สาวยุคใหม่ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อย ลูกเสี่ยงเป็นLD
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างโรงพยาบาลมนารมย์ และวิชาการดอทคอม
https://www.manarom.com/
นอกจากปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมแล้ว ยังมีผลการวิจัยออกมาอีกว่ามารดาที่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยจะทำให้เด็กที่ คลอดออกมามีปัญหา ด้านความบกพร่องทางการเรียนรู้อีกด้วย ดร. เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการจิตวิทยา ผู้ชี่ยวชาญสาขาครอบครัวบำบัด และผู้เชี่ยวชาญด้าน Learning Disabilities (LD) โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อยของมารดา ก็อาจะทำให้เด็กที่คลอดออกมามีโอกาสเป็น LD ได้รวมถึงเด็กที่คลอดแล้วน้ำหนักตัวน้อยมากก็อาจเป็น LD ได้เช่นกัน เพราะเกิดจากการที่สมองทำงานผิดปกติ หรือได้รับกรรมพันธุ์จากพ่อแม่ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมก็อาจทำให้เด็กมีความบกพร่องในการเรียนรู้ได้
สำหรับลักษณะของความบกพร่องในการเรียนรู้นั้น ดร.เพ็ญนี อธิบายว่า อาจแสดงออกมาในรูปแบบของการอ่าน การฟัง การเขียน การคำนวณ ฯลฯ ที่ผิดปกติ เช่นอ่านหนังสือได้ช้า ไม่สามารถจับใจความได้ เขียนไม่เป็นตัวหนังสือ ไม่สามารถคำนวณและแปลโจทย์คณิตศาสตร์ได้ ฯลฯ ทำให้เด็กเรียนมีปัญหาในการเรียน ทั้งๆ ที่มีลักษณะของความเฉลียวฉลาดและมีสติเชาว์ปัญญาดี แต่เมื่อผู้ใหญ่ไม่เข้าใจถึงปัญหาความสลับซับซ้อนเรื่อง LDที่ได้เกิดกับเด็ก ปัญหาซ้ำซากก็จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะผู้ใหญ่ไม่ทราบถึงปัญหาต้นตอที่แท้จริง เด็กจึงต้องถูกตำหนิอยู่เสมอว่าเป็นคนขี้เกียจ ดื้อ ไม่ตั้งใจเรียน ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลตามมาทำให้เด็กมีปมด้อย และเกิดปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่าง ๆ ได้ในที่สุด
“วิธีสังเกตเด็กที่มีลักษณะเป็น LD พฤติกรรมบางอย่างจะสังเกตได้ชัด บางอย่างอาจสังเกตไม่ได้ คือเด็กอาจจะอ่านได้คล่อง อ่านเพื่อความเข้าใจได้ เล่าเรื่องได้ แต่เมื่อถามเฉพาะจุดเจาะจงจะตอบไม่ได้ ไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องได้ ส่วนในด้านคณิตศาสตร์ก็ไม่สามารถคิดคำนวณง่าย ๆ ได้ ไม่เข้าใจความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ จำหลักเลขไม่ได้ ด้านการเขียนอาจสะกดคำศัพท์ไม่ได้ เป็นต้นดูเป็นเรื่องที่ชัดเจนสำหรับเด็ก LD แต่ก็ต้องดูต่อว่าเขาจัดอยู่ใน LD ประเภทไหน เด็ก LD จะแตกต่างกับเด็กไม่ฉลาดและเด็กสมาธิสั้น คือเรื่องพัฒนาการต่าง ๆ เด็กที่ไม่ฉลาดจะมีพัฒนาการจะล่าช้าเป็นเรื่องปกติ ส่วนเด็กสมาธิสั้นก็จะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่นานเพราะต้องรับสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่เข้ามา ส่วนเด็ก LD อาจจะพูดเก่ง ฉลาด แต่จะไม่จำ โดยเฉพาะถ้าให้ลงมือเขียน ลงมือทำ จะทำไม่ได้ นี่คือช่องว่างที่แตกต่างกันตรงนี้และสิ่งที่ตามมาคือผลสัมฤทธ์ทางการเรียน อย่างน้อยที่สุดมีนัยยะสำคัญที่สองชั้นเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กปกติ” ดร.เพ็ญนี กล่าว
สำหรับแนวทางการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยเหลือนั้น ดร.เพ็ญนี ให้ข้อแนะนำว่า ผู้ปกครองต้องบอกนักจิตวิทยาก่อนว่ามีความห่วงใยเด็กในเรื่องใด ได้ห่วงใยในเรื่องนั้น ๆ มาระยะเวลานานแล้วเท่าไร และที่ผ่านมาได้พยายามช่วยเหลือเด็กอย่างไร เพราะข้อมูลเรื่องการเรียนของเด็ก การพัฒนาการของเด็กตลอดจน ข้อมูลจากโรงเรียน ครูผู้สอน ฯลฯ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบว่าเด็ก LD มีข้อดีข้อเด่นในเชาว์ปัญญาของเขาด้านไหน และเมื่อทราบถึงจุดนี้ก็เสามารถทำการเลือกวัดไอคิว ทำแบบทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ ตามวัยที่เหมาะสมกับเขาได้ ทั้งนี้เพื่อสามารถทำแผนบำบัดที่มีประสิทธิภาพสำหรับตัวเขาต่อไป
ทั้งนี้ ดร.เพ็ญนี กล่าวว่า หากพ่อแม่และครูไม่เข้าใจเด็กแล้วการให้ความช่วยเหลือจะเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่อาจช่วยเหลือตามความต้องการที่แท้จริงของเด็กได้ เพราะปัญหาความบกพร่องในการเรียนรู้ เป็นความบกพร่องที่ซ่อนเร้น พ่อแม่ควรมีสัมพันธ์อันดีกับเด็ก และพยายามสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ อีกทั้งครูควรมีความใจในเรื่องนี้มากขึ้นเพราะจะได้สามารถรับมือได้ โดยปกตินักจิตวิทยาสามารถตรวจสอบได้ว่าเด็กคนไหนเป็น LD หรือไม่ โดยการใช้เครื่องมือในการประเมินด้านต่าง ๆ เพื่อทดสอบ”