เพื่ออนาคต : ดวงดาวกับมนุษย์ : ความเหมือนและแตกต่าง
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของงานสื่อสารสังคม (สกว.) กับวิชาการดอทคอม
ที่มา : ประชาคมวิจัย
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล
[email protected]
ดวงดาวกับมนุษย์ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไร? แค่ไหน?
จะตอบคำถามนี้ได้ ก็จะต้องถามเสียก่อนว่า มนุษย์รู้จักดวงดาวและมนุษย์เองแค่ไหน?
สิ่งหนึ่งที่ตอบได้ทันทีอย่างมั่นใจในวันนี้ คือ ดวงดาวกับมนุษย์ เหมือนกันตรงที่ทั้งดวงดาวและมนุษย์ เมื่อกำเนิดมาแล้ว ก็ต้องตาย!
นอกเหนือไปจากนี้ จากความรู้เกี่ยวกับดวงดาวและเกี่ยวกับตัวมนุษย์เอง ที่เปลี่ยนแปลงมานับช่วงเวลายาวนานกว่าสองพันปี ที่มนุษย์เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับดวงดาวและตัวมนุษย์ ดวงดาวกับมนุษย์ ก็มีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกันมากมาย
“เพื่ออนาคต” วันนี้จะไปสำรวจความรู้เกี่ยวกับดวงดาวและเกี่ยวกับตัวมนุษย์เองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร โดยตั้งเป้าหมายความคาดหวังว่า จากการเรียนรู้เกี่ยวกับดวงดาว สิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้เรียนรู้ สะท้อนจากดวงดาวสู่ตัวตนของมนุษย์เอง คืออะไร?
ในยุคแรก ๆ ที่มนุษย์เริ่มมองดวงดาวและตัวมนุษย์เอง สิ่งแรกที่เหมือนกันคือ ดวงดาวและมนุษย์ ต่างก็เป็นสิ่งที่มีกำเนิดเกิดขึ้นมาโดยอำนาจเหนือธรรมชาติที่รู้จักเรียกกันว่า พระเจ้า เพราะสรรพสิ่งในจักรวาล ยกเว้นตัวพระเจ้าเอง ล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้า
ต่อ ๆ มา เมื่อมนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับดวงดาว เกี่ยวกับมนุษย์ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมนุษย์มีเทคโนโลยีคือกล้องโทรทรรศน์ ช่วยให้มนุษย์มองเห็นสิ่งต่างๆ ในจักรวาลได้มากกว่าที่เห็นด้วยตาเปล่า และมีความกล้า (หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ที่จะผ่าศึกษาร่างกายมนุษย์ ทำให้มนุษย์ได้เห็นและเข้าใจกลไกของระบบอวัยวะที่สำคัญของมนุษย์ได้ถูกต้องขึ้น ความเหมือนและแตกต่างระหว่างดวงดาวกับมนุษย์ก็ “น่าทึ่ง” มากขึ้น
ความเหมือนอย่างหนึ่งระหว่างดวงดาวกับมนุษย์คือ กำเนิดและความตายของดวงดาวกับของมนุษย์
โดยภาพรวมแล้ว บรรดาดวงดาวจำนวนมากมายและแตกต่างกันในจักรวาล กับบรรดามนุษย์จำนวนมากมายและแตกต่างกันทั่วโลก ต่างก็มีกำเนิดในลักษณะแบบเดียวกัน แต่มีวาระสุดท้ายแตกต่างกัน
กล่าวคือ บรรดาดวงดาวที่หมายถึงดาวฤกษ์ทั้งหมดในจักรวาลวันนี้ ล้วนกำเนิดจากกระบวนการก่อกำเนิดแบบเดียวกัน คือการรวมตัวกันของก๊าซและฝุ่นผง ที่เป็นซากของดาวระเบิดดังเช่น ซูเปอร์โนวามาก่อนเป็นปริมาณมากพอ จนกระทั่งปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเกิดขึ้นมา โดยมีไฮโดรเจนเป็นธาตุเชื้อเพลิงชุดแรกของบรรดาดาวฤกษ์ทุกชนิด...
ส่วนวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์นั้น ในขณะที่ดาวฤกษ์ทั้งหมดมีกำเนิดมาจากกระบวนการแบบเดียวกัน แต่กลับมีวาระสุดท้ายชีวิตดวงดาวที่แตกต่างกัน
วาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีทั้งแบบรุนแรง เกิดการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา แบบลึกลับ คือ เปลี่ยนสภาพไปเป็นหลุมดำ และแบบสงบราบเรียบที่สุดคือ หมดเชื้อเพลิง แล้วก็ดับไป เปลี่ยนสภาพจากดาวฤกษ์ เป็นเสมือนกับดาวเคราะห์ขนาดใหญ่
สำหรับมนุษย์ล่ะ?
