เลิกจากการคล้องช้างป่าเนื่องจากการยกเลิกสัมปทานป่าไม้หรือปิดป่า  ปัญหารายได้ไม่เพียงพอกรณีนำช้างเข้าไปรับจ้างลากซุงในธุรกิจค้าไม้  และประการสุดท้ายที่สำคัญคือสภาพพื้นที่ในชุมชนไม่เพียงพอสำหรับการเลี้ยงช้าง  จากปัญหาดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้เลี้ยงช้างคิดวิธีการหาเงินเพื่อซื้ออาหารนำมาเลี้ยงช้างและหารายได้มาจุนเจือครอบครัวในรูปแบบของการแสดงช้าง  ในระยะแรกจะเป็นการแสดงโชว์ของช้างเพื่อแรกกับอาหารเช่น  อ้อย  กล้วย  แตง  เป็นต้น  ต่อมาปริมาณของช้างมากขึ้นเจ้าของช้างก็พัฒนาท่าการแสดงให้หลากหลายขึ้น  ความสนใจในการชมการแสดงช้างของประชาชนมามากขึ้น  จึงเกิดการร่วมตัวเพื่อจัดตั้งคณะกลุ่มการแสดงขึ้นโดยให้เรียกการรวมกลุ่มนี้ว่า  “คณะช้าง”  การร่วมการทำกิจการของคณะช้างในระยะแรกไม่เป็นรูปแบบที่ชัดเจนเท่าไรนักเนื่องจากการขาดงบประมาณ  วัสดุอุปกรณ์สำหรับการจัดแสดงกลางแจ้ง  และขาดการบริหารจัดการในรูปแบบขององค์กร  ระยะต่อมาจึงได้จัดตั้งคณะช้างที่เป็นรูปแบบขึ้นโดยการสนับสนุนงบประมาณและบริการจัดการในระบบของ  นายทุนขึ้นเรียกว่า  “คณะช้างไทย”  ซึ่งชาวชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ้วถือว่าเป็นคณะช้างเพื่อการแสดง  คณะแรกของชุมชนและของเมืองไทย
 “คณะช้างไทย”  มีช้างอยู่ในคณะ  10  เชือก  ควาญ  10  คน  มีผู้ดูแล  และควบคุมการแสดง  คือ  นายจั่น  ลือชา   นายยศ  นิยมชัย  นายพร  ขวัญนิมิตร  โดยมีนายจิตร  หมั่นบุญ  นางสุดใจ  มั่นบุญ  และยายบุญปลูก  พัดเจริญ  เป็นผู้ให้การสนับสนุนเงินในการจัดตั้งคณะจัดการแสดง  การจัดการแสดงของคณะช้างไทยในระยะแรกจะจัดในบริเวณใกล้เคียงหรือท้องถิ่นของตน  โดยส่วนใหญ่จะจัดให้มีในวันเสาร์และวันอาทิตย์  รายการแสดงใน  ระยะนั้นมีเพียงไม่กี่ชุด  ได้แก่ช้างเตะฟุตบอล  ช้างชนกัน(แสดงยุทธหัตถี)  ช้างวิ่งเปี้ยว(เก็บของแข่งกัน)  แสดงการคล้องช้างป่า  ช้างยักเย่อ  แสดงการคารวะผู้ชม  เป็นต้น  แม้รายการแสดงจะมีน้อยแต่ก็ได้รับความสนในจากผู้ชมมากคณะช้างไทยจึงมีรายได้เพียงพอที่จะนำคณะช้างออกไปแสดงนอกพื้นที่  ในช่วงนั้นรายได้ไม่ต่ำกว่า  40,000-50,000  บาท  ซึ่งนายทุนเป็นผู้จัดเก็บ  และแบ่งสันปันส่วนให้กับเจ้าของช้างและคนงานในคณะ  เจ้าของช้างจะได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าช้าง  เดือนละ  3,000  บาท  ส่วนคนงานจะแบ่งตามความเหมาะสมโดยมีเกณฑ์การจัดสรรรายได้ที่  ชัดเจนจากรายได้ดังกล่าวทำให้นายทุนที่ควบคุมดูและคณะช้างไทยมีรายได้ทำให้ฐานะทางครอบครัวเติบโตอย่างรวดเร็วการดำเนินการจัดการแสดงเร่ของช้างไทยได้ดำเนินการมาประมาณ  1  ปี  เจ้าของช้างจึงขอแยกคณะเพื่อมาดำเนินกิจการเองโดยแยกออกเป็นสองคณะด้วยกับคือ  “คณะบัวตูมบัวบาน”  และ  “คณะจุ๋มจิ๋มโชว์”
1.  คณะบัวตูมบัวบาน  เป็นคณะช้างที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงช้างเอง  ได้แก่
 นายสวัสดิ์   เติมศักดิ์    จำนวน  2  เชือก
 นายบุญช่วย   พงษ์วิเศษ  จำนวน  1  เชือก
 นายทองดี   พงษ์วิเศษ  จำนวน  1  เชือก
 นางสุดใจ   หมั่นบุญ  จำนวน  3  เชือก
 นายสุภี   พงษ์วิเศษ  จำนวน  2  เชือก
 นางสี   ชูณรงค์   จำนวน  1  เชือก
 นายตา   เสนาวงศ์ษา  จำนวน  1  เชือก
