ฝายห้วยยางแดง เริ่มต้นแห่งการคืนชีวิตให้กับป่ายางแดง


921 ผู้ชม


ฝายห้วยยางแดง เริ่มต้นแห่งการคืนชีวิตให้กับป่ายางแดง

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของวารสารจดหมายข่าว รักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียงและ วิชาการ.คอม
https://www.pttplc.com/TH/Default.aspx 


ฝายห้วยยางแดง เริ่มต้นแห่งการคืนชีวิตให้กับป่ายางแดง           ห้วยยาแดงเป็นห้วยสายเล็กหนึ่งใน 13 สายห้วยที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยไฟ   บ้านทุ่งติ้ว  ตำบลภูซาง  จังหวัดพะเยา  ความน่าสนใจแต่แรกไม่เพียงแต่เป็นห้วยสายเล็กๆ เท่านั้น  เพราะความยาวของลำห้วยจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ยาวเพียงร้อยหกสิบกว่าเมตรเท่านั้น  แต่กลับมีฝายกั้นน้ำมากถึง 80 ลูก  พร้อมกันนั้นยังเป็นฝายหินที่ถูกยึดไว้ด้วยคอนกรีตอย่างแข็งแรงอีกด้วย
          คำ  บัวผัด  ผู้นำชาวบ้านแห่งบ้านทุ่งติ้ว  ผู้เป็นต้นคิดและเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดฝายห้วยยางแดง  ได้ช่วยให้ความกระจ่าง
       
   “เวลาหน้าน้ำ  น้ำไหลลงจากเขาแรงมาก  ฝายดินหรือฝายตอกหลักเอาไม่อยู่  เราทดลองทำมาหมดแล้ว  จำเป็นต้องใช้ฝายหินและใช้คอนกรีตผสมกับดินเหนียวยึดหินต่างๆ เอาไว้”

          นอกจากนี้วิธีการทำฝายของพวกเขายังเป็นไปตามหลักธรรมชาติอย่างเที่ยงตรงอีกด้วย  นั่นคือ  เริ่มกั้นน้ำเพื่อทำฝายลูกแรกที่ปลายน้ำก่อนจะไหลลงอ่างเก็บน้ำ  ครั้นฝายทำเสร็จน้ำจะเอ่อย้อนกลับจนระดับน้ำนิ่งตรงไหน  จึงก่อฝายลูกที่สองตรงบริเวณนั้นอีกทำเช่นนี้ทุกฝาย  กระทั่งย้อนขึ้นมาจนถึงต้นน้ำ
          เช่นนี้เองระยะห่างของฝายแต่ละลูกจึงไม่เท่ากัน  ขึ้นอยู่กับระดับการลาดเทของลำห้วยในช่วงนั้นๆ เป็นสำคัญ
          คาดไม่ถึงว่าหลักคิดในการจัดการน้ำด้วยฝายขนาดเล็กนี้เป็นภูมิรู้อันเนื่องมาแต่การจัดทำปะปาภูเขาของพวกเขาเองเมื่อหลายสิบปีก่อน
          ครานั้นหลายหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลภูซางขาดแคลนน้ำทั้งน้ำดื่มกิน  และน้ำใช้ในการเกษตร  การจะรอให้ทางการมาดำเนินการต่อน้ำประปา  เป็นความหวังที่เลื่อนลอยอย่างยิ่ง  คำ  บัวผัด  เดินขึ้นเขาเหนือหมู่บ้านเพื่อค้นหาแหล่งน้ำ  เขาพบแอ่งน้ำซับ  จึงจัดหาท่อประปาพลาสติกมาเชื่อมกับแอ่งน้ำซับ  เพื่อนำน้ำลงไปยังหมู่บ้าน  ระยะทางกว่า 200 เมตร  ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคมากมายนัก  บ้านจำนวน 45 หลังคาได้รับน้ำจากภูเขาที่ไหลผ่านมาตามท่อ  ซึ่งเรียกกันภายหลังต่อมาว่า
‘ประปาภูเขา’ 

          ผลของการคิดเองนำเองนี้  ชาวบ้านอีกจำนวนเท่าตัวเข้าร่วมอย่างมองเห็นผล  นอกจากเข้าร่วมแรงแล้ว  ยังร่วมสมทบเงินเพื่อซื้อหาท่อประปา  มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือนจำนวนหลังคาเรือนที่ใช้น้ำประปาภูเขาก็เพิ่มขึ้นเป็น 80 หลัง
          เวลาผ่านมาเพียงสองปี  จากแอ่งน้ำซับธรรมดาก็จำเป็นต้องมีบ่อดักตะกอนขนาดใหญ่จำนวน 6 บ่อ  เมื่อถึงเวลานี้ครัวเรือนจำนวนกว่า 270 หลังคาเรือนใน 5 หมู่บ้าน  ก็ได้ใช้น้ำประปาภูเขาอย่างพร้อมหน้าพร้อทตากัน