มนุษย์ทั้งโลก ล้วนมีกำเนิดมาจากกระบวนการเดียวกัน คือการปฏิสนธิจากการรวมตัวกันของไข่กับสเปิร์ม เกิดเป็นตัวอ่อนมนุษย์ อยู่ในครรภ์มารดา ก่อนคลอดออกมาเป็นทารกมนุษย์
ส่วนเรื่องความตายของมนุษย์ ก็เช่นเดียวกับดวงดาว คือ มนุษย์ก็พบกับจุดจบของชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่นดวงดาว
กำเนิดที่เหมือนกันและความตายที่แตกต่างกัน เป็นความเหมือนอย่างเป็นภาพรวมของดวงดาวกับมนุษย์ แต่ในความเหมือน ก็มีความแตกต่าง ทั้งเรื่องกำเนิดและความตายของดวงดาวกับของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนำมิติแห่งเวลา คือแนวโน้มในอนาคตเข้ามาพิจารณาด้วย
สำหรับมิติเวลาถึงขณะนี้ กำเนิดของดวงดาวกับของมนุษย์ ที่แตกต่างกัน คือ วัตถุดิบต้นกำเนิดของดวงดาวกับของมนุษย์ ที่ของดวงดาว วัตถุดิบหลัก มีอย่างเดียวคือ อะตอมของธาตุไฮโดรเจน ทำให้ดาวฤกษ์เมื่อกำเนิดใหม่ ๆ เป็นดาวฤกษ์ที่ไม่แตกต่างกัน...
แต่สำหรับมนุษย์ วัตถุดิบที่เป็นหลัก มี 2 อย่างคือ โครโมโซมจากไข่และจากสเปิร์ม ทำให้เกิดเป็นทารกมนุษย์แยกเป็น 2 เพศชัดเจนคือ หญิงกับชาย โดยมีทารกมนุษย์ที่ไม่เป็นหญิงหรือชายเพศใดเพศหนึ่งเด็ดขาด คือ ทารกมนุษย์เพศที่สาม
ต่อไปในอนาคต แนวโน้มกำเนิดมนุษย์จะมีทั้งอย่างเป็นธรรมชาติและอย่างไม่เป็นธรรมชาติ
ตัวอย่างกำเนิดอย่างไม่เป็นธรรมชาติคือ กำเนิดมนุษย์จากโคลนนิง ซึ่งถึงวันนี้ แม้จะไม่มีหลักฐานว่า มนุษย์โคลนได้กำเนิดขึ้นมาแล้วอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่า ในขณะนี้อาจมีมนุษย์โคลนจำนวนหนึ่ง ที่กำลังเดินปะปนอยู่กับมนุษย์กำเนิดอย่างปรกติทั่วไปแล้วก็ได้ เพราะการโคลนนิงมนุษย์ เป็นกระบวนการที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดในปัจจุบันจะปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เป็นไปไม่ได้
สำหรับความแตกต่างเรื่องความตายของดวงดาวกับของมนุษย์ ที่ชัดเจนมากอย่างหนึ่งคือ สำหรับดวงดาว สาเหตุหลักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเดียว คือ มวล กล่าวคือ อย่างคร่าว ๆ ดาวฤกษ์ที่มีมวลมาก จะพบกับวาระสุดท้ายแบบเป็นหลุมดำ ที่มีมวลระดับปานกลาง จะพบกับวาระสุดท้ายเกิดการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา และที่มีมวลน้อย จะพบกับวาระสุดท้ายแบบสงบ ราบเรียบ คือ เป็นดาวดับเมื่อเชื้อเพลิงหมด
สาเหตุการตายของดาวฤกษ์ที่จะไม่เป็นไปอย่างธรรมชาติดังกล่าว ก็คือ กรณีเกิดอุบัติเหตุดาวฤกษ์ชนกัน (ในระยะแรก ๆ ของการก่อกำเนิดระบบดาว) และถูกหลุมดำดูดหายเข้าไปในหลุมดำ
สำหรับมนุษย์ล่ะ?
ความตายของมนุษย์จะขึ้นอยู่กับปัจจัยสาเหตุที่หลากหลายกว่าของดวงดาว
สาเหตุการตายของมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติคือ แก่ตาย จากการสิ้นสภาพของร่างกาย แต่สาเหตุการตายของมนุษย์อย่างไม่เป็นธรรมชาติมีมากมาย เช่น จากอุบัติเหตุ จากโรคภัยไข้เจ็บ จากภัยสงคราม จากภัยธรรมชาติ จากการถูกประหารชีวิต (เพราะประกอบอาชญากรรมร้ายแรง) จากการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ (ของทหาร ตำรวจ) จากการฆ่าตัวตาย ฯลฯ
ทั้งหมดที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นบางแง่มุมเรื่องความเหมือนและแตกต่างระหว่างดวงดาวกับมนุษย์ แล้วสิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้เรียนรู้ สะท้อนจากดวงดาวสู่ตัวตนของมนุษย์เอง คืออะไร?
สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือ ความตระหนักอย่างหนึ่งว่า ในความอหังการของมนุษย์ที่พยายามแสวงหาสิ่งสำคัญที่สุดของคนบางคน ที่คิดว่า ตนเป็นคนสำคัญคือ ความเป็นอมตะ เป็นสิ่งที่ดวงดาวมีอยู่แล้ว...
เพราะการตายของดาวดวงหนึ่ง มีโอกาสที่จะไปเกิดเป็นส่วนหนึ่งของดาวดวงใหม่...เสมอ
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?