รถต้องห้าม


832 ผู้ชม


รถต้องห้าม

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ กับวิชาการดอทคอม
https://www.dharmniti.co.th/dhg/index.php
รถต้องห้าม โดย : สมเดช โรจน์คุรีเสถียร




            ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ยานพาหนะหรือรถยนต์มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ต่อการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล จำเป็นต้องติดต่อการค้าระหว่างกัน รถยนต์หรือยานพาหนะจึงมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของทุกคนในการเดินทาง ติดต่อธุรกิจ ขนส่ง เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ เรามักจะพบว่า การดำเนินธุรกิจแทบทุกประเภทมักจะมีรถยนต์ไว้ใช้ในการประกอบกิจการเพื่อให้การติดต่อธุรกิจรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์


          บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อมีการซื้อรถยนต์เข้ามาใช้ในกิจการจะแบ่งรถยนต์ออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ รถต้องห้ามหรือรถทั่วไป ซึ่ง “รถต้องห้าม” หมายถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่ได้มีกฎหมายสร้างเงื่อนไขหรือข้อห้ามค่อนข้างมาก ดังนั้นรถยนต์นั่ง จึงหมายถึงรถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับเพื่อใช้นั่งเป็นปกติวิสัย และหมายรวมถึง รถยนต์ที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวร ด้านข้าง/ด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่าง และมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาก็คือ “รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน” ตามประมวลรัษฎากรถือเป็น “รถยนต์ต้องห้าม” เนื่องจากกฎหมายกำหนดเงื่อนไขหรือ ข้อห้ามของรถยนต์ดังกล่าวเอาไว้ดังนี้
รถต้องห้าม


          1. ภาษีซื้อของรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน


          รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เป็นสินค้าหรือทรัพย์สินที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้มีการซื้อรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนเพื่อนำเข้ามาใช้ในการประกอบกิจการ จะถูกผู้ประกอบการผู้ขายรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีนั่งไม่เกิน 10 คนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย ซึ่งถือเป็น “ภาษีซื้อ” ของผู้ประกอบการที่ซื้อรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนดังกล่าว อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้ดังนี้


          “(1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต


          ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว”


          ดังนั้นภาษีซื้อที่เกิดจากรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ผู้ประกอบการจะไม่มีสิทธินำไปขอคืนหรือเครดิตภาษีขาย แต่สามารถนำไปเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีซื้อที่ใช้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดภาษีซื้อที่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ


          2. การคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา


          เมื่อกิจการได้มีการซื้อรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนเข้ามาใช้ในกิจการ เมื่อสิ้นงวดหรือสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องนำรถยนต์ดังกล่าวมาคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 145 มาตรา 4 (5) ซึ่งกำหนดอัตราค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาไว้ดังนี้


          (5) ทรัพย์สินอย่างอื่น ซึ่งโดยสภาพของทรัพย์สินนั้นสึกหรอหรือ


          เสื่อมราคาได้นอกจากที่ดินและสินค้า ร้อยละ 20


         การคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินจะต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 145 สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ต้องไม่เกิน 20% ต่อปี แต่เนื่องจากทรัพย์สินเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 145 มาตรา 5 ได้กำหนดเพิ่มเติมไว้อีกดังนี้


          “มาตรา 5 ทรัพย์สินประเภทรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์นั่ง ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท”


           ดังนั้นหากผู้ประกอบการได้มีการซื้อรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เมื่อต้องคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาจากมูลค่าต้นทุนจะต้องไม่เกิน 1 ล้านบาท หากคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทห้ามถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม


          สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังในการซื้อรถยนต์เข้ามาใช้ในกิจการ หากรถยนต์ดังกล่าวไม่ใช่รถยนต์ต้องห้าม แต่เป็นรถยนต์ที่ใช้ในงานทั่วไปย่อมมีสิทธิขอภาษีซื้อคืนได้ และหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ทั้งจำนวน
 

อัพเดทล่าสุด