ฝายห้วยยางแดง เริ่มต้นแห่งการคืนชีวิตให้กับป่ายางแดง


          “เมื่อแรกที่เปิดน้ำเข้าท่อนั้น  เราให้คนที่อยู่ปลายสุดท้ายของท่อได้เปิดใช้น้ำก่อน  แล้วไล่ขึ้นมาจนถึงคนต้นน้ำ  หากให้คนต้นน้ำใช้ก่อน  คนที่อยู่ปลายท่อก็จะไม่ได้ใช้น้ำ  เพราะเปิดมาแล้วก็จะมีแต่ลม” คำ  บัวผัด  เล่าถึงหลักคิดที่อาจกลายเป็นเส้นผมบังภูเขาได้ง่ายๆ นี้อย่างภูมิใจ
         ภายหลังต่อมา  ชาวบ้านตำบลภูซางได้รับพระราชทานอ่างเก็บน้ำห้วยไฟเพื่อใช้น้ำในการเกษตรกรรม  พวกเขาใช้หลักการเดียวกันนี้มาจัดการคลองซอยที่นำน้ำไหลผ่านไปตามผืนนาของชาวบ้าน  นอกจากจะให้นาทุกผืนได้น้ำในการทำนาอย่างเพียงพอแล้ว  การจัดการน้ำเพื่อให้เจ้าของนาได้ทำนาในเวลาไล่เลี่ยกันให้ทันฤดูกาลนั้น  ก็ต้องใช้หลักคิดให้ประโยชน์ทุกคนเท่าเทียมกันด้วยความเกื้อกูลและอย่างเป็นธรรมด้วย
          จากคลองส่งน้ำที่นำน้ำออกมาจากอ่างเก็บน้ำห้วยไฟนั้นมีคลองซอยที่แยกออกไปอีกถึง 16 สาย  มีการจัดตั้งคณะกรรมการเหมืองฝายขึ้น 16 คณะ คณะละ 10 คน เพื่อมารับผิดชอบการปิดเปิดน้ำของแต่ละเหมือง  จัดเวรยามเพื่อแบ่งเวลาในการเปิดน้ำเข้านา  ทำการลอกเหมืองที่ตื้นเขินก่อนทำการผลิตครั้งใหม่จะมาถึง
           ภูมิปัญญาของการจัดการน้ำด้วยวิธีการเหมืองฝายนี้เหมือนจะซึมซาบอยู่ในสายเลือดของคนในภาคเหนือ  เพราะเรื่องการจัดการเหมืองฝายนั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ตกทอดผ่านคนหลายรุ่น  เช่นนี้เอง  ชาวบ้านในตำบลภูซางแม้เพิ่งจะได้มีโอกาสจัดการเหมืองฝาย  เมื่อมีอ่างเก็บน้ำห้วยไฟซึ่งมีมาไม่กี่ปีนี้เอง  แต่พวกเขาก็ร่วมกันดำเนินการด้วยความเรีบยร้อยราบรื่นมาด้วยดี
          การจัดการเหมืองฝายให้น้ำเข้าพื้นที่การเกษตร  เป็นการจัดการน้ำใต้อ่างเก็บน้ำ  เมื่อได้รับการจัดการอย่างสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์แล้ว  ความสนใจก็ย้อมกลับไปที่ตัวอ่างเก็บน้ำทำอย่างไรให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียงในฤดูการผลิต
          นี่คือเหตุที่ทำให้  คำ  บัวผัด  สำรวจพบห้วยสายเล็กๆ ถึง 13 สายห้วยที่มีน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำห้วยไฟ  ทักษะในการจัดการที่มีมาแต่ประปาภูเขา  และการจัดการเหมืองฝายให้น้ำเข้านาบอกเขาว่า
  ควรเลือกห้วยขึ้นมาสายหนึ่ง  ทำให้ปรากฏผลเป็นจริงแล้ว  จะเกิดแรงบันดาลในอันมหาศาลขึ้น  เมื่อนั้นลำห้วยที่เหลือก็จะมีคนมาช้วยทำในภายหลัง


ฝายห้วยยางแดง เริ่มต้นแห่งการคืนชีวิตให้กับป่ายางแดง


          เขาขายความคิดนี้ไปทุกครั้งที่มีการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านต่างๆ  ในตำบลภูซาง  เป้าหมายคือชาวบ้านและแกนนำขายความคิดเข้าไปในโรงเรียนให้กับนักเรียนและครู  แสวงความร่วมมือกับชลประทานจังหวัดพะเยา  และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูซาง  สืบค้นความรู้จากศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         ห้วยยางแดง  ซึ่งสองข้างยังปรากฏต้นยางให้เห็นอยู่  ได้รับเลือกขึ้นมาเพื่อจัดสร้างฝายชะลอน้ำ  ไม่เพียงแต่ให้หลักประกันต่อระดับน้ำในอ่างเท่านั้น  แต่ฝายจำนวน 80 ลูกนั้นยังได้รับการขยายผลไปสู่การสร้างความชุ่มชื่นให้ป่าสองข้างทาง  ฟื้นคืนให้ต้นยางกลับมายืนเด่นเป็นสง่าประดับห้วยยางแดงเหมือนเช่นที่เคยเป็นอยู่นานแล้ว



อัพเดทล่าสุด