คุณค่าอาหารไทยกับไขมันในเลือด
ในปัจจุบันเราต้องยอมรับว่ากำลังเผชิญอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่าง เรื่องของสุขภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเราควรให้ความสำคัญให้มาก เพราะถ้าหากสุขภาพทรุดโทรมก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนอยู่เรื่อย ๆ พฤติกรรมการบริโภคก็เป็นตัวแปรสำคัญในการเกิดโรค เช่น ถ้าหากว่าเรารับประทานอาหารที่มีไขมันสะสมเป็นเวลานาน ก็จะเกิดภาวะไขมันสูงในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน ก่อนอื่นเราจึงควรทำความรู้จักกับคำจำกัดความของคำว่าไขมันในเลือดกันเสียก่อนเพื่อจะได้ทราบถึงที่มาของภาวะดังกล่าว
ไขมันที่ลอยตัวในเลือด (Lipoprotein) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท โดยใช้เกณฑ์ความหนาแน่นจากการรวมตัวของไขมัน และชนิดของไขมันที่เป็นส่วนประกอบ ซึ่งถ้ามีการจับตัวกันหลวม ๆ และมีไตรกลีเซอร์ไรด์เป็นส่วนประกอบหลักจะมีความหนาแน่นน้อย เรียกว่า VLDL (Verylow density lipoprotein) ส่วนไขมันที่จับตัวกันดีขึ้นและมีโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลัก เรียกว่า LDL (Low density lipoprotein) และถ้าเกาะกลุ่มกันดียิ่งขึ้นและมีโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลักเช่นกันก็จะเป็น HDL (Hight density lipoprotein) ซึ่งไขมันที่จับตัวกันหลวม ๆ นี้เป็นตัวร้าย ทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด ส่วนไขมันที่จับตัวกันหนาแน่นจัดว่าเป็นไขมันผู้พิทักษ์ ช่วยลดการสะสมของไขมันในผนังเส้นเลือด โดยทั่วไปการตรวจระดับไขมันในเลือดจะมีค่าที่รายงานเป็น 2 ชนิด คือ โคเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride)
หากตรวจพบโคเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจเกิดจาก Lipoprotein ที่สูงได้ 2 ชนิด
* ดังนั้นถ้าพบว่าโคเลสเตอรอลสูงจะต้องแยกว่าตัวที่สูงเป็นตัวร้าย (LDL) หรือผู้พิทักษ์ (HDL)
ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ถ้าไตรกลีเซอร์ไรด์มีปริมาณสูง ก็จะต้องควบคุมอาหารโดยลดของมัน ของหวาน และแอลกอฮอล์ ออกกำลังอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มการใช้พลังงาน และช่วยในการทำงานของหัวใจ และเมื่อออกกำลังกายอย่างพอเหมาะพอดีถูกวิธีและสม่ำเสมอแล้ว ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ มักจะลดลง และสามารถเพิ่มปริมาณไขมันผู้พิทักษ์ได้
พฤติกรรมการบริโภคเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะควบคุมปริมาณไขมันใน เลือด อาหารไทยซึ่งได้ชื่อว่ามีความหลากหลายและมีการนำเอาพืชผักสมุนไพรที่มี คุณสมบัติในการรักษาโรคต่าง ๆ มาประกอบอาหาร ทำให้เราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายเพื่อประโยชน์ สูงสุด สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมปริมาณไขมันในเลือดควรเลือกบริโภคอาหารที่มี ปริมาณไขมันแต่น้อยและไม่ควรบริโภคไขมันเกิน 30 % ของปริมาณพลังงานที่ได้รับ โดยจำแนกตามความเหมาะสม การควบคุมอาหารที่มีไขมันนอกจากพิจารณาถึงปริมาณไขมันโดยรวมแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงชนิดของไขมันที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) พบได้ในน้ำมันสัตว์ นมระเหย เนย น้ำมันมะพร้าว และ น้ำมันปาล์ม มีวิธีสังเกตง่าย ๆ ด้วยการที่วางทิ้งไว้ก็จะจับตัวเป็นไขได้ง่าย ไขมันกลุ่มนี้ถ้ากินมากจะทำให้ระดับโคเลสเตอรอลสูง
2.ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fat) พบได้ในน้ำมันพืชอื่น ๆ เช่น น้ำมันถั่ว นํ้ามันงา น้ำมันมะกอก และไขมันจากปลาทะเล (น้ำลึก) การรับประทานไขมันกลุ่มนี้ในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลใน เลือดได้ และไขมันจากปลายังมีคุณสมบัติพิเศษซึ่งทำให้เลือดไม่เป็นลิ่ม ป้องกันการอุดตันในเส้นเลือดได้อีกด้วย
นอกจากปริมาณไขมันในอาหารแล้ว มีอีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ ปริมาณแคลอรี เพราะถ้าหากร่างกายได้รับแคลอรีมากเกินความต้องการที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แคลอรีเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นไขมันและสะสมในร่างกาย ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเป็นการบั่นทอนสุขภาพอีกด้วย ซึ่งความต้องการพลังงานของร่างกายในแต่ละบุคคลก็แตกต่างกันออกไปตามวัย ในสภาวะปกติและน้ำหนักไม่เกินกำหนด วัยเด็ก 4 – 8 ปี ประมาณ 1,800 แคลอรี/วัน วัยรุ่นหญิง 7 – 10 ปี ประมาณ 2,400 แคลอรี/วัน วัยรุ่น ชาย 9 – 12 ปี ประมาณ 2,900 แคลอรี/วัน ผู้ใหญ่ ต้องการ 30<แคลอรี/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยในเพศชายจะต้องการมากกว่าเพศหญิงประมาณวันละ 500 แคลอรี และในผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก จะต้องบริโภคน้อยกว่าความต้องการวันละประมาณ 500 – 1,000 แคลอรี ผู้สูงอายุ ต้องการเพียง 20 – 25 แคลอรี/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
ดังนั้นเราจึงควรรู้จักประมาณอาหารที่จะรับประทานในแต่ละมื้อ เพื่อจะได้สามารถควบคุมปริมาณไขมันในเลือด อันจะนำมาซึ่งสุขภาพที่ดี อายุยืนและมีหัวใจดีมีสุข
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากรพ.ศิริราช