การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming)


1,326 ผู้ชม


การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming)

การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming)
พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ
[email protected]
ประจำกรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย
กรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่
ภายใต้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)



           ในอดีตการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปในรูปแบบมาก่อนได้ก่อน (First comes, First serves) และจะต้องไม่รบกวนกัน  เป็นเหตุให้ในปัจจุบันหลายประเทศพบกับปัญหาในการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เป็นไปตามกรอบของ ITU โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ใช่ผู้คิดค้นและผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การจัดสรรความถี่จึงมักจะถูกกำหนดโดยผู้คิดค้นและผู้ผลิตในต่างประเทศ และบางส่วนก็มักจะถูกกำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นผู้ใช้รายใหญ่ภายในประเทศ  ทำให้เกิดการสะสมความถี่ และการใช้ความถี่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
           ต่อมา เทคนโลยีโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นระบบ Analog สู่ระบบ Digital เกิดการหลอมรวมเทคโนโลยี (Technology Convergence)   ซึ่งการส่งข่าวสารในรูปของเสียง ภาพ ข้อมูลต่างๆ สามารถจะส่งได้รวดเร็วไปในครั้งเดียวได้ครั้งละมากๆ  เกิดบริการด้านโทรคมนาคมที่หลากหลาย รวมทั้งเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีไร้สาย ที่ทำให้เกิดความสะดวกต่อผู้ใช้ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างเคลื่อนที่หรือประจำที่ หรือแม้แต่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งมีความสะดวกในการติดตั้ง และใช้ประโยชน์จากสื่ออุปกรณ์ได้หลายรูปแบบทั้งภาพ เสียง ข้อมูลในเวลาเดียวกันอย่างไร้ขีดจำกัด   ดังนั้น กลไกตลาดโทรคมนาคมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากความต้องการใช้ความถี่มีมากขึ้น ขณะที่ความถี่ที่ต้องการก็มีอยู่อย่างจำกัดไม่เพียงพอกับความต้องการ 

          
จากการเปลี่ยน แปลงดังกล่าว มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายภาครัฐฯ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการแข่งขันอย่างรุนแรงในภาคธุรกิจเอกชน ทำให้ความต้องการทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ระบบสื่อสารโทรคมนาคมในปัจจุบัน ประสบกับปัญหาการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอย่างจำกัด จนเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับหน่วยงานภาครัฐฯ เอกชน รวมทั้งในภาคประชาชน ดังนั้นจึงทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคม ต้องพิจารณาการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเป็นธรรม ให้สามารถรองรับกับความต้องการ และสอดคล้องกับตารางกำหนดคลื่นความถี่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ด้วย  ซึ่งการเรียกคืนคลื่นความถี่ (Retrieval of spectrum) จากผู้ครอบครองในปัจจุบันเพื่อการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Refarming) ให้กับผู้ต้องการรายเดิมหรือรายใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการใช้ความถี่ที่ดี ขึ้นเพื่อการรองรับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งเป็นวิธีหนื่งที่หน่วยงาน Regulator ในหลายประเทศใช้ในการบริหารคลื่นความถี่ของชาติ


การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming)
International Telecommunication Union : ITU
รูปจาก 
https://www.itu.int/


