กินยาแก้ปวดบ่อยระวังความดันพุ่ง ความเสี่ยงโรคหัวใจผู้ชายเพิ่ม30%
เอเจนซี - เตือนยาแก้ปวดยอดนิยม ทั้งไอบูโพรเฟนและพาราเซตามอล อาจทำให้ความดันโลหิตสูงและเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจสำหรับผู้ชาย
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอาร์ไคฟ์ส ออฟ อินเทอร์นอล เมดิซิน ระบุว่าผู้ชายที่กินยาแก้ปวดเกือบทั้งสัปดาห์ มีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้กินยาดังกล่าวราว 1 ใน 3 ซึ่งถือเป็นการยืนยันรายงานการศึกษาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ระบุว่าการกินยาระงับปวดทำให้ความดันโลหิตของผู้หญิงสูงขึ้น
ดร.จอห์น ฟอร์แมน จากโรงพยาบาลบริกแฮม แอนด์ วีเมนส์ ในบอสตัน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย กล่าวว่า มีคนนับล้านกินยาแก้ปวดเป็นประจำทุกวันเพื่อระงับอาการปวดศรีษะ ไขข้ออักเสบ และอาการปวดอื่นๆ ดังนั้น การงดยานี้จึงเป็นวิธีการสำคัญในการป้องกันอาการความดันสูง
ดร.แกรี่ เคอร์แฮน ซึ่งร่วมอยู่ในงานวิจัยด้วย เสริมว่ายาแก้ปวดเป็นยา 1 ใน 3 กลุ่มที่ใช้กันมากที่สุดในสหรัฐฯ
นักวิจัยวิเคราะห์จากรายงานการศึกษาและติดตามผลของผู้ประกอบวิชาชีพรักษาพยาบาล ชาย เพื่อคัดเลือกเฉพาะคนที่มีความดันโลหิตสูงและมีปัญหาอื่นๆ ซึ่งมีทั้งหมด 16,000 คน โดยนักวิจัยได้ทำการตรวจสอบประวัติการรักษาพยาบาลในช่วงเวลา 4 ปีของคนเหล่านี้อย่างละเอียด
สิ่งที่พบคือ ผู้ชายที่กินยาอะเซตามิโนเฟน (พาราเซตามอล) ที่จำหน่ายในชื่อแบรนด์ ‘ไทลีนอล’ 6-7 วันในหนึ่งสัปดาห์ มีแนวโน้มถูกตรวจพบว่าความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้กินยานี้ 34%
ส่วนผู้ชายที่กินแอสไพรินเป็นประจำมีความเสี่ยงความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่ไม่ได้กิน 26%
สำหรับยาในกลุ่มต้านการอักเสบซึ่งไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)ซึ่งครอบคลุมไอบูโพรเฟน และนาพรอกเซนนั้น ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 38%
กระนั้น ความถี่ในการใช้ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ชายที่กินยา NSAID สัปดาห์ละ 15 เม็ด มีแนวโน้มมากกว่าผู้ชายที่ไม่ได้กินยานี้ 48% ที่จะมีความดันโลหิตสูง ยานี้ยังมีผลต่อศักยภาพในการขยายตัวของหลอดเลือด และอาจทำให้เกิดการคั่งของเกลือโซเดียม ซึ่งเป็นสองปัจจัยที่ทำให้ความดันเพิ่ม
นักวิจัยยังพบว่า การมีน้ำหนักเกินช่วยลดความเสี่ยงจากอะเซตามิโนเฟน แต่เพิ่มความเสี่ยงจาก NSAID
แต่สำหรับผู้ที่แพทย์แนะนำให้กินแอสไพรินวันละเม็ด เพื่อลดความเสี่ยงของอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองนั้น เคอร์แฮนบอกว่าควรทำตามคำแนะนำต่อไปเพราะมีข้อดีมากกว่าความเสี่ยง
ทางด้านสมาคมหัวใจแห่งอเมริกาออกข้อเสนอแนะซึ่งมีบางส่วนอิงกับผลการศึกษาชิ้น นี้ว่า แพทย์ควรเริ่มต้นด้วยวิธีบำบัดที่ไม่ใช้ยา เช่น แนะนำให้คนไข้ออกกำลังกายและทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดตามข้อต่อ และบำบัดด้วยความร้อน-ความเย็น
สมาคมหัวใจแห่งอเมริกากังวลเป็นพิเศษ กับการใช้ COX-2 inhibitor ซึ่งเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ รักษาโรคข้ออักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์แต่ปลอดภัยกว่า NSAID ทว่า ในผู้ป่วยหลายคนกลับพบว่า ยาตัวนี้ทำให้ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น
“เรา เชื่อว่า แพทย์บางคนสั่งยา COX-2 inhibitor ตัวใหม่ให้คนไข้เป็นทางเลือกแรกในการรักษา แต่เราอยากแนะนำว่า สำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดเรื้อรังและเป็นโรคหัวใจ หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ ขอให้แพทย์ใช้ยาตัวนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย” ดร.เอลเลียต แอนต์แมน จากสมาคมหัวใจและแพทย์ของโรงพยาบาลบริกแฮมเตือน
ดร.เคอร์แฮนสำทับว่า แพทย์ควรตรวจอาการของคนไข้ เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงและหาสาเหตุ แทนที่จะดูจากประวัติการรักษาเท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Devil