ออกกำลัง “สมอง” กันดีกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา www.thaihealth.or.th
ง่าย และได้ผลที่สุด คือการ คิดเลขในใจ
หนึ่งในบทเรียนสอนเลขตอนเด็ก ครูเคยสอนให้ ′คิดเลขในใจ′ บวก ลบ คูณ หาร เท่าไร เก็บไว้ในใจก่อน แล้วเริ่มจัดการกับโจทย์อื่นต่อไป
เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นสมัยสมองยังสดใส ยังอยู่ในวัยเอ๊าะ รุ่นหนุ่มรุ่นสาว ขอบอก...เรื่องหมู ๆ
แต่... ทำไมหนอเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่คิดว่าหมู กลับเป็นหมูหิน คิดยากคิดเย็น สปีดการคิดก็ตก บางรายยิ่งร้ายเพราะจะบวก ลบ คูณ หาร ยังไงก็คิดไม่ออกเอาเสียแล้ว
อาการแบบนี้อาจจะไม่ได้เกิดกับแค่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะรุกรานไปเกิดในรูปแบบหลง ๆ ลืม ๆ ความจำน้อยลง สมองสั่งงานช้า สับสนวันเวลา จำสถานที่ ไม่ได้ หลงทิศหลงทาง พูดซ้ำถามซ้ำ ใช้คำผิด ๆ ถูก ๆ อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป ไม่รับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว เกิดความกลัวหวาดระแวง ร้ายไปกว่านั้นอาจมีอาการประสาทหลอนก็เป็นได้
ถ้าใครเป็นหรือใครมีคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะอยู่ในเพศไหน วัยใด โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุอานามล่วงเข้าหลัก 6 แล้ว พึงนึกไว้ได้อย่างหนึ่งว่า ภาวะ ′สมองเสื่อม′ น่าจะมาเยือนแล้ว
จากงานวิจัยพบว่า ในปี 2040 น่าจะมีคนเป็นโรคสมองเสื่อมมากถึง 81 ล้านคนทั่วโลก โดยพบว่าคนอายุ 65 ปี ในประเทศตะวันตกจะป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม 1% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุเพิ่มขึ้น และยังพบอีกด้วยว่า ผู้ที่มีอายุ 86 ปีขึ้นไป จะป่วยด้วยโรคนี้มากถึง 32%
สำหรับในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีการสำรวจอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้อยู่ประมาณ 200,000-300,000 คน
โรคนี้แม้จะไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยหรือพิกลพิการใด ๆ แต่ความร้ายกาจของโรคจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องการสั่งงานของสมอง ความจำ ความฉลาด การควบคุมอารมณ์ และไม่สามารถแยกถูกผิดได้
ต้นเหตุทั้งปวงนี้เกิดจากเซลล์ประสาทที่แม้จะถูกผลิตและสร้างขึ้นใหม่มาอยู่ เรื่อย ๆ แต่ก็กลับเสื่อมสภาพลงเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะกับเซลล์ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่นเดียวกับบอวัยวะทุกส่วนในร่างกายที่หากไม่ได้ใช้งานในส่วนไหนก็จะลีบฝ่อ ไปเอง ฉันใดก็ฉันนั้น เช่นเดียวกับสมอง
ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะยืดเวลาสมองให้เสื่อมช้าไปมากที่สุด นั่นคือต้องจับสมองมาเอ็กเซอร์ไซส์ และวิธีการเอ็กเซอร์ไซส์ที่ดี ง่าย และได้ผลนั้น คือการใช้วิธี ′คิดเลขในใจ′ มาเป็นตัวช่วยนั่นเอง
น.พ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์ด้านอายุรกรรมสมอง สถานพยาบาลกล้วยน้ำไท 2 กล่าวว่า ′การคิดเลขในใจทุกวัน วันละ หลาย ๆ ครั้ง จะเป็นการกระตุ้นให้สมอง ออกกำลัง กระตุ้นเซลล์สมองให้สร้างแขนงประสาทไปเชื่อมต่อกับเซลล์สมองส่วนอื่น ๆ เพิ่มให้เส้นใยประสาทของเซลล์ประสาทมีการเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น และยังเพิ่มปริมาณสารเคมีที่บรรจุอยู่ที่ประสาท ทำให้สามารถใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนจากพ่อค้าแม่ค้าที่แม้จะสูงอายุ แต่ยังคิดค่าอาหารและเงินทอนได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
ส่วนวิธีการคิดนั้น คุณหมอแนะนำว่าให้คิดเลขทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทอน ค่าอาหาร รายรับ รายจ่ายแต่ละวัน ด้วยสมองของตัวเอง แทนการใช้เครื่องคิดเลข หรือแม้แต่นับนิ้วก็ไม่ได้
คิดไปเริ่มจากหลัก 2 หลัก จากบวกไปลบ แล้วค่อย ๆ ก้าวไปสู่การคูณและหาร โดยเริ่มจากง่าย ๆ จากสูตรคูณแม่ 1-12 ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น
หรืออาจจะลองหัดใช้งานมือข้างไม่ถนัด ลองหัดเป็นนักวิเคราะห์หรือคาดการณ์หนังละครที่ดู หรือลองทบทวนเรื่องราวเก่า ๆ ย้อนหลังในทุกวัน ว่าวันนี้ทำอะไรไปบ้าง เพราะอะไรถึงทำเช่นนั้น เหล่านี้ก็ช่วยได้
นอกจากนั้นแล้ว อย่าลืมที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักใบเขียวจัด ๆ ออกกำลังกายใหสม่ำเสมอ นอนให้พอ เลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ อย่าอ้วน อย่าเครียด ที่สำคัญอย่าลืม บริหารสมองกันด้วยนะ...จะบอกให้...