ความเป็นมาของการกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่

           ต้นกำเนิดของคำว่า Refarming นั้น เป็นชื่อที่ถูกกำหนดในเอกสารของ FCC ที่เรียกว่า “FCC Docket 92-235” เริ่มเมื่อปี 1992 และประกาศเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 1995 ซึ่งเป็นเอกสารที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ในการจัดการคลื่นความถี่ในระบบ Private Land Mobile Radio (PLMR) เพิ่มช่องการสื่อสาร (Channel) จึงเป็นผลให้ FCC สามารถเตรียมการเพื่อเทคโนโลยีโทรคมนาคมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง Refarming จึงเป็นกฎและระเบียบใหม่ที่ FCC เป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้เพื่อการใช้งานคลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 
           โดยหลักการแล้ว FCC ทำการจัดการกับคลื่นความถี่โดยใช้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้ประสานความถี่ (Frequency coordinators)” ซึ่ง Frequency coordinators นี้เองที่เป็นผู้ดูแลในการที่จะจัดการกับการให้ใช้สิทธิการใช้ความถี่และการกำหนดความถี่ (Licensing and frequency assignments) สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยที่ FCC ได้ทำการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ในย่านต่างๆ (Pool of frequencies) โดยคณะกรรมการ Refarming ของ FCC ไว้แล้วและมอบกลุ่มความถี่เฉพาะการใช้งานในด้านต่างๆให้กับ“ผู้ประสานความถี่ (Frequency coordinators)” ในด้านนั้นๆ ดูแลในเชิงปฏิบัติต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากรมกองใดในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชลประทานต้องการใช้ความถี่เพื่อการโทรคมนาคม ก็จะต้องทำการร้องขอการใช้สิทธิ (Apply for a license) กับผู้ประสานความถี่ด้านชลประทาน (Hydrologic coordinator agency) หลังจากผู้ประสานความถี่ด้านชลประทานได้รับคำร้อง ก็จะทำการพิจารณาการใช้สิทธิในกลุ่มความถี่ (Pool of frequencies) ที่ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการของ FCC ในส่วนของชลประทานเท่านั้น


การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming)
Federal Communications Commission (FCC)
รูปจาก
https://flowtv.org/


           หลังจากที่ FCC ใช้คำจำกัดความของการ Refarming ในเฉพาะขอบเขตของการลด Bandwidth เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้คลื่นความถี่ (Increasing spectral efficiency) นั้น ก็เริ่มมีประเทศหลายประเทศ นำคำว่า “Refarmimg” ไปใช้ในความหมายของ “การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่” อีกด้วย และในขณะนี้ FCC ก็ใช้ในความหมายนี้เช่นกัน เพื่อให้เห็นตัวอย่างการทำ Refarming จึงขอยกตัวอย่าง ดังนี้
           ในประเทศสหรัฐอเมริกา FCC ได้ทำการ Refarming ในย่าน 700 MHz ของการใช้งานส่งสัญญาณโทรทัศน์ (TV Broadcasting) เพราะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี TV Broadcasting ได้เปลี่ยนจากระบบ Analog ไปเป็น Digital แล้ว ดังนั้น FCC จึงดำเนินการเรียกคืนช่องสัญญาณความกว้าง 108 MHz บนความถี่ 700 MHz และดำเนินการจัดสรรให้กับองค์กรด้านความปลอดภัย (Public Safety Agencies) ด้วยความกว้าง 24 MHz ส่วนที่เหลือ 84 MHz จะทำการประมูลเพื่อกิจการพานิชย์ และคาดว่าจะได้รายได้ถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในทางปฏิบัติ กระบวนการ Refarming จะมีความยุ่งยากซับซ้อนในช่วงการเปลี่ยนเทคโนโลยี (Transition) ให้ผู้ใช้  (Users) โดยรัฐบาลจะเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่าย (Subsidize) อุปกรณ์ผู้ใช้ (Digital-to-Analog convertor boxes) ด้วยการเตรียมงบประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ National Telecommunication and Information Administration (NTIA) ที่เป็นหน่วยงานในฐานะให้คำปรึกษาประธานาธิปบดี ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องการประสานงานและจัดการร่วมกับผู้ผลิตอุปกรณ์เพื่อจัดเตรียมให้กับผู้ใช้ โดยเป็นการใช้ระบบคูปองมาแลกกับอุปกรณ์ 
