โลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง


968 ผู้ชม


โลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง
พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ
[email protected]
ประจำกรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
กรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่
ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)



           การเปลี่ยนแปลงของโลกเราในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง จนทำให้ประชาชนของบางประเทศที่มีความรู้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการต่อต้านกับการหลั่งไหลของคลื่นที่ถาโถมเข้ามาทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการเชื่อมต่อของโลกที่ทำให้เกิดโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยพวกเข้าเชื่อว่าการต่อต้านของเขาจะสามารถต้านทานระเบียบโลกใหม่ได้ โดยพวกเขาลืมคิดไปว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นเรื่องปกติที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตลอดเวลา เพียงแต่จะปรับตัวอย่างไร ? ......  อยู่กับมันอย่างไร ?



โลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง


           ความรู้ของประชาชนในชาติ มีความสำคัญยิ่ง ณ เวลานี้ ถ้าจะเปรียบเทียบกับอดีต ก็คือ คนในอดีตเชื่อและคิดว่า พวกเขามีความรู้ ที่ถูกต้องว่าโลกแบน แต่แท้ที่จริง ความรู้ใหม่ ที่ถูกค้นพบในช่วงเวลาต่อมานั้นผิดถนัดเพราะแท้ที่จริงนั้นโลกเรากลม
           เมื่อ30 ปีก่อน มีผู้คนมากมายเคยหัวเราะขบขัน ในความคิดของผู้บริหารประเทศฟินแลนด์  ว่าในอนาคตผู้คนในโลกจะมีการใช้อุปกรณ์พกพาที่สามารถพูดคุยได้กันทั่วโลก จนทำให้รัฐบาลฟินแลนด์ ตัดสินใจตั้งศูนย์วิจัย และโรงงานผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ NOKIA ขึ้น และขณะนี้มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกกว่า 1พันล้านราย 
           จากเวลานี้ไป เทคโนโลยีสื่อสารจะทำให้ความรู้เชื่อมต่อกับผู้คน เป็นลักษณะเครือข่าย อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับองค์กรโดยสมบูรณ์ตลอดเวลา (Always on) จนทำให้โลกมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยความเร่ง ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้  Sir John Rose  ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท โรส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) ได้กล่าวว่า ต่อไปยุคเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) จะทำให้คำว่า ประเทศด้อยพัฒนา  (Underdeveloped Country), ประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country), ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ต้องเปลี่ยนเป็น ประเทศที่ฉลาด (Smart Country), ประเทศที่ฉลาดกว่า (Smarter Country), และประเทศที่ฉลาดที่สุด (Smartest Country) มาแทน
           โดยความรู้ที่ถ่ายทอดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวคิดใหม่คือ “การทำงานที่ฉลาดกว่าผู้อื่นย่อมดีกว่า การทำงานที่มีมูลค่าถูกกว่า และต้องทำงานหนักกว่า”  จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประเทศที่มีแนวคิดในลักษณะนี้ สามารถผลักดันธุรกิจท้องถิ่นของตน สู่ธุรกิจระดับโลกได้
           ตัวอย่างเช่นประเทศสวีเดน มีความเชื่อว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนั้น จะทำให้พวกเขาค้นพบโอกาสใหม่บนโลกใบนี้ ผลคือ สามารถผลักดัน บริษัท SAAB, IKEA, VOLVO และ ERICSSON สู่ตลาดโลกได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งๆที่ประเทศสวีเดนเป็นประเทศเล็กๆในยุโรปและในโลกเท่านั้น
           ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเยาวชนของประเทศ ในแถบเอเชีย ติดอันดับ Top Ten ด้านความสามารถทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนจากประเทศจีน, เกาหลี, อินเดีย, และสิงคโปร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิงคโปร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกาะอัจฉริยะ  (Intelligent Island)  เนื่องจากไม่มีทรัพยากร ไม่มีพืชพรรณเศรษฐกิจ นั่นคือพวกเขาต้องเอาชนะด้วยความรู้และปัญญาเท่านั้น
           สิงคโปร์มุ่งกับการจัดการกับแหล่งทรัพยากรนอกประเทศเพราะสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรมากนัก และเตรียม Knowledge Worker  เพื่อรับกับสังคมโลกใหม่ให้ได้ นั่นคือต้องทำให้เกิดสังคมที่สามารถทำงานได้ตลอดเวลาในขณะเคลื่อนที่ (Mobile Worker) เพราะพวกเขาเชื่อว่าการที่องค์กร หรือประเทศทำงานกับคนที่มีกรอบความคิดและความรู้เดียวกัน จะทำให้ประเทศเขาหยุดชงัก การพัฒนาทันที  พวกเขาจึงต้องออกไปร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญภายนอก 
           ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศจีนและอินเดียได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  และเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่นๆ ในโลก จีนได้ก้าวขึ้นมาติดอันดับหนึ่งในห้า ในการจัดอันดับ  GDP ของโลก   ขณะที่อินเดียก็กำลังขยับใกล้เข้ามาติดๆ และจากการคาดคะเนของนักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน  ศตวรรษที่  21 อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลกครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง  
           การเชื่อมต่อของโลกทำให้ธุรกิจต่างๆได้เปลี่ยนมาเป็นระบบเปิด และขยายตัวไปทั่วโลกมากขึ้น คำถามที่สำคัญคือ ประเทศกำลังพัฒนาจะปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับการขยายตัวของกระแสโลกาภิวัฒน์ของโลก คำตอบคือต้องสร้างแรงงานเปรื่องปัญญาหรือที่เรียกว่า Knowledge worker และต้องผลิตสินค้าและบริการที่หลากหลายส่งออกไปทั่วโลกนั่นเอง


โลกกำลังเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราเร่ง


           ขณะนี้โลกหันมาใช้วิธีการ Share ความรู้กันมากขึ้น จนทำให้องค์กรที่ทำวิจัยแบบปิดลับ โดยไม่มีการทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรอื่นเริ่มหายตายจากไป เช่น ห้องวิจัยของ IBM, Intel, AT&T เป็นต้น องค์กรที่ไหวตัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ทัน ก็เริ่มกระจายความรู้สู่องค์กรที่เขาจับมือด้วย ทำให้ความรู้แตกตัวออก และพัฒนาได้อย่างรวดเร็วขึ้นทันตา จึงทำให้องค์กรที่ปรับตัวทันมีความได้เปรียบองค์กรอื่น จนทำให้เทคโนโลยีของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน 
           บริษัทที่เกิดใหม่ที่เคยเป็นบริษัทเล็กๆมาก่อนเช่น Dell, Google, eBay และ Amazon  ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถต้านทานการเติบโตของพวกเขาได้ เพราะปัญญาและความรู้นั่นเอง
           โลกใหม่จะเป็นโลกแห่งความรู้ โดยมนุษย์จะมีเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูล บนอินเตอร์เนท โดย Berners-Lee นักคอมพิวเตอร์ผู้ชาญฉลาด ซึ่งเป็นผู้คิดค้นระบบ World Wide Webแห่ง MIT ได้คาดไว้ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะมีระบบ Semantic Web ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถที่จะหาข้อมูลที่เขาต้องการจาก  Web ได้อย่างรวดเร็ว และตามความความต้องการ อีกทั้งยังช่วยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล จนได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว
           นักคิดหลายท่านได้เห็นพ้องกันว่า “ ความรู้ก็คือการรู้ว่าตนเองไม่รู้  คนฉลาดคือคนที่รู้ว่าตัวเองโง่  ส่วนคนโง่คือคนที่อวดตัวเองว่าฉลาด  สิ่งที่เราไม่รู้สามารถทำอันตรายต่อเราได้ ”  ดังนั้น  การรู้ว่าตนเองโง่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง  ดังนั้นคนในชาติต้องถูกปลูกฝังให้เข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องรู้ว่าสิ่งใดที่ไม่สามารถต้านทานได้ แต่อาจสามารถชนะได้ด้วยความรู้และปัญญา (Knowledge and Wisdom) และต้องรู้ด้วยว่าสิ่งใดที่ควรเสียเวลาประท้วงกับทุนต่างชาติที่กำลังถาโถมเข้ามาในประเทศ หรือควรใช้เวลาประท้วงต่อต้านไปหาความรู้และปัญญามาต่อสู้จะเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดกว่า



อัพเดทล่าสุด