หมอเด็กเตือนเนอร์สเซอรี่ระวังเด็กเล็กติดเชื้อ


767 ผู้ชม


หมอเด็กเตือนเนอร์สเซอรี่ระวังเด็กเล็กติดเชื้อ

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา
www.thaihealth.or.th   


          จากกรณีข่าวการติดเชื้อแบคทีเรียในโรงพยาบาลที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน จนเกิดกระแสการตื่นตระหนกเรื่องการติดเชื้อจากสถานพยาบาลและโรงพยาบาลตามมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว กุมารแพทย์เผยว่า เราทุกคนเสี่ยงติดเชื้อได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ เพราะแต่ละวันเราสัมผัสเชื้อโรคมากมายในสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนมากๆ อยู่รวมกัน พร้อมแนะทำร่างกายเด็กเล็กให้แข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ ช่วยสร้างเกราะป้องกันเชื้อโรคได้อย่างดี


หมอเด็กเตือนเนอร์สเซอรี่ระวังเด็กเล็กติดเชื้อ


          ศ. เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย เผยว่า จากข่าวที่ออกมาทำให้ประชาชนตื่นกลัวการติดเชื้อโรคจากโรงพยาบาล บางคนถึงขั้นไม่ยอมไปโรงพยาบาลเลยก็มี เพราะเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราทุกคนเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ตลอดเวลา จากอากาศที่เราหายใจ หรือจากอาหารที่เรากิน โดยความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ไม่สบาย ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเล็กเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ในพื้นที่ที่เด็กเล็กรวมตัวกันมากๆ เช่น เนอร์สเซอรี่ หรือ ห้างสรรพสินค้า ก็เป็นอีกสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อและติดเชื้อของเด็กเล็ก ด้วย โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งก่อให้เกิดกลุ่มโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กที่อวัยวะต่างๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด และกระแสเลือด เป็นต้น
          “เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นเชื้อที่อยู่ในร่างกายร่วมกับเรามานานแล้ว เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ และคอหอยของคนเรา พบความชุกของเชื้อมากถึงร้อยละ 20-30 ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ซึ่งเมื่อร่างกายอ่อนแอ ทำให้เยื่อบุดังกล่าว โดนทำลาย หรือมีการสำลักเอาน้ำลายที่มีเชื้อโรคนี้ เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าไปสู่อวัยวะต่างๆ ซึ่งหากเข้าสู่ปอดก็จะทำให้เป็นโรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เชื้อดังกล่าวจะเข้าไปทำลายเนื้อปอด ทำให้การดูดซึมออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง เด็กเล็กจึงต้องใช้กล้ามเนื้อพิเศษในการช่วยหายใจ เช่น กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อท้อง ทำให้เวลาหายใจจะมีอาการคอบุ๋ม ท้องบุ๋ม ซี่โครงยก จมูกบาน เป็นต้น รวมทั้งเด็กเล็กที่หายใจแล้วมีเสียงดัง หรือเสียงหวีด
          นอกจากนี้ เชื้อดังกล่าวอาจจะหลุดเข้าไปสู่อวัยวะสำคัญอื่นๆ ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง (โรคไอ พี ดี) ซึ่งประกอบด้วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น โดยอาการในเบื้องต้นจะเริ่มจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการจะเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา คือมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ แต่อาการแตกต่างที่สังเกตได้ชัดเจน คือจะซึม และงอแงในเวลาเดียวกัน และอาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วัน เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่อวัยวะต่างๆ เช่นสมอง หรือกระแสเลือด เป็นต้น”
          ศ. เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวด้วยว่า โรคไอพีดี เป็นโรคที่มีความรุนแรง ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ ถ้าลูกไม่สบายคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม การดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด การเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดี ได้แก่ การให้ทารกดื่มนมแม่ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ สอนให้เด็กล้างมืออย่างถูกวิธี และรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ รวมถึงให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่แออัดและมีเด็กอยู่รวมกันเยอะๆ   ช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้


หมอเด็กเตือนเนอร์สเซอรี่ระวังเด็กเล็กติดเชื้อ


          “อย่างไรก็ตาม เพื่อการเสริมภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ให้ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่อาจจะพิจารณาให้ วัคซีนไอพีดี ในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกคนแม้จะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม ในเด็กกลุ่มที่มีโอกาสรับเชื้อได้มาก เช่น เด็กที่อยู่ในเนอร์สเซอรี่ หรือต้องอยู่ในสถานที่ๆ มีคนแออัด เช่น ศูนย์การค้า เป็นต้น โดยการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้แก่เด็กจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานสำหรับเด็กต่อ เชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งสามาถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงดังกล่าวได้ และจะนำไปสู่การป้องกันการเกิดความพิการหรือการเสียชีวิตจากเชื้อโรคที่ไป ยังอวัยวะต่างๆ ได้ วัคซีนดังกล่าวยังเป็นวัคซีนทางเลือก ยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานเช่นเดียวกับวัคซีนอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่คงต้องปรึกษากุมารแพทย์เพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้ ลูกหลานด้วยตัวเอง”

          สำหรับคุณครู และเจ้าหน้าที่ในเนอร์สเซอรี่สิ่งที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อลดการแพร่เชื้อก็คือ หากมีเด็กไม่สบายควรแยกดูแลจากเด็กเล็กคนอื่นๆ แยกการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น ช้อนข้าว แก้วน้ำเป็นต้น และหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีไข้สูง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ให้รีบพาพบแพทย์ทันที” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวทิ้งท้าย??



อัพเดทล่าสุด