รวมช้าง  11  เชือก  เป็นการรวมกลุ่มช้างเพื่อจัดการแสดงช้างที่มีการบริหารจัดการกันเองภายในคณะที่ไม่มีระบบนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง  มีความยุติธรรมในการแบ่งรายได้ในการแสดง  โดยการนำผลกำไรมาจัดสรรตามจำนวนช้าง
ในคณะช้างจะประกอบไปด้วย  ควาญช้าง  คนงาน  ได้แก่  โฆษกสนาม  เด็กสนามรวมแล้วไม่ต่ำกว่า  30  คน  สำหรับขนสัมภาระข้าวของซึ่งจะเช่าเป็นรายเดือน  ดังนั้น  รายจ่ายของคณะช้าง  จะประกอบไปด้วย  เงินเดือนคนงาน  โฆษกสนาม  เดือนละ  800  บาท  เด็กสนามและควาญช้าง  เดือนละ  400  บาท  พร้อมเบี้ยรายวันวันละ  10  บาท  ค่าเช่ารถเดือนละ  2,000 – 3,000  บาท  รายจ่ายอื่น ๆ  อีกจำนวนหนึ่ง  ส่วนที่เหลือจะเป็นผลกำไรที่เจ้าของช้างจะได้รับส่วนแบ่ง  การจัดการแสดงจะมีขึ้นวันละ  1   รอบ  รายได้รวมยังไม่หักค่าใช้จ่ายเดือนละ  15,000-30,000  บาท  เป็นรายได้ที่มากพอที่จะทำให้คณะช้างอยู่ได้  และออกทำการแสดงเกือบทุกจังหวัด  โดยแต่ละจุดที่ทำการแสดงจะห่างไม่เกิน  30  กิโลเมตร  ด้วยเหตุผลประการสำคัญคือการเคลื่อนย้ายช้างในสมัยนั้นจะต้องเดินด้วยเท้า  และให้ช้างหาอาหารระหว่างทางขณะเดียวกัน
 การประกอบกิจการของคณะช้าง  เพื่อการแสดงเร่  จึงถือเป็นนักเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งที่พบทั้งความสำเร็จและเงินทอง  และปัญหา  คือความยากลำบากในการใช้ชีวิตที่ไม่ปกติสุขเหมือนคนอื่นๆ  ผลกระทบทั้งช้างทำร้ายผู้เข้าชม  และเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทย์กับชาวบ้านในท้องถิ่น
 2) คณะจุ๋มจิ๋มโชว์  เป็นช้างอีกคณะหนึ่งที่แยกตัวออกจาดคณะช้างไทยที่มีรูปแบบการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับคณะบัวตูมบัวบาน  ซึ่งประกอบไปด้วย  ช้างจำนวน  9  เชือก  ได้แก่
  นายหวัง   จิตรมา จำนวน  1  เชือก
  นายสวง   จิตรมา จำนวน  1  เชือก
  นายฟื้น   ทะมาดี จำนวน  1  เชือก
  นายเป้ง   พงษ์วิเศษ จำนวน  1  เชือก
  นายเลี่ยม  พรสวัสดิ์ จำนวน  1  เชือก
  นายม้วน   พรหมสิทธิ์ จำนวน  1  เชือก
  นายดิษฐ์   จิตรมา จำนวน  2  เชือก
  ช้างทั้ง  2  คณะในขณะนั้นเป็นคณะช้างที่ใหญ่  และสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ  ให้กับครอบครัว  จึงทำให้กับครอบครัว  จึงทำให้ครอบครัวผู้คล้องช้างและกลุ่มผู้เลี้ยงช้างเลยหันมาให้ความสนใจที่จะฝึกช้างมาเพื่อการแสดงมากขึ้น  เกิดการแยกตัวและร่วมกลุ่มจัดตั้งคณะช้างเพิ่มมากขึ้นมาจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว  14  คณะ  โดยแยกออกมาจากคณะใหญ่ ๆ  และรวมกลุ่มกันเองดังนี้
1. คณะบุญนำโชว์
2. คณะจัมโบ้โชว์
3. คณะวาสนาส่ง  1
4. คณะวาสนาส่ง  2
5. คณะเดือนเพ็ญ
6. คณะเมรีโชว์
7. คณะดอกอินโชว์
8. คณะอำพลโชว์
9. คณะของนายประมาณ  แรมดอน
10. คณะของนายวิหาร  พรมสิทธิ์
11. คณะของนายตามน   หมั่นบุญ
12. คณะของนายบุญร่วม  เสนาวงศ์ษา
13. คณะของนางสุดาพร  เสนาวงศ์ษา


2.  การจัดการแสดงช้างในยุดปัจจุบันหมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

 2.1 วิถีชีวิตของคนกับช้างในคณะแสดงเร่
