กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เตือนปิดภาคเรียน...บุตรหลานเสี่ยงอุบัติภัยจนเสียชีวิตได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
ในช่วงที่เด็กๆปิดภาคเรียน เป็นช่วงที่เด็กเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายสูงที่สุด เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด เพราะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จึงมักปล่อยให้เด็กเล่นอยู่บริเวณรอบบ้าน เพียงลำพัง ทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากอุบัติภัยต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เด็กจมน้ำและถูกไฟฟ้าช็อตเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนอุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงปิดภาคเรียน ดังนี้
การจมน้ำ ช่วงปิดภาคเรียนระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม เป็นช่วงที่เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำตามแหล่งน้ำใกล้บ้านและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มากที่สุด
แหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เด็กเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรือวิ่งเล่นบริเวณริมตลิ่งหรือชายทะเลตามลำพัง ถึงแม้เด็กจะว่ายน้ำเป็น เพราะหากเด็กเป็นตะคริว เกิดกระแสน้ำวนหรือคลื่นดูด เด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปลอดภัย
สระว่ายน้ำ พาเด็กเล่นน้ำในสระว่ายน้ำที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย และเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ ที่เหมาะสมกับอายุ และทักษะการว่ายน้ำของเด็ก ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเด็กเล่นน้ำในลักษณะผาดโผน
แหล่งน้ำภายในบ้าน สร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย เช่น ปิดประตูห้องน้ำ จัดให้มีฝาปิดภาชนะ กักเก็บน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อปลา เป็นต้น ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นตามลำพัง เพราะช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไปทำธุระ เด็กอาจจมน้ำเสียชีวิตได้
ที่สำคัญ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด สอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น และมีทักษะในการช่วยเหลือตนเอง หากเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงสวมใส่ชูชีพห่วงยางในการเล่นน้ำหรือโดยสารเรือทุกครั้ง
สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ หากพบว่าเด็กหยุดหายใจให้บีบจมูกแล้วเป่าปากสลับกับการนวดหัวใจ กรณีที่เป่าลมเข้าไปไม่สะดวก ให้จับเด็กนอนคว่ำลักษณะห้อยหัวใช้มือสองข้างยกท้องเด็กขึ้น เพื่อให้น้ำไหลออกจากปาก หากเริ่มรู้สึกตัวให้จับเด็กนอนตะแคง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกจากปากอีกครั้ง ใช้ผ้าคลุมให้เกิดความอบอุ่น แล้วรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล
อุบัติเหตุทางถนน
การเดินทาง หากให้เด็กเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ ควรให้เด็กสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับอายุ สอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเครื่องหมายจราจร ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก และไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีขี่รถจักรยานยนต์ เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว เด็กยังไม่มีความสามารถในการควบคุมความเร็ว และขาดการตัดสินใจที่ดี จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ กรณีพาเด็กเดินทางด้วยรถยนต์ ควรเลือกที่นั่งให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก โดยเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑ ปี ให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กทารก โดยไว้เบาะหลังและให้เด็กหันหน้าไปด้านหลัง เด็กอายุระหว่าง ๑ – ๕ ปี ให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กเล็ก โดยนั่งเบาะหลังและหันหน้าตามปกติ ส่วนเด็กอายุ ๕ – ๑๐ ปี ควรใช้ที่นั่งเสริมเพื่อยกตัวเด็กให้สูงพอที่จะคาดเข็มขัดนิรภัย จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น ที่สำคัญ ผู้ปกครองต้องปิดกระจกข้างให้สนิททุกครั้งที่มีเด็กโดยสารไปด้วย เพื่อป้องกันเด็ก ยื่นศีรษะ แขน ขาออกไปนอกรถ ทำให้ได้รับอันตรายได้
การเล่นของเด็กบริเวณที่มีรถเข้า - ออกตลอดเวลา บ่อยครั้งที่เด็กมักประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตบริเวณบ้านหรือลานจอดรถ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ปกครองขาดความเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นบนถนนหรือลานจอดรถเพียงลำพัง ซึ่งบริเวณลานจอดรถถือเป็นสถานที่อันตรายอย่างมากสำหรับเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า ๒ ขวบ เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง ดังนั้น หากผู้ปกครองต้องขับรถเข้าบ้านหรือถอยรถออกจากบ้าน ควรดูบริเวณรอบรถให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่มีเด็กนั่งเล่นอยู่บริเวณรอบข้าง หากพาบุตรหลานออกไปนั่งเล่นบริเวณลานจอดรถ ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานไม่ให้คาดสายตา เพราะหากมีรถวิ่งเข้ามาอาจทับเด็กเสียชีวิตได้
สุดท้ายนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กช่วงปิดภาคเรียน ผู้ปกครองควรเพิ่มความระมัดระวังและเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าขณะเล่นน้ำ นั่งเล่นในสวนสาธารณะ หรือวิ่งเล่นบริเวณลานจอดรถ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเด็กได้ตลอดเวลา ที่สำคัญ ก่อนออกเดินทางโดยรถจักรยานยนต์ทุกครั้ง ต้องสวมหมวกนิรภัยที่มีความเหมาะสมวัยของเด็ก หากเดินทางโดยรถยนต์ ควรจัดหาที่นั่งที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก และให้เด็กคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยในเด็กช่วงปิดภาคเรียนได้ระดับหนึ่ง