           ในประเทศแคนนาดา กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการบริหารคลื่นความถี่ ได้ตัดสินใจทำการ Refarming ระบบสื่อสารเคลื่อนที่ Land Mobile ที่ย่านความถี่ 100-500 MHz ในปี 1998 ด้วยเหตุผลเพื่อการแก้ปัญหาความแออัดในการใช้งานในย่านนี้ แผนงานแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก (First phase) เป็นการปฏิบัติในช่วงปี 2002-2004 มีรายละเอียดคือ เป็นการรับรองการจัดการช่องการสื่อสารใหม่ ด้วยการลด Bandwidth จาก 25/30 kHz ไปเป็น 12.5/15 kHz ต่อ voice channel ในขั้นตอนที่สอง (Second phase) เริ่มตั้งแต่ปี 2010 โดยจะทำการลด Bandwidth ลงถึง 6.25/7.5 kHz ต่อ voice channel ซึ่งการ Refarming ครั้งนี้จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆไปสู่เทคโนโลยีใหม่ (gradual and flexible transfer to new technologies) อย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจที่รุนแรง
           การ Refarming คลื่นความถี่ WCDMA กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในหลายๆประเทศทั่วโลกว่าน่าจะใช้ย่านความถี่ 900 MHz ได้ ยกตัวอย่างประเทศในภูมิภาค Asia Pacific เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย ได้อนุญาตให้ใช้ WCDMA ในย่านความถี่ 900 MHz ได้ และที่สหราชอาณาจักร โดย Ofcom ก็ได้เสนอให้ทำการ Refarming ย่านความถี่ของ WCDMA โดยให้ย่านความถี่ 900 MHz เป็นย่านความถี่เพื่อการก้าวกระโดดสู่ยุค Ubiquitous Mobile Broadband ด้วยการไม่จำกัดเทคโนโลยีในย่านความถี่นี้ (without technology-specific restrictions) ส่วนในประเทศสเปน โปรตุกัล อิสลาเอล บางประเทศใน Asia Pacific และในลาตินอเมริกาก็กำลังพิจารณาการ Refarming WCDMA ในย่านความถี่ 850 MHz อีกด้วย 
           ประเทศญี่ปุ่นก็มีการทำ Spectrum refarming และถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากญี่ปุ่นกำลังนำประเทศไปสู่ Ubiquitous network society โดยภาพต่อไปแสดงภาพกว้างของการ Refarming (Frequency reallocation) จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นได้ทำการ Refarming ทั้งระบบโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็น ระบบวิทยุโทรคมนาคมเคลื่อนที่, WLAN, TV Broadcasting, UWB เป็นต้น
           ในหลักการ Spectrum Refarming (หรือเรียกว่า Redeployment) คือ การผสมผสานการจัดการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในมิติด้านเศรษฐศาสตร์และด้านเทคนิค ภายใต้กฎระเบียบด้านคลื่นความถี่ (Frequency Regulation) เพื่อทำให้คลื่นความถี่ย่านนั้นๆสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์และเหมาะสมกับการใช้งานอย่างสูงสุด นั่นเอง
กระบวนการกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่
           ในปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกยอมรับทั่วกันว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการสื่อสารโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรที่มีค่ายิ่งของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการสื่อสารโทรคมนาคมต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และต้องดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น หากมีวิธีการที่จะทำให้คลื่นความถี่มีค่าสูงขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ 
           การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่นั้นถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารคลื่นความถี่ที่จะทำให้คลื่นความถี่มีค่าสูงขึ้น และจะทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะ ITU – R Recommendation ที่เกี่ยวข้องของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยกระบวนการของการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่สามารถแสดงดังรูป


การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming)


รูปแสดงกระบวนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่
กระบวนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่สามารถแบ่งเป็น 4 ระยะดังนี้
1. ระยะที่ 1
           การวิเคราะห์อุปสงค์ อุปทาน กรอบนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ระดับสากล เช่น  ITU-R Recommendation และแนวโน้มสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
2. ระยะที่ 2
           การวิเคราะห์และประเมินเกี่ยวกับการประเมินสถานะและการประเมินสถานการณ์การใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาตที่มีอยู่เดิม วิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในด้านต่างๆ  วิเคราะห์โดยละเอียดถึงประสิทธิภาพความคุ้มค่า ทั้งในแง่มุมต่างๆ และวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ
3. ระยะที่ 3
           การนำผลข้อเท็จจริง การวิเคราะห์และการประเมินจากระยะที่ 2 มาพิจารณาเพื่อเป็นข้อพิจารณาว่าจะทำการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบคณะกรรมการ
4. ระยะที่ 4
           ผลจากระยะที่ 3 หากผลการพิจารณาคือ ไม่ทำการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (ในย่านความถี่ที่พิจารณา) ก็จะกลับไปในระยะที่ 1 เพื่อพิจารณาการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ในอนาคตต่อไป หากมีอุปสงค์ อุปทาน กรอบนโยบายการจัดสรรคลื่นความถี่ระดับสากล เช่น  ITU-R Recommendation และแนวโน้มสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลง
           แต่หากผลการพิจารณาคือ จะทำการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ในย่านความถี่ที่กำลังพิจารณาอยู่ ก็จะต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public hearing) เป็นการทั่วไป โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน รวมถึงประชาชนทั่วไปมาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อการปรับปรุงให้แผนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่มีประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากนั้นนำเสนอให้คณะกรรมการผู้มีอำนาจตามกฎหมายอนุมัติต่อไป และเมื่อผ่านการอนุมัติแล้ว ก็จะทำการประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และเมื่อเริ่มการปฏิบัติ  ก็ต้องทำการกำกับดูแลให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติต่อไป
           ตามหลักการแล้ว องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคม (Regulator) ของแต่ละประเทศจะต้องดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินสถานะและการ ประเมินสถานการณ์การใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้ Regulator มีเหตุผลในการทำการกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่ต่อไป โดยผลการศึกษามักจะประกอบด้วยรายละเอียดที่สำคัญหลายประการ โดยในที่นี้ขอยกจากหลักการของการกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่ของประเทศไทย โดยอ้างจากประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความ ถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550 ดังนี้
รายงานประเมินสถานะการใช้คลื่นความถี่ต้องประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้ 
           (1) สถานะการใช้คลื่นความถี่ทั้งหมดที่ได้จัดสรรหรืออนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาต ให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการสื่อสารโทรคมนาคมทุกราย
           (2) รายละเอียดแสดงถึงจำนวน ปริมาณ และอาณาบริเวณทางภูมิศาสตร์ของคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ได้จัดสรรหรืออนุญาตให้แก่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทุกราย
           (3) รายละเอียดแสดงถึงสถานะการใช้ วิธีการใช้ วัตถุประสงค์ของการใช้ ประเภทของการนำคลื่นความถี่ไปใช้เพื่อกิจการสื่อสารโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทุกราย
           (4) บทวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อประชาชนในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น จากการใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทุกราย
           (5) บทวิเคราะห์โดยละเอียดถึงประสิทธิภาพความคุ้มค่า ทั้งในแง่มุมทางเศรษฐกิจ สังคมการเมือง กฎหมายและเทคโนโลยีในการใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทุกราย
           (6) บทวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ จากการใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทุกราย
           ในการจัดทำร่างแผนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และแผนปฏิบัติการเพื่อกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ หรือรายงานประเมินสถานะการใช้คลื่นความถี่ เมื่อแล้วเสร็จในหลายประเทศต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public hearing) เป็นการทั่วไป
นอกจากการประเมินสถานะแล้วยังต้องมีการประเมินสถานการณ์ (แนวโน้มและสถานภาพทั่วไปของการใช้คลื่นความถี่ในมิติต่างๆ) เพื่อพิจารณาในการทำ Refarming โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) สถานการณ์ใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เป็นกรณี ดังต่อไปนี้
           (ก) ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่นในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หรือ
           (ข) ไม่เป็นการดำเนินการในลักษณะที่มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
(2) เป็นกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ใช้คลื่นความถี่อย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ประหยัดคุ้มค่าเท่าที่ควร
(3) เป็นกรณีที่การได้รับการจัดสรรหรืออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลดหรือจำกัดการแข่งขัน หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคมหรือเป็นการกีดกันทางการค้าในกิจการโทรคมนาคม
(4) ต้องการดำเนินการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายในเชิงกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
           (ก) เพื่อการแยกหมวดหมู่การจัดสรรคลื่นความถี่ตามประเภทของบริการ
           (ข) เพื่อให้เกิดการใช้คลื่นความถี่อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงแง่มุมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมายและเทคโนโลยี อันสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอุปสงค์ของตลาดโทรคมนาคม
           (ค) เพื่อความมีประสิทธิภาพและความประหยัดคุ้มค่าในการใช้คลื่นความถี่มากยิ่งขึ้น
           (ง) เพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยีตอบสนองต่อการเจริญเติบโต
ของตลาดโทรคมนาคมในระยะยาว
           (จ) เพื่อป้องกันหรือแก้ไขมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขัน หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม หรือเป็นการกีดกันทางการค้าในกิจการโทรคมนาคม
           (ฉ) เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
           โดยทั่วไปแล้วการประเมินสถานะและการประเมินสถานการณ์การใช้คลื่นความถี่ มักมีการจัดการรับฟังความคิดเห็สาธารณะเป็นการทั่วไป เพราะการทำการกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่มักเกิดผลกระทบต่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่รายเดิม และเพื่อที่จะได้ความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ที่ได้มาใช้ปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำการกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่
การกำหนดและจัดสรรความถี่ใหม่ในกิจการ BWA ในประเทศไทย