  คนกับช้างของชุมชนบ้างค่ายหมื่นแผ้วในปัจจุบันได้เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการคล้องช้างป่าและการนำช้างรับจ้างลากซุง  มาเป็นการเลี้ยงช้างเพื่อการแสดงแทบทั้งสิ้น  มีการสืบทอดไปสู่ลูกหลานโดยสายเลือดการประกอบการธุรกิจเลี้ยงช้างเร่  ซึ่งได้มองเป็นอาชีพหนึ่งที่ทุกคนต้องดิ้นรนต่อสู้  เหมือนกับชุมชนอื่นหรือการประกอบอาชีพอื่น  ผู้เลี้ยงช้างในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงช้างและพิธีกรรมต่าง ๆ  ที่เคยปฏิบัติกันมาแต่อดีตมากมายนัก  แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนให้ความเคารพและการยึดถือปฏิบัติคือการคงไว้ซึ่งความเชื่อหรือแนวปฏิบัติดั่งเดิมที่ครูบาช้างหรือผู้ใหญ่ในตระกูลได้ให้ไว้  เช่น  การถือผีปะกำ  การเลี้ยงโรง  เป็นต้นการใช้ชีวิตของคนกับช้างในคณะช้างจะเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน  มีความรักความเอื้ออาทรซึ่งกับและกันจะเป็นลักษณะการพึ่งพาอาศัยกัน  คนขาดช้างก็ขาดอาชีพ  ขาดรายได้  ช้างจึงเป็นสัตว์ที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าของ
  การประกอบอาชีพการจัดแสดงเร่นี้เป็นอาชีพที่ลงทุนค่อนข้างสูงต้องใช้คน  วัสดุอุปกรณ์และช้างจำนวนมาก  เจ้าของคณะช้างจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการในทุกเรื่องเพราะการจัดการแสดงในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม  กล่าวคือไม่มีระบบนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ได้เกิดจากการรวมกลุ่มและระดมทุน  แต่เกิดจากการจัดตั้งเพียงคนเดียวเท่านั้นจึงต้องแบกรับหนี้สินจากการซื้อรถบรรทุกขนาดใหญ่คณะละไม่ต่ำกว่า  2  คันรถเครื่องขยายเสียงอุปกรณ์สนามและจัดซื้อช้างใหม่มาฝึก  ดังนั้นช้างหนึ่งคณะจะประกอบด้วยสิ่งต่าง  ๆ ดังนี้
1. ช้างอายุราว  2-20  ปี  ไม่น้อยกว่า  5  เชือก
2. คนงานไม่น้อยกว่า  15  คน
3. ควาญช้างหรือคนเลี้ยงช้างจำนวนเท่ากับช้างในคณะ
4. อุปกรณ์สนามสำหรับการแสดง
5. รถบรรทุกและรถกระบะรวมแล้วไม่ต่ำกว่า  4  คัน
6. เครื่องครัวสำหรับประกอบอาหาร
7. หัวหน้าคณะและครอบครัว
คณะช้างที่ออกแสดงเร่ในปัจจุบันจึงเป็นลักษณะครอบครัวใหญ่ที่คนกับช้างทิ้งถิ่นแสวงหาโชคร่วมกัน  ไปทั่วประเทศเป็นระยะเวลาเป็นปีจึงจะกับภูมิลำเนาของตนอีกครั้ง
2.2  การจัดการแสดง

2.2.1  การวางคิวแสดง
 การจัดการแสดงโดยส่วนใหญ่จะตะเวนไปต่างจังหวัดทุกภาคของประเทศไทย  การวางแผนการเดินทางจะกำหนดได้เพียงจังหวัดที่เริ่มต้นเท่านั้นแผนการเดินทางอื่น  ๆ  จะไม่สามารถบอกได้แน่นอนเพราะจะเปลี่ยนสถานที่จัดการแสดงเป็นจุดต่อจุดและวางแผนการเดินทางพร้อม ๆ  กันไปแล้วแต่รายได้ที่ได้รับในแต่ละวันถ้ารายได้ดีก็จะเปลี่ยนหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน  หรือตำบลต่อตำบล  แต่ถ้าผู้เข้าชมน้อยรายได้ไม้เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ระวันจะเปลี่ยนเป็นสถานที่หรือจังหวัดต่อไป  ในการวางคิวและการติดต่อสถานที่ทำการแสดงจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของคณะหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  โดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกหรือเครือญาติในครอบครัวและการติดต่อสถานที่ที่ทำการแสดงจะมีขึ้นในช่วงเช้าของทุกวันระหว่างพักการแสดง  โดยการออกหาสถานที่ในบริเวณใกล้เคียง  ส่วนใหญ่จะขอให้สนานลานวัดในหมู่บ้าน  สนามว่างเปล่าที่เป็นที่สาธารณะหรือโรงเรียน  จะเข้าไปใช้สนามที่ทำการแสดงได้จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของสถานที่หรือผู้นำที่สามารถตัดสินใจได้เสียก่อนการติดต่อสถานที่ที่ทำการแสดงในหนึ่งวันจะต้องได้สองแห่งสำหรับ  การแสดงภาคบ่ายเวลา  16.00  น.  