หรือไม่?...อะไรคือสารก่อภูมิแพ้ในตัวคุณ
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา www.thaihealth.or.th
ไรฝุ่น-สัตว์เลี้ยง-แมลงสาบ ล้วนมีผล
สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มีหลายชนิด โดยแต่ละคนมีปฏิกิริยาไวต่อสารแตกต่างกัน มาดูกันว่า สารก่อภูมิแพ้มีอะไรบ้าง ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในและนอกบ้าน...
สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้มีมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละคนก็จะมีปฏิกิริยาไวเกินต่อสารแต่ละชนิดแตกต่างกัน และยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ตัวว่าในร่างกายตนเองมีปฏิกิริยาไวเกินต่อสารก่อ ภูมิแพ้ชนิดใด บางรายมีสารก่อภูมิแพ้ในตัวแต่ไม่เคยรู้มาก่อน อาจเพราะยังไม่เคยได้สัมผัสกับสารนั้นๆ หรืออาจมีอาการแต่ไม่เด่นชัด บางรายที่มีอาการรุนแรงก็เกือบทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ภูมิแพ้เกิดได้อย่างไร?
ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคภูมิแพ้มาจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม โดยผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินต่อสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งธรรมชาติสารเหล่านี้อาจไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้กับคนปกติทั่วไป เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย สารภูมิคุ้มกันชนิดอี หรือ Immunoglobulin E; IgE ที่ ถูกสร้างขึ้นจะเข้าทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย เป็นผลให้เซลล์บางชนิดมีการแตกตัวและหลั่งสารเคมีออกมาทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ของโรคตามมา
สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ สารก่อภูมิแพ้ที่พบในบ้าน เช่น ไรฝุ่น สปอร์ของเชื้อรา ซากแมลงสาบ สัตว์เลี้ยงในบ้าน และสารก่อภูมิแพ้ที่พบนอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสรหญ้า เชื้อรา วัชพืช ต้นไม้ เป็นต้น โดยผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาการแพ้หรือภูมิไวเกิน เมื่อได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในปริมาณที่มากพอ จะกระตุ้นทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบได้ เช่น น้ำมูกไหล ไอ จาม คันตา คันจมูก เป็นต้น ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการรักษาโรคนี้ก็คือ การรู้จักหลีกเลี่ยงและกำจัดสิ่งที่ตนเองแพ้
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย
แพ้ไรฝุ่น
ตัวไรฝุ่น คือ สัตว์จำพวกแมลงที่มีขนาดเล็กมากประมาณ 10-30 ไมครอนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มี 8 ขาลักษณะคล้ายกับแมงมุม เห็บ หมัด ชอบอยู่ในที่อุ่นชื้น โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องนอน เช่น หมอนหนุน ที่นอน พรม เฟอร์นิเจอร์และตุ๊กตาของเล่นที่ทำจากผ้า ซึ่งสารก่อภูมิแพ้สำคัญก็คือ โปรตีนจากตัวไรฝุ่นเองและมูลของไรฝุ่น
วิธีการรับมือ
1. คลุมที่นอน หมอน ด้วยผ้าที่มีช่องระหว่างเส้นใยเล็กมากจนตัวไรฝุ่นและมูลของมันไม่สามารถผ่านเข้าไปได้
2.ซักผ้าปูที่นอนและผ้าห่มทุกๆ 1-2 สัปดาห์ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
3.เช็ดทำความสะอาดบานเกล็ด ม่าน เครื่องเรือน และถูพื้นด้วยผ้าเปียกทุกๆ สัปดาห์เพื่อขจัดฝุ่นละออง
