ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?


1,119 ผู้ชม


ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?

ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?


          หลาย ๆ คน เมื่อนึกถึงยุงแล้วคงจะรู้สึกรำคาญใจ เพราะธรรมชาติของยุงนั้นจะบินอยู่รอบตัวเราเพื่อหาจังหวะดูดเลือด ซึ่งในการดูดเลือดแต่ละครั้งมีความเสี่ยงที่ยุงจะเป็นพาหะนำโรคภัยไข้เจ็บ มาสู่คนได้ตลอดเวลา โดยโรคที่ยุงเป็นพาหะนั้น ได้แก่ โรคมาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ โรคฟิลาเรียหรือโรคเท้าช้าง และโรคที่พบมากที่สุดคือ โรคไข้เลือดออกที่มียุงลายบ้าน และยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค ด้วยโรคที่ยุงเป็นพาหะนั้นเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากยุงจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งวิธีการป้องกันตนเองจากยุง ทำได้โดยการจุดยากันยุง การใช้ยาฉีดไล่ยุง การใช้ยากันยุงชนิดทาผิว เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ฉะนั้นผู้ใช้ควรระมัดระวัง และควรอ่านฉลากให้ละเอียดก่อนใช้เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง โดยเฉพาะยาจุดกันยุง ซึ่งจัดเป็นผลิตภัณฑ์คู่บ้านที่ใช้กันมานาน
ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?
ปราบเจ้ายุงร้าย... ด้วยยาจุดกันยุง
          ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุง ที่มีการผลิตออกสู่ท้องตลาด มีทั้งชนิดเป็นขดกลม และเป็นแท่ง เมื่อใช้จุดไฟแล้ว ไอที่ระเหยออกมามีคุณสมบัติในการไล่ยุงไม่ให้เข้ามาในบริเวณนั้น ยาจุดกันยุงส่วนใหญ่ มีสารเคมีผสมอยู่ ซึ่งกลุ่มสารเคมีที่นิยมใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในยาจุดกันยุง คือสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์ (pyrethroids) เช่น Allethrin, d-Allethrin, Esbiothrin เป็นต้น ซึ่งสารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่เลียนแบบสารสกัดจากธรรมชาติ คือ ไพรีทรัม (pyrethrum) หรือ ไพรีทริน (pyrethrins) ที่พบในพืชตระกูลดอกเบญจมาศ โดยไพรีทอยด์ (pyrethroids) คล้ายกับ ไพรีทริน(pyrethrins) ตามธรรมชาติแต่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มความคงอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อม และได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดแมลงชนิดต่าง ๆ ทั้งทางการเกษตรและทางสาธารณสุข ซึ่งสารเคมีที่ใช้เป็นองค์ประกอบในยาจุดกันยุงมากที่สุดคือ d-Allethrin นอกจากนี้ยังมียาจุดกันยุงที่เป็นสูตรผสมระหว่างสารในกลุ่ม ไพรีทรอยด์และสมุนไพร รวมทั้งมีสตรยาจุดกันยุงที่เป็นสมุนไพรล้วน ๆ ที่ทำจาก ผงจากใบตะไคร้หอม ผงจากใบยูคาลิปตัส ผงจากเหง้าขมิ้นชัน ผงจากใบสาบเสือ และผงจากใบสะเดา นอกจากสารออกฤทธิ์หลักในการไล่ยุงแล้วยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ทำให้ยาจุดกันยุงคงสภาพเป็นขดหรือเป็นแท่งได้ คือ ผงขี้เลื่อยที่ทำหน้าที่เป็นเชื้อไฟ ทำให้การติดไฟเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนหมด ผงกะลาบด ทำให้ยาจุดกันยุงมีความแข็งตัวไม่แตกหักง่าย ผงไม้บง และผงแป้งที่ได้มาจากมันสำปะหลัง ซึ่งเมื่อผสมกับน้ำแล้ว จะมีคุณสมบัติเหมือนกาว เป็นตัวยึดจับส่วนประกอบอื่น ๆ ให้เข้ากันได้ดี ทำให้ยาจุดกันยุงมีความสม่ำเสมอทั่วทั้งขด นอกจากนี้ อาจมีการแต่งสี แต่งกลิ่น และใส่สารป้องกันเชื้อราเข้าไป ในส่วนประกอบของยาจุดกันยุงด้วย
ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?
ต้องระวังเมื่อใช้ยาจุดกันยุง
          ในการใช้ยาจุดกันยุงควรระวัง เพราะสมาชิกครอบครัวที่อยู่บริเวณนั้นอาจได้รับอันตรายได้เนื่องจากไพรีทรอยด์ที่ผสมอยู่ในยาจุดกันยุงจะส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ซึ่งความรุนแรงของอาการพิษขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของไพรีทรอยด์ที่เข้าสู่ ร่างกาย แต่โดยทั่วไปมักจะไม่พบอาการเป็นพิษจากการใช้กำจัดแมลงในขนาดและวิธีการใช้ปกติ สำหรับอาการที่เกิดจากการได้รับพิษเฉียบพลัน เมื่อได้รับไพรีทรอยด์ในปริมาณมาก ได้แก่ มึนงง ปวดศีรษะ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก อ่อนเพลีย การรับรู้ต่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ชัก หมดสติ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต อาการพิษอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ อาการแพ้ทางผิวหนังคัน มีผื่นแดง หากเข้าตาอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง นอกจากนี้ พิษของไพรีทรอยด์อาจขึ้นอยู่กับตัวทำลาย และในตำรับที่เป็นของเหลว อาจทำให้เกิดการหายใจเข้าไปในปอด ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบได้
ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?
ความปลอดภัยในการใช้ยาจุดกันยุง
          แม้ว่าสารไพรีทรอยด์จะมีคุณสมบัติที่ทำให้ยุงสิ้นฤทธิ์และสลายตัวง่าย รวมทั้งมีความเป็นพิษน้อยกว่าสารประเภทอื่น แต่สารไพรีทรอยด์ก็สามารถทำให้เกิดพิษได้ โดยเฉพาะในรายที่เกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวหนังอักเสบ บวม แดง เยื่อจมูกอักเสบ และมีอาการเหมือนแพ้เกสรดอกไม้ คือ จาม ไอ น้ำมูกไหล หายใจขัด เป็นต้น แม้จะไม่ค่อยพบอันตรายรุนแรงที่เกิดจากยาจุดกันยุง แต่ผู้ใช้ก็ควรระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
          เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาจุดกันยุง ผู้ใช้ควรใช้ยาจุดกันยุงในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ขาตั้งและสิ่งรองยาจุดกันยุงต้องทำด้วยวัสดุโลหะหรือวัตถุอื่นที่ไม่ติดไฟ ล้างมือทุกครั้งหลังการหยิบใช้หรือสัมผัส และเก็บยาจุดกันยุงไว้มิดชิด พ้นมือเด็ก และไม่วางไว้ใกล้หรือรวมกับอาหาร ขณะจุดยากันยุงวางให้ห่างจากของไวไฟหรือของที่เป็นเชื้อไฟและเมื่อเลิกใช้ แล้วควรตรวจดูให้แน่ใจว่าไฟดับเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟไหม้ ที่อาจเกิดขึ้นหากประมาท
ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?
ทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์กันยุงประเภทอื่น ๆ
          เรามาทำความรู้จักกับยาฉีดไล่ยุงกันก่อน ยาฉีดไล่ยุงชนิดกระป๋อง ที่มีทั้งสูตรน้ำมันและสูตรน้ำ ซึ่งชนิดสูตรน้ำจะปลอดภัยต่อคนและสิ่งแวดล้อมมากกว่า รวมทั้งไม่ทำให้บ้านเรือนเปรอะเปื้อน ยาฉีดไล่ยุงชนิดกระป๋องมีวางขายแบบเป็นกระป๋องทรงกระบอกอัดน้ำยาเคมีสำหรับ ฉีดพ่นได้ทันทีเมื่อใช้หมดแล้วไม่สามารถเติมน้ำยาเคมีใหม่ได้ และแบบที่เป็นกระป๋องสี่เหลี่ยม ซึ่งต้องเติมน้ำยาเคมีลงในกระบอกฉีดและผู้ใช้ต้องสูบฉีดน้ำยาในขณะพ่นด้วย ตัวเอง เมื่อน้ำยาเคมีหมดก็สามารถเติมน้ำยาใหม่ได้