และภาคค่ำเวลา  18.00  น.  หลังจากติดต่อสถานที่ได้ครบจะนำป้ายประชาสัมพันธ์ที่เตรียมมา  ระบุสถานที่เวลา  และชื่อของคณะช้างที่ทำการแสดงไว้  ตามชุมชน  หมู่บ้าน  หรือสถานที่  ที่คนส่วนใหญ่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนขณะเดียวกันก็จะประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องกระจายเสียงที่ติดตั้งอยู่บนรถเพื่อเชิญชวนให้มาชมการแสดงดังกล่าว
 2.2.2  การเตรียมการก่อนการแสดง
 การแสดงจะมีข้นในช่วงบ่ายและค่ำ  ตอนเช้าของทุกวันจึงเป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายที่อยู่ใหม่ของคณะช้างนำสัมภาระข้าวของจากที่พักเดิมไปสถานที่แห่งใหม่ที่ไปติดต่อไว้สำหรับการแสดงในรอบค่ำ  ปรุงอาหารเพื่อรับประทานหลังจากการแสดงเสร็จสิ้นการขนย้ายหลังจากนั้นก็จะแบ่งหน้าที่กันปฏิบัติ  ควาญช้างก็จะไปดูช้าง  หาอาหารและเลี้ยงช้างในบริเวณใกล้  ๆ  ที่พัก  ส่วนที่เหลือจะเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ  ซักเสื้อผ้า  และพักผ่อนตามสถานที่เหมาะสมโดยมีเจ้าของคณะดูแลอยู่ตลอดเวลา
 2.2.3  การแสดงช้าง
 เมื่อใกล้ได้เวลาเดินทางเพื่อทำการแสดงภาคบ่ายช้างทุกเชือกจะมารวมกัน  ควาญจะอาบน้ำและทำความสะอาดให้กับช้างของตนและเดินทาง  คนงานสนามก็จะเตรียมรถ  อุปกรณ์สนามพร้อมแล้วควาญก็จะนำช้างขึ้นรถที่เตรียมไว้  เพราะการเคลื่อนย้ายช้างจะใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่และจะบรรทุกในคราวเดียวกัน  5 - 6  เชือกต่อหนึ่งคัน  ทุกอย่างพร้อมก็ออกเดินทางไปยังสถานีที่ที่ทำการแสดงตอนบ่ายการเริ่มต้นภารกิจหลังจึงเริ่มต้นขึ้น  เมื่อถึงสถานที่ทำการแสดงทุกคนก็ทำงานแข่งกับเวลา  เพื่อให้การแสดงเริ่มขึ้นให้เร็วที่สุด  ควาญช้างก็ควบคุมช้างลงจากรถบรรทุกคนงานสนามก็เริ่มล้อมผ้า  เจ้าหน้าที่ฝ่ายเสียงและโฆษกสนามก็จัดตั้งเครื่องเสียงพร้อมกับโฆษกประชาสัมพันธ์การแสดง  การเตรียมความพร้อมในการจัดการเปิดการแสดงหนึ่งรอบจะเสร็จสิ้นและมีความพร้อมภายในเวลาไม่เกิน  20  นาที  ก็สามารถเปิดจำหน่ายบัตรการแสดงของช้างด้านในงาน  โดยจำหน่ายบัตรเป็นสองราคาคือผู้ใหญ่  20  บาท  เด็กเล็ก  10  บาท  ในขณะเดียวกันก็มีการให้บริการด้านอื่น ได้แก่  ขายอาหารช้างส่วนใหญ่จะเป็นกล้วยสุก  ถุงละ  5  บาท  ให้เช่าเก้าอี้สำหรับชมการแสดง  ตัวละ  5  บาท  ให้บริการขี่หลังช้างครั้งละ  5  บาท  ทางด้านนอกและด้านในก็มีอาหารสำหรับนั่งรับประทานอาหารสำหรับชมหารแสดงไว้บริการ  เช่น  น้ำอดลม  ลูกชินทอด  ของเล่นเด็ก  เป็นต้น  การประชาสัมพันธ์และจำหน่ายบัตรใช้เวลาประมาณ  30-40  นาที  การแสดงก็เริ่มต้นขึ้น  โดยจะเสนอขั้นตอนรายการแสดงเป็นลำดับดังนี้
 1.  พิธีไหว้ครู  หรือทำพิธีเช่นไหว้หน้าปะกำซึ่ง  ช้างจะเดินขบวนพาเหรดเข้าสู่พิธี
 2.  ช่วงแนะนำช้าง  และควาญช้าง
 3.  เริ่มทำการแสดงในรายการที่กำหนด  โดยจะนำเสนอรายการแสดงที่คณะช้างของชุมชนบ้านค่ายหมื่นแผ่วใช้ในการแสดงอยู่ในปัจจุบันได้ดังนี้
