อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ขอขอบคุณข้อมูล ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คลังปัญญาไทย และวิชาการดอทคอม
https://www.panyathai.or.th/
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียน อยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่ กิโลเมตรที่ 0.0 ถนนพหลโยธิน
ความสำคัญของอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญและเป็นที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิตใน กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีแล้ว ยังเป็นต้นทางของถนนพหลโยธิน รวมไปถึงศูนย์กลางการคมนาคมที่มีรถโดยสารให้บริการในหลายเส้นทาง เป็นจำนวนมาก ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า BTS และรถตู้ ผ่านตลอด 24 ชั่วโมง จึงทำให้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นชุมทางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทางด่วนขั้นที่ 2 สถานีรถไฟฟ้า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรบินสัน
ประวัติ
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจและพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนใหม่ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และ[[จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล
ก่อนที่จะมีการสร้างวงเวียนอนุสาวรีย์ บริเวณจุดตัดของถนนพญาไท ถนนราชวิถี และถนนพหลโยธิน นี้มีชื่อเรียกว่า "สี่แยกสนามเป้า"
ความหมาย
การออกแบบอนุสาวรีย์ของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล มีแรงบันดาลใจห้าประการ คือ
• ปฏิบัติการของกองทัพทั้ง 3
• ปฏิบัติการอย่างกล้าหาญของกำลังพลโดยเฉพาะ
• อาวุธที่ทหารใช้สู้รบ
• เหตุการณ์ที่สำคัญที่ต้องเปิดการสู้รบ
• ความสนใจของประชาชน
หม่อมหลวงปุ่มใช้ดาบปลายปืน ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายทหาร โดยใช้ดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน จัดตั้งเป็นกลีบแบบลูกมะเฟือง ปลายดาบชี้ขึ้นบน ส่วนคมของดาบหันออก ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับหินอ่อน มีความสูงประมาณ 50 เมตร ดาบปลายปืนส่วนด้ามตั้งเหนือเพดานห้องโถงใหญ่ ซึ่งใช้เก็บกระสุนปืนใหญ่บรรจุอัฐิทหารที่เสียชีวิตในกรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส
ด้านนอกตอนโคนดาบปลายปืน มีรูปปั้นหล่อทองแดง ขนาดสองเท่าคนธรรมดา ของนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นรูปเหล่านี้เป็นลูกศิษย์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น สิทธิเดช แสงหิรัญ, อนุจิตร แสงเดือน, พิมาน มูลประสุข, แช่ม ขาวมีชื่อ ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป พีระศรี
ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต รายนามผู้ที่ได้รับการจารึกไว้ มีทั้งสิ้น 160 คน เป็นทหารบก 94 คน ทหารเรือ 41 คน ทหารอากาศ 13 คน และตำรวจสนาม 12 คน จนถึงปัจจุบันแผ่นทองแดงจารึกรายนามผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 คน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกสร้างขึ้นเพื่อจารึกรายนามของทหารหาญและวีรชนที่เสียชีวิตในสงครามข้อ พิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส รวมทั้งทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ที่ได้สละเลือดเนื้อและชีวิตในการปกป้องเอกราชอธิปไตยไว้ให้ลูกหลานไทย
เหตุการณ์ดังกล่าวย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2483 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยได้เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสก็ได้เร่งรัดให้ทำสัตยาบันไม่รุกรานฝรั่งเศสเป็นการตอบแทนตาม ที่ได้เคยทำสัญญาไว้ โดยสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อแลกสัตยาบันกันเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไทยให้คำตอบว่ายินดีจะทำตามหากฝรั่งเศสยกดินแดนหลวงพระบาง ปากเซ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ที่ยึดไปเมื่อปีพุทธศักราช 2447 คืนให้กับไทย และทำการปักปันเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงให้เรียบร้อย
นอกจากนี้ต้องรับประกันว่าจะยกประเทศลาวซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรของไทย คืนให้ไทยด้วย หลังจากที่พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศสแล้ว แต่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธข้อเสนอนี้
ดังนั้น จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทกันขึ้น และทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อฝรั่งเศสทำการทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 โดยทางรัฐบาลไทยได้โต้ตอบโดยการทิ้งระเบิดเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารและอาวุธ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทให้ยุติลง โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประชุมทำสัตยาบันสันติภาพที่กรุงโตเกียว
ฝรั่งเศสตกลงยอมยกดินแดนหลวงพระบาง ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง นครจำปาศักดิ์กับที่ท่าสามเหลี่ยมฝั่งขวา และอาณาเขตมณฑลบูรพาเดิมให้กับไทย
ผลจากกรณีพิพาทครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียทหารหาญจำนวน 59 นาย ซึ่งมีชื่อจารึกอยู่บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
อนุสาวรีย์แห่งนี้ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับศิลาอ่อน มีรูปทรงเป็นดาบปลายปืน 5 เล่ม มีความสูงประมาณ 50 เมตร รอบดาบปลายปืนมีรูปปั้นนักรบ 5 เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ยืนล้อมรอบอยู่ บริเวณใต้รูปปั้นมีแผ่นทองแดงซึ่งเป็นที่จารึกรายชื่อของผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 นาย
ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของชาติ จะร่วมกันจัดพิธีวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณของเหล่านักรบผู้กล้า และยังมีพิธีสวนสนามที่ลานอเนกประสงค์ กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ด้วย