กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด


2,249 ผู้ชม


กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือนิตยสารสสวท. กับวิชาการดอทคอม
www.ipst.ac.th


           เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงเรียนสตรีศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดทำหลักสูตรเพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ คือ โครงการกิจกรรมเสริมความสามารถพิเศษทางวิชาการ  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ GP (Gifted  Program)  โดยได้เชิญอาจารย์ราม  ติวารี  รักษาการหัวหน้าสาขาฟิสิกส์  สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไปจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show  ให้แก่เด็กชั้น ม. 1 และ ม. 4   รวม 140 คน  ที่หอประชุมโรงเรียนดังกล่าว จำนวน 2 วัน


กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด


           เนื่องจาก สสวท.  เน้นการสร้างความตระหนักให้เยาวชน ได้สนใจ สังเกต วิเคราะห์สิ่งรอบ ๆ ตัวอย่างเป็นเหตุเป็นผล ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์  อาจารย์ราม จึงได้หยิบยกวัสดุอุปกรณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน   และจัดเตรียมกิจกรรมไปให้น้อง ๆ เยาวชน ได้ร่วมสนุกไปกับวิทยาศาสตร์มากมาย เช่น 
           “รักแช่แข็ง”  นำดอกกุหลาบใส่ลงในถังบรรจุไนโตรเจนเหลว เมื่อนำออกมาจะแข็งกรอบ เนื่องจากไนโตรเจนเหลวทำให้ดอกกุหลาบแข็งตัว  เรานำหลักการนี้ไปแช่แข็งเชื้อ  น้ำเชื้อหรือเลือดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาเอาไว้ใช้งาน
           “เป่าลูกโป่ง”  ใส่ไนโตรเจนเหลวในขวดปิดปากด้วยลูกโป่ง  ทำให้ลูกโป่งโป่งออกมา เนื่องจากไนโตรเจนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นแก๊ส  ปริมาตรเพิ่มขึ้นประมาณ 1,600 เท่า  
           “ถูแล้วได้ดี”  การถูที่หูจับของอ่างจักรพรรดิ  ทำให้น้ำสั่นแล้วกระเด็นขึ้นมาตามหลักการสั่นพ้อง   
           “กบไม้ร้อง”  เมื่อถูหลังกบด้วยไม้  เกิดเสียงเหมือนกบ  เกิดจากการสั่นพ้องที่ช่องในตัวกบไม้
           “ฟองใหญ่”  ฟองสบู่ (ที่เกิดจากสูตรผสมพิเศษ) จะทำให้เกิดฟองใหญ่มาก ๆ และมีสีรุ้งสวยงาม  ศึกษาความตึงผิว การหักเห และการแทรกสอดของแสง  “จรวด”  ใช้ความดันอากาศทำให้จรวดพุ่งออกไป  
           “ล่องเรือ”  เรือป๊อกแป๊กมีหลักการทำงานโดยต้มน้ำให้เป็นไอน้ำ แล้วพ่นออกมา ทำให้เกิดแรงดันเรือออกไป
           “กลิ้งๆ”  ปล่อยลูกเหล็กเคลื่อนตามรางกลมเหมือนรถไฟตีลังกา  
           “ยุบหนอพองหนอ”  สนุกกับไนโตรเจนเหลวที่ – 196 องศาเซลเซียส  ศึกษาเรื่องความดัน อุณหภูมิ และปริมาตรของอากาศ   
           “หมุนแล้วตั้ง”  ล้อจักรยานเมื่อหมุนแล้วจับเชือกที่ผูกแกนหลาง จะทำให้ล้อตั้งได้ และควงส่ายด้วย
           “โยนไข่ไม่แตก”  น้อง ๆ ได้โยนไข่ลงมาจากระเบียงชั้น  4  ของอาคาร 4  เพื่อพิสูจน์ว่ากลุ่มไหนที่โยนลงมาแล้วไข่แตก  หรือไม่แตก  ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของน้องแต่ละกลุ่ม  ว่าประดิษฐ์อย่างไร  เพื่อไม่ให้ไข่ของกลุ่มตัวเองแตกและได้เห็นความสามัคคี  ร่วมแรงร่วมใจ


กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด


           กิจกรรมทั้งหมดสอนให้รู้จักคิด แก้ปัญหาต่าง ๆ  ควบคู่กับวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา อาทิ กฎของ นิวตัน  เรื่องโมเมนตัม การหมุนเกี่ยวกับล้อรถจักรยาน  ได้คิดควบคู่กับกิจกรรม  การทำฝักบัวมือถือ  วิธีการแสดงความคิดให้เกิดความรู้  การเลือกดูไข่เพื่อเปรียบเทียบว่าไข่ที่มีฟองใดเป็นไข่สุกหรือฟองใดเป็นไข่ดิบทำให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้จากของจริง  ประสบการณ์จริง  สามารถออกความคิดจิตนาการได้อย่างกว้างขวางไม่จำกัดแค่ตัวหนังสือเพียงเท่านั้น  ทำให้เราได้ความรู้ใหม่ ๆ  ที่สนุกและไม่น่าเบื่อ  สามารถนำไปพัฒนาการเรียนต่อไปได้
           น้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีความสนใจทางวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  ต่างก็สนุก แปลกใจและประทับใจกับกิจกรรมที่ สสวท. จัดให้อย่างเช่น  นางสาวอัจฉริยา  เมืองแวง  ชั้น  ม.4/1  (ซายส์)  บอกว่า  ชอบ  และดีใจที่  สสวท. ได้จัดกิจกรรมแบบนี้ให้กับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด กิจกรรมครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่สนุกและได้ความรู้ต่าง ๆ  มากมาย ชอบกิจกรรมที่ให้ไปศึกษาและค้นคว้า  คิดหาวิธีการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ  ได้ทำกิจกรรมกลุ่มสนุก ๆ  กับเพื่อน ๆ  เช่น  หาวิธีโยนไข่ลงมาจากชั้นที่  4  โดยที่ไข่ไม่แตก  เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน  ตื่นเต้นมาก ๆ  โดยเฉพาะตอนที่ลุ้นว่าไข่จะแตกหรือเปล่า


กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด


           “กิจกรรมที่ซายส์สนใจและอยากจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อมากที่สุด  คือ  กิจกรรมโยนไข่ เพราะได้ คิดเองและได้ปฏิบัติจริง  สามารถนำไปใช้โดยเวลาเราต้องการรักษาอะไรจากการกระแทก  ก็สามารถนำเทคนิคและวิธีไปใช้ได้”

           ส่วนสาวน้อยชั้น  ม.4/1  กลุ่มนี้  นางสาววิมลรัตน์  สารทอง (น้อง) , นางสาวอภิญญา  พลยืน (เหมียว) , นางสาวอรวี  แก้วประเสริฐ  และนางสาวศศิธร  ศิลปศักดิ์ (เปรียว)  บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  ได้เปิดโลกใหม่ของการเรียนจากปกติที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมธรรมดา ๆ  ที่น่าเบื่อจากตัวหนังสือ  ได้ฝึกคิดสิ่งใหม่ ๆ  จากจินตนาการที่ไม่จำกัด  ไม่มีขอบเขตของความคิด  ทำให้ได้นำความคิดมาทดลองปฏิบัติจริง  เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากสิ่งต่าง ๆ  ง่าย ๆ  ที่อยู่ใกล้ตัว  รู้จักว่าสิ่งต่าง ๆ  ที่อยู่รอบตัวคือ  ความรู้  เหมือนหนังสือที่รอให้เราเปิดอ่าน  
           “วิชาวิทยาศาสตร์อาจจะมีเนื้อหามากมายหลายแขนงวิชาย่อย  ทำให้บางทีเราเบื่อ  แต่การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์  ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แค่ในหนังสือเท่านั้น  จากกิจกรรม  Science  Show  ครั้งนี้  ทำให้เราได้รู้ว่าทุกกิจกรรมในชีวิตเราล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น  และได้รู้ว่าของเล่นของเด็ก ๆ   ตามข้างถนนก็สามารถนำมาพัฒนาความคิดของเรา  และนำไปสู่การผลิตสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคตบางทีกิจกรรม  Science  Show  นี้  อาจทำให้พวกเราเกิดแรงบันดาลใจในการเรียน  จนได้กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสิ่งดี ๆ  มาสู่โลกก็เป็นได้”


กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด


           สำหรับคุณครูสมใจ  ธรรมขันธ์  ครูผู้สอนวิชาฟิสิกส์  ชั้น ม.4-5-6  โรงเรียนสตรีศึกษา  ซึ่งเป็นครูในโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  หรือ ครู สควค.  รุ่นที่ 5  ของ สสวท.  เล่าว่า ดีใจและประทับใจเป็นอย่างมาก ที่  สสวท.  ได้ให้ความช่วยเหลือทางโรงเรียนสตรีศึกษา  ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในต่างจังหวัด  ในการสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนและครูได้พัฒนาศักยภาพตนเองในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
           ชอบกิจกรรม  Science  Show  ทุกรายการทั้งที่ได้ทำการแสดงสด  และยังมีอีกบางรายการที่ไม่ได้แสดงสด  เพราะว่าทุกกิจกรรมได้มาจากสิ่งของที่ไม่ไกลตัว  องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ทำให้ครูได้แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  และเป็นแนวทางในการที่จะคิดหาวิธีการที่จะต่อยอดความรู้เหล่านี้ให้พัฒนาขึ้นไปในระดับสูงขึ้นได้
           สำหรับ
แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ที่ได้จากกิจกรรมนี้  เช่น  แนวทางในการจัดการเรียนการสอนจากเนื้อหาที่ยากให้กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น   ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่ตนเองสอนมีหลายรายการที่เกี่ยวข้องกับวิชาฟิสิกส์  เช่น  การหมุนของล้อรถจักรยาน , Tippy  Toy , ลูกข่างหึ่ง , การหมุนของไข่ (เพื่อพิจารณาไข่สุกไข่ดิบ) , ฝักบัวมือถือ เป็นต้น  โดยรูสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้สอนในเนื้อหาวิชาฟิสิกส์  การจัดกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์  การจัดกิจกรรม  Science  Show ในโรงเรียน  และพิจารณาต่อยอดไปถึงในระดับขั้นการแข่งขันในกิจกรรมวิทยาศาสตร์ร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ  ในเขตพื้นที่การศึกษา

           คุณครูสมใจ กล่าวต่อไปว่า  การจัดกิจกรรม  Science  Show  ในโรงเรียนนั้น เป็นการส่งเสริมให้ครูได้มีแนวทางในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนโดยบูรณาการให้เข้ากับภูมิปัญญาของท้องถิ่น  ส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกคิด  วิเคราะห์  มีเหตุผล  รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น  ส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้จากสิ่งใกล้ตัว  เพื่อนำไปพัฒนาเป็นองค์ความรู้ใหม่ในขั้นสูงได้  ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นและส่งเสริมให้นักเรียนชอบการเรียนวิทยาศาสตร์  มีจิตวิทยาศาสตร์


กิจกรรมวิทยาศาสตร์ Science Show แสนสนุก ของวัยโจ๋เมืองร้อยเอ็ด


           ท้ายสุด คุณครูอภาริณี  ฉิมสวัสดิ์  สอนวิชาเคมี  ม.4-5-6  โรงเรียนสตรีศึกษา  เล่าว่า ดีใจที่  สสวท.  ออกมาจัดกิจกรรมดี ๆ  แบบนี้  ในโรงเรียนต่างจังหวัด  ได้รับรู้และเห็นวิธีการจัด แสดง  Science  Show  และการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายการแสดง  ได้รู้ว่าเราสามารถใช้สิ่งต่าง ๆ  รอบตัว  แม้แต่ของเล่นเด็กมาใช้ในการจัดแสดงได้
           คุณครูอภาริณีนั้นมีความประทับใจอย่างมากต่อการใช้คำถามของวิทยากรที่กระตุ้นให้นักเรียนคิดหาคำตอบ  ชอบการแข่งขันโยนไข่ไม่ให้แตก  นักเรียนได้คิดอย่างอิสระ  และสร้างสรรค์  ชอบการแสดงชุดลูกโป่งฟองสบู่  ลีลาการแสดงของวิทยากรสวยงาม  ได้ลูกโป่งขนาดใหญ่มาก  และชอบกิจกรรมฟักบัวมือถือ  เรียบง่าย  เก๋ไก๋ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้เห็นภาพมาก  ชอบกิจกรรมที่ใช้ไนโตรเจนเหลวแสดงการ เปลี่ยนแปลงปริมาตรของแก๊สในลูกโป่ง  เมื่อได้รับความรอน  ชอบเทอร์มอมิเตอร์ที่มีลูกตุ้มหลอดแก้ว
           “ในส่วนของตนเองนั้น การที่ได้เข้าสังเกตการณ์และร่วมสนุกในกิจกรรมแล้ว  ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ  ตั้งคำถามให้นักเรียนคิดหาคำตอบ  โดยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่ตนเองสอน  คือ  ประโยชน์ของไนโตเจนเหลว  การเปลี่ยนแปลงปริมาตรของแก๊สในลูกโป่ง  เมื่อได้รับความเย็น  ความดันของอากาศ  ความดันของของเหลว  ซึ่งสามารถนำกิจกรรมเหล่านี้ไปสอนได้  โดยทำการทดลอง  แสดงให้เห็นสมบัติของของเหลวและแก๊สได้”  คุณครูอภาริณี กล่าวทิ้งท้าย



อัพเดทล่าสุด