  3.1   ช้างสวัสดี
  3.2   ช้างยืนสองขา
  3.3   ช้างนั่งสมาธิหรือนั่งยกล้อ
  3.4   ช้างไต่สะพาน
  3.5   ช้างเล่นบาสเกตบอล
  3.6   ช้างเดิน  2  ขา
  3.7   ช้างตีลังกา
  3.8   ช้างวาดรูป
  3.9   ช้างตีลังกาบนถังน้ำมัน
  3.10  ช้างคลานสี่ขา
  3.11  ช้างเต้นรำ
  3.12  ช้างอุ้มลูกน้อยตามเมีย หรือช้างอุ้มคน
  3.13  ช้างต่อตัว
  3.14  ช้างเหยียบคน  หรือนวดคน
  3.15  ช้างนอนทับคน
  3.16  ช้างยืน  2  ขาบนถังน้ำมัน
  3.17  ช้างคาบหัวคน
  3.18  ช้างไต่ลวดสริง
  3.19  ช้างถีบสามล้อ
  3.20  ช้างยืนบนถังต่อตัว
  3.21  การสาธิตการคล้องช้าง
  3.22  ช้างรอดบ่วงไฟ
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
 รายการแสดงดังกล่าวในแต่ละคณะจะเลือกทำการแสดงไปจัดการแสดงตามความสามารถและความชำนาญของช้างแต่ละเชือก  ในขณะเดียวกันก็จะทำการฝึกช้างไปด้วย  เพื่อเริ่มทำท่าการแสดงได้มากขึ้น  จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่คณะช้างหนึ่ง  ๆ  จะต้องมีคนสำหรับฝึกช้างโดยเฉพาะหลังจากเสร็จสิ้นการแสดงในแต่ละรอบทุกคนต่างก็มีหน้าที่ของตนและจัดเก็บสัมภาระทุกอย่างให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว  เพื่อเดินทางไปเปิดการแสดงในรอบค่ำต่อไป


2.2.4  รายได้
 รายได้ในการจัดแสดงในแต่ละรอบในปัจจุบันลดลงจากเมื่อก่อนมาก  จากเคยได้วันละ  10,000-20,000  บาทแต่ในปัจจุบันเหลือเพียง  5,000-8,000  บาท  รวมแล้ววันหนึ่ง ๆ  จะมีรายได้เข้าคณะช้างไม่เกินวันละ  8,000  บาท  ดูจากรายได้ต่อวันเหมือนจะมากอยู่แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่น  ๆ  ประกอบแล้วรายได้ที่ได้มาจะไม่เพียงพอเพราะจะต้องรับผิดชอบรายจ่ายประจำวันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารหรือค่าซ่อมบำรุงวัสดุต่าง  ๆ  นอกจากนี้ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับคนงานในคณะ  โดยจ่ายเป็นรายเดือน  ๆ  ละ  1,500  บาท  พร้อมกับ  เบี้ยเลี้ยงวันละ  30-40  บาท  ซึ่งเบี้ยเลี้ยงจะพิจารณาตามรายรับที่ได้ประจำวัน  ดังนั้นในวันหนึ่งจะมีรายจ่ายรวมแล้วประมาณ  3,000  บาท  รายได้ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้สำหรับชำระหนี้สินที่กู้มาจากนายทุนหรือชำระค่างวดรถที่จัดซื้อมาแล้วกรณี
2.2.5  สภาพปัญหาและผลกระทบ
2.2.5.1  ช้างทิ้งถิ่น  เป็นปัญหาจากช้างที่ไม่มีงานทำในพื้นที่ของตน  พื้นสำหรับการเลี้ยงช้างมีไม่เพียงพอ  และการประกอบอาชีพเดิมมีรายได้น้อยจึงทำให้หลายครอบครัวและคณะช้างต้องตัดสินใจนำช้างออกมาเสี่ยงชีวิตเดินทางมาหาเงินในลักษณะของการแสดงเร่  จึงส่งผลให้การใช้ชีวิตทั้งของคนและช้างได้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง  โดยเฉพาะช้างจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับการทำกิจกรรมเสมือนเป็นดาราประจำคณะเพื่อหาเงิน  อยู่พื้นคอนกรีตและบนรถบรรทุกมาก
