แพ้ยา เรื่องสำคัญ


932 ผู้ชม


แพ้ยา เรื่องสำคัญ

ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา
www.thaihealth.or.th 


แพ้ยา เรื่องสำคัญ             “แพ้ยาอะไรหรือเปล่า” เป็นคำถามปกติแต่สำคัญมาก ที่แพทย์ เภสัชกร พยาบาล มักจะถามก่อนจ่ายยาให้คนไข้ ใครแพ้ยาอะไรก็บอกไป แต่คุณเป็นคนหนึ่งที่เจอคำถามนี้แล้วอึ้ง!! ไม่รู้จะตอบอะไร เพราะไม่เคยรู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไรหรือเปล่า... แล้วตอบออกไปว่า “ไม่” ที่จะนำอันตรายมาสู่ชีวิตหากคุณแพ้ยานั้นๆ หรืออาจโชคดีหากคุณไม่แพ้ยาอะไรจริงๆ แต่คุณคิดจะเสี่ยงกับความไม่รู้หรือ?
            เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) โดยกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติงาน ADR (AdCoPT) ได้จัดประชุมวิชาการเรื่อง “อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ” (Advances in Adverse Drug Reactions: Common Drug-Induced Organ Disorders) เพื่อ เพิ่มพูนความรู้แก่เภสัชกรโรงพยาบาล ให้สามารถประเมินการแพ้ยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่อาจเหนี่ยวนำ ให้เกิดโรคใหม่ หรือส่งผลให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการแพ้ยาซ้ำได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
แพ้ยา เรื่องสำคัญ
สังเกตอาการ “ส่อ” แพ้ยา

            “ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์” ประธานกลุ่มชุมชนเภสัชกรนักปฏิบัติงาน ADR สมาคม เภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาแพ้ยารุนแรงในคนไทยยังมีข่าวออกมาให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า อาการแพ้ยาเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ เพราะการแพ้ยาขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแต่ละราย ในทางการแพทย์จึงไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า ผู้ป่วยคนไหนจะแพ้ยาตัวไหน บางรายไม่เคยมีประวัติแพ้ยามาก่อนก็สามารถเกิดอาการแพ้ยาได้ สิ่งที่สำคัญจึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยมีความรู้ว่า
         
   “เมื่อเกิดอาการผิดปกติและสงสัยแพ้ยา ควรรีบมาพบแพทย์และเภสัชกรก่อนที่อาการจะรุนแรง และทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดการแพ้ยาซ้ำ”

            อาการแพ้ยาที่พบบ่อย คือ อาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น เป็นผื่นแดงเหมือนเป็นลมพิษ อาการบางอย่างพบได้ไม่บ่อยแต่รุนแรง เช่น โรคสตีเว่นจอห์นสันซินโดรม ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นแพ้ที่รุนแรงทั่วร่างกาย ตาอักเสบ มีแผลพุพองในปากและอวัยวะเพศ เมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตหรือพิการสูง เช่น ตามองไม่เห็น
            สำหรับอาการแพ้ยาที่บ่งบอกว่าอาจจะอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันโลหิตลดต่ำลง หรือเกิดภาวะช็อก เป็นต้น
            อาการแพ้ยาบางอย่างที่อาจจะดูเหมือนไม่รุนแรง แต่ก็อาจเป็นอันตรายได้ เช่น อาการเหมือนเป็นลมพิษ หน้าบวม ตาบวม เพราะปฏิกิริยาแบบนี้อาจจะไปบวมในบริเวณอวัยวะที่สำคัญ เช่น หลอดลม คนไข้จะหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก บางรายถึงขั้นเสียชีวิต “ยากลุ่ม ที่พบว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้ได้บ่อยจะเป็นยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดอักเสบกล้ามเนื้อ ดังนั้นผู้ที่แพ้ยาแล้วมีอาการผื่นลมพิษ หน้าบวม ตาบวม อย่านิ่งนอนใจ ต้องรีบกลับมาพบแพทย์หรือเภสัชกรทันทีที่มีอาการ” ภญ.จันทิมา กล่าว


แพ้ยา เรื่องสำคัญ


แพ้ยา เรื่องสำคัญ ป้องกันการแพ้ยา

            ภญ.จันทิมา ได้แนะนำแนวทางป้องกันการแพ้ยาสำหรับผู้ป่วยว่า “กลุ่มผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยา” ทุก ครั้งที่พบแพทย์ ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ หากเคยได้รับบัตรแพ้ยาจากโรงพยาบาล ต้องพกติดตัวไว้เหมือนบัตรประชาชน และยื่นบัตรแพ้ยาทุกครั้งที่มาพบแพทย์ เพราะยากลุ่มหนึ่งอาจมีหลายตัว หากผู้ป่วยไม่ให้บัตรแพ้ยา แพทย์อาจไม่ทราบว่าแพ้ยาตัวใด
            “กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยา” ทุกครั้งเวลารับประทานยาที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน ควรสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด โดยทั่วไปอาการแพ้ยามักจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังจากได้รับยา หากมีอาการผิดปกติ เช่น ผื่นคันแปลกๆ ทั่วร่างกาย หน้าบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง เวียนศีรษะ ให้รีบกลับมาพบแพทย์และปรึกษาเภสัชกรทันที เพื่อให้สามารถวินิจฉัยแพ้ยาได้เร็ว ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงอาการแพ้ยาลงได้
            “ที่ผ่านมาสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ ให้ความสำคัญมากเรื่องของการดูแลผู้ป่วยและการป้องกันการแพ้ยาในผู้ป่วยมา โดยตลอด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาด้วยความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น มีการจัดประชุมวิชาการและฝึกอบรมให้เภสัชกรอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3,000 รายแล้ว ให้สามารถประเมินการแพ้ยาในผู้ป่วยได้ และเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลที่ดี ระหว่างโรงพยาบาล เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลับมาแพ้ซ้ำอีก” ภญ.จันทิมา กล่าว
            รู้เช่นนี้แล้ว อย่านิ่งนอนใจ กับอาการผิดปกติที่เกิดกับร่างกายแม้จะน้อยนิดก็ตาม เพราะอาการแพ้ยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยาอันตรายกว่าที่คิด และอย่าหยุดยาเองหรือปล่อยให้อาการรุนแรงก่อนสายเกินไป อาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรคใหม่หรือส่งผลให้อวัยวะมีความผิดปกติและเสียชีวิตได้



อัพเดทล่าสุด