“ข้าวก่ำ” ดำดี...ได้ใจ
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของวารสารจดหมายข่าว รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียงและ วิชาการ.คอม
https://www.pttplc.com/TH/Default.aspx
จากการไปร่วมพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้และขยายพันธุ์สมุนไพร ตำบลบ้านน้ำพุ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีฐานเรียนรู้อยู่ฐานหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากชาวบ้าน คือ ฐานเรียนรู้น้ำสมุนไพรข้าวก่ำ เพราะน้ำสมุนไพรที่ว่านั้นคือสาโทจากข้าวก่ำนั่นเอง ทำเอาผู้ชมแก้มแดงกันเป็นแถว
นอกจากน้ำสมุนไพรที่ว่าแล้ว ข้าวก่ำสีออกดำม่วงดูน่าสนใจไม่น้อย ด้วยสรรพคุณหลากหลาย ขนาดผู้ใหญ่กล โฉมคุ้ม ยกย่องในสวมมงกุฏ “นางพญาข้าว”
“ก่ำ” ในภาษาอีสานแปลว่า “ดำ” “คล้ำ” มีวรรณกรรมอีสารเรื่องหนึ่งชื่อ “ท้าวก่ำกาดำ” ตัวละครมีผิวดำเหมือนจรกาในวรรณกรรมไทย ข้าวก่ำจึงหมายถึงข้าวที่มีสีดำ หรือมีสีออกแดงม่วงแล้วแต่พันธุ์ ส่วนใหญ่นำมาหุงข้าวนึ่ง หรือทำเป็นขนมอย่างข้าวหลาม ขนมเทียน หรือข้าวแต๋น
ภูมิปัญญาของชาวล้านนาในอดีต จะใช้ประโยชน์จากข้าวก่ำในหลายด้าน อาทิ จะปลูกข้าวก่ำหัวไร่(บริเวณช่องน้ำเข้านา) เชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันโรคและแมลงที่จะมารบกวนต้นข้าวในนาได้ ส่วนคุณสมบัติทางยาจะใช้ป้องกันการตกเลือดในสตรีหลังคลอดรักษาอาการท้องร่วง และโรคผิวหนังบางชนิด
ทั้งนี้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้ง “หน่วยงานวิจัยข้าวก่ำ” เพื่อรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมข้าวก่ำพื้นเมืองของไทย ด้วยสรรพคุณทาง “แอนโทไซยานิน” และ “แกมมาโอซานอล” ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคลอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเส้นเลือดยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ฯลฯ
นี่แหละ เขาเรียกว่า ดำดี...ได้ใจ ไม่ต้องเสียเงินค่าหยูกค่ายาหลายอยู่นะ