2.2.5.2  ผลกระทบจากภาวะหนี้สิ้น  การยึดอาชีพช้างแสดงเร่แม้จะมีรายได้หมุนเวียนอดีตลอกเวลา  และอาจสร้างความร่ำรวยได้ไม่ยากให้กับเจ้าของช้างบางคณะแต่ก็มีเพียงไม่กี่รายที่มีเงินลงทุนซื้อรถ  ซื้อช้าง  และวัสดุอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ  เอง  มีอีกหลายครอบครัวที่ต้องกู้ยืมเงินจากนายทุนมาลงทุนในการจัดตั้งคณะแทบทุกอย่างจึงทำให้ต้องรีบร้อนหารเงินมาคืนนายทุน  ทำให้ช้างและเจ้าของช้างต้องทำงานหนักมากขึ้น  ยิ่งในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรายได้ต่อวันลดน้อยลงและคณะช้างเพื่อการแสดงเร่ก็มีมากขึ้นอีกด้วย


หน้าที่ 4 - การอพยพเข้าสู่เมืองของช้างเร่ร่อน

การอพยพเข้าสู่เมืองของช้างเร่ร่อน
หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยผลักดันให้เจ้าของช้าง  ควาญช้าง  พาช้างออกเร่ร่อนไปตามที่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขาคิดว่าเป็นแหล่งรายได้ใหญ่  เพื่อสามารถหารายได้มาจุนเจือครอบครัว   เวลาเดียวกันช้างซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโตที่เดินทางมาด้วยก็จะได้อาหาร มาประทังชีวิตของมัน   รอยอดีตที่ผุกร่อนแห่งกาลเวลา  “ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการเลี้ยงช้างในภาคอีสานว่า “ครั้นเมื่อจะอดตายทั้งช้างและคน  ก็ต้องจำนนต่อเหตุผลที่จะต้องออกไปสัญจรร่อนเร่อยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยรถรา  ความแออัด แม้ไม่อยากไปก็ต้องไป เพราะที่นั่นคือที่ทำกินแห่งใหม่ของช้างบ้านไทยในวันนี้”  เป็นเหตุผลเดียว  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมาบรรดาช้างบ้านหลายเชือกก็ต้องเร่ร่อนออกไปตามเมืองใหญ่ เช่นกัน  อาทิ ครราชสีมา  สระบุรี กาญจนบุรี  แต่จุดหมายปลายทางของช้างเร่ร่อนคือ  กรุงเทพมหานคร
การนำช้างออกจากหมู่บ้านเดินทางไกลไปขายของเริ่มขึ้นเมื่อสิ้นสุด ฤดูทำนา   การพาช้างออกเดินทางร่อนเร่ไม่เพียงแก้ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว  แต่ยังสามารถตอบสนองวิญญาณนักผจญภัยที่ชอบความสนุก ชอบความท้าทายของผู้ชายชาวกูย ยุคใหม่ ทำให้กรุงเทพมหานครประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2538  ว่าห้ามนำช้างเข้ามาเดินหากินในเขตกรุงเทพมหานครอย่างเด็ดขาด  โดยให้เหตุผลว่า ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  นอกจากนี้ยังเป็นการทรมานช้าง เพราะต้องเดินบนถนนคอนกรีตที่ร้อนระอุ  พร้อมกับสั่งการจับกุม  โดยอาศัยกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
เอมพงศ์  บุญญษนุพงศ์ (2542 :30-31) ช้างเร่ร่อนจากจังหวัดสุรินทร์ เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานเกือบ 40 ปี แบ่งออกเป็น 3 ยุค โดยแบ่งตามกิจกรรมของควาญช้างหรือเจ้าของช้าง ที่นำช้างมาในเมืองคือ
ยุคที่ 1  ประมาณ พ.ศ. 2510 – 2518  การนำช้างมาเดินหารายได้ในกรุงเทพ  มีกิจกรรมหลายอย่างที่นำรายได้มาสู่ควาญและช้างเช่น  การให้คนลอดท้องช้างเพื่อสะเดาะเคราะห์  หรือคนที่กำลังท้อง มีความเชื่อกันว่าจะทำให้คลอดลูกง่าย  การขายพระเครื่องจากท้องถิ่น  การขายเครื่องประดับจำพวกแหวน  สร้อยคอ สร้อยข้อมือ  ที่ทำขึ้นจากงาช้าง การขายพระพุทธรูปที่แกะสลักจากงาช้าง ฯลฯ
ยุคที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2519 – 2531 กิจกรรมส่วนใหญ่จะคล้ายกับในยุคแรก  เนื่องจากเป็นยุคของการตามกันเข้ามาฉะนั้นเจ้าของช้างหรือควาญช้าง จะยังไม่มีแนวคิดอื่นหรือทางเลือกอื่นในการทำกิจกรรม เพราะแหล่งผลิตสินค้าทำจากงาช้าง  ขนหางช้าง  ยังสามารถทำได้