           เนื่องจากกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) นับว่าเป็นกิจการโทรคมนาคมที่มีเทคโนโลยีที่จัดไว้ในระดับความเร่งด่วนสูง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจึงได้เร่งรัดให้มีการนำมาใช้โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับข้อเสนอแนะ ITU-R M.1801 ว่าด้วยเรื่อง “Radio interface standards for broadband wireless access systems, including mobile and nomadic applications, in the mobile service operating below 6 GHz”  ซึ่งเป็นผลจากการประชุมระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม WRC – 2007
           ปัจจุบัน BWA เป็นการให้บริการบรอดแบนด์ไร้สายที่มีความนิยม และมีแน้วโน้มในการเติบโตในการใช้งานอย่างมาก แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังมีองค์กรทั้งภาครัฐวิสาหกิจ เอกชน และหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงจำนวนมากที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่านนี้ (2300-2400 MHz) อยู่ก่อนแล้ว การที่จะนำความถี่ดังกล่าวมาจัดสรรใหม่เพื่อกิจการ BWA นั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ แต่การเรียกคืนคลื่นความถี่และจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ จำเป็นต้องคำนึงถึงอุปสงค์ของผู้ประกอบกิจการ ผู้ใช้บริการ และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งคำนึงถึงกรอบเวลาการเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม ดังนั้นจึงได้ออกประกาศ กทช. ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ Broadband Wireless Access คือ
           1. ประกาศ กทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ย่านความถี่วิทยุ 2300 – 2400 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เมื่อ  24 กันยายน 2552 
           2. ประกาศ กทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ย่านความถี่วิทยุ 2500 – 2690 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เมื่อ  24 กันยายน 2552
           3. ประกาศ กทช. ว่าด้วยมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ซึ่งใช้เทคโนโลยี IMT – 2000 OFDMA TDD WMAN  เมื่อ 24 กันยายน 2552
           4. ประกาศ กทช. ว่าด้วยมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมลูกข่าย กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ International Mobile Telecommunication (IMT) ซึ่งใช้เทคโนโลยี IMT – 2000 CDMA Direct Spread เมื่อ 24 กันยายน 2552
           5. ประกาศ กทช. ว่าด้วยมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ เรื่อง เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับสถานีฐาน และสถานีทวนสัญญาณกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ International Mobile Telecommunications (IMT) ซึ่งใช้เทคโนโลยี IMT – 2000 Direct Spread เมื่อ 24  กันยายน 2552
           คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่จัดทำแผนปฏิบัติการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ในย่านความถี่ 2300 – 2400 MHz ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
สรุป

           การกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming) นั้นถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารคลื่นความถี่ (Spectrum Management) ที่จะทำให้คลื่นความถี่มีค่าสูงขึ้น และจะทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะ ITU – R Recommendation ที่เกี่ยวข้องของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยกระบวนการของการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียด แต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่คลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ของชาติโดยรวมนั่นเอง 
           สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Spectrum Refarming Committee) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และต่อมาคณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ได้จัดทำร่างแผนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างแผนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งการดำเนินการของ กทช. ดังกล่าวจะยังผลให้ประเทศไทยมีระบบการบริหารคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพในระดับสากล ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีค่ายิ่งต่อไป
เอกสารอ้างอิง
           [1]  ประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550  
           [2] ข้อเสนอแนะ ITU-R M.1801 ว่าด้วยเรื่อง “Radio interface standards for broadband wireless access systems, including mobile and nomadic applications, in the mobile service operating below 6 GHz” 
           [3] 
https://mavdisk.mnsu.edu/alleng/communications/DataRadio/p_refarming.pdf



อัพเดทล่าสุด