รู้ไว้ได้ประโยชน์กับ “โรคแพ้อากาศ”
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สมุนไพรดอทคอม และ วิชาการดอทคอม
ที่มา www.samunpri.com
แนะหลีกเลี่ยงที่แพ้ ป้องกันและดูแลตนเองดีที่สุด
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง หรือเรียกตามชื่อหนังก็ Season Change เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวแดดร้อน เดี๋ยวฝนตก เดากันไม่ถูก เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยถ้าจะหยิบยกโรคแพ้อากาศมาบอกกัน เพราะถ้าเราปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและเหมาะสม โรคแพ้อากาศจะกลายเป็นเรื่องเล็กและยังสามารถป้องกันไม่ให้การติดเชื้อ ลามออกไปหรือมีผลแทรกซ้อนด้วย
การที่อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการแพ้อากาศ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวของเยื่อบุจมูก คือจมูกจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรือเย็น ความชื้นของอากาศ ตลอดจนกลิ่นฉุน สิ่งระคายเคืองต่างๆ จึงมักเรียกกันว่าโรคแพ้อากาศ โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 จะมีอาการก่อนอายุ 30 ปี
อาการเบื้องต้นของการแพ้อากาศ
ผู้ป่วยจะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก ชอบขยี้จมูกจนเกิดรอยบริเวณสันจมูก มีเสมหะในคอ เลือดกำเดาไหลบ่อย และอาจพบอาการคันตา แสบตา น้ำมูกไหล คันหู หูอื้อได้ ผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเวลาสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และความชื้นในอากาศ แต่เราต้องสังเกตอาการ เพราะโรคแพ้อากาศจะคล้ายกับไข้หวัด
กล่าวคือ ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ช่วงแรกจะใส ต่อมาจะข้น ระยะเวลาเป็นนาน 3-10 วัน มีไข้หรือไม่มีก็ได้ มีจามบ้างโดยไม่มีอาการคันจมูก ส่วนโรคแพ้อากาศจะมีอาการคันจมูกร่วมกับน้ำมูกใสๆ มีอาการคันตา น้ำตาไหล ไม่มีไข้ ซึ่งส่วนมากมักจะมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่ออาการเข้าข่ายโรคแพ้อากาศดังที่กล่าวมาแล้ว หรือไม่แน่ใจว่าเป็นโรคแพ้อากาศหรือไม่ เมื่อไปพบแพทย์นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว การตรวจที่ช่วยยืนยันว่าเป็นโรคแพ้อากาศหรือไม่ และแพ้อะไรบ้าง คือการทดสอบทางผิวหนังและการตรวจเลือด ซึ่งผลการตรวจเลือดมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ทราบผลทันที
ปัจจุบันนิยมใช้การตรวจทางผิวหนังเป็นหลัก สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีโรคที่พบร่วมกับโรคแพ้อากาศ ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ น้ำคั่งในหูชั้นกลาง โรคหืดหอบ เจ็บคอ ไอเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก การกรน รวมทั้งภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอีกด้วย
หลักการรักษา
ปัจจุบันมี 3 ลักษณะคือ การกำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด การรักษาด้วยยากินและยาพ่นจมูก นอกจากนี้ยังมีการฉีดวัคซีน สำหรับระยะเวลาในการรักษาไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยว่าสามารถหลีกเลี่ยง ป้องกัน และดูแลได้มากน้อยแค่ไหน
หากจำเป็นต้องใช้ยาพ่นจมูก ซึ่งสามารถช่วยลดอาการได้ ส่วนมากใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน หรือฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้เวลา 3-5 ปี แล้วแต่บุคคล โรคแพ้อากาศสามารถรักษาให้หายได้ แต่มีโอกาสกลับมาเป็นอีก ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย
วิธีป้องกันโรคแพ้อากาศ
การป้องกันต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ป่วยและแพทย์ ในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลตนเองของผู้ป่วย และดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม จะช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงมากจนไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศสามารถดำรงชีวิตได้ตามปรกติและอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อม เดียวกับผู้อื่นได้ถ้าสามารถปฏิบัติตัวดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น