ยุคที่ 3  ประมาณ พ.ศ. 2532- ปัจจุบัน  กิจกรรมบางอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเช่น การขายสินค้า  ต้องเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นจากช้าง มาเป็นผักและผลไม้ที่เป็นอาหารของช้างแทน  เนื่องจากกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ประชาชนปฏิเสธ  ที่จะใช้ผลิตภัณฑ์จากช้างรายได้ลดลง ประกอบกับต้นทุนสูงขึ้น  ขณะที่พืชผักผลไม้สามารถหาซื้อได้ง่ายกว่า  และมีราคาถูกกว่าซื้อเป็นจำนวนมาก เช่น แตงโม  แตงร้าน แตงกวา  มันแกว  เป็นต้น
ควาญช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย  ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่มีพื้นเพเดิมอยู่ทางภาคเหนือหรือที่เรียกว่า “คนพื้นเมือง” กลุ่มคนไทยเหล่านี้หลายคนเคยเป็นคนงานทำไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ก่อนที่จะมีคำสั่งรัฐบาลให้ปิดป่า  หลังจากนั้นกลุ่มคนพื้นเมืองที่รับจ้างลากไม้ในป่าไม้ได้รับเลือกให้มาเป็นควาญช้างให้กับศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยมีสถานภาพเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ  การฝึกช้างทำงานเกี่ยวกับการทำไม้  ช้างทุกเชือกจะได้รับการฝึกทุก ๆ  วัน  โดยมีควาญประจำช้าง 1  เชือกต่อควาญ 2 คน ซึ่งแบ่งเป็นควาญคอ  และควาญตีน (ผู้ช่วยควาญ)
 ควาญคอ  เป็นควาญที่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ  หน้าที่  ดูแลช้างที่ได้รับมอบหมายประจำในแต่ละเชือก  รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ โดยหน้าที่ของควาญคอในแต่ละวันเริ่มจาก 6.00 – 7.00 น. ควาญจะนำช้างไปอาบน้ำ  และนำไปที่ลานแสดง  ดูแลความเรียบร้อย  ในการทำความสะอาด สถานที่บริเวณที่ควาญนำช้างไปล่ามไว้ หรือจัดหาอาหารให้ช้างกิน  จากนั้นหลังจากเสร็จงานแสดง  ประมาณ  13.00  น.ควาญนำช้างไปไว้ในป่าเพื่อให้ช้างหากินเองตามธรรมชาติ  ควาญจะเข้าป่าอีกครั้งประมาณ 17.00  น. เพื่อย้ายสถานที่ที่ผูกช้างไว้  นำไปหาพื้นที่ที่มีอาหารเพียงพอเพื่อให้ช้างกินตลอดทั้งคืน
 ควาญตีน เป็นพนักงานภายในศูนย์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยเป็นลูกจ้างรายวันจะทำหน้าที่คอยช่วยเหลือควาญคอ ที่ตนเองประจำในช้างแต่ละเชือกที่ได้รับมอบหมายต่าง ๆ  เช่นทำหน้าที่ดูแลช้างแทนควาญคอ  หรือควาญคอมีภารกิจธุระ  หรือเมื่อได้รับมอบหมาย  คอยจัดเตรียมหาอาหารสำหรับช้าง  นอกจากนั้นควาญตีนยังมีหน้าที่อื่น ๆ  เช่น งานก่อนสร้างต่าง ๆ  ภายในศูนย์  และงานทำความสะอาดสถานที่และคอยดูแลความเรียบร้อยต่าง ๆ
 ควาญคอและควาญตีน  ที่ดูแลช้างแต่ละเชือกจะมีหน้าที่คล้าย ๆ กัน ยกเว้นควาญที่ต้องดูแลช้างพลายทีมีงาน  ควาญจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะจะต้องระมัดระวังผู้ร้ายที่จะลักลอบตัดงาช้างเพื่อนำไปขาย  ควาญจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ  เพราะจะต้องระมัดระวังผู้ร้ายที่จะลักลอบตัดงาช้างเพื่อนำไปขาย  ควาญประจำช้างงาแต่ละคนล้วนต้องรับผิดชอบดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าหากช้างถูกลักลอบตัดงาน  ควาญที่ดูแลต้องรับผิดชอบด้วยเงินเดือนเท่ากับราคาของงา  ซึ่งถูกลักลอบตัดไปพร้อมกับงดการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนในปีนั้นด้วย
