ผักบุ้ง
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของหมอชาวบ้าน กับเว็บไซต์วิชาการดอทคอม
www.doctor.or.th
“สมุนไพรที่นำเสนอนี้ ผู้เขียนได้แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ “พจนานุกรมสมุนไพรจีน” ของประเทศจีน ขนาดน้ำหนักของสมุนไพรที่ใช้นี้แปลและคิดคำนวณมาจากที่จีนบันทึกไว้ ซึ่งเป็นขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่ ดังนั้นเวลานำมาใช้จึงต้องดัดแปลงน้ำหนักของยาให้เหมาะสมกับอายุ น้ำหนักและสุขภาพของผู้ใช้ด้วย เริ่มลงตั้งแต่ฉบับที่ 1 ปี1”
ชื่ออื่น ผัดทอดยอด (ไทย) เอ้งไฉ่ คังกิมไฉ่ บ่อซิมไฉ่ ติ่งติ่งไฉ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea aguatica วงศ์ Convolvuceae
ลักษณะต้น
เป็นพืชขึ้นอยู่เหนือน้ำ และที่ชื้นแฉะ เลื้อยไปบนผิวน้ำหรือดินที่ชื้อแฉะ ลำต้นไม่มีขนภายในกลวง ใบออกสลับกัน ตัวใบลักษณะคล้ายใบหอก ยาว 6-15 ซ.ม. ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบกว้าง ขอบใบเรียบหรืออาจเนคลื่นน้อยๆ มีก้านใบยาว ดอกออกจากซอกใบ มีก้านช่อดอกชูตั้งขึ้นยาว 3-6 ซ.ม. อาจมีดอก 1-2 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียวยาวประมาณ 7 ม.ม. ปลายกลีบแหลม กลับดอกมีสีขาวหรือสีม่วงแดงติดกันเป็นหลอด ส่วนโคนเป็นหลอดแคบๆ ส่วนปลายบานออกกลมเป็นรูประฆัง กลีบดอกยาวประมาณ 5 ซ.ม. ส่วนปลายที่บานออกกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ 5 ซ.ม. มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ยาวไม่เท่ากัน มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อันเป็นเส้นยาว ปลายเป็นตุ้มมีรอยแยกตื้นๆ ผลลักษณะกลมรี ยาวประมาณ 1 ซ.ม. มีเมล็ด 2-4 เมล็ด ออกดอกฤดูร้อนมักพบตามที่ชื้อแฉะ ลำคลอง หนอง บึง ร่องน้ำในสวน หรือตามแหล่งน้ำต่างๆ หรือปลูกจากเมล็ดแล้ว ถอนมาขายทั้งต้นเรียกผักบุ้งจีน มีขายทั่วไปตามตลาดสด
การเก็บมาใช้ ส่วนมากเก็บมาใช้สดๆ ใช้ทั้งต้น และราก
สรรพคุณ
ทั้งต้นรสชุ่มเย็นจัด ใช้แก้เลือดกำเดา ท้องผูก หนองใน เบาขัด ถ่ายเป็นเลือด แผลริดสีดวงทวาร แผลบวมเป็นพิษ แผลฟกช้ำที่เกิดจากการกระทบกระแทก งูและแมลงมีพิษกัดต่อย
ราก รสจืด สุขุม ไม่มีพิษ ใช้แก้สตรีมีตกขาวมาก ปวดฟัน ฟันเป็นรู เบาขัด ไอเรื้อรัง เหงื่ออก แก้บวม
วิธีและปริมาณที่ใช้
ใช้ต้นสด 60-120 กรัม ต้มกิน หรือคั้นเอาน้ำกิน
ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง หรือตำพอก
ตำรับยา
1. แก้เลือดกำเดาออกไม่หยุด ใช้ต้นนี้หลายต้น ตำผสมน้ำตาลชงน้ำร้อนกิน
2. แก้โรคหนองใน ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด ใช้ต้นสด ล้างให้สะอาดตำคั้นเอาน้ำผสมน้ำผึ้งพอประมาณกิน
3. แก้แผลริดสีดวงทวาร ใช้ต้นสดหนัก 1 กิโลกรัม น้ำ 1 ลิตร ต้มให้เละเอากากทิ้งใส่น้ำตาลทรายขาว 120 กรัม เคี่ยวให้ข้นเหนียวเหมือนน้ำเชื่อม กินครั้งละ 90 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าไม่หายก็กินอีก
4. แก้แผลบวมแดง เอาต้นสดตำผสมน้ำผึ้งพอก
5. แก้ผิวหนังเป็นแผลมีน้ำเหลือง ใช้ต้นสด ต้มน้ำให้เดือดนานๆ ทิ้งไว้พออุ่น เอาน้ำมาชะล้างบาดแผล วันละครั้ง
6. แก้แผลงูกัด ใช้ต้นสดล้างสะอาด ตำคั้นเอาน้ำประมาณครึ่งถ้วยผสมเหล้ากิน เอากากพอก
7. แก้พิษตะขาบกัด ใช้ต้นสดใส่เกลือนิดหน่อย ตำพอกแผล
8. แก้อาหารเป็นพิษ ใช้ผักบุ้งสด 250 กรัม กับบังบกสด 250 กรัม ตำคั้นเอาน้ำกิน ทำให้อาเจียน
9. ฟันเป็นรูปวด ใช้รากผักบุ้ง 120 กรัม ผสมน้ำส้มสายชูคั้นเอาน้ำมาอมบ้วนปาก
หมายเหตุ
มีบางรายงานว่า ผักบุ้งชนิดดอกสีม่วงมีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน สามารถลดน้ำตาลในเลือดของคนเป็นโรคเบาหวานได้
ในพม่า ใช้น้ำคั้นจากต้นนี้ ทำให้อาเจียนแก้พิษจากสารหนูและฝิ่นได้ ส่วนยางแห้งใช้เป็นยาถ่าย
เขมร ใช้เป็นยาพอกในคนไข้ชัก และใช้พอกแก้กลาก
ในแคว้นอัสสัมอินเดีย ใช้แก้โรคประสาท อาการอ่อนเพลียทั่วไป และพอกแผลบวม
ดูหัวข้ออื่นๆที่น่าสนใจ คลิกด้านล่าง
- เห็ด อาหารมหัศจรรย์
- มังคุด” ราชินีผลไม้ไทยอุดมประโยชน์
- ผักบุ้ง
- มะเขือขื่น : ความเขียวขื่นที่เปี่ยมรสชาติและคุณประโยชน์
- "มะนาว" มีประโยชน์มากกว่าความเปรี้ยว
- งา ธัญพืชต้านโรค
- "กุยช่าย"บำรุงน้ำนมแม่
- มะเขือเทศผักผลแนวหน้าระดับโลก
- แตงกวา สมุนไพรใช้เสริมสวย
- หัวผักกาดขาว: อาหารช่วยย่อยที่ดี