ยาจุดกันยุง อันตรายหรือไม่?


          นอกจากนี้ ยังมียากันยุงชนิดทาผิว มีชนิดครีม โลชั่น และแป้ง โดยมีสารออกฤทธิ์หลัก คือ ไดเอทธิลโทลูเอไมด์ (DEET : Diethyltoluamide)และสารสกัดจากพืช การใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มทาผิวที่มี DEET เป็นสารออกฤทธิ์หลักต้องใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างกล่องอย่างเคร่งครัด โดยผู้ใหญ่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี DEET อยู่ระหว่าง 15 -20% เด็กไม่ควรเกิน 10% ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี หากทายากันยุงแล้วพบว่ามีอาการแพ้ เช่น เป็นผื่น ผิวแดง หรือรู้สึกร้อนต้องหยุดใช้ทันที ล้างผิวด้วยน้ำสบู่ แล้วรีบไปพบแพทย์ เพราะ DEET อาจเป็นอันตรายได้หากใช้ไม่ถูกวิธี ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ผลิตยากันยุงปลอด DEET ที่ใช้สารอื่น ๆ โดยเฉพาะสารสกัดจากพืชที่แม้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่า DEET แต่มีความปลอดภัยมากกว่า เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส กระเทียม และมะกรูด เป็นต้น
          ยุงแมลงตัวเล็ก ๆ ที่สามารถเป็นพาหะนำโรคมาสู่คนได้ และเป็นวายร้ายคอยก่อกวนสร้างความรำคาญให้กับเรายิ่งนัก เพื่อป้องกันวายร้ายเหล่านี้ เราควรใส่ใจกันสักนิดโดยเริ่มจากการดูแลสุขลักษณะภายในบ้านไม่ให้เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุง เช่น ไม่ให้มีน้ำขังบริเวณรอบ ๆ บ้านและภายในบ้าน ติดมุ้งลวดเพื่อกันยุง เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเพราะยุงชอบอยู่ในมุมมืด หรือที่รก ๆ และเมื่อมียุงมารวบกวนเป็นจำนวนมากก็ปราบด้วยยากันยุงที่คุณถนัดใช้ เพียงเท่านี้เจ้ายุงร้ายก็จะกลายเป็นยุงสิ้นฤทธิ์


ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากอย.ดอทคอม


อัพเดทล่าสุด