 ควาญช้างที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เป็นควาญพื้นเมืองทางภาคเหนือ  ซึ่งควาญหลายคนจะเริ่มต้นจากการสมัครมาเป็นกรรมกรทำไม้ในตำแหน่งลูกจ้างรายวัน  บางคนเริ่มจากการเป็นคนครัวประจำปางตามหน่วยช้างต่าง ๆ  เมื่อครั้งยังมีการสัมปทานป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  จากนั้นควาญเหล่านี้จึงได้เลื่อนขั้นมาเป็นควาญตีนหรือผู้ช่วยควาญคอ  ซึ่งบางคนใช้เวลานาน 2 – 5  ปี  จึงจะได้เลื่อนขั้นในแต่ละขั้น จากควาญตีนได้เลื่อนขั้นมาอยู่ในตำแหน่งควาญคอ  จึงจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  การพิจารณาขั้นจะอยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าควาญ


หน้าที่ 5 - เกี่ยวกับผู้เขียน

หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
นายอิทธิพันธ์   ขาวละมัย 
(ชื่อเดิม คึกฤทธิ์  ขาวละมัย)


ตำแหน่งงาน ผู้จัดการทั่วไปวังช้างอยุธยา แล เพนียด
  เลขานุการมูลนิธิพระคชบาล
  ประชาสัมพันธ์ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  อาจารย์พิเศษกับหลายหน่วยงาน 
  ผู้รู้ในเรื่องวัฒนธรรมไทย กับช้างไทย
  ผู้ร่วมรื้อฟื้น และพัฒนา พิธีคล้องช้าง (ตำราหลวง)
วิชาการดอทคอมต้องขอบพระคุณพี่ขาว (คุณอิทธิพันธ์) มากๆ ค่ะ ในการมอบบทความเกี่ยวกับเรื่องช้าง ที่พี่ขาวเขียนขึ้น เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ (ในขณะนั้น)
พี่ขาวเพียงต้องการให้ผู้อ่าน ตระหนักถึงคุณค่า ของ 'ช้าง' จึงต้องการเผยแพร่เรื่องราวของช้างให้เยาวชน ได้ 'รู้จัก'  'เข้าใจ' และ 'รัก' ช้าง  มากขึ้นค่ะ
วังช้างอยุธยา แล เพนียด รวมถึงวังช้างทุกแห่ง ได้ดูแลช้างอย่างเอาใจใส่เป็นอย่างดี หางานแสดงให้ช้างและควาญช้างได้มีงานทำ เพื่อให้ 'ช้าง' ได้อยู่คู่เมืองไทยตลอดไป พวกเราเพียงแต่สนับสนุน ไปเยี่ยมเยียน เพื่อไม่ให้ช้างต้องมาเร่ร่อนในเมืองค่ะ
ทีมงานวิชาการดอทคอมและผู้อ่านทุกท่าน เป็นกำลังใจให้พี่ขาว และ ทีมงานของวังช้างอยุธยา แล เพนียดค่ะ
บทความของพี่ขาวที่ผ่านมา ได้แก่

การฝึกช้างเพื่อการแสดง : หมู่บ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ https://www.vcharkarn.com/varticle/40776
ช้าง : เศรษฐกิจชุมชน งานเทศกาลและงานบุญประเพณี https://www.vcharkarn.com/varticle/40770
การเลี้ยงช้าง https://www.vcharkarn.com/varticle/40118
การฝึกช้าง https://www.vcharkarn.com/varticle/40117
การแทรกโพนช้าง https://www.vcharkarn.com/varticle/39421
ตากลาง หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มแม่น้ำมูล ตอนที่ 2 https://www.vcharkarn.com/varticle/39282
ตากลาง หมู่บ้านช้างแห่งลุ่มแม่น้ำมูล ตอนที่ 1 https://www.vcharkarn.com/varticle/39180
ความรู้เรื่องช้าง https://www.vcharkarn.com/varticle/39089
เทพเจ้าของช้าง https://www.vcharkarn.com/varticle/39032
ช้างแพนด้า https://www.vcharkarn.com/varticle/39024
ประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงช้างไทยกับประเทศไทย https://www.vcharkarn.com/varticle/39016


อัพเดทล่าสุด