4.ควรนำของเล่น สมุดหนังสือ พรมและตุ๊กตา ออกไปไว้นอกห้องนอน หรือหาตู้เก็บอย่างมิดชิด
5.การใช้สารกำจัดไรฝุ่นจำพวก Tannic acid หรือ Acaricide พบว่าได้ผลดีในห้องทดลองปฏิบัติการ แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพ
6. สำหรับเครื่องกรองอากาศหรือฟอกอากาศ อาจมีผลช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่นได้บ้าง แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถช่วยให้อาการของผู้ ป่วยโรคภูมิแพ้ทุเลาลง
แพ้ซากของแมลงสาบ
วิธีการรับมือ
การดูแลรักษาบ้านเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ ภาชนะเก็บเศษอาหารควรมีฝาปิดให้มิดชิด ควรกำจัดขยะและเศษอาหารภายในบ้านทุกวัน อาจพิจารณาใช้ยาฆ่าแมลง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฉีดยาขจัดแมลงในบ้านเป็นระยะ
แพ้สัตว์เลี้ยง
สารก่อภูมิแพ้จากแมวพบได้จากรังแค ขน น้ำลาย ซีรั่ม และปัสสาวะ ส่วนสารก่อภูมิแพ้จากสุนัขพบได้จากรังแค ขน และน้ำลาย ซึ่งอนุภาคของสารก่อภูมิแพ้ชนิดนี้มีขนาดเล็ก ล่องลอยในอากาศ มักมีการเคลื่อนที่ไปอยู่ในบริเวณต่างๆ ทั้งภายในบ้าน โรงเรียน หรือสถานที่ทำงาน และยังสามารถคงอยู่ได้นานถึง 6 เดือนแม้ว่าจะมีการนำสัตว์เลี้ยงออกไปแล้ว
วิธีการรับมือ
วิธีที่ดีที่สุด คืองดเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ หรืออย่างน้อยควรมีการแยกออกไปจากห้องนอน หรือบริเวณที่พักผ่อนเป็นประจำ ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยไม่ควรเล่นอย่างคลุกคลีใกล้ชิด และควรอาบน้ำให้แก่สัตว์เลี้ยงเป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนการติดตั้งเครื่องกรองอากาศประเภทที่มีประสิทธิภาพการกรองสูง มีประโยชน์ในแง่ของการลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ
แพ้สปอร์ของเชื้อรา
เชื้อราในธรรมชาติสามารถพบได้ทั้งในและนอกบ้าน มักเกิดตามที่อับชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือบริเวณที่มีใบไม้แห้งร่วงทับถมกัน
วิธีการรับมือ
1. หลีกเลี่ยงการปลูกต้นไม้ใส่กระถางไว้ในตัวบ้าน
2. หมั่นดูแลและกำจัดใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้นหรือเศษหญ้าที่ชื้นแฉะ
3. ทำความสะอาดห้องน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้นและผนัง ม่านพลาสติก ใต้อ่างล้างมือ โถส้วม และตามซอกมุมซึ่งมักพบมีราดำเกิดขึ้น
4.ทำความสะอาดห้องครัว ตู้เก็บอาหาร ตู้เย็นอย่างสม่ำเสมอ มิให้เกิดแหล่งน้ำท่วมขัง
5.เปิดห้องให้มีอากาศถ่ายเท ลดความอับชื้นและแสงแดดส่องถึง
แพ้ละอองเกสรหญ้าและวัชพืช
ละอองเกสรหญ้า มักมีขนาดเล็กและเบาสามารถปลิวตามลมและแพร่กระจายไปได้ไกล แม้ว่าจะไม่มีพืชชนิดนั้นในบริเวณบ้าน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
วิธีการรับมือ
ถ้าในบ้านมีสนามหญ้า ควรทำการตัดหญ้าและวัชพืชในสนามบ่อยๆ ในฤดูที่มีการกระจายตัวของเกสรมาก เช่น ช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี การปิดประตูหน้าต่างเพื่อป้องกันละอองเกสรจากภายนอก อาจช่วยลดอัตราการสัมผัสละอองเกสรในประเทศไทยได้ หรืออาจติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพการกรองสูง
นอกจากวิธีหลีกเลี่ยงในสิ่งที่แพ้แล้ว การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเต็มที่ หลีกเลี่ยงสารก่อความระคายเคือง ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีและยังสามารถควบคุมอาการของโรคภูมิแพ้ได้อย่างดีอีกด้วย